“อรรถพล อนันตวรสกุล” การศึกษาไทย (เหลื่อม) ล้ำหน้า โจทย์ปัญหา-ความท้าทายของทุกคน

โจทย์ใหญ่ที่สังคมไทยเผชิญในหลายทศวรรษ ไม่เพียงแต่ปฏิรูปการเมือง เศรษฐกิจและสังคมที่มักถูกเอ่ยมาหลายครั้ง

การศึกษาไทยก็เป็นอีกความท้าทายที่ต้องปฏิรูปด้วยและนานพอกัน แม้สภาพรอบตัวจะเปลี่ยนไป

แต่เรื่องของการศึกษาไทยก็มักถูกพูดถึงในเชิงกังวลว่า ทำไมไม่ไปไหน เหตุใดถึงไม่สามารถทัดเทียมกับประเทศอันดับต้นได้

ทุกคำถามจึงย้อนกลับไปที่รัฐบาลในฐานะผู้ถืออำนาจกำหนดว่าการศึกษาจะไปทิศทางไหน และปฏิเสธไม่ได้ว่า การปฏิรูปการศึกษานั้นมีความเชื่อมโยงกับการปฏิรูปมิติอื่น พร้อมส่งผลต่อกันและกันด้วย

หากสังคม เศรษฐกิจหรือการเมืองเหลื่อมล้ำ แบ่งชั้น แยกคนเป็นเรา-คนอื่น

การศึกษาย่อมต้องเผชิญสภาวะเช่นนั้นด้วย

 

นโยบายการศึกษา รัฐบาลประยุทธ์ 2

ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล นักวิชาการเครือข่าย Equal Stand และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงทิศทางการศึกษาไทยภายใต้รัฐบาลปัจจุบันว่า ประกาศล่าสุดของนโยบายการศึกษา สะท้อนสิ่งที่เดิมๆ เวลาทำนโยบายคือ การระบุเป็นเรื่องย่อยหลายประเด็นเรียงกัน ถ้าจะทำให้สังคมเข้าใจง่าย ควรต้องนำเสนอเป็นเรื่องหลักๆ เช่น ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มจำนวนชั้นเรียน ยกระดับคุณภาพครู แล้วค่อยแตกประเด็น แบบนี้จะทำให้สื่อสารชัดเจน

แต่ที่เห็นล่าสุดเป็นนโยบายรายข้อเป็นสิบๆ เรื่อง ทั้งที่มีหลายเรื่องขมวดเป็นเรื่องเดียวกันได้ เช่น ปรับปรุงหลักสูตรให้ทันสมัย หรือประกาศนโยบายตอนนี้ เช่น การศึกษา STEM โค้ดดิ้ง ซึ่งอยู่ในเรื่องปรับปรุงหลักสูตร แต่เป็น 2 เรื่องสำคัญตอนนี้ แบบนี้สังคมถึงจะเข้าใจ

“ผมคิดว่าเป็นโจทย์ที่สังคมไทยต้องช่วยกันแก้ไขปัญหา ไม่ได้มีอะไรเกินที่เราจะเข้าใจว่าเป็นเรื่องใหม่ แต่บางเรื่องถูกลำดับความสำคัญไว้ต้นๆ ขึ้นมา เช่น หลักสูตรโค้ดดิ้ง ทั้งๆ ที่เรื่องนั้นก็ไม่ใช่ของใหม่ มีมานานแล้วตั้งแต่ปี 2561 แต่แรงส่งอาจไม่พอ การที่รัฐมนตรีผลักดันอาจทำให้คนสนใจมากขึ้น แต่ต้องระวังเพราะยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโค้ดดิ้งกับการมีฮาร์ดแวร์ในโรงเรียน จริงๆ โค้ดดิ้งคือการฝึกตรรกะเหตุผล แต่เป็นเชิงคำนวณคอมพิวเตอร์ ซึ่งพอถึงจุดหนึ่ง การมีฮาร์ดแวร์ก็เป็นเรื่องจำเป็น ซึ่งกระทรวงก็เร่งไม่ได้ เพราะโรงเรียนทั่วประเทศ 30,000 กว่าแห่ง แต่มี 300 โรงเรียนไฟฟ้าไม่เข้า จะทำยังไงถ้าเด็กถึงวัยที่ต้องจับคอมพิวเตอร์แล้วแต่ไม่มีไฟฟ้าใช้”

