คนของโลก : เรเนีย สปีเกล แอนน์ แฟรงก์ แห่งโปแลนด์

“พระผู้เป็นเจ้า ฉันคุกเข่าต่อหน้าท่านครั้งแล้วครั้งเล่า ช่วยพวกเรา ปกป้องพวกเรา พระผู้เป็นเจ้า ให้พวกเรามีชีวิตต่อไป ฉันขอร้อง ฉันอยากมีชีวิตอยู่!”

คำอ้อนวอนราวกับบทสวดลงท้ายใน “ไดอารี่” ของ “เรเนีย สปีเกล” ชาวโปแลนด์เชื้อสายยิววัย 18 ปี ที่ต้องเผชิญชะตากรรมจากการบุกยึดของกองทัพนาซี และตกเป็นเหยื่อของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อันโหดร้ายในปี ค.ศ.1942 ผู้ที่ได้ฉายาว่าเป็นแอนน์ แฟรงก์ แห่งโปแลนด์ เจ้าของไดอารี่อีกคนที่มีชะตากรรมไม่ต่างกัน

ในปีนั้นกองทัพนาซีเยอรมันบุกเข้ายึดครอง “เมืองเซมิซิล” เมืองตอนใต้ของประเทศโปแลนด์ เมืองที่ “เรเนีย” อาศัยอยู่

ไดอารี่ของเรเนียบันทึกเรื่องราวความรักกับ “ซิกมุนต์ ชวาเซอร์” หนุ่มรุ่นราวคราวเดียวกันไปเมื่อ 1 ปีก่อนหน้า แต่ข้อความล่าสุดในวันที่ 7 มิถุนายน กลับเต็มไปด้วยความหวาดกลัว

“ไม่ว่าฉันจะมองไปทางไหน มีแต่การนองเลือด การสังหารหมู่อันโหดร้าย มีแต่การฆ่า การฆาตกรรม” เรเนียระบุ

7 เดือนต่อมา ชวาเซอร์แอบพาเรเนียและพ่อ-แม่ของตนหนีไปหลบซ่อนตัวในห้องใต้หลังคาบ้านของลุง นอกชุมชนแออัดชาวยิวที่เยอรมันนาซีตั้งขึ้นเป็นที่อาศัยของชาวยิวที่ถูกกวาดต้อน 24,000 คน

ชวาเซอร์ ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตทำงาน ทำให้รอดพ้นจากการทูกเนรเทศไปค่ายแรงงาน ต้องการช่วยพ่อ-แม่และเรเนีย ที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานเอาไว้ ทว่านาซีกลับได้รับแจ้งข้อมูลจากบุคคลนิรนาม นั่นทำให้ทั้ง 3 คนถูกยิงประหารชีวิตกลางถนนในวันที่ 30 กรกฎาคม ปี ค.ศ.1942 นั่นเอง

“3 นัด! สิ้น 3 ชีวิต! มันเกิดขึ้นเมื่อคืนนี้เวลา 22.30 น. … เรเนียที่รักของผม บทสุดท้ายไดอารี่ของเธอได้จบลงแล้ว” ชวาเซอร์เขียนไว้ในช่วงสุดท้ายของไดอารี่เล่มหนา

 

80 ปีผ่านไป ไดอารี่ของเรเนียกำลังถูกนำมาปัดฝุ่นและตีพิมพ์เป็นหนังสือในชื่อว่า “เรเนียส์ไดอารี่” วางแผงเป็นภาษาอังกฤษในเดือนนี้ เตรียมแปลไปอีก 15 ภาษาทั่วโลก

เรเนียเริ่มต้นเขียนไดอารี่ในปี 1939 ขณะที่มีอายุได้ 14 ปี ขณะที่อาศัยอยู่กับปู่และย่าที่เมืองเซมิซิล ขณะที่แม่ย้ายไปอยู่ในกรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ เพื่อโปรโมต “อาริอานา สปีเกล” น้องสาวเรเนีย ที่ทำงานเป็นนักแสดงเด็กชื่อดังในเวลานั้น ส่วนพ่อของเรเนียที่อาศัยที่บ้านในเมืองทางตะวันออกของโปแลนด์หายตัวไประหว่างสงคราม

