จักรกฤษณ์ สิริริน : จาก Amazon Effect ถึง Lazada Effect สู่ “หายนะ” SME

คนในวงการเศรษฐศาสตร์ทราบกันดีว่า SME ที่ย่อมาจาก Small and Medium Enterprise ซึ่งหมายถึง “ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม” นั้น คือ “หัวใจสำคัญ” ของระบบเศรษฐกิจ

มีงานวิจัยและบทความวิชาการมากมายที่ยืนยันถึงคำกล่าวนี้ ไม่ว่าจะเป็น Growing the global economy through SMEs ของ www.edinburgh-group.org, Boosting SMEs, the heart of Europe”s economy ของ www.euronews.com, SMEs : The Heart of Singapore”s Economy ของ https://medium.com ฯลฯ

โดยเฉพาะในบ้านเรา ที่นักการเมืองหลายสมัยได้นำ SME มาใช้ในการหาเสียง และหน่วยงานภาครัฐได้ขานรับนำนโยบายไปปฏิบัติกันมานับสิบปี ถึงขนาดตั้ง SME Bank หรือธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยขึ้นมารองรับ และมีเครือข่ายเข้าร่วมอีกมากมาย

ไม่ว่าจะเป็น สมาคมผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย สมาคมเครือข่ายที่ปรึกษาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สมาคมนักธุรกิจเอสเอ็มอีรุ่นใหม่ และอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วน

ชี้ให้เห็นถึงการให้ความสำคัญทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะภาคประชาสังคมซึ่งจะว่าไปก็คือเจ้าของกิจการรายเล็กรายน้อย “ตัวจริง” ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ เพราะหากพูดถึง SME หรือ Start-up ส่วนใหญ่มักหมายถึงผู้ประกอบการระดับบน/ในเมือง

SME “ตัวจริง” คือร้านโชห่วยในต่างจังหวัด และร้านค้าร้านเล็กร้านน้อย หรือหาบเร่แผงลอยนับแสนรายที่ประกอบกิจการกันมาก่อนที่จะมีคำว่า SME

ทั้งหมดไม่เพียงเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในไทย หากแต่เป็นสถานการณ์ระดับโลก

 

“หายนะ” ดาบแรก ที่ฟันลงมากลางใจ SME ก็คือ การมาถึงของร้านสะดวกซื้อ และ Discount Store ที่กินรวบระบบค้าปลีกเครื่องอุปโภคบริโภคไปจนถึงอาหารการกินประจำวัน สร้างความปั่นป่วนในวงการมากว่า 20 ปี

“หายนะ” ซ้ำดาบสอง ที่กำลังแล่เนื้อเถือหนัง SME ก็คือ ร้านค้าออนไลน์ยักษ์ใหญ่ในระดับบรรษัทข้ามชาติที่มีเครื่องมือและกลไกในการดำเนินธุรกิจแบบครบวงจร

Victoria Pavlova เขียนในเว็บไซต์ www.forbes.com ว่า The Amazon Effect: How Amazon Is Disrupting European e-Commerce

Victoria บอกว่า Amazon ค่อยๆ รุกคืบเพื่อขโมย “ส่วนแบ่งทางตลาด” ของ SME ในยุโรป หลังจากสร้างความหายนะให้กับ SME ในอเมริกาบ้านเกิด

“…อย่างไรก็ดี แม้ว่าในขณะนี้ Amazon ยังไม่เฟื่องฟูในยุโรปเท่ากับที่อเมริกา ทว่า มีดัชนีชี้วัดหลายตัวที่สะท้อนถึงแนวโน้มของหายนะที่กำลังจะเกิดขึ้น…” Victoria กระชุ่น

 

เป็นที่ทราบกันดีในแวดวงธุรกิจว่า SME ของยุโรปนั้นมีความแข็งแกร่งมาก ทว่าในปัจจุบัน ป้อมปราการที่ตระหง่านสูงแห่งนี้ กำลังเริ่มสั่นคลอน

“…ฐานที่มั่นสุดท้ายของ SME ยุโรปก็คือสินค้าประเภทเครื่องแต่งกาย แม้ Amazon จะทลายกำแพงความเชื่อที่ผู้บริโภคมีต่อการซื้อเสื้อผ้าหรือรองเท้าผ่านทางออนไลน์ในอเมริกาได้ แต่ที่นี่คือยุโรป…” Victoria กล่าว และว่า

ในปี 2018 Amazon ครองส่วนแบ่งทางการตลาดในสหรัฐมากถึง 35% ขณะที่ในยุโรปตะวันตก Amazon ถือเค้กเพียง 8% เท่านั้น

ประสบการณ์ในการช้อปปิ้งเสื้อผ้าและรองเท้าของเราก็คือ นอกจากการทดลองสวมใส่เพื่อวัดขนาด Size ที่เหมาะสมแล้ว สไตล์ถือเป็นอีกจุดสำคัญที่มองข้ามไม่ได้

แม้จะวัด Size ได้ตรงตามความต้องการ ทว่าเมื่อสวมใส่และส่องกระจก เราอาจไม่ชอบสไตล์ของเสื้อผ้าชุดนี้ หรือรองเท้าคู่นั้นจริงๆ ก็ได้