ผศ.อรรถพลกล่าว

 

ไอเดียโรงเรียนอีลิต
ยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก
เหลื่อมล้ำโอกาสเข้าถึง?

ผศ.อรรถพลกล่าวถึงข้อเสนอโรงเรียนอีลิตว่า จริงๆ ยังมีความเข้าใจผิดกับคำที่ใช้เรียก ถ้าจะบอกว่าพัฒนาโรงเรียนเฉพาะทางขึ้นมาเน้นวิทย์-คณิต เรามีอยู่แล้ว เช่น โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ โรงเรียนจุฬาภรณ์ 12 แห่ง หรือเอกชนเต็มรูปแบบอย่างกำเนิดวิทย์

สิ่งที่รัฐมนตรีศึกษาฯ มีไอเดียขึ้นมา ชุดความคิดยังไม่ตกผลึก ไม่รู้ว่าสิ่งที่รัฐมนตรีอยากบอกคืออะไร แต่ถูกถ่ายทอดออกสู่สังคมในคำว่า “โรงเรียนอีลิต” ซึ่งมีความหมายเชิงลบ หมายถึงโรงเรียนของชนชั้นนำ จะเป็นการแบ่งแยกในสังคมหรือไม่

“การรีบสื่อสารต่อสังคม เหมือนโยนหินถามทางแต่ในจังหวะที่ผิด ในสถานการณ์ที่ ศธ.หรือ กพฐ. (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน) กำลังมีความคิดยุบควบรวมโรงเรียน ซึ่งมากกว่า 20,000 แห่ง อยู่ในภาวะเปราะบางและสุ่มเสี่ยงถูกยุบรวม เป็นเรื่องถูกต้องหรือไม่ ทั้งที่แผนพัฒนาชาติขีดเส้นชัดเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา” ผศ.อรรถพลกล่าว

ผศ.อรรถพลได้ยกกรณีการตั้งโรงเรียนเฉพาะในต่างประเทศว่า อย่างในเกาหลีใต้ที่มีการตั้งโรงเรียนผลิตผู้นำ จากที่มีนายบัน คี มูน เป็นถึงเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ เกาหลีใต้อยากพัฒนาผู้นำโลกขึ้นมา ก็จะคัดเด็กจากหลากหลายกลุ่มเพื่อสร้างกลุ่มคนที่เป็นผู้นำระดับโลกได้ แต่จะสอนให้สมดุลทั้งความเป็นผู้นำโลกและเป็นพลเมืองของประเทศด้วย

จึงเป็นโจทย์ที่รัฐมนตรีต้องคิดให้ตกผลึกก่อน ทำไมสังคมไทยจำเป็นต้องมี ถ้ามีจะผลิตซ้ำการแบ่งเขา-เราหรือไม่?

ส่วนในเรื่องการยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็กนั้น

ผศ.อรรถพลกล่าวว่า ส่วนหนึ่งเราเข้าใจมาตลอดว่า เกิดจากอัตราการเกิดต่ำในพื้นที่ต่างจังหวัด แต่ถ้าเอาข้อมูลปัจจุบันมาดูจริงๆ นั้น จริงส่วนหนึ่งในเรื่องจำนวนเกิดลดลง อีกส่วนคือเกิดจากยอมให้โรงเรียนใหญ่ระดับอำเภอเติบโตขึ้น และสร้างค่านิยมผิดๆ เรื่องส่งเข้าโรงเรียนดังในเขตเมือง

