วิษณุ เครืองาม : ลงเรือแป๊ะ (2) – เมื่อได้พบกับ “ประยุทธ์”

หมายเหตุมติชนสุดสัปดาห์ : เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ “ลงเรือแป๊ะ” จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน

ก่อนจะถึงมือแป๊ะ

ก่อน คสช.จะยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557 จะว่าผมไม่รู้จัก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เสียเลยหรือเป็นคนแปลกหน้าซึ่งกันและกันเห็นจะไม่ได้

เอาเป็นว่าไม่ได้รู้จักมักคุ้นเป็นพิเศษ

แต่ก็เคยได้สนทนากัน ก็ท่านเป็น ผบ.ทบ.ใหญ่โตออกอย่างนั้น

สถานการณ์บ้านเมืองก่อนเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2557 ไม่ดีเลย

มีคำแปลกๆ ที่แสดงถึงสภาพของประเทศฟังแล้วน่ากลัว เช่น Failed State อนาธิปไตย รัฐไร้ระเบียบ บ้านเมืองไม่มีขื่อมีแป จลาจล

ภาษาทางราชการใช้คำว่า “สถานการณ์ฉุกเฉิน” ดังที่มีการประกาศใช้กฎหมายว่าด้วยการนั้น

ในช่วงสถานการณ์เช่นนี้ ใครมีช่องทางใดจะช่วยบ้านเมืองให้กลับฟื้นคืนปกติได้ต่างก็พยายามกันทั้งนั้น

เพียงแต่วิธีการอาจแตกต่างกัน

แม้ความมุ่งหมายหลักตรงกันคือ การทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย

แต่วิธีการของบางกลุ่มอาจแปลกแยกออกไป

 

เช่น สงบเรียบร้อยโดยคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องยังเป็นนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทยยังคงเป็นแกนนำตั้งรัฐบาล สงบเรียบร้อยโดยเร่งจัดการเลือกตั้งใหม่โดยเร็ว สงบเรียบร้อยโดย กปปส. และ นปช.ต้องสลายการชุมนุม ผู้กระทำผิดต้องขึ้นศาล ส่วนการเมืองก็ให้ปล่อยไปตามวิถีทางการเมือง

ซึ่งถ้ายกเอาความมุ่งหมายเช่นนี้มาต่อรองหรือเป็นเงื่อนไขก็เห็นจะนำความสงบเรียบร้อยกลับคืนมายาก

เพราะฝ่ายอื่นก็ยังเรียกร้องอยู่ว่ารัฐบาลต้องออกไป ต้องมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ซึ่งควรเป็นกลาง ต้องปฏิรูปก่อนจัดการเลือกตั้ง เป็นต้น

ท่ามกลางสถานการณ์เช่นนั้นเอง กลุ่มผู้หวังดีอยากมีส่วนช่วยแก้ปัญหาให้ประเทศชาติก็เกิดขึ้นมากมายหลายสิบกลุ่ม

เพราะสถานการณ์อย่างนี้ย่อมเดือดร้อนกระทบกระเทือนไปทุกหย่อมหญ้า เพียงแต่ใครจะเป็นนกต่อหรือนอมินีของใคร ใครจะเชื่อมโยงกับใคร ใครจะบริสุทธิ์จริงใจหรือไม่ ซึ่งเห็นจะรู้ได้ยาก

แต่ว่าไปแล้วถึงรู้ก็ดูจะไม่มีใครสนใจ

นึกถึงคำพูดของ “เติ้งเสี่ยวผิง” ที่ว่าแมวจะดำหรือขาวก็ช่าง ขอให้จับหนูได้ก็แล้วกัน บ้านเมืองเวลานั้นน่าจะเป็นอย่างนี้

หรือถ้าจะอุปมาเทียบเคียงให้เก่ากว่าสำนวนจีนก็นึกถึงสมัยที่พระเจ้าตากกู้บ้านเมืองได้และปราบดาภิเษก แล้วมีพระราชดำริว่าสมัยข้าศึกล้อมกรุงศรีอยุธยา หัวบ้านหัวเมืองแยกไปตั้งตนเป็นใหญ่ถึง 4 ก๊ก จึงได้เสด็จไปปราบ

แต่เมื่อจับได้หัวหน้าก๊กใดมีพระราชปรารภว่า ยามที่บ้านจะแตก เมืองจะเสีย ใครมีปัญญาก็ต้องหาทางออกและหาทางตั้งตนเป็นใหญ่รักษาอำนาจของตนไว้ทั้งนั้น จึงไม่เป็นความผิด

แต่เมื่อทรงปราบดาภิเษกตั้งรัฐบาลรวบรวมอำนาจได้แล้ว ใครที่ยังแข็งข้อต่อสู้ต่อไปนั่นแหละที่จะเป็นความผิด

 

ช่วงนั้นมีกลุ่มหนึ่งในจำนวนหลายสิบกลุ่มที่กลุ้มใจกับเหตุการณ์บ้านเมืองจึงนัดเปิดห้องพบปะหารือกันบ่อยครั้งที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล สี่แยกราชประสงค์

