วิเคราะห์ : ละลาย ‘วงศ์เทวัญ-ทหารเสือ-บูรพาพยัคฆ์’ กองทัพยุค ‘บิ๊กแดง’ ‘คอแดง’ สะพรั่ง!

ละลาย ‘วงศ์เทวัญ-ทหารเสือ-บูรพาพยัคฆ์’

กองทัพยุค ‘บิ๊กแดง’‘คอแดง’ สะพรั่ง

4 เสืออากาศเข้าไลน์ ส่องทายาท ‘ฉลามลือ’

บัญชีรายชื่อแต่งตั้งโยกย้ายทหาร 871 นายครั้งนี้ สะท้อนศักยภาพของบิ๊กแดง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. น้องรักของบิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม

พร้อมๆ กับเสียงจาก ผบ.เหล่าทัพ ชื่นชมว่าเป็นโผโยกย้ายที่ไม่มีการล้วงลูก แต่เป็นการให้ ผบ.เหล่าทัพตัดสินใจ เช่นที่ พล.อ.ประยุทธ์ได้ประกาศไว้

ทั้งการมีนายพลใหม่ทุกเหล่าทัพรวม 365 นาย ในจำนวนนี้เป็นพลตรีหญิงใหม่ 18 นาย

แต่ที่ฮือฮาคือ การที่ พล.อ.อภิรัชต์ล้างบาง ทบ.ใหม่ ด้วยการเปลี่ยนตัว ผบ.หน่วยคุมกำลังทั้งหมด ทั้งราบม้า ปืน รบพิเศษ และหน่วยสนับสนุนการรบ

ทั้งแม่ทัพภาคที่ 1 แม่ทัพน้อยที่ 1 ผบ.หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ (ผบ.นสศ.), ผบ.ศูนย์สงครามพิเศษ ทั้ง ผบ.พล.1 รอ. ผบ.พล.ร.2 รอ. ผบ.พล.ม.2 รอ. ผบ.พล.ร.11 ผบ.พล.ม.1 ผบ.พล.ม.3 และ ผบ.พล.ร.3 ผบ.พล.ร.5 ผบ.พล.ช่าง ผบ.พล.พัฒนา 2 ผบ.บชร.1 ผบ.บชร.2 ผบ.ชร.3 ผบ.ศูนย์การบินทหารบก

รวมทั้งระดับ ผบ.มทบ. ที่จะดูแลประชาชนในแต่ละจังหวัด เช่น ผบ.มทบ.11 ผบ.มทบ.12 ผบ.มทบ.18 ผบ.มทบ.25 ผบ.มทบ.27 ผบ.มทบ.28 ผบ.มทบ.33 ผบ.มทบ.35 และ ผบ.มทบ.36

รวมถึงการเปลี่ยนตัว ผบ.ศูนย์การทหารรบ ผบ.วิทยาลัยการทัพบก ผบ.รร.เสธ.ทบ. ผบ.รร.นายสิบ ทบ. แม้แต่ ผบ.หน่วยข่าวกรองทางทหารกองทัพบก

ส่วนระดับเจ้ากรม ทั้งเจ้ากรมขนส่งทหารบก เจ้ากรมการสัตว์ ทบ. เจ้ากรมดุริยางค์ ทบ. เจ้ากรมสวัสดิการ ทบ.

ถ้าเป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติ แล้วมีการเปลี่ยนตัว ผบ.หน่วยขนาดนี้ ก็จะเกิดกระแสข่าวลือเรื่องการรัฐประหารขึ้น แต่เพราะยุคนี้เป็นยุคที่ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับกองทัพแนบแน่น จึงไม่มีอะไรในกอไผ่ เพราะเป็นจังหวะที่ต้องเปลี่ยนพอดี

อีกทั้ง พล.อ.อภิรัชต์ต้องการคัดตัว ผบ.หน่วยใหม่เองหมด ด้วยสเป๊กทหารรุ่นใหม่ แม้ส่วนใหญ่จะเป็น ตท.20 และ ตท.21 เพื่อนร่วมรุ่นก็ตาม

แต่เรียกได้ว่า พล.อ.อภิรัชต์คุมกองทัพบกแบบเบ็ดเสร็จ หลังนั่งเก้าอี้ ผบ.ทบ.มา 1 ปี

