เรามีโลกใบเดียวกัน… 4 สาว 4 เส้นทาง กับการแก้ไขปัญหาโลกร้อน

ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ปัญหาขยะ ปัญหามลพิษต่างๆ อาจกลายเป็นความท้าทายแห่งยุคสมัยที่มนุษยชาติทั่วโลกต้องเผชิญร่วมกัน เมื่อโลกที่อาศัยอยู่เปลี่ยนไปจากเดิมด้วยหลายปัจจัย และปฏิเสธไม่ได้ว่า มนุษย์ก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ด้วย

ความพยายามในระดับระหว่างประเทศ ไม่ว่าพิธีสารเกียวโต จนถึงข้อตกลงปารีส ที่กำหนดเกณฑ์ลดการปล่อยมลพิษเพื่อลดอุณหภูมิโลกลงตามเวลาที่กำหนด หรือการลุกขึ้นของคนธรรมดาเข้ามาเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาซึ่งส่งผลกับทุกคนโดยไม่แบ่งว่าฐานะไหน หรือเพศสภาพใด ก็ล้วนได้รับผลจากสิ่งที่เกิดขึ้น

เช่นเดียวกับผู้หญิง 4 คน ที่เห็นความสำคัญและเลือกเส้นทางที่ไม่เหมือนกัน แต่สุดท้ายปลายทางล้วนบรรจบสู่ผลลัพธ์เดียวกันคือ

โลกที่ดีขึ้นสำหรับทุกคน

 

ผู้หญิงทั้ง 4 ได้แบ่งปันเรื่องราวและประสบการณ์ของตัวเองในงาน “Why Climate Action Needs Women?” จัดโดยสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งองค์การสหประชาชาติ (UNDP) ในห้วงการประชุมสมัชชาใหญ่ยูเอ็นครั้งที่ 74 โดยวาระสำคัญระดับโลกที่ให้ความสนใจมากคือปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งแต่ละคนเริ่มต้นไม่เหมือนกัน

เพ็ญนภา กรัดทาน แกนนำกลุ่ม Trash Hero Hua Hin อาสาสมัครแก้ไขปัญหาขยะบนชายหาดหัวหิน ได้เผยจุดเริ่มต้นของตัวเองว่า เราเป็นคนที่เก็บขยะตามปกติอยู่

จนมาวันหนึ่งได้ไปเห็นเฟซบุ๊ก Trash Hero ที่มีชาวต่างชาติ ชาวบ้านไปเก็บที่เกาะหลีเป๊ะ เราเห็นก็ว่าคนเยอะ ทำไมเราจะทำแบบนั้นไม่ได้ น่าจะดีกว่า เลยติดต่อไป ว่าต้องทำยังไง

จึงเกิดแนวคิดนี้ขึ้นมา

เข็มอัปสร สิริสุขะ นักแสดงสาวชื่อดังที่ปัจจุบันมีบทบาทในฐานtผู้ก่อตั้ง Little Big Green & #LittleForest ในการอนุรักษ์ป่า เล่าว่า เริ่มจากเห็นปัญหาก่อน เพราะตอนทำโครงการนี้เมื่อ 3-4 ปีก่อน เกิดภัยแล้งหนัก เราอยากแก้ปัญหานี้

เราเกิดคำถามว่า จะมีส่วนร่วมยังไง แล้วมีวิธีแก้ยังไง เลือกไปไหน ชุดความรู้อะไรที่เราเสริมส่วนที่ขาดหาย

ช่วงนั้นมีจัดทริปของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงที่ จ.น่าน ซึ่งเรายังไม่มีไอเดียว่าจะแก้ภัยแล้งจากอะไร เลยตัดสินใจร่วมทริปนั้น จึงได้ความรู้ว่าภัยแล้งที่เกิดขึ้นมาจากการตัดไม้ทำลายป่า ส่วนสาเหตุของการทำลายป่าก็ได้รู้จากทริปนั้น

พอกลับมาเลยตั้งโครงการในชื่อ Little Forest ขึ้น ปลูกป่า ปลูกคน ปลูกใจ เราอยากจะแก้ไขด้วยการปลูกป่าเป็นหลัก แม้จะไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ครอบคลุมทั้งหมด

