รู้จัก Climate Strike Thailand กับ “นันทิชา โอเจริญชัย” ปัญหาโลกร้อน ทุกคนต้องรู้และเร่งแก้ก่อนสาย

ความตื่นตัวต่อปัญหาโลกร้อนหรือวิกฤตสภาพอากาศ ในเวลานี้ไม่มีใครไม่รู้จัก เกรธา ทุนเบิร์ก นักเรียนหญิงชาวสวีเดนวัย 16 แกนนำขบวนการวันศุกร์เพื่ออนาคต (Friday For Future) และเจ้าของรางวัล “Ambassador of Conscience Awards” จากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ทั่วโลกออกมาส่งเสียงถึงผู้ใหญ่จำนวนมาก โดยเฉพาะผู้นำโลกหันมาใส่ใจแก้ไขปัญหาโลกร้อนอย่างจริงจังและล่าช้าไม่ได้

ภาวการณ์เปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่ดำรงมานานหลายสิบปีได้ส่งผลกระทบต่อโลก ทั้งเกิดปรากฏการณ์ธรรมชาติแปลกๆ ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่มากขึ้นทั้งจำนวนและความรุนแรง พื้นที่ที่เคยเขียวขจีกลับแห้งแล้ง หรือพื้นที่ทางเหนือซึ่งเป็นเขตหนาวเจอคลื่นความร้อนปกคลุม

ผลกระทบรูปธรรม และหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่มีการเผยแพร่มากขึ้น ต่างบ่งชี้ว่า หากไม่เร่งแก้ไขก่อนถึงเส้นตายที่เลื่อนใกล้เข้ามา อาจหมายถึงการล่มสลายของอารยธรรมมนุษย์

แต่การปรากฏตัวด้วยสายตาอันแน่วแน่ของเกรธา ได้สร้างความแตกต่างกับการเรียกร้องต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ผ่านมา ไปขยายถึงคนหนุ่มสาวหลายประเทศ รวมถึงไทยก็เริ่มมีความเคลื่อนไหวต่อปัญหานี้แล้ว

 

“ความรักธรรมชาติ”
จุดเปลี่ยนตัดสินใจลงมือทำ

ความตระหนักรู้ต่อปัญหาโลกร้อนและสิ่งแวดล้อม เกิดขึ้นกับคนหนุ่มสาวยุคนี้

รวมถึง หลิง-นันทิชา โอเจริญชัย หญิงสาวจากรั้วจุฬาฯ และผู้ประสานงานขบวนการ Climate Strike Thailand กลุ่มคนหนุ่มสาวที่กังวลต่อปัญหาและตั้งใจแสดงออกเพื่อให้สังคมไทยสนใจและมีส่วนร่วมกับกระแสโลกในขณะนี้

แม้ว่าสิ่งนี้สำหรับไทยจะไม่ตอบรับเป็นวงกว้างเหมือนประเทศอื่นก็ตาม

น.ส.นันทิชากล่าวถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้หันมาสนใจเรื่องนี้ว่า มาจากตอนเรียนวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม จนเริ่มเข้าใจปัจจัยต่างๆ ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของเรายังไงบ้าง ธรรมชาติให้อะไร หลายอย่างที่เราใช้กลับสู่ระบบนิเวศยังไง

อีกสาเหตุมาจากมีโอกาสเดินป่า เห็นต้นไม้ที่ไม่ใช่แค่สวยงาม แต่รักในการมีอยู่จนอยากปกป้อง

“จำได้ว่าปีที่แล้วไปเดินป่าอยู่ครั้งหนึ่งแถวสุโขทัย สวยงามไปหมด เลยตัดสินใจวันนั้นเลย เราอ่านข่าวมีเรื่องแย่ๆ มากมาย อย่างโลกร้อนจนทำให้หดหู่ แต่พอเดินป่าครั้งนั้น ต่อให้เหลือที่แห่งนั้นเป็นที่สุดท้ายบนโลก ก็คุ้มค่าที่จะปกป้อง”

 

สิ่งแวดล้อมคู่ขนาน
ป่าเขา-เมืองใหญ่

น.ส.นันทิชากล่าวถึงสิ่งแวดล้อมในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ว่า แต่พอมาอยู่ในเมืองหลวง กลับรู้สึกเครียด ยิ่งเราทำงานด้านสิ่งแวดล้อม แล้วอยู่กรุงเทพฯ ที่เต็มไปด้วยพลาสติก

