รธน.ฉบับไม่ปลอม กระผมร่างเอง

ในประเทศ
มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 15 ก.ค. 59

วาทะเกี่ยวกับ ประชามติ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนายกรัฐมนตรี ที่สมควรบันทึกเอาไว้ ตอนนี้มีอยู่ 2 วาทะ

วาทะแรก เกิดขึ้นวันที่ 27 มิถุนายน 2559

เป็นวาทะที่จริงจัง และดุเดือดดุดัน หลังถูกถามว่า หากผลประชามติปรากฏออกมาว่า “ไม่ผ่าน” จะทำอย่างไร

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวยืนยันหนักแน่น ว่า

“ผมไม่ออก ผมเป็นคนกำหนดกติกาของผม”

กติกาของ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นอย่างไร ยังไม่มีคำอธิบายในวันนั้น

แต่เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม เริ่มมีคำอธิบายที่ชัดเจนขึ้น

เป็นความชัดเจนและเป็นวาทะที่ 2 ที่สมควรบันทึกไว้เช่นเดียวกับวาทะแรก

นั่นคือ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวระหว่างเป็นประธานในงานมอบรางวัลทุนหมุนเวียนดีเด่นประจำปี 2559 ที่ห้องรอยัล จูบิลี บอลรูม อาคารอิมแพ็ค ชาลเลนเจอร์ เมืองทองธานี ว่า

“ผมถึงบอกถ้าไม่เรียบร้อย ผมเขียนเองก็ได้ จะเขียนแบบที่ประชาชนต้องการ ผมไม่ได้เขียนแบบที่อยากเขียน ผมไม่มีความรู้เรื่องกฎหมาย ผมอ่านเอา และเอาความรู้สึกของประชาชนที่ต้องการอะไรมาเขียน แล้วจะดูว่ามันผ่านหรือไม่ผ่าน หรือจะไม่ผ่านมากกว่าเดิม มันอยู่ที่ใจของทุกคน หากใจทุกคนอยากจะทำก็ทำได้หมดในโลกใบนี้ ไม่มีอะไรในโลกใบนี้ที่ทำไม่ได้”

ก่อนที่จะมาออกตัวในเวลาต่อมาว่า

“ถือว่าเป็นคำพูดที่ไม่เป็นทางการ ซึ่งอย่ามาถือสา ก็พูดให้มีอารมณ์ไปเรื่อย ถือเป็นหลักการพูด รู้จักกันบ้างหรือไม่ ซึ่งคำทางพระเรียกว่าเทศน์แบบคาบลูกคาบดอก”

“ก็พูดของผมไป สื่อก็มาจับประเด็นกระจ๊อกกระแจ๊กอย่างนี้มา แล้วผมเขียนเองได้หรือไม่ หน้าที่ใครคนเขียน ที่ผ่านมามีคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญใช่ไหม สื่อจะไปขยายความทำไม”

“เพียงแต่พูดให้ฟัง ว่ามันต้องมีรัฐธรรมนูญใหม่ และรัฐธรรมนูญใหม่นั้นต้องเขียนด้วยใคร พูดถึงว่าถ้ามันยุ่งยากกันนัก ก็โอเค ซึ่งมันไม่ไปถึงตรงนั้นอยู่แล้ว ก็รู้อยู่ มันต้องมีคนร่างใหม่ แต่ที่พูดมานั้น เป็นการพูดประชด ไม่เข้าใจหรือ จะหาเรื่อง คุ้ยเรื่องให้ได้ ต่อไปนี้จะไม่พูดอะไรทั้งสิ้น ที่มันจะเป็นปัญหาไม่พูด จะตอบเท่าที่ถาม ก็เน่าๆ กันไป อยู่กันไปแบบนี้”

วาทะ “ผมเขียนเองก็ได้” แม้จะมีน้ำหนักเบาลง หลังจากมีคำขยายความดังกล่าว

โดยเฉพาะที่ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าเป็นแค่การพูดแบบคาบลูกคาบดอก ไม่เป็นทางการ และอย่าไปถือสา

แต่กระนั้น การหลุดคำพูด “จะเขียนรัฐธรรมนูญ” เองก็ไม่อาจมองข้าม

เพราะด้านหนึ่ง อาจเป็นการสะท้อน “ความในใจลึกๆ” ของคนที่พูด

ความในใจที่มีความประสงค์อยากกำหนด “กติกา”เอง

เพียงแต่ที่ผ่านมาไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากถูกรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว และสายตาของสังคมทั้งในประเทศและต่างประเทศ มัดตรึงไว้

