สกุณา ประยูรศุข : กลยุทธ์ 2 ประสาน “เอกนิติ-ผยง” สร้าง “โมเดลกรุงไทย” ในอนาคต

สองประสานที่กล่าวไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็น “เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ” ประธานบอร์ดธนาคารกรุงไทย และ “ผยง ศรีวณิช” กรรรมการผู้จัดการใหญ่แบงก์กรุงไทย กลายเป็นสองจอมยุทธ์ที่เกิดจากสถานการณ์ “ชิมช้อปใช้” ดังถล่มทลายจนเน็ตล่มเมื่อประชาชน 10 ล้านคนแห่ไปลงทะเบียนขอรับเงิน 1,000 บาทสำหรับใช้จ่ายตามเงื่อนไขที่รัฐบาลกำหนดขึ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

โครงการชิมช้อปใช้ เป็นมาตรการหนึ่งของรัฐบาลที่ธนาคารกรุงไทยเข้าไปร่วมดำเนินการโดยนำเทคโนโลยีการชำระเงินเข้ามาใช้จนประสบความสำเร็จอย่างเยี่ยมยอด

ซึ่งที่จริงแล้วไม่ได้มีเพียงโครงการนี้เท่านั้น แต่ธนาคารกรุงไทยยังได้วางยุทธศาสตร์ เพื่อพัฒนาทางด้านดิจิตอลของธนาคารกรุงไทยในอนาคตไว้หลายเวอร์ชั่นเพื่อจะทำให้ธนาคารกรุงไทยซึ่งได้ชื่อว่าเป็นธนาคารของรัฐที่เชยและล้าหลังในการให้บริการ ได้กลายเป็น “ผู้นำด้าน Digital Banking” ก้าวไปสู่การเป็น Invisible Banking หรือธนาคารที่ลูกค้าสามารถทำธุรกรรมได้ทุกที่ทุกเวลา และสะดวก ปลอดภัย ในอนาคต

นอกจากงบประมาณที่ตั้งไว้ถึง 19,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที และต่อยอดยกระดับการให้บริการทางการเงินในทุกมิติแล้ว การวางยุทธศาสตร์ของกรุงไทยเพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายดังกล่าว ทำให้สองผู้บริหาร “เอกนิติ” และ “ผยง” ต้องมองหารูปแบบเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาปรับปรุง ยกระดับการให้บริการของธนาคาร

ซึ่งจะทำอย่างที่กล่าวได้จำเป็นต้องหา “พันธมิตร” เนื่องเพราะการทำงานทุกวันนี้ไม่มีใครสามารถทำคนเดียวได้อีกต่อไป

 

พันธมิตรที่กรุงไทยมองหาและนำมาช่วยคิดต่อยอดระบบ มีหลายบริษัทด้วยกัน ล้วนแต่เป็นบริษัทชั้นนำระดับโลก ตั้งแต่บริษัท Accenture ซึ่งตั้งอยู่ที่ตึก salesforce ในซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา พันธมิตรที่กรุงไทยได้ใช้บริการในการวิจัยแพลตฟอร์มต่างๆ ที่จะนำมาใช้ในอนาคตเพื่อก้าวสู่การเป็น Open Banking พันธมิตรในเขตซิลิคอน วัลเลย์ อย่าง Plug and Play Tech Center หรือบริษัท Visa ผู้ให้บริการด้านการชำระเงินและรับชำระเงินที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก รวมถึงการบริการที่เชื่อมต่อกับทุกอุปกรณ์ไม่ว่าจะเป็นบัตรแล็บท็อป แท็บเล็ต และอุปกรณ์มือถือ

“ผยง ศรีวณิช” ในฐานะเบอร์หนึ่งของธนาคาร กล่าวถึงในยุคปฏิรูปตัวเองของธนาคารกรุงไทย ว่าจำเป็นต้องปฏิรูปโดยยึดหลักหัวใจ 3 ข้อ คือ

1. ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง คือต้องเข้าใจลูกค้าในเชิงลึกมากขึ้นกว่าเดิม ยกตัวอย่างเช่น ไม่ใช่แค่รู้ว่าลูกค้าดื่มกาแฟเท่านั้น แต่ต้องรู้ลึกไปถึงว่าลูกค้าชอบดื่มกาแฟเวลาไหน ยี่ห้ออะไร แบบไหน เป็นต้น

2. การให้บริการของธนาคารต้องอยู่บนพื้นฐานการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งหมายความว่าระบบ AI ต้องทำงานตลอดเวลา และต้องทำงานได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพมาก

3. วิธีการทำงานของกรุงไทย ต้องปรับเปลี่ยนอย่างสิ้นเชิง จะอยู่แบบเดิมๆ ไม่ได้

ขณะที่คนมักพูดกันว่า Disruption เป็นเรื่องการทำลายล้าง แต่ผยงกลับมองว่า “มันคือโอกาส” ที่ทำให้ต้องเร่งมือทำและสร้างสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาโดยเร็วที่สุด “…ในเมื่อกรุงไทยมีลูกค้ารายใหญ่ที่สุดคือรัฐบาล ที่ต้องดูแลและพัฒนาไปด้วยกัน ถ้ามองในมุมของรัฐบาลตอนนี้ไม่ต้องการสั่งการในเชิงนโยบายสิ่งที่กรุงไทยต้องปรับตัวขึ้นมา คือ การเป็นคู่คิดของรัฐบาล…” คิดว่าจะต้องทำอย่างไรเพื่อให้นโยบายของรัฐเรื่องนั้นๆ ประสบผลสำเร็จ เป็นรูปธรรม

ดังนั้น การเป็นธนาคารรัฐของกรุงไทย จึงจำเป็นจะต้องวางโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบการชำระเงิน โดยสร้างแพลตฟอร์มเชื่อมโยงระบบนิเวศ (Ecosystem) กลุ่มต่างๆ เข้าด้วยกัน ต้องทำระบบตั้งแต่บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ร้านธงฟ้า บัตรแมงมุม เหล่านี้เป็นต้น

ซึ่งการสร้างแพลตฟอร์มใหม่ๆ เพื่อโยงระบบนิเวศต่างๆ เข้าด้วยกันนี้ ต้องอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางด้าน AI แบบใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา เพื่อให้รู้จักลูกค้าและพฤติกรรมของลูกค้าในเชิงลึกยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกัน ธนาคารกรุงไทยเองก็ได้ประโยชน์ด้วย คือทำให้ธนาคารได้ฐานข้อมูล (Big Data) ของลูกค้าจำนวนมหาศาลซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากในการขยายฐานของธนาคาร

 

ขณะที่ “ผยง” เน้นในเรื่อง IT Infrastructure และ Data Structure “เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ” ก็มุ่งเน้นในเรื่องของ “คุณธรรม” โดยการคิดโครงการ “กรุงไทยคุณธรรม” ขึ้น หวังแก้ปัญหาที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ไม่ว่าปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น การเอื้อประโยชน์ให้ฉ้อโกงธนาคารกรณีบริษัทเอิร์ธเป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “กรุงไทยคุณธรรม” จะทำให้การทำงานของแบงก์กรุงไทยเป็นไปอย่างโปร่งใส ถูกต้องตามกฎ กติกา

โครงการกรุงไทยคุณธรรม เป็นการเปิดโอกาสให้พนักงานมีส่วนร่วมในการเสนอโครงการต่างๆ เพื่อนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้องตามกฎ กติกา ซึ่งแต่เดิมนั้นฝ่ายบริหารจะเป็นผู้สั่งการลงไปมากกว่า ซึ่งจากที่ผ่านมา ซีรี่ส์หนึ่งได้เปิดรับการเสนอโครงการไปแล้ว มีพนักงานเสนอมาถึง 168 โครงการ ได้คัดเลือกเหลือ 10 โครงการ และนำไปพัฒนาขยายผลในการปฏิบัติในธนาคารกรุงไทยทุกสาขาทั่วประเทศ ทำให้การทำงานของธนาคารเป็นไปอย่างโปร่งใส ถูกต้อง ส่วนพนักงานก็กล้าจะเสนอแนวคิดต่างๆ ต่อผู้บริหาร เพื่อช่วยกันพัฒนาองค์กร

“เอกนิติ” บอกด้วยว่า ล่าสุดที่ตั้งใจจะต้องทำโดยเร็ว คือ Blockchain (บล็อกเชน) โดยกรุงไทยจะทำให้กับกระทรวงการคลัง เป็นแพลตฟอร์มเกี่ยวกับการคืนภาษีให้กับนักท่องเที่ยว หรือใช้บล็อกเชนกับระบบจัดซื้อจัดจ้าง ทำให้จัดซื้อจัดจ้างง่ายขึ้น แพลตฟอร์มในเรื่องคมนาคมขนส่งที่เชื่อมบีทีเอสกับรถไฟใต้ดินและยังได้ไปวางระบบให้กับรถเมล์ด้วย เพราะฉะนั้น บริบทของธนาคารกรุงไทยจึงไม่ใช่ธนาคารแบบเดิมๆ ที่โอนเงิน ปล่อยสินเชื่อเท่านั้น แต่ต้องสามารถเชื่อมต่อกับ Digital Product อื่นๆ ได้ สามารถเรียกใช้งานบริการทางด้านการเงินได้อย่างสะดวกและง่ายดายยิ่งกว่าเดิม ซึ่งการเปลี่ยนแปลงก้าวต่อไปของกรุงไทยคือการเป็น Open Banking

“…ผมคิดว่าภายใน 3 ปีต่อจากนี้ จะเกิดขึ้นแน่ น่าจะเห็นอะไรออกมาเป็นรูปธรรม”