จึงส่งผลในการดูดเด็กจากต่างพื้นที่เข้ามา และการจัดสรรงบประมาณให้กับโรงเรียน คิดตามรายหัวนักเรียนที่ทำให้โรงเรียนอยู่ได้ ทำให้เกิดการแย่งผู้เรียนกัน เพราะรัฐปล่อยให้มีการแข่งขันระหว่างโรงเรียน จนถึงตลาดเชิงการศึกษาขึ้น

“พออัตราการเกิดในเมืองลดลง ก็ไปดูดเด็กจากต่างอำเภอที่มีศักยภาพเข้ามา ดึงให้เข้าใกล้เมืองมากขึ้นเป็นทอดๆ โรงเรียนในชุมชนก็มีแนวโน้มจำนวนนักเรียนลดลง รัฐไม่ได้คุมกำเนิดความใหญ่ของโรงเรียน สัดส่วนครูกับนักเรียนที่ควรเป็นก็เกิน หรือชั้นเรียนหนึ่งมีหลายห้อง คำถามคือ เราจะแก้ไขปัญหานี้ยังไง?” ผศ.อรรถพลกล่าว

และว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความล้มเหลวของการจัดการการศึกษา ผลที่ตามมาคือโรงเรียนถูกยุบและกระทบคนในชุมชน ยิ่งชุมชนเหลือแค่เด็กกับคนชรา ขณะที่พ่อ-แม่หรือคนวัยทำงานไปทำงานในเมือง การเดินทางไปโรงเรียนในเมืองก็มีค่าใช้จ่ายที่กลายเป็นภาระ ยิ่งเด็กอยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร ไม่ได้มีขนส่งที่สะดวกเหมือนเมืองใหญ่หรือเมืองหลวง ทำให้เดินทางลำบาก เช่น นั่งเรือไป หรือนั่งสองแถว 7 กิโลเมตร ก็ห่วงเรื่องความปลอดภัย ใครก็ไม่สบายใจ พ่อ-แม่ยิ่งทำงานหนักเพื่อหาเงินส่งให้ลูก แม้ชุมชนมีความพยายามฟื้นฟูกลับคืนในหลายวิธี แต่ส่วนกลางก็กังวล ทำให้มีการขัดกันระหว่างชุมชนกับส่วนกลาง

ทั้งนี้ ผศ.อรรถพลให้แนวทาง 3 ข้อ คือ

1. ถ้าท้องถิ่นไม่พร้อม โรงเรียนยังอยู่ในสังกัดได้ แต่ต้องลดเพดานระเบียบให้ท้องถิ่นเข้าไปมีส่วนร่วมได้มากขึ้น เช่น สมทบเงินอาหารกลางวัน สนับสนุนทรัพยากรเรียนรู้ เงินช่วยเหลือจ้างครูกรณีมีครูไม่ครบชั้น เป็นต้น

2. ถ้าโรงเรียนพร้อมอยู่กับท้องถิ่น ถ้าพื้นที่เข้มแข็งและเข้าจัดการการศึกษา พวกเขาทำได้ดี แม้ส่วนใหญ่เป็นท้องถิ่นระดับเทศบาลเมืองซึ่งผู้นำมีความตื่นตัว เช่น กระบี่ นครราชสีมา หรือเชียงราย แต่ อบต.หรือเทศบาลที่ไม่พร้อม จะทำยังไงให้พวกเขาพร้อม?

3. คณะกรรมการศึกษาจังหวัด ซึ่งเป็นมรดกยุค คสช. แม้ยังไม่ชัดเจนแต่ก็เป็นแพลตฟอร์มสำคัญที่ต้องไปขบคิด ระดับจังหวัดคิดยังไง

ท้องถิ่นไม่รู้ทำยังไงก็ต้องไปกับส่วนกลาง แต่ส่วนกลางก็ต้องยืดหยุ่นให้กับท้องถิ่น ทำยังไงให้มีการขับเคลื่อนสังคมขึ้น เสริมให้ท้องถิ่นเข้มแข็ง

