“ราษฎรกำแหง” เมื่อคนธรรมดา ยืนท้าอำนาจเผด็จการในนามกฎหมาย

การรัฐประหารครั้งล่าสุดในปี 2557 ของคณะรัฐประหารอย่างคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ได้ทำในสิ่งที่สะท้อนความพยายามควบคุมแบบเบ็ดเสร็จโดยไม่มีการใช้กำลังรุนแรงเหมือนครั้งก่อน นอกจากใช้กลไกฝ่ายความมั่นคงหรือกฎหมายต่างๆ ที่ออกมา ทั้งมาจากคำสั่งในฐานะรัฏฐาธิปัตย์ หรือผ่านกลไกสภาที่ถูกแต่งตั้งโดย คสช.เองที่มากขึ้นเท่านั้น

กระบวนการยุติธรรมก็ถูกใช้อย่างเต็มบทบาท ทั้งศาลทหารและศาลพลเรือน ในการจัดการฝ่ายตรงข้ามที่ถูกมองว่ากระทำผิดกฎหมายที่พวกเขาเขียนขึ้นเอง

ทนายความสิทธิมนุษยชนได้เข้าช่วยเหลือประชาชนที่เผชิญกับคดีความจากสิ่งที่พวกเขายึดมั่นในอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตยและการมีรัฐบาลอันชอบธรรมที่ได้รับเลือกจากประชาชน

การต่อสู้ระหว่างฝ่ายรัฐบาลทหารกับฝ่ายต่อต้าน จึงไม่เพียงเกิดขึ้นตามท้องถนน ผ้าใบ กำแพงในตรอก หรือบนเพจโซเชียล แต่ยังขับเคี่ยวกันอย่างเข้มข้นในห้องพิจารณาคดีด้วย

และคำตัดสินของศาล คือหลักฐานเชิงประจักษ์อันเดียวที่บอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้น

 

ทุกคำให้การของโจทก์และจำเลย ที่สะท้อนถึงการช่วงชิงความคิดและความชอบธรรมระหว่าง “ความมั่นคงของชาติ” ปะทะ “สิทธิมนุษยชน” และ “ประชาธิปไตย” ถูกคัดสรรและรวบรวมไว้ในหนังสือ “ราษฎรกำแหง” ซึ่งเปรียบเสมือนข้อมูลอ้างอิงทางกฎหมาย

หรือบันทึกเรื่องราวของผู้คนที่เลือก “กำแหง” “หาญกล้า” ต่อต้านผู้ยึดอำนาจ ที่แม้ปกครองประเทศกว่า 5 ปี ก็ไม่มีแม้แต่ความชอบธรรมมาตั้งแต่ต้น

ภาวิณี ชุมศรี ทนายความของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้เล่าที่มาของหนังสือเล่มนี้ว่า เราได้ทำคดีที่ประชาชนมาต่อต้านการรัฐประหาร ตลอด 5 ปี และคดีมีมากจนมีวัตถุดิบว่ามีการสืบพยานในศาล มีคำพิพากษา เราก็ได้เห็นคดีที่น่าสนใจหลายแง่มุม เลยคิดว่ามุมตรงนี้ ควรมีการบันทึกและเผยแพร่ให้สังคมได้จดจำ

จริงๆ คดีเหล่านี้หลายคนว่าเกิดขึ้น แต่เราอยากรวบรวม บางคนไม่รู้ว่าปลายทางศาลตัดสินยังไง ในห้องพิจารณาคดี คนที่ถูกจับเหล่านี้ต่อสู้ยังไง เราหวังว่าหนังสือเล่มนี้ นอกจากบันทึกการต่อสู้ของประชาชน ก็ยังเป็นแรงบันดาลใจสำหรับคนที่ยังยึดมั่นในหลักการ

สำหรับประเทศไทย หลายคนอาจบอกว่ารัฐประหารสงบเรียบร้อย บริหารประเทศได้ดี แต่ในความเป็นจริงยังมีเรื่องแบบนี้อยู่

 

หลายคดีที่ถูกนำเสนอ มีทั้งจากการแสดงออกรำลึกของนักศึกษาหน้าหอศิลป์ เหล่านักศึกษาที่ชูสามนิ้วต่อหน้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้นำรัฐบาลทหารที่ขอนแก่น หรือการชูป้าย “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร” ในงานประชุมวิชาการไทยศึกษาที่เชียงใหม่ ซึ่งทุกคดีล้วนมีเหตุจูงใจเดียวกันคือ การหาญกล้า เหิมเกริม ไม่สยบยอมต่ออำนาจเผด็จการ