โดยเฉพาะในฐานะที่เป็นนายทหารพิเศษ ประจำกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ (ทม.รอ.) และเป็น ผบ.หน่วยเฉพาะกิจทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ 904 (ผบ.ฉก.ทม.รอ. 904) พล.อ.อภิรัชต์ได้ส่งนายทหารของ ฉก.ทม.รอ.904 ไปเติบโตในตำแหน่งสำคัญๆ

ไม่แค่กองทัพบกเหล่าทัพใหญ่ เหล่าทัพหลักของ ทบ.เท่านั้น แต่ยังรวมถึง บก.กองทัพไทยด้วย จนทำให้คำว่า “ทหารคอแดง” ถูกจับตามอง

 

“ทหารคอแดง” เป็นคำเรียกสำหรับนายทหารที่ผ่านการฝึกหลักสูตรนายทหารรักษาพระองค์ ตามแบบการฝึกของหน่วยเฉพาะกิจทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ 904 (ฉก.ทม.รอ.904) มาแล้ว

อันเป็นหลักสูตรที่สร้างความแข็งแกร่งทั้งร่างกายและจิตใจ โดยจะได้รับการอบรมความรู้เรื่องทหารรักษาพระองค์ การปฏิบัติต่างๆ ในวัง และแบบธรรมเนียมทหาร ตามพระราโชบาย

โดยเป็นหลักสูตรที่ฝึกอบรมยาวนาน 3 เดือน แต่มีห้วงเวลาพัก 23 วัน พัก 7 วัน นายทหารทุกคนที่ฝึกหลักสูตร ฉก.ทม.รอ.904 นี้ จะมีบทท่องต่างๆ ในทุกๆ วัน หลายบทที่เป็นการสร้างกำลังใจ และโดยเฉพาะบทราชสวัสดิ์ สมัยรัชกาลที่ 6 เรื่องการปฏิบัติต่อพระมหากษัตริย์ และเมื่อจบออกมาจะมีความเป๊ะหัวจรดเท้า มีระเบียบวินัย และสมาร์ต

ส่วนการที่เรียกว่าทหารคอแดง เพราะนายทหารเหล่านี้จะสวมเสื้อยืดคอกลมสีขาว ขลิบสีแดงไว้ภายใน แต่เมื่อสวมเครื่องแบบทหาร เสื้อคอกลมขลิบสีแดงที่โผล่ออกมาที่หน้าอก จึงเรียกว่าเป็นทหารคอแดง ที่ส่วนใหญ่มาจากทหารรักษาพระองค์ และเป็นหน่วยขึ้นตรงต่อ ฉก.ทม.รอ.904 นั่นเอง

พล.ต.ธราพงษ์ มะละคำ, พล.ต.ทรงวิทย์ หนุนภักดี

ในโผโยกย้ายครั้งนี้ ทหารคอแดงที่ขึ้นมา มีทั้งบิ๊กบี้ พล.ท.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ (ตท.22) แม่ทัพภาคที่ 1 ขึ้น ผช.ผบ.ทบ. เพื่อจ่อเป็น ผบ.ทบ.คนใหม่ในตุลาคม 2563 โดยมีอายุราชการยาวถึงกันยายน 2566

บิ๊กแก้ว พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ (ตท.21) ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทบ. ข้ามห้วยไปเป็นเสนาธิการทหาร เพื่อจ่อขึ้นเป็น ผบ.ทหารสูงสุดในตุลาคมปีหน้า และมีอายุราชการยาวถึงกันยายน 2566 เช่นกัน

โดยทั้ง พล.ท.ณรงค์พันธ์ และ พล.อ.เฉลิมพล ล้วนเป็นรอง ผบ.ฉก.ทม.รอ.904 เช่นกัน

อันเป็นกลยุทธ์ของ พล.อ.อภิรัชต์ในการกระจาย “ทหารคอแดง” สายเป๊ะ ไปเป็น ผบ.หน่วย เพื่อเดินหน้าในการจัดกองทัพใหม่ในทุกๆ ด้าน