 

งบฯ เยอะแต่ใช้ไม่เป็น

ผศ.อรรถพลกล่าวถึงงบประมาณด้านการศึกษาของประเทศที่ได้มากที่สุดแต่เหตุใดการศึกษากลับไม่มีการพัฒนาให้ดีขึ้นว่า จริงๆ เรามีงบประมาณมาก แต่กลับใช้โดยไม่ลำดับความสำคัญ ใช้ไม่ถูกเป้าหมายหรือเข้าใจผิด เช่น เราต้องเพิ่มเงินเดือนครูเพื่อมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ซึ่งเหมาะกับระยะสั้น และหลายประเทศลงเงินเดือนสูงกับครูบรรจุใหม่เพื่อให้มั่นคงและทุ่มกับงานได้เต็มที่ และเพดานเพิ่มตามภาระงานเชิงประจักษ์ แต่บ้านเราเงินเดือนสูงลงกับครูที่อายุมาก ซึ่งต้องมีมาตรการอื่นเพื่อเพิ่มแรงจูงใจ และเราใช้งบฯ กับสารพัดโครงการปลีกย่อย แต่ไม่ตรงเป้าหมาย จากวาระที่ผลักดันโดยรัฐบาล อย่างโครงการสุจริต โรงเรียนวิถีพุทธ แล้วเงินหว่านไปตามโรงเรียนเครือข่าย เงินจะถูกใช้กับกิจกรรมย่อย แต่ไม่ได้ส่งผลต่อผู้เรียนโดยตรง เกิดการเปลี่ยนแปลงน้อย

ถ้ารัฐบาลไม่กำหนดยุทธศาสตร์ชัดๆ ยังปล่อยให้มีหลายโครงการอยู่ แทนที่โรงเรียนจะไปข้างหน้า ก็ต้องหาเงิน ทำงานตอบโจทย์โครงการด้วย ครูถูกดึงไปทำโครงการแทนที่จะสนใจห้องเรียนตัวเอง แล้วเราชอบวัดผลกับสิ่งจับต้องได้ เช่น ผลสอบโอเน็ตทั้งที่มีข้อจำกัด คะแนนโอเน็ตระหว่างเด็กในเมืองกับชนบทก็ต่างกัน แล้วใช้ข้อสอบมาตรฐานเดียวกับทั้งประเทศก็มีอคติอยู่แล้ว ไม่นับใช้ภาษาไทยเป็นหลัก นักเรียนที่ใช้ภาษาที่สองก็เสียเปรียบ ถ้าใช้จัดอันดับโรงเรียน ประเมินความดีความชอบผู้บริหาร แล้วมากดดันครู

โรงเรียนก็พัง!

 

การศึกษาที่มากกว่าแค่ “ไปโรงเรียน”

เมื่อถามถึงแหล่งเรียนรู้นอกเหนือจากโรงเรียนซึ่งในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลมีมากและหลากหลาย ตรงกันข้ามกลับมีน้อยในเมืองใหญ่ต่างจังหวัดจนถึงแทบไม่มีเลยในพื้นที่ชนบท ผศ.อรรถพล มองสภาวะความไม่เท่าเทียมนี้ว่า อยู่ที่นิยามการศึกษาของไทยที่ถูกมองแค่การไปโรงเรียนกับไปมหาวิทยาลัย ทั้งๆที่การศึกษาคือการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตของคน แต่เรากลับไปที่การเรียนแบบเป็นทางการ ในขณะที่โลกยุคใหม่ การเรียนรู้ไม่ได้เกิดขึ้นในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย มีการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นด้วยตัวเอง แต่อย่างหลังจะยากเพราะแต่ละครอบครัวมีความพร้อมไม่เท่ากัน ถ้าได้อยู่กับพ่อแม่ที่สนใจพาลูกไปพิพิธภัณฑ์ สวนสัตว์ ผู้ปกครองให้เวลาพาไป มีทุนทรัพย์ให้ลูกเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ แต่ประเทศไทยกลับมีโครงสร้างที่ประชากรไม่ได้มีความพร้อมเท่ากันหมด ชนบทเต็มไปด้วยคนแก่และเด็ก คนแก่มีหน้าที่ในไร่นา ถ้าท้องถิ่นไม่เข้าจัดการเรียนรู้หรือรัฐไม่สนับสนุนส่งเสริมพวกเขา ทำให้ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนแข็งแรงขึ้น อบต.หรือเทศบาลไม่ทุ่มเทในการทำสนามกีฬาในพื้นที่ตัวเอง เด็กก็ไม่มีกิจกรรมที่จะไปเรียนรู้ ก็ไปอยู่ตามร้านเกมส์หรือก้มหน้าเล่นมือถือ แล้วเราก็ชอบพูดว่าเด็กติดเกมส์ เพราะไม่มีกิจกรรมเชิงบวกให้พวกเขาทำ ไม่มีพื้นที่สร้างสรรค์ที่ส่งเสริมการทำงานของพวกเขา

