ความอิสระเป็นพิษ? กระบวนการยุติธรรมไทย-ความท้าทาย และโอกาสสู่การปฏิรูป

เหตุการณ์ยิงตัวเองของนายคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาศาลจังหวัดยะลา ถือเป็นปรากฏการณ์สะเทือนกระบวนการยุติธรรมไทยครั้งใหญ่จนสังคมรับรู้และพูดถึง แม้ล่าสุดนายคณากรจะรอดปลอดภัยจากคมกระสุน และมีการตั้งอนุกรรมการสอบสวนเหตุดังกล่าว แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าออกสู่สาธารณชน

เนื้อหาจำนวน 25 หน้าในแถลงการณ์ที่ถูกเผยแพร่ของนายคณากร ยังมีข้อเรียกร้อง 2 ข้อ หนึ่งในนั้นที่นำไปสู่ข้อถกเถียงกันมากคือ “เรียกร้องให้สภานิติบัญญัติออกกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติม พระธรรมนูญศาลยุติธรรม เพื่อห้ามการตรวจร่างคำพิพากษาก่อนอ่านให้คู่ความฟัง ทั้งห้ามกระทำใดๆ อันมีผลเป็นการแทรกแซงผลคำพิพากษา” เพื่อป้องกันมิให้เกิดการแทรกแซงเนื้อหาของคำพิพากษา

โดยคดีที่นายคณากรเห็นต่างจนนำไปสู่การยิงตัวเองคือคดีฆาตกรรมในปี 2561 ซึ่งในการพิจารณา นายคณากรชี้ว่า ขั้นตอนการสืบสวนมีความผิดปกติและหลักฐานอ่อน จึงตัดสินให้ยกฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 5 คน ซึ่งแตกต่างจากอธิบดีที่นายคณากรอ้างว่า ให้แก้คำตัดสินเป็นประหารชีวิตและจำคุกตลอดชีวิต

สิ่งนี้จึงยิ่งตอกย้ำความกังขาของสังคมต่อกระบวนการยุติธรรมที่ต้องเผชิญมานับตั้งแต่ปรากฏการณ์ “ตุลาการภิวัฒน์” ในปี 2549 และบทบาทในยุค คสช. ว่ากระบวนการยุติธรรมเป็นอิสระ ไร้การแทรกแซงจริงหรือ?

 

เมื่อวันที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมา ในวงเสวนาหัวข้อ “ความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการ : สถานการณ์ ปัญหา และอนาคต” ที่จัดขึ้นในคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ได้มีการแลกเปลี่ยนทัศนะต่อกรณีดังกล่าว เพื่อหาแนวทางที่ชัดเจนต่อหลักความเป็นอิสระของตุลาการ และชี้ให้ชัดว่าการตรวจร่างคำพิพากษาถือเป็นการแทรกแซงหรือไม่ เพราะสำคัญที่สุดคือความยุติธรรมอันเป็นที่พึ่งให้กับประชาชน

รศ.ดร.ปกป้อง ศรีสนิท จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้ความเห็นว่า ในการดำเนินคดีอาญา ผู้พิพากษาจะวางตัวเป็นกลางระหว่างคู่ความ 2 ฝั่ง ด้านหนึ่งคือ รัฐ อัยการ ผู้ทำสำนวนฟ้องคดี กับอีกฝั่งคือผู้ถูกดำเนินคดี รัฐมีอำนาจในการสืบสวนคดีอาญา ตั้งแต่การจับ สืบสวนพยานหลักฐาน อำนาจนี้เป็นเครื่องมือแสวงหาความจริง

ในส่วนของผู้ถูกดำเนินคดีก็มีเครื่องมืออย่าง หลักของความบริสุทธิ์ที่ว่า ต้องสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าพิสูจน์ว่ามีความผิด มีทนาย สร้างหาหลักฐานสู้คดี ถ้าศาลเห็นว่ามีความผิดก็ดำเนินคดี หรือถ้าศาลเห็นว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ก็ต้องปล่อยตัว

ในแนวคิดเสรีประชาธิปไตย ศาลต้องมีหลักเป็นกลาง (impartiality) และเป็นอิสระปลอดการแทรกแซงทั้งภายในและภายนอก (Independence) กติการะหว่างประเทศ หรือหลักสากลได้ย้ำในหลักการนี้ โดยถูกบัญญัติไว้ในพันธกรณีระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งไทยเป็นรัฐภาคีสนธิสัญญาด้วย ระบุว่า “ทุกคนมีสิทธิได้รับการพิจารณาโดยศาลที่เปิดเผยและเป็นธรรม ที่เป็นอิสระและเที่ยงธรรม”