โดยเฉพาะ ผบ.คุมกำลัง ทัพภาคที่ 1 แม่ทัพนายกอง หน่วยรักษาพระองค์-ฉก.ทม.รอ.904

โดยมีบิ๊กหนุ่ย พล.ท.ธรรมนูญ วิถี แม่ทัพน้อยที่ 1 ขึ้นแม่ทัพภาคที่ 1

โดยมีบิ๊กต่อ พล.ต.เจริญชัย หินเธาว์ (ตท.23) รองแม่ทัพภาคที่ 1 ขึ้นพลโท แม่ทัพน้อยที่ 1 บิ๊กบุ๋ม พล.ต.สุวิทย์ เกตุศรี ผบ.พล.ม.2 รอ. ขึ้นรองแม่ทัพภาคที่ 1 เสธ.อรุณ พ.อ.กันตพจน์ เศรษฐารัศมี เป็น ผบ.พล.ม.2 รอ. คนใหม่

ส่วนคนที่ต้องจับตามองคือ บิ๊กอ๊อบ พล.ต.ทรงวิทย์ หนุนภักดี (ตท.24) ผบ.พล.1 รอ. ขึ้นเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 1 เพื่อเข้าไลน์จ่อขึ้นแม่ทัพภาคที่ 1 ในอนาคต

พล.ต.ทรงวิทย์ยังเป็นรอง ผบ.ฉก.ทม.รอ.904 ด้วย และถูกมองว่า จ่อขยับเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 ในอนาคต และชิงเก้าอี้ ผบ.ทบ.ด้วย แม้จะจบจาก รร.นายร้อย VMI สหรัฐอเมริกา ไม่ได้จบ รร.นายร้อย จปร.ก็ตาม

ท่ามกลางการจับตามองว่า ธรรมเนียมทหารบก ที่จะไม่ให้ทหารที่จบต่างประเทศขึ้นเป็น ผบ.ทบ. จะถูกยกเว้น ถูกทำลายลงหรือไม่ เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป

โดยมี เสธ.เนี้ยว พ.อ.ทรงพล สาดเสาเงิน รอง ผบ.พล.1 รอ. และ เสธ.ฉก.ทม.รอ.904 ขยับขึ้นพลตรี ผบ.พล.1 รอ. บิ๊กหนุ่ย พล.ต.ธราพงษ์ มะละคำ ผบ.มทบ.11 กลับถิ่น เป็น ผบ.พล.ร.2 รอ. เสธ.ตั้ง พ.อ.ธวัชชัย ตั้งพิทักษ์กุล รอง ผบ.พล.ร.1 รอ. อดีตลูกหม้อ ร.11 ในยุค พล.อ.อภิรัชต์ ขึ้นพลตรี เป็น ผบ.มทบ.11 ติดยศนายพลไว้ก่อน

ไม่ใช่แค่สายกำลังรบ แต่สายการศึกษา พล.อ.อภิรัชต์ก็ส่งทหารคอแดงไปช่วยดูแลหน่วย ที่เป็นแหล่งสร้างกำลังพลต้นน้ำ เสธ.เล็ก พล.ต.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ (ตท.23) ขยับจากหน่วยคุมกำลัง ผบ.พล.ร.2 รอ. ไปเป็นรอง ผบ.รร.นายร้อย จปร.

เพื่อปรับระบบ รร.นายร้อย จปร.ใหม่ โดยมีรองช้าง พล.ต.เอกรัตน์ ช้างแก้ว รอง ผบ.รร.นายร้อย จปร. อยู่แล้ว

โผทหารคราวนี้เป็นโผแรกในมือ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะ รมว.กลาโหม หลังจากที่บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กระเถิบออกไปเป็นรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง แม้จะยังมีบทบาทอยู่บ้าง แต่ พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นคนตัดสินใจท้ายสุด

และเป็นโผที่ได้รับเสียงชื่นชมจากผู้บัญชาการเหล่าทัพว่างานนี้ไม่มีการล้วงลูก หรือรายการคุณขอมาใดๆ แต่เป็นไปตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ให้นโยบายไว้ว่า ผู้บัญชาการเหล่าทัพจะเป็นคนพิจารณาตัดสินใจเองทั้งหมด และเป็นผู้รับผิดชอบ

จะเห็นได้ว่า นายทหารที่เป็นเด็กบิ๊กตู่ บิ๊กป้อม ที่มีข่าวว่าจะเสียบลงตำแหน่งสำคัญ แต่ก็ไม่ได้

“ไม่มีใบสั่งจากผู้ใหญ่เลย ผบ.เหล่าทัพ ตัดกันตามความเหมาะสม” ผบ.เหล่าทัพคนหนึ่งเผย

 