ข้อที่พึงระวังสำหรับเด็กในชนบทคือ พวกเขามีภาระต้องช่วยเหลือครอบครัว มีงานต้องช่วยที่บ้าน ถ้าบ้านส่งเงินมาให้อย่างเดียวก็เป็นผลลบเหมือนกัน เด็กจะถูกเอาใจ มีเวลาว่างมาก แล้วไปรวมกลุ่มตั้งแก๊งค์กัน นี่จะกลายเป็นโดมิโนล้มเมื่อคุณนิยามการศึกษาผิด เมื่อคุณนิยามการศึกษาคือไปโรงเรียนเท่านั้น ทั้งที่จริง การศึกษาคือการส่งเสริมการเรียนรู้ของคน ทั้งแบบเป็นทางการ และการเรียนรู้นอกห้องเรียน ที่สำคัญคือ การสร้างความเป็นเจ้าของในการจัดการศึกษาร่วมกัน

“เราถูกทำให้มองว่าการศึกษาเป็นเรื่องการจัดการของรัฐ ที่จริงนั้นไม่ใช่ ทุกคนต่างเกี่ยวข้อง ถ้าคุณเป็นเจ้าของสถานประกอบการ โรงเรียนยอมส่งนักเรียนมัธยมปลายมาฝึกงานช่าง ก็ถือว่ามีส่วนร่วมในการศึกษาแล้ว แต่ใครจะทำให้เห็นข้อต่อตรงนี้ เพราะฉะนั้น การมองระดับพื้นที่จึงมีความสำคัญ การส่งเสริมให้นักการสื่อสารนิเทศ นักจัดการการศึกษาในพื้นที่ ทำหน้าที่เชื่อมต่อซึ่งสำคัญ การส่งเสริมมหาวิทยาลัยในด้านครุศาสตร์-เศรษฐศาสตร์ ให้ไปมีส่วนร่วมในฐานะผู้เชื่อมร้อย แต่ที่ผ่านมาเราต่างคนต่างอยู่ กระทรวงดูแลโรงเรียนไป มหาวิทยาลัยก็อยู่ภายใต้ สกอ.(สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา) อบต.ก็อยู่กับมหาดไทยไป เลยขาดการเชื่อมต่อองคาพยพท่ี่เก่ี่ยวข้องกัน ทำให้งานหลายอย่างไม่โต เช่น ทำไมบางจังหวัดมีทีเคพาร์คได้ เพราะความมุ่งมั่นของผู้บริหารท้องถิ่น แต่ทำไมบางพื้นที่ถึงมีไม่ได้ เพราะยังไม่มีเชื้อให้ทุกคนเห็นความสำคัญของการศึกษา” ผศ.อรรถพล กล่าวและว่า