ทำให้เรามีคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่มี นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน

ซึ่งก็ปรากฏว่ามีชะตากรรมอย่างที่ทราบกัน นั่นคือ ถูกโละทิ้ง โดย คสช. เอง

อันนำไปสู่คีย์เวิร์ดสำคัญ ที่หลุดออกมาจากปากของนายบวรศักดิ์ตอนนั้นคือ “เขาอยากอยู่ยาว”

ขณะเดียวกันก็นำมาสู่ การตั้ง คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ที่มี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน เพื่อร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาอีกชุด

แม้จะมีความพยายามจูนความคิดระหว่าง คสช. รัฐบาล และกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันอย่างมาก

แต่กระนั้น สังคมก็ได้เห็นความไม่ลงรอยอยู่หลายครั้ง จนต้องนำมาสู่การรื้อ รวมทั้งมาเขียนบทเฉพาะกาล และคำถามพ่วง เพิ่มเติมในสิ่งที่ คสช. และรัฐบาลต้องการ

ขนาดนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยังยอมรับว่า ไม่ได้อย่างที่ต้องการเต็มร้อย

คำพูดที่ว่า (อยาก) “จะเขียนเอง” จึงฝังใจลึกๆ อยู่ตลอดมา

กระนั้น แม้จะไม่ได้รัฐธรรมนูญตามที่ต้องการเต็มร้อย

แต่ พล.อ.ประยุทธ์ คสช. และรัฐบาล ก็มีทางเลือกไม่มากนัก

และที่น่าจะราบรื่น ก็คือพยายามทำให้รัฐธรรมนูญผ่าน “ประชามติ” จะดีกว่า

เมื่อทิศทางไปในทาง “ให้ผ่าน” มากกว่า ไม่ให้ผ่าน

กลไก รวมทั้งท่าทีต่างๆ จึงออกมาสนองในแนวทางนั้น

รวมถึง นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ที่นอกจากชูความดีเด่นในรัฐธรรมนูญแล้ว

ยังมีไม้ขู่สำทับ ด้วยการกล่าวเสียงดังฟังชัดเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2559 ว่า ถ้าไม่สามารถผ่านประชามติในครั้งนี้ได้ ประชาชนก็อาจจะเจอรัฐธรรมนูญที่หนักกว่านี้ได้

หรือพูดแบบชาวบ้านก็คือ “ถ้าไม่รับ ก็เจอของที่หนักกว่านี้”

ด้วยเพราะครั้งต่อไป คสช. อาจจะไม่ตั้งกรรมาธิการหรือคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญอีกแล้ว

แต่จะเขียนรัฐธรรมนูญตามที่ต้องการเอง ซึ่งจะโหดและหนักกว่า

คำขู่นั้นนำไปสู่วิวาทะทางการเมือง ที่ดุเดือด โดยเฉพาะฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญ

เช่น นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ตอบโต้ผ่านเฟซบุ๊ก ว่า ไม่เชื่อและไม่กลัวคำขู่ของนายมีชัยที่ว่า “ถ้าไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้วจะได้รัฐธรรมนูญที่โหดกว่า” เพราะถ้าประชาชนร่วมกันไม่รับร่าง รธน.ฉบับนี้ แสดงว่าประชาชนพร้อมใจกันไม่ยอมรับความไม่เป็นประชาธิปไตย และเท่ากับช่วยกันตะโกนเสียงดังๆ ว่า “ไม่เอารัฐธรรมนูญที่ฝักใฝ่เผด็จการ” “ไม่เอารัฐธรรมนูญที่โกงอำนาจประชาชน”

แบบ “บวรศักดิ์ก็ไม่เอา”

แบบมีชัย ก็ยิ่ง “ไม่เอา”

ถ้ากล้าเอา ที่โหดกว่าเดิมมายัดเยียดใส่มือประชาชนอีก…กล้าก็ลองดู

เป็นที่น่าสังเกตว่า วิวาทะตอนนั้น จะจำกัดวงอยู่เพียงแค่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญกับฝ่ายไม่รับรัฐธรรมนูญเป็นหลัก

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ และ คสช. สงวนท่าที ไม่ร่วมวงวิวาทะนั้น