ไม่เพียงเท่านี้ ไทยยังยอมรับหลักปฏิบัติของยูเอ็นว่าด้วยการพิจารณากระบวนการยุติธรรม 1985 หรือในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกด้วย

 

รศ.ดร.ปกป้องกล่าวถึงปัญหาในไทยว่า ในรัฐธรรมนูญ 2560 ในมาตรา 188 วรรค 2 รับรองความเป็นอิสระในการดำเนินคดี แต่ปัญหาไม่ได้อยู่ที่รัฐธรรมนูญ หรือใน พ.ร.บ.พระธรรมนูญศาลยุติธรรม ซึ่งระบุชัด แม้มีคำถามต่อ มาตรา 28 และมาตรา 29 ก็ไม่ขัด

แต่ประเด็นอยู่ที่ ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วยการรายงานคดีสำคัญในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ และการตรวจสำนวน 2562 ซึ่งอาศัยอำนาจตามข้อ 5 ใน พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลยุติธรรรม ที่ระบุว่า ประธานศาลสามารถออกระเบียบการดำเนินการตรวจสำนวนคดี ซึ่งเป็นเรื่องที่คุณคณากรพูดถึงในการตรวจสำนวน

กล่าวถึงระเบียบนั้นโดยสรุปคือ ข้อ 14 ในการตรวจร่างคำพิพากษาคำสั่ง ต้องการให้ส่งสำนวนและร่างคำพิพากษานั้นให้อธิบดีดูก่อนเพื่อรักษาบรรทัดฐานของคำพิพากษาและดุลพินิจไปในทางเดียวกัน และในข้อ 16 ระบุว่า ถ้าเป็นคดีพิเศษ องค์คณะผู้พิพากษาต้องตรวจสอบและร่างให้อธิบดี อธิบดีทำคำแนะนำ เมื่ออ่านคำตัดสินให้ผู้ถูกดำเนินคดีฟังแล้ว ให้รายงานกลับให้ไปอธิบดีว่าตรงหรือไม่

แต่ปัญหาคือ ระเบียบนี้ไม่ได้พูดถึงหลักความเป็นอิสระของศาลไว้ ในกรณีที่ ถ้าผู้พิพากษาไม่ตรงกับสิ่งที่อธิบดีบอก ผลจะเป็นอย่างไร ผมไม่ทราบตรงนี้ แต่คิดว่าคนข้างในจะตอบได้

รศ.ดร.ปกป้องยังให้ข้อเสนอที่เหมาะสมกับทุกฝ่าย 1.ถ้ายกเลิกระเบียบว่าด้วยการส่งร่างคำพิพากษา จะตัดปัญหาทั้งหมดในความเป็นอิสระของศาล หัวหน้าคณะจะมีความเป็นอิสระ แต่ถ้า 2.ไม่ยกเลิกระเบียบด้วยเพราะต้องการรักษาบรรทัดฐาน แต่ควรปรับอยู่ คือ 2.1 ให้อธิบดีแนะนำเฉพาะข้อปัญหาทางกฎหมายเท่านั้น ส่วนข้อเท็จจริง เจ้าของสำนวนคดีน่าอยู่ในจุดที่ดีที่สุด เพราะเห็นหมดระหว่างพิจารณาคดี 2.2 ควรมีการยืนยันหลักความเป็นอิสระไว้ในระเบียบด้วย เพราะในระเบียบปี 2562 มีแต่ให้ทำ แต่ถ้าไม่ทำจะเกิดอะไร จึงต้องเขียนเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับคนที่ไม่แน่ใจ

ปรับเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมขึ้น บรรทัดฐานก็ไม่เสีย การแทรกแซงก็จะไม่เกิด

 

ด้านนายเข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ได้กล่าวว่า ทุกองค์กรล้วนมีความเป็นอิสระ ต่างตรงที่องค์กรตุลาการมีความเป็นอิสระสูงกว่า เพราะเป็นส่วนหนึ่งของหลักนิติธรรม ทำไมถึงสำคัญ เพราะศาลมีลักษณะเป็นผู้ตัดสินสุดท้ายในระบบการเมือง ข้อพิพาทต้องจบ ความน่าเชื่อถือจึงต้องมีสูงกว่า