เราอยู่ในสังคมแห่งการบริโภค วันหนึ่งเราช้อปปิ้ง เข้าห้าง เห็นทุกอย่างตลอดเวลา และยิ่งเครียดมากขึ้น เพราะสิ่งที่ทำไปก็ไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงอะไร

เทียบกับเมืองใหญ่ในต่างประเทศ เช่น แวนคูเวอร์ในประเทศแคนาดา เมืองกลับมีความยั่งยืนในสิ่งแวดล้อม แทบไม่ใช่พลาสติก กระดาษยังรีไซเคิล รถยนต์พลังงานไฟฟ้า ก็คิดว่าโลกไม่ได้แย่ขนาดนั้น

แต่พออยู่กรุงเทพฯ เรามีความรู้เรื่องนี้ ก็พูดได้ว่า ไม่ดีกับสิ่งแวดล้อมมากๆ

“ขบวนการวันศุกร์เพื่ออนาคต”
แรงบันดาลใจสู่
Climate Strike Thailand

น.ส.นันทิชายอมรับว่า ตัวเราเองไม่ได้เป็นคนชอบประท้วง ไม่จำเป็น อีกอย่าง สำหรับเรา การสไตรก์หรือประท้วงไม่เหมือนต่างประเทศที่ออกมาเป็นแสน ของเราส่งผลน้อยมาก แต่พออ่านบทสัมภาษณ์ของเกรธา ก็รู้สึกเข้าใจเหมือนกันว่าทำไมตอนที่หลิงเริ่ม รู้สึกเหมือนทำคนเดียว ทำไมไม่มีใครสนใจ แต่แล้วคนกลับสนใจจนเกิดเป็นอีเวนต์ พอลงมือทำจริงๆ ก็น่าจริงใจ ก็จะเริ่มเจอคนคิดเหมือนกัน

“ก่อนหน้านี้ เราเขียนบทความหรือข่าว สาระก็อยู่ในอินเตอร์เน็ต อยู่อย่างนั้นแต่ไม่เกิดผลอะไร แต่พอทำและเจอคนจริงๆ หลายวันก็ยังสงสัยว่า เราสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรไหม เพราะการกดไลก์กดแชร์ ไม่สร้างการเชื่อมโยงเท่ากับการได้พบเจอกันจริงๆ” แกนนำ Climate Strike Thailand กล่าว

น.ส.นันทิชากล่าวอีกว่า เราตั้งมา แล้วคนอยากทำเยอะ ไม่ทำไม่ได้ เรารู้สึกว่านี่เป็นโอกาส จนพบว่า ไม่ใช่ไม่มีใครสนใจ

มีคนสนใจ แต่ไม่มีแพลตฟอร์มให้มีส่วนร่วมเท่านั้นเอง

 

คนไทยสนใจประเด็นสิ่งแวดล้อม
ปัญหาโลกร้อนน้อยมาก?

น.ส.นันทิชากล่าวว่า สิ่งที่ทำให้ประเด็นสิ่งแวดล้อม สังคมไทยพูดถึงหรือให้ความสนใจน้อย มีอยู่ 2 อย่าง

อย่างแรกคือ การศึกษา หลิงรับรู้ตอนที่เรียนในโรงเรียนนานาชาติ ในหลักสูตรจะมีชั้นเรียนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม และรู้มากขึ้น

แต่ไม่แน่ใจว่าโรงเรียนไทยสอนเรื่องพวกนี้โดยเฉพาะหรือลงลึกหรือไม่

อย่างที่ 2 เราพึ่งพาสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง ยิ่งคนเมือง ห่างไกลจากธรรมชาติ ทั้งที่จริงเราพึ่งพาธรรมชาติ

เช่น เราอยากกินไก่ ก็ไปซื้อไก่ในห้าง เห็นแค่เป็นเนื้อของไก่ตัวหนึ่งแล้วเราก็ไม่ได้ตระหนัก จนไม่แน่ใจนักว่า ประเทศไทยเป็นสังคมแห่งการบริโภคและทุนนิยม ความสุขของเราอยู่ที่การใช้จ่าย ยิ่งรวย ยิ่งซื้อของได้มากขึ้น ซึ่งไม่ได้เป็นเหตุเดียว

แต่ทุกอย่างที่เราบริโภคล้วนเอามาจากธรรมชาติ อย่างแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือก็เอามาจากแร่ธาตุใต้ดิน ขนส่งมาถึงมือเรา ซึ่งไม่จบ เพราะยังไปต่อเป็นขยะ หรือลงทะเล