ที่เห็นได้ชัดคือ ที่ บก.ทัพไทย

บิ๊กกบ พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผบ.ทหารสูงสุด สามารถดันเพื่อนรัก ตท.18 “บิ๊กหรั่ง” พล.อ.พีรพงษ์ เมืองบุญชู หัวหน้าคณะนายทหารฝ่ายเสธ. ประจำ ผบ.สส. ขึ้นเป็นผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา (ผบ.นทพ.) เป็นหัวหน้านักรบสีน้ำเงินคนใหม่ ได้ตามที่เสนอ

แม้ก่อนหน้านั้น บิ๊กเจอร์รี่ พล.อ.ธนเกียรติ ชอบชื่นชม ผบ.นทพ. น้องรักบิ๊กป้อม ผลักดัน เสธ.อิ๊ด พล.ท.อภิสิทธิ์ นุชบุษบา (ตท.20) น้องสายทหารม้า เสนาธิการ นทพ. ขึ้น ผบ.นทพ.

จนมีการรอลุ้นพลังของบิ๊กเจอร์รี่ แต่ในที่สุด บิ๊กป้อมก็ไม่ล้วงลูก อาจเพราะไม่เคยมีที่จาก เสธ.นทพ. ขึ้น ผบ.นทพ. มาก่อน อีกทั้ง พล.อ.พีรพงษ์มีความเหมาะสม เพราะเคยอยู่ นทพ. และเป็นทหารม้าที่เติบโตในอีสานมาตลอด เลยทำให้ต้องยอมตามที่บิ๊กกบเสนอมา

แต่ก็รอมชอมให้ พล.ท.อภิสิทธิ์เป็นเจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารแทน

แต่ที่สำคัญคือ เสธ.กวาง พล.ท.สัณทัศน์ นนทิภาคย์หิรัญ ยังคงนั่งรอง ผบ.นทพ.ต่อไป ทั้งๆ ที่เป็นน้องรักสายทหารเสือราชินี ของนายกฯ บิ๊กตู่ แต่ก็ยังไม่ได้ขยับขึ้นหรือไปไหน นั่งมานาน 4 ปีแล้ว ด้วยความที่เป็น ตท.21 ที่มีอายุราชการถึงกันยายน 2566…

เหมือนกับให้ย่ำกับที่รอ

 

เหมือนบรรดาน้องรักบิ๊กตู่ ก็ไม่ใช่จะได้ดีกันทุกคน เช่น “3 ต.” ทหารเสือราชินี “ติ่ง-ต่อ-ตั้ม” ที่เคยถูกจับตามองว่าจะเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 และ ผบ.ทบ.ในอนาคต แบบต่อเนื่องกัน…ในยุคทหารเสือราชินี-บูรพาพยัคฆ์เฟื่องฟู ก็ต้องมีอันพลิกผัน หลังยุคเปลี่ยนผ่าน

ทั้งบิ๊กติ่ง พล.ต.สันติพงษ์ ธรรมปิยะ (ตท.22) รองแม่ทัพภาคที่ 1 จากที่เคยเข้าไลน์สู่แม่ทัพภาคที่ 1 ต้องเปลี่ยนเส้นทางชีวิตราชการ จากสายคุมกำลัง ไปเป็นพลโทเจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารบก ทำงานด้านสื่อ งานมวลชน ของ ทบ. เพราะไม่ได้ไปฝึก และไม่ได้เป็นทหารคอแดง

พล.ต.สันติพงษ์ เป็นเพื่อน ตท.22 ของ พล.ท.ณรงค์พันธ์ ที่ขึ้นพลเอก ผช.ผบ.ทบ. และบิ๊กหนุ่ย พล.ท.ธรรมนูญ แม่ทัพน้อยที่ 1 ที่ขึ้นแม่ทัพภาคที่ 1 ที่ล้วนเป็นทหารคอแดง ที่ผ่านการฝึกมาแล้ว

คงมีเพียงบิ๊กต่อ พล.ต.เจริญชัย หินเธาว์ (ตท.23) รองแม่ทัพภาคที่ 1 ที่ได้ขึ้นเป็นพลโท แม่ทัพน้อยที่ 1 เหตุเพราะทหารคอแดง ที่ดูจะมีความหวังบ้าง