เราทำงานร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ ปลูกจิตสำนึกในพื้นที่ มีรายได้ที่เพิ่มไม่จำเป็นไปบุกรุกป่า รวมถึงปลูกจิตสำนึกคนในเมืองด้วย

นันทิชา โอเจริญชัย บัณฑิตสาวจากรั้วจุฬาฯ และแกนนำกลุ่ม Climate Strike Thailand ได้กล่าวว่า ด้วยความรักป่าไม้ตั้งแต่เรียนอยู่ที่ไฮสคูล มีวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม เลยทำให้รู้ว่าสิ่งที่เราบริโภคมาจากไหนบ้าง และด้วยความชอบเขียนข่าวก็เขียนเรื่องราวต่างๆ 3-4 ปี

แต่ก็เกิดความเครียดเมื่อมาอยู่ในกรุงเทพฯ เจอสิ่งรอบตัวที่เป็นมลพิษเลยเข้าใจว่าภาวะโลกร้อนคืออะไร

แต่เมื่อมีนาคมที่ผ่านมา ได้อ่านบทความของเกรธา ที่ได้พูดถึงเรื่องราวของเขา ว่าทำไมคนส่วนใหญ่ไม่สนใจ

ตรงนี้เลยมีความรู้สึกร่วมกัน และถามกับตัวเองว่าทำไมประเทศไทยไม่ใส่ใจกับเรื่องแบบนี้

จนมาทำเฟซบุ๊ก Climate Strike Thailand เมื่อเดือนก่อน ผ่านมาหลายวันก็มีคนกดไลก์มากขึ้น และนัดเจอกันทำกิจกรรมเมื่อวันศุกร์ที่ 20 ที่ผ่านมา ก็มีคนร่วม 200 คน ก็ถือว่ามาก

แม้จะมีเรื่องเครียดมาก แต่จะไปโฟกัสเรื่องนี้เป็นหลัก ทำเท่าที่ทำได้

เกศินี จิรวณิชชากร อดีตสื่อมวลชนและเจ้าของผ้าอนามัยซักได้แบรนด์ SunnyCotton ได้กล่าวถึงธุรกิจรักษ์สิ่งแวดล้อมว่า เริ่มขึ้นประมาณปี 2551 ตอนนั้นทำงานที่กองบรรณาธิการสารคดีในสมัยของคุณวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ แล้วได้รับมอบหมายงานให้ดูแลสารคดีปัญหาโลกร้อน

จากที่ไม่เคยรู้เรื่องนี้ก็ต้องค้นหามากขึ้นจากหลายที่ รู้สึกว่าเยอะมากและที่บอกว่าเราเหลือเวลากี่ปีเพื่อจัดการเรื่องนี้ รู้สึกโลกมืดมนมาก กับเรื่องนี้ราวกับหนังวิทยาศาสตร์

แต่ถือว่าการทำงานที่สารคดีหล่อหลอมเรื่องนี้เยอะมาก นอกจากรับผิดชอบเรื่องสารคดีโลกร้อน ก็ยังมีเรื่องรีไซเคิล เขียนเรื่องสิ่งแวดล้อมมาตลอด

จากนั้นไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่น มีวันหนึ่งได้เขียนเรื่องผ้าอนามัยซักได้ ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ลองทำเองตอนอยู่ญี่ปุ่น

พอกลับมาไทยในปี 2559 ก็เป็นช่วงเขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกก็เริ่มเครียด รู้สึกว่าเขียนเรื่องสิ่งแวดล้อมเยอะมาก ทำวิจัยบทบาทผู้หญิงกับการเมือง เลยเห็นความเชื่อมโยง แต่คนกลับไม่เห็นความสำคัญ

สิ่งที่เราเรียนมา ทำอะไรกับโลกได้บ้าง ก็เลยเกิดอาการหมดไฟขึ้นมา ไม่อยากเขียนวิทยานิพนธ์ต่อแล้ว อยากหันมาเชื่อมโยงกับสิ่งที่เรามีความสุข

