สนทนาคมนาคมไทย กับ “สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ” แห่งพรรคอนาคตใหม่ เปลี่ยนระบบจาก “มือใครยาวสาวได้สาวเอา” สู่ “กระจายอำนาจและเม็ดเงินสู่ท้องถิ่น”

สภาพรถติดแน่นเต็มถนนในชั่วโมงเร่งด่วนยามเช้า คนยืนเบียดเสียดแน่นเต็มรถสองแถว เรือด่วน รถไฟฟ้า รถเมล์ที่ไม่พอแถมสภาพทรุดโทรม รวมถึงถนนเป็นหลุมบ่อ ฝนตกน้ำท่วมขัง รถไฟล่าช้าเป็นชั่วโมง แม้แต่มอเตอร์ไซค์วิ่งบนทางเท้าหรือขี่ย้อนศร คือภาพที่ประชาชนเห็นอยู่ทุกวันเมื่อต้องอาศัยและเคลื่อนที่ในระบบคมนาคมและรูปแบบการขนส่งอันแสนวุ่นวาย

หลายคนมองว่าระบบคมนาคมของไทยในฐานะโครงสร้างพื้นฐานสำคัญกำลังมีปัญหาจากความไม่เป็นระเบียบ ไม่เชื่อมโยงและยังคงพัฒนาไปอย่างล่าช้า จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข

ทว่าตลอดหลายปีของการพัฒนา ไม่ว่าโดยรัฐบาลจากการเลือกตั้งหรือยึดอำนาจ ลงทุนใช้งบประมาณมหาศาลไปกับหลากหลายโครงการแต่กลับไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้และนับวันมีแต่จะเรื้อรังหนักขึ้นเรื่อย ๆ

ถึงตรงนี้ ประเทศไทยแก้ปัญหาการคมนาคมถูกทางแล้วรึยัง? ยังมีความหวังอยู่มั้ย?

 

สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ มือหนึ่งด้านคมนาคมแห่งพรรคอนาคตใหม่ อดีตนักวิชาการด้านวิศวกรรมคมนาคมโดยตรงจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) ปัจจุบันเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ได้อธิบายภาพรวมของการคมนาคมไทยเพื่อให้เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นว่า การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของไทยมีลักษณะ “มือใครยาวสาวได้สาวเอา” มาอย่างยาวนานและต่อเนื่อง ควรต้องเปลี่ยน!

ในยุคก่อน คสช.  ส.ส. ต่างพยายามดึงงบประมาณมาสร้างถนน ซ่อมแซมผิวจราจร ติดไฟส่องสว่าง ขยายถนนเป็นสี่เลน ทำถนนไร้ฝุ่น ต่อมาก็มีการลากรถไฟฟ้าไปเรื่อยเปื่อย ซึ่งใหญ่เกินจำเป็นในหลายเส้นทาง ใครโชคดีได้คุมกระทรวงคมนาคม ก็จะดึงงบประมาณไปพัฒนาบ้านเกิดตัวเองหรือฐานเสียง

วิธีเช่นนี้ เป็นการสูบเลือดคนทั้งแผ่นดิน จังหวัดนั้นได้งบประมาณไป แล้วที่อื่นล่ะ? มือใครยาวสาวได้สาวเอาใช่มั้ย?

เมื่อ คสช. เข้ามาบริหารประเทศ ได้รวบอำนาจมาสู่ศูนย์กลางแบบเบ็ดเสร็จ วางแผนโครงการขนาดใหญ่มากมายแต่ซ้ำซ้อบเพียบ ที่แปลกใหม่ก็คือ บังคับให้ทุกคนเดินตามแผนนี้ ผ่านกลไกยุทธศาสตร์ชาติและเขียนบังคับไว้ในรัฐธรรมนูญว่าทุกคนต้องเดินตามแผนนี้อีก 20 ปี ถ้าแผนนี้ดี ก็คงไม่ว่ากัน แต่ที่ทำมานี้ อาจารย์สุรเชษฐ์ท้าให้พิสูจน์ว่า แผนไม่ดี ถ้าหากรัฐบาลหลับหูหลับตาเดินตาม ประเทศจะเสียหายมาก

นอกจากแผนที่ไม่ดีแล้ว ยังไม่โปร่งใส่ เอื้อประโยชน์ทุนใหญ่ เช่น สัมปทานทางด่วน หรือโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบิน

สมัย คสช. ขาดกลไกการตรวจสอบแต่ชอบอนุมัติโครงการใหญ่ จึงเรียกได้ว่าคมนาคมไทยยุค คสช. เป็นยุคกินรวบซึ่งยังอยู่ในระบบ “มือใครยาวสาวได้สาวเอา” แต่ใครอยากทำโครงการก็ต้องวิ่งไปหาท่านผู้นำ