เพราะ เสธ.ตั้ม พล.ต.วรยุทธ แก้ววิบูลย์พันธุ์ (ตท.24) ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 11 (ผบ.พล.ร.11) ก็ต้องหลบทาง ขยับไปเป็นรองแม่ทัพน้อยที่ 1 เบี่ยงออกจากเส้นทางเหล็ก เพื่อเปิดทางให้ พ.อ.พนา แคล้วปลอดทุกข์ ขึ้นมาเป็น ผบ.พล.ร.11 เพื่อปรับหน่วยรองรับรถเกราะ Stryker จากอเมริกา ตามไอเดียบิ๊กตู่

แม้แต่ เสธ.โหน่ง พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค (ตท.22) อดีตรองโฆษกรัฐบาล ที่มาชิงเจ้ากรมข่าวทหาร บก.ทัพไทย แต่นายกฯ ก็ไม่ล้วงลูก จึงต้องข้ามมากลาโหม เป็น ผอ.สำนักพัฒนาระบบราชการกลาโหม

โดยให้ พล.ต.นที วงศ์อิศเรศ นายทหารที่จบจาก West Point นายร้อยทหารบกสหรัฐอเมริกา ขึ้นเจ้ากรมข่าวทหาร ตามที่ พล.อ.พรพิพัฒน์เสนอไป

 

แม้แต่บรรดาเด็กบิ๊กป้อม ที่มีข่าวจะลงตำแหน่งสำคัญก็ล้วนวืด

บิ๊กเด้ง พล.ต.วัชระ พิทยานรเศรษฐ์ ผบ.หน่วยข่าวกรองทางทหารกองทัพบก ที่ชิงเก้าอี้ ผบ.ศรภ. แต่ พล.ท.วิชัย ชูเชิด รองเจ้ากรมกิจการชายแดนทหาร ก็ได้เป็นหัวหน้า CIA ผบ.ศรภ.คนใหม่ ตามที่บิ๊กกบเสนอไป

ทั้งๆ ที่ พล.อ.ประวิตรเป็นรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง และคุมงานการข่าวเอง

พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์

ในส่วนกองทัพอากาศ ที่มีกระแสข่าวสะพัดมาตลอดว่าจะมีเซอร์ไพรส์

แต่ที่สุด บิ๊กนัต พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ เสธ.ทอ. ขึ้น ผบ.ทอ.คนใหม่ แทนบิ๊กต่าย พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน เสนอขึ้นไป

ไม่มีเสืออากาศคนใดข้ามห้วยกลับไปนั่ง ผบ.ทอ. ไม่ว่าจะบิ๊กยาว พล.อ.อ.วันชัย นุชเกษม ที่ก็เป็นรอง ผบ.ทหารสูงสุดต่อไป

และบิ๊กหมู พล.อ.อ.ปรเมศร์ เกษโกวิท ที่ก็เป็นรองปลัดกลาโหม ต่อในปีสุดท้าย ก่อนเกษียณ

ทั้งนี้ พล.อ.อ.มานัตเป็น ตท.20 เพื่อนรักของ พล.อ.อภิรัชต์ด้วย

และถือเป็น ผบ.ทอ.คนที่ 2 ที่จบ รร.นายเรืออากาศเยอรมัน หลังจากที่บิ๊กตู่ พล.อ.อ.ตรีทศ สนแจ้ง อดีต ผบ.ทอ. เป็นคนแรกที่ได้ขึ้น ผบ.ทอ.

และถือเป็น ผบ.ทอ.คนที่ 3 ที่เป็น ผช.ทูตทหารอากาศไทยประจำเบอร์ลิน และรักษาการ ผช.ทูต ทอ.ไทย ประจำปารีส ฝรั่งเศส และประจำกรุงโรม อิตาลี

หลังจากที่คนแรกคือ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง และ พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน

พล.อ.ท.ธรินทร์ ปุณศรี

พล.อ.อ.มานัต ถือเป็นนายทหารที่ทำงานใกล้ชิดมากับอดีต ผบ.ทอ. ทั้งบิ๊กต๋อย พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี บิ๊กเฟื่อง พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ และบิ๊กจิน พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง

เป็นนักบิน F5 call sigh “Jetta” และเป็นอดีต ผบ.กองบิน 7 และมีบทบาทสำคัญในการวางระบบของเครื่องบิน Gripen จากสวีเดน