จนพบว่าเป็นคนชอบเย็บผ้า รู้สึกว่านี่คือคำตอบ เลยเดินตามเสียงนี้มาเรื่อยๆ

 

เมื่อถามว่าผลตอบรับจากสิ่งที่ทำออกมาเป็นยังไง คุณเพ็ญนภากล่าวว่า คนเพิ่มมากขึ้น เราเก็บขยะทุกสัปดาห์ โดยยึดว่าทำให้ง่าย นัดวันเวลาเดิม ให้คนอื่นรู้ แต่เพียงเปลี่ยนจุดเก็บ วันแรกมีพี่ผู้หญิงคนหนึ่งมาช่วย เก็บกันอยู่ 2 คน บางสัปดาห์คนเดียว บ้างมีคนต่างชาติช่วย

ปีแรกๆ เยอะสุดอยู่ที่ 10 คน ก็พยายามบอกตัวเองว่า ไม่ท้อนะ แล้วทำมาตลอดจนตอนนี้ สัปดาห์หนึ่งอย่างต่ำ 10 กว่าคน จนเมื่อสัปดาห์ก่อนในงาน World Clean Up Day เฉพาะแค่หัวหินก็มีคนร่วมกว่า 200 คน เรียกว่าดีใจมาก

ยอมรับว่าตัวเองไม่ใช่คนหัวหิน เป็นคนชุมพร ตอนอยู่หัวหิน ไม่ได้เป็นคนที่ชอบพบปะผู้คน แต่มีเพื่อนที่ใกล้ชิดกันที่อยู่หัวหิน พอเริ่มหลายอย่าง ที่เราเก็บ ก็แบ่งปันเรื่องราวในกลุ่มต่างๆ ไปโพสต์แจ้งว่าจัดงานที่ไหน เล่าเรื่องราวให้พวกเขาฟัง

หลังจากเริ่มโพสต์ภาพ ก็มีคนเชื่อว่ามีคนทำจริง แล้วจะเริ่มมีคนเข้ามา แรกๆ เป็นคนต่างชาติ หลังๆ เป็นคนไทย จนมีคนมากขึ้น

ด้านคุณเข็มอัปสรยอมรับว่า ค่อนข้างใหม่กับเรื่องนี้ พอคิดว่าจะเริ่มก็ประยุกต์จากโครงการแม่ฟ้าหลวง ทีนี้อยู่ที่คนอยากจะร่วม แต่จะเริ่มยังไง ทำยังไงเลยจบที่ปลูกต้นไม้ จึงเลือกทำที่จังหวัดแพร่เป็นที่แรก

แล้วทำไปก็ไม่ได้แปลว่าจบในครั้งเดียว เราจะดูแลจนกว่าโตแข็งแรง หาทุนสนับสนุน นักวิชาการ ผู้ชำนาญมาดูแลเป็นเวลา 3 ปี จากการผ่านการพูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่

เพราะจุดประสงค์ของเราคือไม่ใช่การปลูกต้นไม้ แต่ปักหมุดให้คนเข้าร่วมโดยการสื่อสาร พูดไปว่าต้องการอะไร ชีวิตความเป็นอยู่

วันหนึ่งเราเห็นว่าคนในพื้นที่ปลูกสวนส้มขาดน้ำ เลยดึงนักวิชาการมาบริหารจัดการยังไง ดูว่าตรงไหนสร้างฝาย หรือเพิ่มพื้นที่น้ำมากขึ้น จนมาเป็นการสร้างฝาย 3 ตัว เป็นฝายขนาดใหญ่ราคาเป็นล้าน เลยต้องระดมทุน ทำของขาย พอได้เงินมาก็ส่งทีมงานและคนในพื้นที่ไปเรียนรู้สร้างฝาย แล้วกลับมาสอนคนในพื้นที่

เราพยายามวางระบบว่า จะทำยังไงให้คนในชุมชนอยู่ต่อได้ พอคนที่มีความรู้กลับมาสอนคนพื้นที่ ทีมงานก็ทำเพียงสนับสนุนอุปกรณ์ จนระยะหลังมีคนมากขึ้น