เรเนียเขียนไดอารี่ความยาว 660 หน้าลงในสมุดบันทึกที่ถูกเย็บเข้าไว้ด้วยกัน อธิบายความรู้สึกคิดถึงแม่ ความรักที่มีกับชวาเซอร์ รวมไปถึงบทกวีอีกหลายสิบชิ้น นอกจากนี้ ยังมีเนื้อหาแสดงความเศร้าใจเกี่ยวกับการยึดครองเซมิซิลโดยโซเวียตและกองทัพนาซี

ในทุกๆ บท เรเนียจบบันทึกด้วยข้อความคิดถึงแม่ และขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าราวกับบทสวดมนต์

“อาริอานา” น้องสาวที่ในเวลานี้มีชื่อว่า “เอลิซาเบธ เบลเลค” ติดค้างที่เมืองเซมิซิลขณะเดินทางมาเยี่ยมปู่-ย่าเวลาเดียวกับที่นาซีบุกยึดเมือง ด้วยความช่วยเหลือจากเพื่อนพ่อที่เสี่ยงชีวิตพาเธอโดยสารรถไฟไปยังกรุงวอร์ซอได้สำเร็จ

เบลเลคและแม่รอดชีวิต และลี้ภัยไปอยู่ในสหรัฐอเมริกาได้สำเร็จ ขณะที่ชวาเซอร์รอดชีวิตจากเหตุการณ์โหดร้ายในเวลานั้นมาได้พร้อมกับนำไดอารี่ไปมอบคืนให้กับแม่ของเรเนียที่สหรัฐอเมริกาในช่วงทศวรรษที่ 50

“แม่ช็อกมาก แต่แม่ก็ไม่เคยอ่านมันหรอก อย่างที่รู้ สำหรับแม่ที่สูญเสียลูกสาวน่ะ” เบลเลคระบุ และว่า แม้แต่เธอเองก็อ่านแค่บางส่วนเพราะมันสะเทือนใจอย่างยิ่ง

 

หลังแม่เสียชีวิต เบลเลคนำไดอารี่ของเรเนียเก็บไว้ในตู้เซฟของธนาคารและอยู่ในนั้นเป็นเวลาหลายสิบปี ก่อนที่ลูกสาวจะไปพบเข้า

ลูกสาวของเบลเลคที่ในเวลานี้มีอายุ 88 ปีแล้ว มีชื่อว่าอเล็กซานดร้า เรนาตา เบลเลค ตัวแทนขายอสังหาริมทรัพย์วัย 49 ปี สงสัยว่าบุคคลลึกลับที่มาของชื่อเธอเป็นใคร จึงเริ่มต้นค้นหาความจริง ก่อนจะพบว่านั่นเป็นป้าแท้ๆ ของเธอ และมีเรื่องราวน่าเศร้าบันทึกอยู่ในไดอารี่เล่มหนา

เรนาตานำไดอารี่มาปัดฝุ่นและนำไปปรึกษากับโทมาสซ์ มาเกียสกี ผู้กำกับฯ ชาวโปแลนด์ในสหรัฐอเมริกาและผลิตเป็นภาพยนตร์สารคดี เล่าเรื่องราวของสองพี่น้องที่ผ่านการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของนาซีในชื่อว่า “โบรกเค่นดรีมส์” หรือความฝันที่แหลกสลาย

เมื่อไม่นานมานี้ สองแม่-ลูกเบลเลคเดินทางไปร่วมงานเปิดตัวภาพยนตร์ในกรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ ชมภาพยนตร์ที่มาจากเรื่องจริงที่เผชิญมาด้วยตัวเอง

และก็ต้องเสียน้ำตากับฉากเอนด์เครดิตที่มีเพลงจากกวีบทหนึ่งในไดอารี่ของเรเนีย

“เมื่อกังวล เธอจงล้มลงนอน มือกอดหมอน หลับตา ไม่อยากตื่น มีรอยยิ้ม หัวเราะ สุขชื่นมื่น ต้องขมขื่น เพราะไม่นาน ก็จางไป”