ที่น่าจับตามองคือ โผนี้มีการวางตัว ผบ.ทอ.คนต่อไปไว้ด้วย เนื่องจาก พล.อ.อ.มานัตนั่งปีเดียว จะเกษียณกันยายน 2563

ที่ทัพฟ้าให้เป็นเต็งหนึ่งคือ บิ๊กจ้อ พล.อ.ท.ธรินทร์ ปุณศรี รอง เสธ.ทอ. (ตท.20) ที่ขึ้น 5 เสืออากาศ เป็น ผช.ผบ.ทอ. เพราะเติบโตมาในเส้นทางเหล็ก เป็นนักบิน F16 ที่โตมาในสายยุทธการ และยังเป็นน้องชายของบิ๊กเจี๊ยบ พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี อดีตรอง ผบ.ทหารสูงสุด ที่ยังคงมีเพาเวอร์

โดยที่ ว่าที่ พล.อ.อ.ธรินทร์ เกษียณกันยายน 2564 จึงมีการมองไปที่เสธ.ต่วย พล.อ.ท.สุทธิพันธุ์ ต่ายทอง รอง เสธ.ทอ. (ตท.21) ที่เกษียณกันยายน 2565 ที่โผนี้ขึ้นมาเป็น เสธ.ทอ.คู่ใจ พล.อ.อ.มานัต

แต่เสธ.ต่วย โตมาในสายกำลังพล และเป็นนักบิน A-37 ไม่ได้บินเครื่องบินตระกูลเอฟ จึงเสียเปรียบ

ดังนั้น จึงต้องจับตามองไปที่บิ๊กป้อง พล.อ.ท.นภาเดช ธูปะเตมีย์ รอง ผบ.คปอ. (ตท.21) ที่ขึ้นมาเป็น ผบ.คปอ.

แม้ตำแหน่ง ผบ.คปอ. จะไม่ใช่ 5 เสืออากาศ แต่เพราะ พล.อ.ท.นภาเดช มีอายุราชการถึงกันยายน 2565 จึงรอขยับเข้าไลน์ 5 เสือในปีหน้า เตรียมจ่อชิงเป็น ผบ.ทอ.คนต่อไปได้เช่นกัน ที่ก็อาจรอต่อคิวจากบิ๊กจ้อ ขึ้น ผบ.ทอ.ก่อน

พล.อ.ท.นภาเดช ลูกชาย พล.อ.อ.ประพันธ์ ธูปะเตมีย์ อดีต ผบ.ทอ. และมีความพร้อมทั้งบุคลิกลักษณะ ความรู้ความสามารถ เป็นนักบินเอฟ 16 ผู้การกองบิน 23 และเป็น ผช.ทูต ทอ. กรุงปักกิ่ง จีน จึงเป็นแคนดิเดตที่ไม่อาจมองข้ามได้

พล.อ.ท.นภาเดช ธูปะเตมีย์

ทั้งนี้ หลังโผคลอด พล.อ.อ.มานัตได้นำทีมขอบคุณ พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ และเป็นจังหวะที่ พล.อ.ท.นภาเดชได้พูดคุยเคลียร์ใจและขออภัย พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์

พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ยืนยันว่า ไม่เคยมีอะไรคาใจกับน้องคนไหน แต่ด้วยสไตล์การทำงาน ที่จริงจังและเข้มงวด จึงอาจทำให้ถูกมองว่าขัดแย้ง แต่ความจริงแล้วไม่มีอะไรค้างคาใจ

“หลัง 1 ตุลาคมนี้ ผมก็จะพักผ่อน ใช้ชีวิตส่วนตัวกับครอบครัว จะไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวใดๆ กับน้องๆ เพราะเราไม่ชอบให้ใครมา coaching เรา ก็เชื่อว่าน้องๆ ก็ไม่ต้องการให้เราไป coaching เขา เพราะเราต้องมั่นใจในตัวน้องๆ ที่มาทำงานดูแล ทอ.แทนเรา” พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์กล่าว ท่ามกลางการถูกจับตามองว่า หลังเกษียณเขาจะมีตำแหน่งใดรองรับ

สำหรับ พล.อ.ท.นภาเดช แล้ว การได้ขึ้น พล.อ.อ. เป็น ผบ.คปอ.ครั้งนี้ ทำให้บิดาปลื้มใจมาก อีกทั้ง น.อ.หญิง พันธ์นิดา ธูปะเตมีย์ ลูกสาว ก็ได้เป็นพลอากาศตรีหญิง