“เราต้องไปดูห่วงโซ่อุปทานการผลิตหมด ไม่ว่าจะเป็นซอสตัวหนึ่งที่แลกมาด้วยวัตถุดิบที่มาทำ แรงงาน และของเสียจากการผลิต จนสุดท้ายเป็นผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจะแพง เพราะมีต้นทุนหลายอย่างไปรวมอยู่ในมูลค่า ซึ่งหลายบริษัททำของถูกได้ยังไง เพราะไม่ได้จ่ายต้นทุนก่อมลพิษ เราก็ไปว่าคนซื้อไม่ได้ ใครก็อยากได้ของราคาถูก แล้วยิ่งคนที่รายได้น้อยไปซื้อขวดเหล็กใส่น้ำราคาแพงก็ไม่แฟร์”

“ทั้งหมดจึงต้องกลับไปที่ผู้ประกอบการ ว่าควรมีจิตสำนึกที่จะต้องมีอะไรชดเชยกับสิ่งที่เอามาจากธรรมชาติ แต่กระนั้น บริษัทต่างๆ ก็มีคู่แข่ง ถ้าแพงกว่าคนอื่นก็อยู่ไม่ได้ ทำให้รัฐบาลต้องมีหน้าที่สนับสนุนธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”

น.ส.นันทิชากล่าว

โอกาสของข้อเรียกร้องถึงนักการเมือง-รัฐบาล

น.ส.นันทิชากล่าวว่า รัฐมนตรีกระทรวงทรัพย์คนใหม่ (นายวราวุธ ศิลปอาชา) ดูตั้งใจและอยากเปลี่ยนจริงๆ อย่างการแบนใช้ถุงพลาสติกในห้างสรรพสินค้าปี 2563 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี หลิงเชื่อว่าเราทำได้ แม้ไม่ได้มีความคาดหวังว่าได้มากแค่ไหน

แต่หลิงเชื่อว่า ถ้าคนเริ่มเห็นความสำคัญ อย่างเศรษฐกิจ สุดท้ายจีดีพีโต แต่โลกไม่น่าอยู่จะเกิดอะไรขึ้น กิจกรรม Climate Strike วันนี้ (20 กันยายน) จัดที่กรุงเทพฯ และวันศุกร์หน้า (27 กันยายน) ที่เชียงใหม่

แม้ว่ากิจกรรม Climate Strike ของไทยจะน้อยในแง่จำนวนเมื่อเทียบกับต่างประเทศ แต่ก็ถือว่า แค่ออกมา 1-2 คน ก็เป็นตัวแทนของไทยในเรื่องนี้แล้ว มีคนร้องถึงรัฐบาล รัฐบาลต้องรับฟัง แล้วถ้าไม่รับฟัง ก็มีแรงกดดันจากต่างประเทศ ยิ่งเข้าร่วมการประชุมกับยูเอ็น และมีข้อตกลงปารีสด้วยแล้ว เราจะทำยังไงกับเรื่องโลกร้อน เรื่องนี้กระทบทั้งโลก พอปล่อยก๊าซคาร์บอนปริมาณมาก ประเทศเพื่อนบ้านก็ต้องมองแล้ว ถ้าไม่หยุดปล่อย ก็จะไม่ทำธุรกิจ

อาจจะไม่ใช่จุดหมายของหลิง แต่เป็นเทรนด์โลกที่สำคัญมาก

 

ทุกคนปรับไลฟ์สไตล์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้

น.ส.นันทิชากล่าวว่า การเปลี่ยนตัวเราเองในเรื่องนี้ เมื่อเทียบกับทั้งระบบ ก็ไม่สร้างผลกระทบอะไรมาก แต่หลิงคิดว่าทุกคนควรทำ ไม่มีเหตุอะไรที่ไม่ควรทำ อย่างลดการใช้พลาสติก หรือการขับรถถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ใช้ แม้แต่ตัวหลิงเองเป็นมังสวิรัติ คือการผลิตเนื้อสัตว์ในฟาร์มก็ปล่อยมลพิษด้วย ก็ยิ่งดี

การพูดเรื่องสิ่งแวดล้อมก็เป็นสิ่งสำคัญ พูดไปเรื่อยๆ อาจมีคนรำคาญจนไม่ฟัง นั้นก็เรื่องหนึ่ง แต่พอคนเห็นเราไม่ใช้พลาสติก ก็จะกดดันเพื่อเปลี่ยน

พอเราลงมือทำ คนรอบข้างก็จะเห็นและเปลี่ยนตามถ้าเป็นสิ่งที่ดี