ภาวิณีเผยถึงที่มาของชื่อ “ราษฎรกำแหง” ว่า หาหลายชื่อมาก พยายามหาชื่อที่ดูเซ็กซี่ มีความเป็นเรื่องเล่า แต่ความเป็น “ราษฎรกำแหง” คือการเล่าเรื่องของราษฎร หรือประชาชน ส่วนคำว่า “กำแหง” โดยส่วนตัวกังวลว่ามีแง่ลบ แต่ในบริบทของพวกเขาคือ กำแหงต่อเผด็จการ คำคำนี้มีพลังของมันเอง

ไม่ใช่นั่งอยู่เฉยๆ แต่พวกเขากำลังปฏิบัติการด้วยจนถูกดำเนินคดี

 

เมื่อถามถึงเนื้อหาของคดีและคำตัดสินเหล่านี้ ทำให้เห็นอะไรในความสัมพันธ์ระหว่าง “ผู้ถืออำนาจรัฐ-กระบวนการยุติธรรม-ประชาชนที่ถูกดำเนินคดี”

ภาวิณีกล่าวว่า เราไม่ได้ศึกษาเรื่องเหล่านี้ในห้องเรียนนักกฎหมาย เราห่างหายในเรื่องรัฏฐาธิปัตย์ เรื่องการยึดอำนาจ รัฐประหารมานาน แม้จะเจอตอนรัฐประหาร 2549 แต่ก็ไม่เจอเรื่องของศาลทหารที่ไปรองรับอำนาจรัฐประหาร แม้ว่าในอดีตจะมีเรื่องแบบนี้ แต่คำพิพากษาก็มีมานานมาก ซึ่งมีการรับรองมา

พอมาเจอคดีในยุค คสช. เราต้องสืบค้นคำพิพากษา แล้วเห็นว่าศาลรับรองตามแนวคำพิพากษาเหล่านั้น ศาลทุกศาลที่เราต่อสู้ จำเลยทุกคนก็ต่อสู้ว่าไม่ยอมรับอำนาจรัฐประหาร การฉีกรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจเถื่อนและมีสิทธิปกป้องรัฐธรรมนูญ แต่ศาลก็รับรองว่า คสช.เป็นรัฏฐาธิปัตย์ ถึงแม้อาจใช้คำอื่นแต่มีนัยยะเดียวกัน แล้วคำสั่งของรัฏฐาธิปัตย์ถือเป็นกฎหมาย

นี่ทำให้ประเทศไทยก็ไม่ได้ไปไหนกว่าอดีตที่เราเคยประสบเจอ และทำให้คิดไปถึงประเทศไทยมีรัฐประหารมาหลายครั้ง และคำพิพากษาเหล่านี้อาจทำให้เกิดการรัฐประหารในอนาคตขึ้นได้ เพราะว่าองค์กรตุลาการไปรับรองความชอบด้วยกฎหมายของคณะรัฐประหาร รวมถึงประกาศคำสั่งต่างๆ รวมถึงการมีศาลทหารขึ้นมา เรียกว่า กระบวนการยุติธรรมพังหมด

เราไม่คิดว่าจะต้องการเจอเรื่องแบบนี้ และดูเหมือนจะซ้ำรอยอีก

 

หลักการหนึ่งที่ประกันว่ากระบวนการยุติธรรมสามารถเป็นที่พึ่งของประชาชนได้นั่นคือความเป็นอิสระ แต่ในช่วงยุค คสช.นั้น ภาวิณีมองต่างว่า สำหรับทนายความโดยเฉพาะที่ทำคดีการเมือง เราจะเจอกระบวนการยุติธรรมที่เรียกว่า “คดีนโยบาย” ต้องปรึกษาอธิบดี หัวหน้าศาลตลอด ทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ยกตัวอย่างเช่น เรายื่นคำขอปล่อยตัวเพราะจับกุมโดยมิชอบ ซึ่งต่อเนื่องกับคำสั่ง คสช.ว่าด้วยการคุมตัว 7 วัน พอศาลฟังพยาน อะไรต่างๆ แล้วศาลขอลงบัลลังก์ไปปรึกษาก่อน

ทีนี้บางอย่างในทางเอกสารก็ไม่ได้มีการบันทึกไว้ แต่ส่วนใหญ่ในคำพิพากษาหรือรายงานพิจารณาคดี ศาลจะบันทึกว่าต้องส่งให้อธิบดีตรวจก่อน ตัวเองเคยถามหลายครั้งว่า สิ่งนี้ถือเป็นการแทรกแซงหรือไม่