แต่วันที่ พล.อ.อ.ประพันธ์ อดีต ผบ.ทอ.คนที่ 10 วัย 92 ปี รอคอย คือวันที่ลูกทัพฟ้าจับตามองว่า ทอ.จะมีประวัติศาสตร์ที่พ่อเป็น ผบ.ทอ. แล้วลูกชายจะได้เป็น ผบ.ทอ.หรือไม่เช่นกัน

แต่ไม่อาจมองข้าม เสธ.ตั้ว พล.อ.ท.สฤษดิ์พงษ์ วัฒนวรางกูร ที่โผนี้ขึ้นมาเป็นพลอากาศเอก แล้วก็พร้อมเป็นแคนดิเดต ผบ.ทอ. เพราะเคยเป็นนักบินเอฟ 16 และผู้การกองบิน 1 และ ผช.ทูต ทอ. ลอนดอน อังกฤษ และเป็น ตท.21 เช่นเดียวกับ พล.อ.ท.นภาเดช และเกษียณ 2565 เช่นกัน

ขณะที่กองทัพเรือ สุดเข้มข้น

บิ๊กลือ พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ที่จะเกษียณกันยายน 2563 วางตัวแคนดิเดตขึ้นมาใน 5 ฉลามทัพเรือ ถึง 3 คน

ทั้งบิ๊กช่อ พล.ร.อ.ช่อฉัตร กระเทศ ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพเรือ (ตท.19) ที่อาวุโสสุด เป็นรอง ผบ.ทร. ครองอัตราพลเรือเอกพิเศษ แถมเป็นประธานโครงการต่อเรือยกพลขึ้นบก LPD ลำใหม่จากจีน ตามนโยบายบิ๊กลือด้วย

พล.ร.อ.ช่อฉัตร เป็น ตท.19 รร.นายเรือ 76 เคยเป็นผู้บังคับการเรือหลวงคลองใหญ่ ผู้บังคับการเรือหลวงหาญหักศัตรู ผู้ช่วยทูตทหารเรือไทย ที่กรุงลอนดอน และโคเปนเฮเกน ควบกรุงออสโล

เคยเป็น ผบ.กองเรือยกพลขึ้นบก กองเรือยุทธการ ก่อนถูกส่งมาโตในสายการศึกษา เป็น ผบ.รร.เสธ.ทร. ผบ.วิทยาลัยการทัพเรือ เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ

และที่ปรึกษาพิเศษ กองทัพเรือ ก่อนเป็นรอง ผบ.ทร.

เสธ.อุ้ย พล.ร.อ.ชาติชาย ศรีวรขาน เสนาธิการทหารเรือ (ตท.20) ขยับขึ้นผู้ช่วย ผบ.ทร. ที่เป็น ตท.20 รร.นายเรือ 77 เคยเป็นผู้บังคับการเรือหลวงท้ายเหมือง ผู้ช่วยทูตทหารเรือไทย ประจำมาดริด สเปน เป็น ผบ.กองเรือทุ่นระเบิด ปลัดบัญชีทหารเรือ รอง เสธ.ทร. และ เสธ. ก่อนขึ้น ผช.ผบ.ทร.

ส่วนที่ต้องจับตามองคือ บิ๊กแก๋ง พล.ร.ท.สิทธิพร มาศเกษม ผบ.ทัพเรือภาคที่ 3 (ตท.20) ที่ขึ้นเป็น เสธ.ทร.

เป็น ตท.20 นายเรือ 77 เช่น เสธ.อุ้ย

เคยเป็นผู้บังคับการเรือหลวงแม่กลอง ผบ.เรือหลวงตากสิน ผบ.เรือหลวงจักรีนฤเบศร ผู้ช่วยทูตทหารเรือไทย ประจำมาดริด สเปน

เคยเป็น ผบ.กองเรือฟริเกตที่ 1 เป็น ผอ.สำนักงานประสานภารกิจด้านความมั่นคง กอ.รมน. ก่อนเป็น ผบ.ทัพเรือภาคที่ 3 ก่อนขึ้น เสธ.ทร.