ทั้งหมดคือการพิสูจน์ความจริงใจ ซึ่งสำคัญมาก

ขณะที่คุณนันทิชากล่าวถึงการเคลื่อนไหวของ Climate Strike ว่า ถือว่ามีเวลาน้อยมากในการระดมคน ก็ได้ 50 คน ถือว่าเยอะมาก เราทำเองหมด แต่ละคนมีป้ายข้อความของตัวเอง เราตื่นเต้นว่า เพียงคนเดียวก็มีคนร่วมมากขนาดนี้ แต่ก็เว้นไปช่วงหนึ่งเพราะเรียนอยู่

จนวันหนึ่งมีคนแจ้งว่าจะมีการทำ Climate Strike ระดับโลก เลยสร้างเพจหนึ่งขึ้นมา และมีคนมาติดต่อมากขึ้น พอมีคนมากขึ้น ก็วางแผนจัดการอะไรง่าย มีคนช่วยแบ่งปัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติที่รู้จัก แต่ก็มีคนไทยด้วย พอจัดครั้งที่ 2 ก็มีคนมากขึ้น เราเรียนรู้ไปเรื่อยๆ มีข้อเรียกร้องที่ชัดเจนมากขึ้น

เราอยากส่งข้อความการรักษ์โลกไปให้ทุกคน คิดว่าภาวะโลกร้อนไม่ใช่ปัญหาของแค่คนรักธรรมชาติ แต่เป็นของทุกคน อยากให้คนไทยเข้าใจมากขึ้น

นอกจากนี้ คุณเกศินีกล่าวว่า การทำ Sunny Cotton เราต้องการเปลี่ยนความจริงที่ไม่อาจยอมรับว่าไม่สะดวก ให้เป็นความสะดวกสบาย ความรู้สึกดี เราไม่ได้พยายามพีอาร์เรื่องลดขยะ แต่เราจะบอกว่ายังมีทางเลือกสำหรับผู้หญิงทุกคน ใช้แล้วสบาย จริงๆ แล้วเลือดประจำเดือนไม่ได้เหม็นอย่างที่เชื่อกัน ไม่ต้องเสียเงินซื้อผ้าอนามัย เราแค่เปลี่ยนความเคยชิน แล้วอาจเป็นจุดเริ่มต้นใหม่ ไม่ต้องใช้พลาสติกก็ได้

สำหรับ Sunny Cotton ตอนทำปี 2016 ก่อนหน้านี้ เราทำเองใช้เอง พอกลับมาไทยก็รู้สึกว่าที่ไทยไม่ค่อยมีคนทำ เลยอยากส่งต่อให้ทุกคนได้สัมผัส แม้ไม่ได้คาดหวังว่าคนตอบรับมาก เพราะยังมีอคติตรงนี้ แม้แต่ครอบครัวยังถามว่าจะขายได้เหรอ

แต่เราก็เชื่อว่ามีคนชอบเหมือนกัน จนมีคนมาสั่งมาติดต่อเรื่อยๆ เราทำได้ มีคนอยากเปลี่ยน ลูกค้าส่วนใหญ่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมและหาทางเลือก ไม่ใช่แค่เป็นลูกค้าแต่เป็นกัลยาณมิตรที่แบ่งปันและแนะนำต่อกัน เกิดเป็นเครือข่ายที่ช่วยกันโต ถือว่าเป็นเรื่องน่าดีใจ แม้พอไปขยายยังกลุ่มคนทั่วไปก็มีคำถาม

จึงเป็นการทำงานทางความคิด เพื่อตอบโจทย์ให้สอดรับกับชีวิตประจำวันมากขึ้น

 