สิ่งที่ ดร.สุรเชษฐ์ และพรรคอนาคตใหม่อยากเห็นคือการ “กระจายอำนาจและเม็ดเงินสู่ท้องถิ่น” อย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่กระจายอำนาจลอย ๆ แต่ไม่มีเงิน ไม่มีบุคลากรไปให้ มีแต่โครงสร้างอำนาจท้องถิ่นที่ทับซ้อนกับส่วนกลาง

อาจารย์อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง จาก “กรุงเทพฯ คือประเทศไทย” ไปเน้น “การพัฒนาหัวเมือง” สร้างระบบขนส่งสาธารณะในเมือง สร้างเมืองให้น่าอยู่น่าเดิน

ไม่ใช่เอาแต่สร้างถนนเพิ่ม แล้วปล่อยให้เมืองโตตามยถากรรมแค่ร้อยเมตรสองข้างทาง

 

เมื่อถามว่า ปัญหารถ ระบบขนส่งไม่เชื่อมต่อหรือโครงข่ายถนนที่ยุ่งเหยิง สะท้อนถึงปัญหาการวางผังเมืองหรือไม่ สุรเชษฐ์ ยืนยันว่า ใช่ สำหรับประเทศไทย ผังเมืองคือ แผนที่ระบายสี แล้วเปลี่ยนสีทุก 5 ปี ไม่ได้เป็นเครื่องมือที่ใช้งานได้จริง

ประเทศเราเน้นการสร้างถนน แล้วปล่อยให้ใครทำอะไรก็ได้สองข้างทาง พอเมืองโตก็เป็นเส้นตรงตามแนวถนน ก็เลยต้องมี U-turn หรือสะพานลอยกลับรถเต็มไปหมด ใครขี้เกียจก็ขับรถย้อนศร นี่มัน “Thailand Only” นะ ถามว่ามีเมืองไหนในต่างประเทศบ้างที่มีจุดกลับรถเยอะแยะไปหมดแบบนี้ ตายบนถนนกันมากขนาดนี้

ประเทศเราพึ่งพาระบบขนส่งทางถนนมากเกินไป นำมาสู่สารพัดปัญหาอย่างเช่นรถติดสะสม ถ้าทุกคนขับรถพร้อมกัน รถก็ติดแน่นอน และเกิดปัญหาซุปเปอร์บล็อก เนื่องจากไม่มีการวางผังเมือง เรามีบล็อกขนาดใหญ่มาก เมื่อรถจำนวนมากทะลักออกมาจากบล็อกขนาดใหญ่ รถก็ติด จะผ่าซุปเปอร์บล็อกก็เวนคืนพื้นที่ยาก จึงชอบตัดถนนในที่ว่าง ๆ ไกล ๆ เมืองเราจึงกระจายมาก โตแนวราบไม่ใช่แนวดิ่ง กิจกรรมเมืองก็เกิดแค่ริมถนน รถก็ติดสิ บาดเจ็บล้มตายริมถนนกันเยอะสิ

พอเราทุ่มเงินไปกับระบบถนนมาก ก็ไม่เหลือเงินไปพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะให้มีคุณภาพดี ราคาถูก เข้าถึงง่าย แต่ทุกคนจำเป็นต้องเดินทาง ก็เลยต้องกู้หนี้ยืมสินมาซื้อรถ รถก็ติดขึ้น ตายกันเยอะขึ้น … เราต้องเปลี่ยน

ในส่วนโครงการด้านคมนาคมในกรอบงบประมาณปี 2563 ที่รัฐบาลจะเสนอนี้ สุรเชษฐ์มองว่า มีโครงการที่สนับสนุนอย่างรถไฟทางคู่ เพราะประเทศไทยยังมีรางรถไฟที่เป็นทางเดี่ยวอยู่มาก รถไฟทางคู่เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ควรมีตามแกนหลักของประเทศ การซ่อมแซมถนนที่มีอยู่แล้วก็เป็นอีกเรื่องที่เห็นด้วย

แต่ที่เห็นต่างมากคือ รถไฟความเร็วสูงและมอเตอร์เวย์ในบางเส้นทางที่แย่งลูกค้ากันเอง จริง ๆ ไม่ได้รังเกียจรถไฟความเร็วสูงและมอเตอร์เวย์ แต่ที่ไม่เห็นด้วยคือโครงการที่เส้นทางซ้ำซ้อน จะทำมาแย่งลูกค้ากันเองทำไม?