 

 

ที่ทร.จับตากันมากที่สุดคือ ในปีหน้าจะเป็นการชิงเก้าอี้ ผบ.ทร. ที่ไม่ใช่แค่ศึกสายเลือดเตรียมทหารและนายเรือเท่านั้น

แต่จะเป็นศึกลูกประดู่ “ชมพูฟ้า” ด้วย

โดย พล.ร.อ.ช่อฉัตร จบโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย 96-OSK96 ส่วน เสธ.อุ้ย พล.ร.อ.ชาติชาย และ พล.ร.ท.สิทธิพร ก็เป็น OSK 97

ไม่แค่นั้น โผนี้ยังเห็นว่า บิ๊กลือมองไกล มีการวางตัวว่าที่ ผบ.ทร.ในอนาคตไว้แล้ว โดยเฉพาะบิ๊กบู พล.ร.ต.ประชาชาติ ศิริสวัสดิ์ (ตท.21) ที่ขยับขึ้นมาอย่างก้าวกระโดด เป็นรอง เสธ.ทร.

และรู้กันดีว่าเป็นน้องรักที่บิ๊กลือให้ความไว้วางใจมาก จึงให้เป็นผู้อำนวยการจัดหายุทโธปกรณ์ทหารเรือ แถมเคยเป็น ผช.ทูตทหาร ฝรั่งเศส และมีความสามารถด้านภาษาต่างประเทศ และมีอายุราชการถึงปี 2565 สามารถเป็น ผบ.ทร.ต่อจากบิ๊กช่อ บิ๊กอุ้ย หรือบิ๊กแก๋ง ได้เลย

แต่ก็ยังมีบิ๊กหน่อย พล.ร.ท.ภราดร พวงแก้ว (ตท.21) เจ้ากรมยุทธการทหารเรือ ก็ขึ้นมาเป็นรอง เสธ.ทร. เป็นแคนดิเดตอีกคน เพราะโตมาในสายยุทธการ เคยเป็นผู้การเรือหลวงจักรีนฤเบศร และจะเกษียณ 2565

ไม่แค่นั้น จากโผนี้มีการมองข้ามช็อต เพราะมีนายทหารดาวเด่นของแต่ละรุ่น ขยับเข้าไลน์มาจ่อรอโต

ทั้ง “เสธ.จอร์ช” พล.ร.ต.เชิงชาย ชุมเชิงแพทย์ (ตท.22) รองเจ้ากรมเทคโนโลยีสารสนเทศ ขยับเข้าไลน์ นั่ง ผบ.ทัพเรือภาคที่ 3 ที่มีอายุราชการถึงกันยายน 2566

และ ตท.23 อย่าง พล.ร.ต.เถลิงศักดิ์ ศิริสวัสดิ์ ที่ขึ้นมาเป็นเจ้ากรมยุทธการ ทร. และผู้การโอ๋ พล.ร.ต.ชลธิศ นาวานุเคราะห์ ผอ.สำนักนโยบายและแผน ยก.ทร. ที่ขึ้นมาเป็นรองเจ้ากรมข่าวทหารเรือ

รวมทั้ง “ผู้การวิน” (ตท.25) ผบ.กองเรือลำน้ำ กองเรือยุทธการ ที่ขยับเข้าไลน์เป็น ผบ.ฐานทัพเรือกรุงเทพฯ

เรียกได้ว่า พล.ร.อ.ลือชัยก็มองการณ์ไกล และวางหมากไว้หลายชั้น โดยหวังให้แคนดิเดตทำงานแข่งกัน แม้ว่าจะมี ผบ.ทร.ในใจไว้แล้วก็ตาม

และถือเป็นการจัดโผทหารที่เรียบร้อยตามที่ ผบ.เหล่าทัพเสนอมา

ถือเป็นการซื้อใจ และวัดใจ ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ กับ ผบ.เหล่าทัพได้ไม่น้อย โดยเฉพาะ พล.อ.อภิรัชต์ที่มีเพาเวอร์พิเศษหนุนเนื่อง ทั้งเพื่อน พี่ น้องที่ไว้ใจ ได้เติบโต ไม่ว่าเหล่าทัพใด แม้แต่ในการโยกย้ายตำรวจด้วยซ้ำไป

            แต่เรื่องการจัดทัพ จัดวางตัวแม่ทัพนายกองเช่นนี้ ในยุคนี้ ไม่ว่าเหล่าทัพไหน เป็นหนังม้วนยาว… ที่ต้องติดตามตอนต่อไป