ไม่เพียงเท่านี้ เมื่อถามถึงความท้าทายในฐานะ “ผู้หญิง” ต่อการทำงานด้านรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมนั้น คุณเพ็ญนภากล่าวว่า ว่าจริงๆ จากที่ตัวเองเจอ มักเจอกับชาวต่างชาติที่อายุมาก แต่ก็พยายามจะไม่มีอคติต่อพวกเขา เรารู้สึกว่า ค่อนข้างถูกมองแบบผู้หญิงไทยเชิงดูถูก พอเราไม่เห็นด้วย พวกเขาค่อนข้างจะไม่พอใจ คือเจอมากับตัวเอง แต่ตลอด 4 ปี มาเจอมาเยอะ ไม่ถามว่าทำอะไร มาแต่ด่าทอใส่

อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีชาวต่างชาติที่ตั้งใจมาช่วยเรา และเคารพเรา แม้จะเจอลักษณะลบๆ แต่ก็พยายามมองข้าม คนอื่นพยายามช่วยเราเวลารู้สึกดาวน์

คุณเข็มอัปสร ก็ได้แบ่งปันเรื่องความท้าทายว่า ประสบพบเจอแบบ 2 เด้ง คือเป็นผู้หญิงและมาจากสายงานอื่น ทำให้คนอื่นมองว่าทำไมต้องเข้าใจเราด้วย คือการที่เราทำงานด้านนี้แล้วมานำพวกเขา ดังนั้นการสร้างความมั่นใจ ความเชื่อมั่น เป็นเรื่องท้าทายมาก รวมถึงทุกคนที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมต้องเจอ คือ ความรู้สึกว่าจะไม่ไหว ไปต่อไม่ได้ จนท้อใจ หรือทำไมเราพูดเรื่องนี้แต่ไม่มีคนสนใจ

แต่พอเราทำ ถึงเข้าใจว่า เราก็เคยอยู่ในจุดนั้น เพราะฉะนั้นต้องให้โอกาสและมีความหวังเสมอ เราก็จะทำต่อไปจนหันมามอง ว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องสำคัญและเร่งด่วน

ประเด็นท้าทายต่อมา คือ แล้วเราจะทำให้พวกเขาเชื่อมั่นใจ เราต้องมีองค์ความรู้เข้ามา ทักษะความรู้จะต้องถูกต้อง แม้แต่วงการสิ่งแวดล้อม นักวิชาการด้วยกันก็มีความขัดแย้ง มีมุมมองจากสิ่งที่ถนัดไม่เหมือนกัน ต้องถามว่า แล้วเราจะเชื่อใคร จึงต้องอาศัยการใช้วิจารณญาณ หาข้อมูลมากกว่าคนอื่น เราอยากทำเรื่องจริงๆ ก็ต้องตัดอ้อมยาวเพื่อตัดสินใจว่าทำได้หรือไม่ได้

อย่างที่สามคือ เงินทุน ซึ่งสำคัญ ต้องใช้ทุกงานและไม่น้อย การใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและโปร่งใสกลับเป็นเรื่องยากมาก สังคมไทยต้องมีเรื่องที่ถ้าไม่มาทำก็จะไม่รู้ เป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ เราจะก้าวผ่านไปได้หรือไม่ พาทุกคนและโครงการไปถึงเป้าหมายอย่างไร

ส่วนคุณนันทิชา กล่าวว่า แทบไม่เจอความท้าทายลักษณะนี้ แต่ถ้าจินตนาการสังคมไทยอาจเจอแบบว่า เด็กผู้หญิงอะไรมาประท้วงอะไรอย่างนี้ แต่หลิงไม่ค่อยได้คิดอะไร หรือพวกเขาคิดแต่ไม่พูดออกมา แต่ถ้าเรื่องของตัวเองที่ทำเคลื่อนไหวคือ ความเครียดและความหดหู่ ทุกอย่างเป็นจุดที่ทำให้ Climate Strike Thailand เริ่มขึ้น ทำไปทำมา ขึ้นลง วันหนึ่งคนเขียนมาหลาย 10 คน ดีใจ ปิดคอมพ์ แต่พอมามองรอบตัว ทำไมไม่เกิดความเปล่ี่ยนแปลงขึ้น