มีงานวิจัยของนักวิชาการเศรษฐศาสตร์ นำเอาผลคะแนน PISA มาเทียบ พบว่า มีนักเรียนต่างจังหวัดที่มีศักยภาพ แต่พออยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด มาเทียบกับนักเรียนในเมืองหลวงที่ศักยภาพใกล้เคียงกัน นักเรียนในเมืองหลวงมีโอกาสไปต่อมากกว่าเพราะมีแหล่งเรียนรู้ให้เข้าถึงมากกว่า เรียนพิเศษ การเข้าถึงอินเตอร์เน็ต มีเวลาว่างไปเรียนรู้

แต่เด็กเก่งในต่างจังหวัดมีภาระต้องช่วยพ่อแม่ เวลาไปทำกิจกรรมพิเศษก็ไม่ค่อยมี

 

คุณครู LGBT : ไม่ควรปฏิเสธหรือกีดกัน ผลิตผลจากความหลากวัฒนธรรม 

ผศ.อรรถพล กล่าวถึงกรณีคุณครูที่มีลักษณะของผู้มีความหลากหลายทางเพศ แต่กลับตกเป็นข่าวในการกีดกันไม่ให้เป็นครูว่า การศึกษาเกิดขึ้นท่ามกลางความหลากหลายทางวัฒนธรรมของสังคม ถ้าสังคมยังมีการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่ม LGBT ก็สะท้อนกลับสู่การเลือกปฏิบัติในการศึกษาด้วยเช่นกัน แต่ตัวการศึกษาเองต้องมีส่วนในการเปลี่ยนวัฒนธรรม เช่น ลดอคติต่อกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ สิ่งที่เกิดขึ้นในเรื่องการปิดกั้นครู LGBT คือจุดดำบนผ้า

ถ้าถามว่าในระบบการศึกษามีครูที่เป็นกลุ่ม LGBT ไหม คำตอบคือ มี หลายโรงเรียนมีครูที่แปลงเพศด้วยซ้ำ แต่ส่วนใหญ่อาจไม่ได้รับรู้หรือพูดถึง หรือโรงเรียนจำนวนหนึ่งที่มีผู้บริหารหรือครูที่มีอคติต่อ LGBT ไหม คำตอบคือ มีด้วย ถือได้เหมือนกับภาพของสังคมไทย ที่เข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่าน จากสังคมที่ปิดกั้นมากก็ค่อยยอมเปิดมากขึ้น ที่นี้สเปกตรัมในการเปิดรับไม่เท่ากัน แต่เป็นเรื่องที่ผู้ที่ถูกจำกัดสิทธิต้องส่งเสียง องค์กรที่จำกัดต้องถูกตั้งคำถามว่าทำไมยังจำกัดสิทธินี้อยู่ เพราะว่า LGBT ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพครู

LGBT คือเพศสภาพที่ “แสดงออกและปฏิบัติ” แต่การเป็นครูคือ “บทบาทและหน้าที่”

ครูที่เป็น LGBT ก็เป็นครูที่ดี นักเรียนไม่ได้มีปัญหา แต่คนที่มีปัญหาคือผู้ใหญ่ เด็กแยกออกว่าเขาเป็นครู เพียงแค่เป็น LGBT แต่งตัวเหมือนผู้หญิงปกติ พูดจาน้ำเสียงอ่อนหวาน หรือครูที่เป็นผู้ชายที่เสียงขึงขัง แต่อคติไปอยู่กับผู้ใหญ่หรือผู้มีอำนาจตัดสินใจมากกว่า เป็นเรื่องที่สังคมต้องช่วยกันส่งเสียง ในยุคที่จำกัดสิทธิเรื่องแบบนี้ไม่ได้ ควรเคารพสิทธิของเขา และที่สำคัญ เราไม่มีการเลือกปฏิบัติกับ LGBT ที่เรียนครูด้วย โดยพื้นฐาน ใครที่สอบติดเข้ามา จะต้องไม่ถูกเลือกปฏิบัติเพียงเพราะเพศสภาพ

มหาวิทยาลัยไม่สามารถปฏิเสธได้ แต่เมื่อรับจะปรับให้อยู่ร่วมกับวัฒนธรรมยังไงที่เดินไปด้วยกันได้

 

พัฒนาการผลิตครูในการศึกษาไทย คุณภาพอยู่ตรงไหน?