การที่รัฐบาลจะทำทั้งรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง และมอเตอร์เวย์ในเส้นทางเดียวกัน เพื่อตอบโจทย์เดียวกันคือการขนคนหรือขนของ มันซ้ำซ้อน ขัดกับหลักพอเพียงในการพัฒนาอย่างสิ้นเชิง ไม่ใช่แค่ไม่คุ้มค่าแต่ขาดตรรกะด้วยซ้ำ

เรื่องต่อมาคือความไม่โปร่งใสในการดำเนินงาน มีการ “ประเคน” ไม่ใช่ประมูล ให้จีน ญี่ปุ่น และทุนใหญ่ ซึ่งเกิดในยุค คสช. และต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมอย่ามองแค่ปีเดียว ที่น่ากลัวกว่ามากคือแผนแม่บท 20 ปี เฉพาะแค่รถไฟความเร็วสูงใน 4 เส้นทางหลักก็ใช้เงินกว่า 1.6 ล้านล้านบาท แผนมอเตอร์เวย์ทั่วประเทศอีก 2 ล้านล้านบาท

ถ้าเราดึงโครงการที่ซ้ำซ้อนกับรถไฟทางคู่ที่จะมาเป็นแกนหลักออก แล้วเอาเม็ดเงินที่ประหยัดได้ไปขยายโครงข่ายมาเสริมหรือสร้างเมืองให้เป็นเมือง ไม่ดีกว่าหรือ?

 

เมื่อถามถึงโครงการใหญ่ที่ถูกจับตามองอย่าง รถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบิน สุรเชษฐ์ มีมุมมองว่า ซ้ำซ้อนกับรถไฟทางคู่ไประยองอย่างชัดเจน แถมมีมอเตอร์เวย์มาแย่งดีมานด์กันเองอีก คนที่จะใช้บริการก็มีแต่คนรวยซึ่งได้ใช้นาน ๆ ที แตกต่างกับการทำรถเมล์ซึ่งพรรคอนาคตใหม่สนับสนุนและประเทศไทยขาดแคลนมาก ซึ่งคนจนได้ใช้ทุกวัน แต่รัฐบาลที่ผ่านมาดันไปขึ้นค่าโดยสารรถเมล์ แล้วเอาเงินรัฐไปอุดหนุนโครงการที่คนรวยใช้นาน ๆ ที แบบนี้ถูกต้องหรือไม่?

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ผิดมาตั้งแต่ชื่อ! จริง ๆ ควรใช้ชื่อว่า “โครงการเชื่อมที่ดินให้ผู้มั่งมีด้วยภาษีประชาชน” ขอแนะนำให้ไปฟังการอภิปรายเมื่อวันที่ 5 กันยายนที่ผ่านมา แล้วจะเข้าใจว่าทำไม

นอกจากนั้น รัฐบาลนี้ก็ไม่ยอมให้ฝ่ายค้านตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญไปตรวจสอบ ก็เลยอยากให้ทุกคนจับตาว่า พรรคไหนอภิปรายอย่าง ลงมติอีกอย่าง

 

นอกจากนี้ สุรเชษฐ์ ยังอธิบายแนวทางด้านคมนาคมของพรรคอนาคตใหม่ว่า ต้องเปลี่ยนให้คนใช้รถยนต์ส่วนตัวน้อยลง ใช้ขนส่งสาธารณะมากขึ้น โดยต้องเข้าใจว่า คนมีรถกับคนไม่มีรถมีความแตกต่างด้านรายได้อย่างชัดเจน แต่ที่ผ่านมารัฐไปอุดหนุนให้กับกลุ่มคนมีรถมากกว่าด้วยการสร้างถนนให้ฟรี ซ่อมถนนให้ฟรี ไม่เหลือเงินไปพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะให้มีคุณภาพ เป็นความผิดพลาดของรัฐในการเลือกลงทุนมาอย่างยาวนาน

พอจะมาลงทุนใหญ่ ก็ดันวางแผนมาในลักษณะต่างหน่วยงาน ต่างคิด ต่างทำ เพื่อดึงเงินเข้าหน่วยงานให้มากที่สุด การพัฒนาแบบไร้ทิศทางทำให้ประเทศใช้เงินภาษีอย่างไม่คุ้มค่า

สิ่งที่พรรคอนาคตใหม่อยากให้รัฐบาลคิดมากขึ้นคือ เวลามองภาพการคมนาคมจำเป็นต้องมองอย่างเป็นระบบ จากต้นทางถึงปลายทางโดยเน้นช่วยกลุ่มคนรายได้น้อยก่อน

 

ทั้งนี้ อ.สุรเชษฐ์ มีข้อเสนอถึงรัฐบาลในการพัฒนาระบบคมนาคมให้คุ้มค่าเงินทุกบาทว่า “ต้องปรับแผ่นแม่บท” โครงการไหนซ้ำซ้อนก็ต้องถอดออก และให้ความสำคัญกับลำดับการพัฒนา อะไรควรทำก่อนทำหลัง

“รัฐมนตรีต้องเข้าใจเรื่องความคุ้มค่าของการใช้เงินภาษี หากมั่นใจว่าแผนงานปัจจุบันมันคุ้มค่าก็ควรกล้าออกมาถกเถียงกันด้วยเหตุด้วยผล”

อ.สุรเชษฐ์ จากพรรคอนาคตใหม่สรุป