นับหนึ่ง “11 อรหันต์” แก้ร่าง รธน. ปรับพระราชอำนาจตามข้อสังเกต

AFP / LILLIAN SUWANRUMPHA

หลังจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ใช้เวลา 2 ชั่วโมงกับอีก 40 นาทีในวันศุกร์ 13 มกราคมที่ผ่านมา ผ่านฉลุย 3 วาระรวด ด้วยมติเป็นเอกฉันท์ 228 เสียง แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 เพื่อนำร่องเปิดทางไปสู่การแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ “มีชัย ฤชุพันธุ์” ที่ผ่านขั้นตอนการทำประชามติ

โดยเฉพาะในเรื่องพระราชอำนาจ

ไม่นาน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พุทธศักราช 2560 ก็โปรดเกล้าฯ ลงมามีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ

17 มกราคม “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ได้ลงนามเพื่อทูลเกล้าฯ ขอรับพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติที่ได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ไปเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2559 กลับคืนมาทันที และต้องนำกลับไปดำเนินการแก้ไขตามข้อสังเกตพระราชทาน รวมไปถึงประเด็นที่เกี่ยวเนื่องให้เสร็จภายใน 30 วันหลังได้รับพระราชทานร่างคืนมา ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 39 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมทุกประการ

ทั้งขั้นตอน วิธีการ รวมไปถึงระยะเวลาในการดำเนินการด้วย

 

20 มกราคม รัฐบาลได้รับพระราชทานคืนร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ได้ทูลเกล้าฯ เพื่อขอรับพระราชทานร่างคืนมา

จึงเท่ากับว่า กระบวนการเพื่อแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ จะเริ่มนับ 1 ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา และจะครบกำหนดตามที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมกำหนดในวันที่ 18-19 กุมภาพันธ์นี้

และอย่างที่ทราบกันว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ในฐานะผู้มีอำนาจหน้าที่ในกระบวนการดังกล่าว ได้มอบหมายให้คณะกรรมการกฤษฎีกาชุดพิเศษ 11 คน

เป็น “11 อรหันต์” ที่ถูกตั้งขึ้นมาทำหน้าที่ในการดำเนินการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติให้เป็นไปตามข้อสังเกตโดยเฉพาะ มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นั่งหัวโต๊ะเป็นประธานการประชุม

ขณะที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย และนายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ทำหน้าที่รองประธานคณะกรรมการ

โดยมี นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ นายวีระพล ตั้งสุวรรณ ประธานศาลฎีกา นายอภิชาต สุขัคคานนท์ รองประธานกรธ. นายอัชพร จารุจินดา นายนรชิต สิงหเสนี กรธ. นายอำพน กิตติอำพน อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี นายวีระพล ตั้งสุวรรณ ประธานศาลฎีกา และ ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร อัยการสูงสุด ร่วมเป็นกรรมการ

ทั้งนี้ ภายหลังจากที่สำนักราชเลขาธิการได้แจ้งข้อสังเกตลงมา คณะกรรมการกฤษฎีกาชุดพิเศษ ก็ได้เริ่มทำงาน และเป็นการทำงานโดยเลือกใช้ห้องประชุมปรีดี พนมยงค์ บนชั้น 3 อาคารสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ถนนพระอาทิตย์ เป็นสถานที่ในการประชุม

 

แม้ว่าจะไม่สามารถเปิดเผยข้อสังเกตที่รัฐบาลได้รับมาจากสำนักราชเลขาธิการได้

แต่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ชี้แจงความคืบหน้าแต่เพียงผู้เดียว ก็ยืนยันว่า ประเด็นเรื่องพรรคการเมือง การเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. รวมทั้งการยืดอายุ การย่นอายุใดๆ นั้น จะไม่มีการแก้ไขอย่างแน่นอน

แต่เรื่องที่จะมีการแก้ไขอย่างแน่นอน ตามคำสัมภาษณ์ที่นายวิษณุ ระบุไว้ นั่นคือ “เรื่องการตั้งผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน” อันเป็นสาระสำคัญของการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ที่ได้มีการเพิ่มเติมความเป็นวรรคสามของมาตรา 2 เข้ามาว่า “ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ด้วยเหตุใดก็ตาม จะทรงแต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หรือไม่ก็ได้ และให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้ง และเมื่อกรณีเป็นไปตามมาตรานี้แล้ว มิให้นำความในมาตรา 18 มาตรา 19 และมาตรา 20 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาใช้บังคับ”

และจากคำให้สัมภาษณ์ของ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ก็เป็นที่ชัดเจนว่า มาตรา 16-18 ตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติจะต้องถูก “11 อรหันต์” รื้อใหม่อย่างแน่นอน

เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ เขียนบังคับเอาไว้ว่า จะต้องมีการตั้งผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน โดยในกรณีที่ไม่ได้ตั้ง “ประธานองคมนตรี” จะเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินโดยอัตโนมัติ

ดังนั้น เมื่อมีการแก้ไขเพิ่มเติมในรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ว่า จะตั้งหรือไม่ตั้งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินก็ได้ บทบัญญัติที่กำหนดให้ประธานองคมนตรี เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินโดยอัตโนมัตินั้น ก็จำเป็นต้องมีการแก้ไขใหม่

นอกจากนี้ ยังมีมาตรา 5 และมาตรา 182 ที่นายวิษณุเคยให้สัมภาษณ์เมื่อถูกถามว่าจะถูกแก้ไขหรือไม่ โดยระบุว่า “ในหลักการเป็นเช่นนั้น” แต่ภายหลังเมื่อถูกถามย้ำอีกครั้ง กลับปฏิเสธ

“ผมไม่เคยบอก ส่วนจะมีประเด็นมาตรา 5 หรือไม่นั้น อย่าเพิ่งพูดถึงเลย คณะกรรมการชุดนี้จะทำงานด้วยความเข้าใจและจะไม่มีการโหวตเรื่องใดๆ ทั้งสิ้น เพื่อให้เกิดความเหมาะสมตามเจตนารมณ์ของสำนักราชเลขาธิการ”

แม้ว่านายวิษณุจะปฏิเสธ โดยขออย่าเพิ่งไปสรุปว่า มาตราใดจะถูกแก้ไขบ้าง แต่หลายฝ่ายก็มองตรงกันว่า ทั้งมาตรา 5 และมาตรา 182 นั้น น่าจะเป็นบทบัญญัติแรกๆ ที่ส่อถูกยกเครื่องใหม่มากที่สุด

และอีกประเด็นที่ลือกันออกมาเป็นระยะๆ จากบรรดา “วงใน” ของคนในแม่น้ำ 5 สาย แต่ยังไร้การคอนเฟิร์มออกจาก “อรหันต์” ผู้มีอำนาจแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ

นั่นคือ อำนาจของหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 ที่เป็นอำนาจตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ที่ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. และคณะ เขียนรับรองเอาไว้ในบทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามตินั้น

ก็น่าเชื่อว่าจะถูกรื้อยกเครื่องใหม่เช่นเดียวกัน