ในการที่มาเป็นสื่อที่รณรงค์ สร้างความคิด พื้นที่การพูดคุย กลับไม่ได้มีผลลัพธ์ขึ้นมาอย่างเก็บขยะ ปลูกต้นไม้ ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแบบรูปธรรม จนบางคืน ทำงานเสร็จ ก็คิดอยู่ว่า เราสร้างความเปลี่ยนแปลงอยู่หรือเปล่า คนกดไลค์หลายร้อยแล้วไง หรืออย่างประเภท ประท้วงเสร็จ กลับบ้านเปิดแอร์นอน ซึ่งก็จริง แต่เป็นสิ่งที่เราพยายาม ให้ระบบเปลี่ยน ซึ่งหลายคนอาจพยายามสร้างผลกระทบให้น้อย แต่เราต้องข้ามไปว่าตอนนี้ มีผลหรือไม่ แต่เราต้องคิดว่าทำให้ดีที่สุด รู้สึกดี

“การเป็นนักเคลื่อนไหว นั้นยากสำหรับหลิงเพราะอยู่ไทยไม่มีเพื่อนมาก แต่ว่าเวลาเราไปเล่าให้คนอื่นก็มีการสนับสนุน ซึ่งสำคัญ อาจไม่ต้องร่วมทำ แต่การให้กำลังใจเป็นเรื่องที่สำคัญ ไม่อย่างนั้นจะเครียดมาก” แกนนำ Climate Strike Thailand กล่าว

นอกจากนี้ คุณนันทิชา กล่าวว่า อีกความท้าทายหนึ่ง คือ เข้าถึงคนไทยยากมาก เพราะเวลาสื่อสารก็เป็นภาษาอังกฤษ หรือการทำความเข้าใจเรื่องซีเรียสอย่างปัญหาสิ่งแวดล้อมแต่ไม่รู้เพราะเหตุใด คนไทยกลับมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว

ทางคุณเกศินีกล่าวว่า สิ่งที่ผู้ร่วมเสวนาบอกถึงความท้าทายหรือแม้แต่ความโกรธของเกรธา ก็สะท้อนถึงแนวคิดชายเป็นใหญ่ ที่มีชุดความเชื่อว่า เวลาทำงานจะต้องมีความมั่นคงทางอารมณ์ ดูเท่ห์หรือกระตือรือร้น แต่ในอีกด้านหนึ่ง ยังมีพลังงานของความเป็นผู้หญิงที่มีอารมณ์ หรือสัมผัสพิเศษบางอย่าง ที่จะแสดงออกกับสังคมอย่างชัดเจนได้ยาก นั้นทำให้ Sunny Cotton จึงพยายามอธิบายความเป็นชายและหญิง ในแง่เชิงพลังงานมากกว่า เหมือนกับหาความสมดุลของหยิน-หยาง เพื่อสร้างสุขภาพที่ดี

มีความเชื่อของเรื่องต้องห้ามหรืออคติเกี่ยวกับผู้หญิงในลักษณะต่ำต้อย อย่างเช่น เรามีประจำเดือนทำให้แสดงสามารถไม่เต็มประสิทธิภาพ หรืออารมณ์แปรปรวน หรือสกปรก แล้วก็ถูกแยกออกไป Sunny Cotton จึงเข้าไปแตะเรื่องนี้ เปลี่ยนให้เป็นเรื่องน่ารัก สวยงาม มีประสบการณ์ประจำเดือนอย่างมีสุนทรีย์ และบ่งบอกถึงสุขภาพ ซึ่งต่างประเทศมีการแสดงออกทางศิลปะเกี่ยวกับเรื่องนี้ และยังมีความเชื่อที่ว่า ตำแหน่งจักระตรงมดลูก คือจุดที่ผู้หญิงเชื่อมโยงกับพลังงานข้างบน การปวดประจำเดือนอาจบ่งบอกถึงจักระไม่แข็งแรงหรืออ่อนแอ ในหลายวัฒนธรรมต่างพูดถึงเรื่องราวนี้ สืบทอดผ่านผู้หญิงหลายรุ่นก่อนหน้า เช่น วัฒนธรรมชนเผ่า ผู้หญิงจะมีสัมผัสพิเศษที่เชื่อมโยงกับบรรพบุรุษ