ถ้าพูดถึงสีเสื้อของผู้คนที่มาพบกันในกลุ่มนั้นก็มีทั้งเสื้อเหลือง เสื้อแดง เสื้อเขียว เสื้อกากี

มีคนที่สังคมนับหน้าถือตาว่าเป็นกลาง มีนักธุรกิจชั้นนำ นักวิชาการชั้นกูรู สื่อมวลชน นักการเมือง

และคนที่ต่อสายโทรศัพท์พูดกับคุณทักษิณ ชินวัตร และแม่ทัพนายกองได้ตลอดเวลาเข้าร่วมหาทางออกด้วย

ผมไม่คิดว่ากลุ่มนี้จะมีพลังอำนาจมากชนิดแก้ปัญหาบันดาลอะไรได้

แต่อย่างน้อยก็เป็นความพยายามที่อยากระบายความรู้สึกและอยากเห็นบ้านเมืองสงบเรียบร้อย

ผมได้รับคำชักชวนให้ช่วยมาแสดงความเห็นหาทางออกเป็นครั้งคราว

แม้จะไม่ได้ไปร่วมทุกครั้งแต่ก็ทราบว่ามีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดอยู่ทุกระยะ

อย่างไรก็ตาม เอาเข้าจริงก็ไม่ได้เป็นมรรคเป็นผลนัก

แต่ความพยายามนี้ก็ได้ขยายผลไปถึงคนอื่นซึ่งไม่ได้อยู่ในกลุ่ม ไม่เคยมาร่วมหาทางออก

แต่เพราะเป็นผู้ใหญ่คนหนึ่งในบ้านเมืองเมื่อทราบแนวทางก็เห็นเป็นประโยชน์ที่ควรให้ผู้มีอำนาจหน้าที่ได้รับไปพิจารณา

ดังที่มีคนรับอาสานำผลการหารือแยกไปประสานกับรัฐบาลบ้าง ประสานกับฝ่ายต่อต้านรัฐบาลบ้าง

และมีการประสานให้ผมเป็นตัวแทนนำความคิดเห็นไปเรียนผู้บัญชาการทหารบกชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทราบอีกทางหนึ่ง

 

นั่นคือครั้งแรกที่ผมพบกับท่าน ผบ.ทบ.แบบตัวต่อตัว เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2557

วันเดียวกับที่ตอนเย็นจะมีการพระราชทานเพลิงศพสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว) ที่วัดเทพศิรินทร์ หลังจากนัดกันอยู่หลายวัน

ก่อนหน้านั้นผมอาจเคยพบท่านตามงานสังคม งานพิธี

สมัยผมเป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเคยติดตามนายกรัฐมนตรีเข้าเฝ้าฯ และเคยรับพระราชเสาวนีย์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ผ่านทางท่านผู้หญิงอรนุช อิศรางกูร ณ อยุธยา ให้ไปบรรยายให้ความรู้แก่นายทหารตามเสด็จที่เข้าเวรถวายอารักขาหรือปฏิบัติหน้าที่โครงการพระราชดำริขณะเสด็จพระราชดำเนินต่างจังหวัด

จึงเคยมีโอกาสพบกับท่านอยู่บ้างในขณะมียศพลตรี เป็นนายทหารตามเสด็จ

ส่วนใหญ่ท่านจะมาช่วยให้คำแนะนำว่าเวลาเข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานเลี้ยงให้ปฏิบัติตนหรือวางตัวอย่างไร

บางครั้งก็มานั่งเป็นเพื่อนเล่าเรื่องโน้นเรื่องนี้ให้ฟังระหว่างรอเฝ้าฯ

ยังอดสังเกตไม่ได้ว่านายทหารผู้นี้เป็นคนมีอัธยาศัย มีระเบียบวินัย จงรักภักดี ท่าทางเป็นการเป็นงานจริงจัง แต่อารมณ์ดี คุยสนุกเป็นกันเอง เข้าใจงานการตามที่โดยเสด็จพระราชดำเนินไปทรงงานในที่ต่างๆ ได้ดี

 

ในวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2557 ผมมีโอกาสพบท่าน ผบ.ทบ.แบบตัวต่อตัวเป็นครั้งแรกที่ห้องรับแขกในกองบัญชาการกองทัพบก ตรงข้ามสนามมวยราชดำเนินโดยมี ทส.ของท่านนั่งฟังอยู่ห่างๆ เพียงคนเดียว

ท่าน ผบ.ทบ.ฟังอย่างสนใจและโอภาปราศรัยอย่างดี

แต่สังเกตได้ว่าคงกำลังเครียดกับเหตุการณ์บ้านเมือง

ท่านเล่าว่ามีผู้คนหลายกลุ่มที่ห่วงใยบ้านเมืองมาพบและแนะนำทางออกต่างๆ นานาซึ่งก็ไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่ก็ขอขอบคุณทุกกลุ่ม บ้านเมืองเป็นของทุกคนจึงต้องช่วยกัน เวลานี้ถ้าจะแก้อย่างนี้ก็ติดขัดที่กฎหมายทำไม่ได้