นี่คือจุดอ่อนของการทำตลาดออนไลน์

แต่นั่นเป็นเหตุผลในอดีตครับ

เพราะปัจจุบัน Amazon ได้ปิดช่องว่างดังกล่าว ด้วยการรับคืนสินค้า “ทุกประเภท” โดยเฉพาะเสื้อผ้าและรองเท้า ความหมายก็คือ เมื่อลูกค้าได้ทดลองสวมใส่สินค้าที่บ้านแล้ว ไม่พอใจ ไม่ว่าจะเป็น Size ที่ไม่พอดีจริง หรือสไตล์ที่ยังไม่ลงตัว

นอกจาก Amazon จะรับเปลี่ยนแล้ว ยังรับคืนอีกด้วย

 

Stanley White เขียนไว้ในเว็บไซต์ www.reuters.com ว่า นอกจากสินค้าแฟชั่นแล้ว แทบไม่น่าเชื่อว่า SME วัสดุก่อสร้างในญี่ปุ่นกำลังได้รับผลกระทบจาก Amazon เช่นกัน

“…Amazon ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาได้เพิ่มจำนวนศูนย์กระจายสินค้าในญี่ปุ่นเป็นจำนวนมาก อีกทั้งทุกวันนี้ผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นได้ซื้อเสื้อผ้าและสินค้าประจำวันทางออนไลน์มากขึ้น ทั้งจาก Amazon และ e-Commerce อื่น…” Stanley กล่าว และว่า

สินค้าที่แทบไม่น่าเชื่อว่าจะถูกการตลาดออนไลน์กลืนกิน และได้กลายเป็นสนามเพลาะในสงครา,ทางธุรกิจของญี่ปุ่นทุกวันนี้ก็คือ วัสดุก่อสร้าง

“…ปัจจุบัน SME วัสดุก่อสร้าง โดยเฉพาะผู้ค้าปลีกอิฐและปูน กำลังเล่นสงครามราคากับ Amazon นั่นคือ การตั้งราคาขายหน้าร้านให้ถูกกว่าร้านค้าออนไลน์ลงมาในระดับ 0.1% ถึง 0.2% เพื่อคงความสามารถในการแข่งขันเอาไว้ได้…” Stanley บอก

ปัจจุบันนอกจากญี่ปุ่นแล้ว เกาหลีใต้ก็กำลังประสบปัญหากับ Amazon เช่นกัน

Jeanne Whalen เขียนไว้ในเว็บไซต์ www.washingtonpost.com ว่า Amazon Effect กำลังสำแดงฤทธิ์เดชในเกาหลีใต้ ผู้รับผลกระทบเต็มๆ ก็คือบรรดา SME

“…ทุกวันนี้ นักธุรกิจ SME ในเกาหลีใต้ กำลังกังวลกับ Amazon เป็นอย่างมาก แม้ว่า SME เกาหลีใต้จะมีความแข็งแกร่ง และปรับตัวเข้าสู่การทำการตลาดออนไลน์มาหลายปีแล้วก็ตาม…” Jeanne บอก

อย่างไรก็ดี เหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ แตกต่างจากจีนเหมือนหน้ามือกับหลังมือ เหตุผลสำคัญก็คือ จีนมี e-Commerce ระดับโลกของตนเอง นั่นคือ Alibaba

 

Irina Ivanova เขียนในเว็บไซต์ www.cbsnews.com ว่า Amazon ไปไม่รอดในจีน

“…การเกิดขึ้นของ Alibaba เสมือนการไล่ปิด Amazon ทีละสาขาในจีน ยิ่ง Alibaba ซื้อกิจการ Lazada ก็ยิ่งทำให้ Alibaba ผงาดสู่การเป็น Amazon แห่งเอเชีย…” Irina กล่าว

แม้ในบ้านเรา อิทธิพลของ Amazon ยังมีไม่มากนัก เนื่องจากมี SME จำนวนมากที่ทำธุรกิจขายสินค้าออนไลน์มานานก่อนที่ Amazon จะเข้ามา โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ Generation Z ที่ทุกวันนี้แทบจะหันหลังให้กับมหาวิทยาลัย ได้เข้าสู่อาชีพขายของออนไลน์กันมากขึ้น

อย่างไรก็ดี กระแสการซื้อของออนไลน์ผ่าน Lazada ของชนชั้นกลางในเมืองมีความนิยมมากกว่า e-Commerce รายย่อย หรือแม้แต่ Amazon ก็ตาม

เห็นได้จากมีคำสั่งห้ามจากสำนักงานหลายแห่ง ที่ห้ามพนักงานสั่งสินค้ามาส่งที่ออฟฟิศ และห้ามเอาเวลางานไปใช้กับการซื้อขายของออนไลน์

และแม้ว่า ทั้งจาก Amazon Effect และ Lazada Effect จะส่งผลสะเทือนไปทั่วโลก แต่ธุรกิจในไทยดูเหมือนจะยังไม่มีสัญญาณ “หายนะ” เช่นในอเมริกา ยุโรป หรือญี่ปุ่น

ทว่าภาคเอกชนเรายังคงต้องจับตาดูกันต่อไป และต้องช่วยกันกระตุ้นให้ภาครัฐเร่งหามาตรการป้องกัน Amazon Effect และ Lazada Effect ที่อาจส่งผลกระทบกับ SME ไทยต่อไปในอนาคต