นอกจากนั้น เลือดประจำเดือนไม่ใช่ของเสีย แต่เป็นการบ่งบอกสถานะถึงจิตวิญญาณและสุขภาพเราในแต่ละเดือน เช่น ถ้าเดือนไหนเราดูแลสุขภาพดี ออกกำลังกายหรือทานอาหารครบ สีเลือดประจำเดือนจะออกมาสวยงาม หรือถ้าสีไม่สวยหรือไม่เป็นเลือดดี เราจะกลับมาพิจารณาการใช้ชีวิตว่าดูแลตัวเองไม่ดี ถ้าเดือนไหนประจำเดือนมีกลิ่นก็แสดงว่า ร่างกายมีอะไรผิดปกติ เป็นการเชื่อมโยงกับความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ แม้แต่การนับประจำเดือนยังสัมพันธ์การเคลื่อนตัวของดวงจันทร์หรือแบ่งช่วงคล้ายฤดูกาลของโลก ซึ่งจะบ่งบอกถึงสุขภาพกายและใจของผู้หญิงไม่ว่า เบิกบาน มีพลัง ไม่เหมือนกับโลกของผู้ชายที่พลังงานแต่ละวันเท่ากัน นี่คือข้อความที่อยากจะบอก เพราะฉะนั้น การที่ผู้หญิงเวลามีประจำเดือนต้องขอลา หรือแสดงความอารมณ์แปรปรวน ในยุคโบราณคือการบ่งบอกสัญญาณบางอย่าง แต่ในสังคมปัจจุบันความหมายกลับเปลี่ยนไป

คุณเกศินี ยังข้อมูลที่ระบุว่า บางส่วนในสังคมไทยพบว่า ไม่มีเงินซื้อผ้าอนามัย หรือผู้หญิงวัยรุ่นในอังกฤษไม่มีเงินซื้อจนทำให้ต้องขาดเรียน หรือในอินเดีย กรณีหนักสุดคือ ผู้หญิงที่เป็นผู้ใช้แรงงานตัดสินใจไปผ่าตัดเอามดลูกออกเพื่อไม่ต้องมีประจำเดือน เพื่อทำงานได้เต็มที่ ทำไมพลังงานของผู้หญิงที่ควรเป็นสิ่งสวยงาม กลับถูกมองว่าเป็นปัญหา แล้วกลายเป็นสิ่งที่ทำให้พวกเขาไม่สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้เต็มที่ เราก็จะเจาะกลุ่มที่ขาดแคลน หรือผู้ลี้ภัยหรือไม่มีเงินซื้อได้

ทั้งนี้ คุณนันทิชา กล่าวว่า สำหรับหลิง ความเป็นผู้หญิงไม่ได้เป็นความเสียเปรียบ เพราะว่าอาจเป็นวัยของหลิงหรือเปล่า ที่เทรนด์โลกเปลี่ยน ตอนนี้มีผู้หญิงที่เป็นผู้นำในแวดวงต่างๆ มีเวทีให้ผู้หญิงมากขึ้น ยิ่งคนไหนมีผลงาน คนยิ่งจับตา

เช่นเดียวกับคุณเข็มอัปสร ที่ไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นผู้หญิง แม้พอถูกตั้งคำถามจึงฉุกคิด แต่มีข้อดีหลายอย่างในการเป็นผู้หญิงและทำงานด้านนี้ ด้วยความเป็นผู้หญิง จะมีความพิเศษในการเข้าอกเข้าใจคนอื่น เห็นใจคนอื่นได้ดีและสามารถทำอะไรด้วยความนุ่มนวล ที่สำคัญอีกอย่างคือ ผู้หญิงมีความอดทนสูงและใจเย็น การแก้ปัญหาเรื่องนี้ จึงต้องมีคุณสมบัติของผู้หญิง ประสานทุกฝ่ายเพื่อทำอะไรให้สำเร็จ

การใช้ความแข็งแกร่งแบบผู้ชายอาจไปไม่ถึง แต่ถ้ามีความสามารถแบบผู้หญิงก็จะผ่านไปได้