อุบไต๋ตัวเองไว้แน่นสนิท

ไม่ยอมให้รู้ว่า ในใจของ พล.อ.ประยุทธ์ คิดอะไรและเตรียมการอะไรไว้

ปล่อยให้เป็นเพียงการคาดการณ์เท่านั้น

กระทั่งเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม นั่นแหละ พล.อ.ประยุทธ์ ถึงได้แย้มออกมาเป็นครั้งแรกว่า จะเขียนรัฐธรรมนูญเองหากรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน

ซึ่งการที่ พล.อ.ประยุทธ์ เลือกจะพูดในเวลาที่การลงประชามติ จะมีขึ้นในแค่อีกหนึ่งเดือนข้างหน้า จึงมองได้ใน 2 แง่

แง่แรก ก็คือการขู่อย่างที่นายมีชัยเคยขู่

นั่นคืออาจจะเจอรัฐธรรมนูญฉบับ คสช. ที่หนักและโหดกว่ารัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัยหากไม่ผ่าน

แง่ที่สอง ชัดเจนว่าหากรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ มีโอกาสสูงที่จะไม่มีการตั้งกรรมาธิการ หรือคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญอีกแล้ว

แต่คราวนี้จะใช้ คสช. เขียนรัฐธรรมนูญเองเลย

แม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะบอกว่าพร้อมจะอิงไปกับความต้องการของประชาชน

แต่กระนั้นก็คงเป็นไปตามความต้องการของ พล.อ.ประยุทธ์ และ คสช. เป็นหลัก

เป็นของจริง

ไม่ใช่ของปลอม

และไม่ใช่ฉบับไม่เต็มร้อยอย่าง 2 ร่างเดิม

ซึ่งแน่นอนว่า ย่อมโน้มเอียงไปในทางควบคุม กำกับดูแล พรรคการเมือง ที่ คสช. มองว่าเป็น “ปัญหา” ของชาติ

ตรงนี้ อาจจะนำไปสู่ การเซ็ตซีโร่พรรคการเมือง แล้วเริ่มต้นใหม่ อย่างที่เคยเป็นกระแสที่พูดหนาหูในระยะหลัง

ขณะเดียวกัน อาจจะมีการออกแบบกลไกต่างๆ เพื่อที่จะนำไปสู่การสืบทอดงาน-อำนาจ ที่ คสช. หวังไว้ถึง 20 ปี อันอาจทำให้ได้เห็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากคนนอก ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้ง

รวมถึงองค์กรต่างๆ ที่จะเข้ามาควบคุมดูแลฝ่ายการเมืองอย่างเข้มงวด

แน่นอน ในความต้องการของ คสช. ย่อมจะต้องกดทับฝ่ายการเมือง ไม่ให้มีอำนาจเติบใหญ่เหมือนเดิม

นั่นเป็นสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ ในกรณีที่ คสช. เป็นผู้เขียนรัฐธรรมนูญเอง

แต่กระนั้น คงไม่อาจมองข้ามความเป็นจริงอีกด้านได้

กล่าวคือ หากประชาชนมีมติไม่ผ่านรัฐธรรมนูญ นั่นก็ย่อมส่งผลสะท้อนถึงการไม่ยอมรับรัฐบาล และ คสช. ด้วย

ซึ่งยังไม่ทราบว่าจะนำไปสู่ “วิกฤตศรัทธา” ต่อรัฐบาล และ คสช. มากเพียงใด

อาจจะมีกระแสเรียกร้องและกดดันไปยังรัฐบาล และ คสช. ว่า ไม่มีความชอบธรรมที่จะออกกติกาในการปกครองอีกแล้ว

ควรจะต้องเปิดกว้างให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากกว่าเดิม

สภาร่างรัฐธรรมนูญ อาจเป็นข้อเสนอที่ คสช. “ปฏิเสธ” ไม่ได้

เพราะต้องไม่ลืมว่า การพ่ายแพ้ในการลงประชามติ ย่อมทำให้ความชอบธรรมของรัฐบาล และ คสช. ลดน้อยลงอย่างปฏิเสธไม่ได้

การลดน้อยลงของความชอบธรรมดังกล่าว ย่อมนำไปสู่การจำกัดการใช้อำนาจของรัฐบาล และ คสช. ลงเช่นกัน

นี่จะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้สถานการณ์การเมืองหลังวันที่ 7 สิงหาคม เปลี่ยนไป

วาทะที่ว่า “ผมจะเขียนรัฐธรรมนูญเอง” อาจจะไม่มีพลังเพียงพอที่จะทำก็ได้ หากรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม จริงๆ