ส่วนตัวมองว่า องค์กรตุลาการ ถ้ายึดตามอุดมการณ์ ไม่ใช่ข้าราชการปกติที่จะต้องฟังคำสั่งผู้บังคับบัญชา เราเรียนมาต้องเชื่อว่า ผู้พิพากษาแต่ละคนต้องมีความเป็นอิสระในการตัดสิน การตรวจไม่ว่าสำนวนภาษา ความเหมาะสม ตรงข้อกฎหมายไหม จะเป็นในลักษณะแบบแผน ไม่ใช่ไปกำหนดถึงขั้นตัวคำตอบ ผิด-ถูกอะไรอย่างนั้น

แต่ถ้าในกรณีที่อธิบดีหรือหัวหน้าภาคเห็นอีกแบบ ผู้พิพากษาที่กล้าหาญ ที่จะยืนยันตามความเห็นตัวเอง แค่มีแหละ แต่ต้องอยู่ภายใต้ความกดดันเหล่านี้

ตรงนี้ก็เป็นผลแล้ว ต่อคำตัดสินของเจ้าของสำนวน

 

แม้จะมีการตั้งคำถามต่อการดำเนินคดีกับผู้ต่อต้าน คสช. โดยเฉพาะการนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร หรือการตัดสินโดยยึดคำสั่งของ คสช.ว่าชอบด้วยกฎหมาย

แต่กระสุนเดิมพันของนายคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาศาลจังหวัดยะลาที่ลั่นไกใส่ตัวเอง ทำกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบสั่นสะเทือน จนสังคมรับรู้และสนใจถึงข้อเรียกร้อง แม้มีความพยายามตีความไปในประเด็นการเมือง

สำหรับภาวิณีมองว่าเป็นเรื่องน่าเศร้าใจ และรู้สึกว่า คนที่จะยืนหยัดเพื่อความถูกต้องซึ่งมีทุกโอกาส กระบวนการที่จะปกป้องคนที่ยืนหยัด ยึดมั่นในความคิดของตัวเอง มีแค่ไหน อย่างไร

และในวงการตุลาการ มีกลไกหรือกระบวนการอะไรที่คุ้มครองผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน ซึ่งน่าชวนตั้งคำถาม ถึงแม้อธิบดีหรือผู้ใหญ่จะบอกแค่แนะนำ เจ้าของสำนวนสามารถทำคำชี้แจงยืนยันได้นั้นก็เป็นการโยนภาระให้กับผู้พิพากษาที่ต้องยืนยันความถูกต้องว่า ถ้ายืนยันแล้วจะมีผลอะไรตามมาบ้าง เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ผู้พิพากษาที่ยืนยันไปจะได้รับผลอะไรบ้าง เขาจะไปร้องเรียนได้ที่ไหน

นั้นเป็นเรื่องเศร้าสำหรับคนที่ยืนหยัดความยุติธรรม จะต้องยืนอยู่อย่างโดดเดี่ยว แล้วพอยืนหยัดไป ต้องแลกอะไรมาบ้าง

 

ทั้งนี้ ภาวิณีทิ้งท้ายว่า หนังสือเล่มนี้อาจร่วมเป็นส่วนหนึ่งของความหวังในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมได้ เพราะเป็นการต่อสู้ของคนทั่วไป แม้ท้ายที่สุดแล้ว พวกเขากำลังต่อสู้กับสิ่งที่ใหญ่กว่า อย่างความคิดที่ฝังรากลึกในสังคมไทย อย่างที่พูดถึงคำพิพากษาที่รับรองอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ของ คสช. หลายคดีไม่ได้นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง ผู้นำยังคงคิดและเป็นไปในแนวทางเดิมๆ อย่างที่เป็นมา

แต่ถึงอย่างนั้น ตัวเองยังมีความหวัง เพราะมองในฐานะบทเรียน และคนที่ได้อ่านจะเห็นความผิดปกติของคำพิพากษาเหล่านี้ การปฏิบัติ การดำเนินคดี เอาจริงๆ แค่สิ่งที่พวกเขาทำก็ไม่ควรเป็นคดีตั้งแต่แรกแล้ว แต่ถ้าได้อ่าน พอได้เห็นความบิดเบี้ยว ไม่เป็นธรรม ก็จะช่วยสั่งสมให้เข้าใจ

หวังว่าจะเป็นคำพิพากษาสุดท้าย และเกิดสิ่งที่แตกต่างดีกว่าขึ้นมาได้