ในกลุ่มผู้ศึกษานิติศาสตร์ บรรดาอาจารย์จากฝั่งตุลาการจะย้ำเสมอว่า “ถูกต้อง” กับ “ถูกใจ” นั้นคนละเรื่อง ศาลต้องตัดสินถูกต้องตามหลักวิชา แต่ในลักษณะเดียวกันนั้น เราบอกว่า “ความเป็นอิสระ สัมพันธ์กับความยุติธรรม” แม้คำว่าความยุติธรรม ก็ไม่มีคำที่ยุติ หรือมีสุภาษิตที่กล่าวว่า ความยุติธรรมคือสิ่งที่คนส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นธรรม นี่ทำให้เห็นว่า ความยุติธรรมก็ไม่เหมือนกันแล้ว หรือต่อให้คนทั้งโลกขวาหมด แต่ตัวเองยืนยันว่าซ้ายก็ต้องยืนตามนั้น แบบนี้จะยึดนิยามไหนดี

หรือเปรียบเทียบในงานวิชาการ ก็ธรรมดาที่มีคนทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ในแง่หนึ่งในฐานะคนศึกษาอาจพูดว่าเราเข้าใจอย่างนี้ ใครวิจารณ์ก็เถียงกลับ แต่ถ้าคนทั้งเวทีบอกว่าคุณเข้าใจผิด ก็ยากว่าเราจะยึดความเป็นอิสระได้ไหม

หรือต้องทบทวนว่า สิ่งที่เราเข้าใจว่าเป็นความถูกต้อง จริงๆ อาจไม่ถูก

 

นายเข็มทองกล่าวว่า ในสถานการณ์ความขัดแย้งที่มีศัตรูหรือสงคราม การที่คนหนึ่งทำงานของตัวเองโดยไม่ให้ความเป็นธรรมกับประชาชน เท่ากับคุณกำลังให้กับศัตรูของคุณ เช่น เหตุใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ถ้าเราคิดว่าส่งสำนวนและยึดตามนั้น แต่คนที่รับผลกระทบจากคำพิพากษาจะมีคำถามตามมาว่า ผู้พิพากษากำลังทำงานให้กับฝั่งไหน เราจะทำยังไง

แม้แต่กับความเป็นอิสระของศาลเอง ก็ต้องคำนึงถึงหลักนิติธรรม อย่างเช่น ความโปร่งใสตรวจสอบได้ ความมีเหตุมีผลในการทำงาน จริงๆ หลักนิติธรรมไม่ใช่แค่หลักความเป็นอิสระในการทำงาน แต่ยังมีการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจขององค์กร เราเห็นได้ในอำนาจนิติบัญญัติและบริหาร แต่พอมาตุลาการ จะพูดถึงความเป็นอิสระมากกว่า

คำว่า “อิสระ” ไม่ได้แปลว่าจะทำอะไรก็ได้โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบ ความเป็นอิสระเป็นสิทธิแบบหนึ่ง เป็นอำนาจแบบหนึ่งด้วย อำนาจที่กันคนอื่นไม่ให้ตั้งคำถาม หรือให้คนอื่นแทรกแซงการทำงาน และในเมื่อความเป็นอิสระเป็นอำนาจแบบหนึ่ง ต้องรู้จักสุภาษิตโด่งดังที่ว่า “อำนาจนำไปสู่ความฉ้อฉล ยิ่งอำนาจมากล้น ยิ่งฉ้อฉลเพิ่มพูน” แล้วพอแทน “อำนาจ” เป็น “ความเป็นอิสระ”

เหมือนกัน ถ้าอิสระสมบูรณ์ มีปัญหาแน่นอน

 

นายเข็มทองกล่าวว่า ทุกวันนี้พอกล่าวถึงหลักถ่วงดุลมักนึกถึงฝั่งการเมือง แต่พอเป็นตุลาการเรามองเรื่องความเป็นอิสระ เพราะเราเชื่อมั่น การควบคุมกันเองจะมีประสิทธิภาพมากกว่า เพราะมีแนวพิจารณา หลักจริยธรรม แต่การตรวจสอบจากภายนอกทำได้น้อยลงเรื่อยๆ

ยิ่งพอระยะหลังมีเรื่องผิดวินัยหรืออื้อฉาวออกสู่สาธารณะ ศาลยึดหลักความเป็นอิสระ และละเลยที่จะชี้แจงกับสังคม เพราะจะทำให้ความน่าเชื่อถือถูกสั่นคลอน เท่าที่สังเกตจะเป็นลักษณะที่เรียกว่า “ไม่คุย ไม่ชี้แจง แต่ไม่ทน” อาจเรียกว่าความเป็นอิสระเป็นพิษก็ได้

ถ้าศาลเปลี่ยนทัศนคติ ยอมให้วิจารณ์ วิพากษ์ที่สร้างสรรค์ ยอมให้มีไอเดียว่าการปฏิรูปเพื่อธำรงความเป็นอิสระและรักษาหลักนิติธรรม คำตอบก็จะค่อยๆ เกิดขึ้นเอง