ถ้าจะแก้ด้วยวิธีโน้นก็ติดขัดที่ผู้มีอำนาจคือรัฐบาลและพรรคที่เป็นรัฐบาลไม่เล่นด้วย

หรือมิฉะนั้นก็เป็นว่าฝ่ายนี้ยอม ฝ่ายโน้นไม่ยอม

ที่เป็นห่วงนอนไม่หลับมาหลายเดือนแล้วและพยายามคาดเดาสถานการณ์คือ หากปล่อยไปตามธรรมชาติแล้วลงท้ายบ้านเมืองจะเป็นอย่างไร เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยวจะเป็นอย่างไร ความปลอดภัยของประชาชน ความมั่นคงของประเทศจะเป็นอย่างไร ถ้ามีคำตอบที่น่าพอใจก็ปล่อยไปตามธรรมชาติได้

แต่ถ้าไม่มีคำตอบที่น่าพอใจก็คงต้องป้องกันหรือตัดไฟแต่ต้นลม

ท่านบอกด้วยว่า ทหารยังสงบอยู่ในที่ตั้งเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและจะทำสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับบ้านเมือง ขอให้ไว้วางใจ

เราจะใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก ถ้าทำแค่ไหนแล้วได้ผลก็หยุดแค่นั้น

ถ้ายังไม่ได้ผลก็ต้องขยับระดับไปเรื่อยๆ แต่จะหาทางออกที่นุ่มนวล

พยายามใช้กฎหมายและคำนึงถึงความต้องการของประชาชนให้มากที่สุด

คิดว่าเรื่องนี้ฝ่ายการเมืองน่าจะแก้ปัญหากันเองได้ คงไม่ต้องถึงมือทหาร

วันนี้กลุ่มที่เสนอทางออกหลายกลุ่มพยายามจะโยงไปขอพระบารมีลงมาคลี่คลาย

จึงฝากบอกทุกฝ่ายด้วยว่าขออย่าได้นำพระองค์มาข้องแวะเลย ขณะนี้ก็ยังไม่ทรงพระสำราญนัก

ปัญหาการเมืองแก้ด้วยพวกเรากันเองเถิด

 

รวมความแล้ววันนั้นได้สนทนาแบบเปิดใจราว 1 ชั่วโมงแต่ก็ไม่ได้ชี้ชัดเห็นทางออกใดๆ และผมไม่ได้ติดต่อกับท่านอีกเลย

แต่กลุ่มที่ผมเคยไปหารือกันก็ยังคงหารือต่อไป มีผู้ใหญ่หน้าใหม่เวียนมาหารือเพิ่มขึ้น

ส่วนผมก็ถอยห่างไปจนระยะหลังได้ยินว่า ก็ล้าๆ เซ็งๆ กันไปจนหายหน้าหายตาไป หรือไม่ก็แยกย้ายไปอยู่กลุ่มอื่นหมดแล้ว

ยังมีอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นห่วงเหตุการณ์บ้านเมืองเช่นกันคือกลุ่มของคุณชายอุ๋ย หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล ท่านมักปรารภเป็นห่วงเศรษฐกิจของประเทศและความแตกแยกสามัคคี พ่อแม่พี่น้องลูกหลานอยู่บ้านเดียวกันพูดเรื่องการเมืองทีไรทะเลาะกันทุกที แม้แต่นายกับคนขับรถก็มีปัญหาขัดแย้งกัน

คุณชายมีทางออกดีๆ หลายทาง เคยชวนคนโน้นคนนี้และผมไปปรับทุกข์ที่โรงแรมรีเจนท์

และเข้าใจว่าจะเคยถกแถลงกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณมาแล้ว แต่ก็ไม่อาจ “สมมุติยุติลงคงไว้แต่เพียงนี้ เอวัง จึงมีด้วยประการฉะนี้”

เช่นเดียวกันยังมีกลุ่มของคุณวิกรม กรมดิษฐ์ กลุ่มนักธุรกิจอื่นๆ กลุ่มอดีตสมาชิกวุฒิสภาและอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

คนเหล่านี้อยากเห็นบ้านเมืองมีทางออกและต้องการทำมาหากินตามปกติโดยสงบสุข

ส่วนใหญ่จะนัดหารือตามร้านอาหาร เช่น นิปปอนเต้ โรงแรมปริ๊นเซส สนามม้านางเลิ้ง

แต่คำตอบวันนั้นดูจะอยู่ที่รัฐบาลด้านหนึ่ง และ กปปส.ของคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ อีกด้านหนึ่งว่าจะเอาอย่างไร โดยมีทหารจับตาเฝ้ามองอย่างไม่วางตา

เหตุการณ์ยังคงตึงเครียดต่อมาอีกหลายวันโดยไม่มีทีท่าว่าจะบรรเทาเบาบางลง

จนกระทั่งถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2557