ผศ.อรรถพล กล่าวว่า ในเรื่องนี้จะต้องแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะการเตรียมครู และการพัฒนาครู 2 คำนี้ อยู่ภายใต้ชื่อครุศาสตร์ ถ้าพูดถึงเตรียมครู คือการเตรียมครูในมหาวิทยาลัย หรือฝึกหัดครู ซึ่งที่ผ่านมาทำเป็นหลักสูตร ซึ่งที่ทำมาโดยตลอดคือ 5 ปี อันเป็นผลมาจาก พรบ.การศึกษา ปี 2542 ที่ต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตครูให้มีศักยภาพ มีเวลาในการฝึกในห้องเรียน โดยฝึกสอนเป็นเวลา 1 ปี แต่เมื่อไม่นานมานี้ ได้เกิดความคลางแคลงว่า การเรียนระบบ 5 ปี กับ 4 ปี แตกต่างกันแค่ไหน และมีความพยายามย้อนกลับไปใช้ระบบ 4 ปี ด้วยเหตุผลที่ว่า ระยะเวลาที่นานเกินไป หรือจบวุฒิปริญญาตรีเหมือนกัน หรือเหตุผลเรื่องเสียเปรียบในรายได้ ซึ่งชวนตั้งคำถามหมด

แต่เอาเข้าจริงแล้ว เราไม่สามารถเปรียบเทียบได้ ครูรุ่นสุดท้ายที่จบจากระบบ 4 ปี คือปี 2545-2546 ส่วนระบบหลังคือครูรุ่นหนุ่มสาวในเวลานี้และโตในบริบทสังคมคนละแบบ ถ้าจะเอามาเปรียบเทียบว่าไม่แตกต่างกัน ต้องมีงานวิจัยรองรับ แต่การดีเบตในสังคม ทุกคนถามหาเหตุผลว่าคืออะไร แต่ก็มีการขับเคลื่อนแล้ว เพราะมีเรื่องการเมืองเป็นแรงส่งว่าต้องกลับไปเป็น 4 ปี แต่ปัญหาที่ตามมาคือ พอเป็นระบบ 4 ปี แล้ว เราจะผลิตครูได้อย่างมั่นใจหรือเปล่าว่า ยังมีคุณภาพอยู่ ในเมื่อเวลาการทำหลักสูตรครูนั้นจำกัดมาก แล้วใช้เวลา 6 เดือนในการทำหลักสูตรใหม่ ตอนนี้ก็เริ่มเรียนในปี 1 กันแล้ว ซึ่งต้องติดตามกันต่อไปว่า หลักสูตรฉบับใหม่ที่ทำนั้น มีผลต่อการพัฒนาครูอย่างไร แต่สิ่งที่มีผลแน่ คือ ใบประกอบวิชาชีพครู เพราะระบบเดิม 5 ปี ได้ใบประกอบวิชาชีพโดยอัตโนมัติ แต่พอมา 4 ปี นั้นยังไม่ได้ ต้องไปสอบเพื่อขอใบประกอบวิชาชีพ กลายเป็นว่าภาระตกกับเด็กที่เรียนครู พอจบ 4 ปี ภาษาอังกฤษได้เท่าไหร่ ระหว่างเรียนเป็นยังไง ครบตามเกณฑ์ไหม แล้วก็ยอมให้คนไม่จบครุศาสตร์มาสอบได้ด้วย แค่ต้องมีประสบการณ์สอนในชั้นเรียน นี่เป็นการกลับไปสู่ระบบเดิม ซึ่งในปี 2547 ถกเถียงเรื่องนี้หนักมากจนนำไปสู่การทำให้ครูมีใบอนุญาตขึ้น ผลิตครูที่ต้องมีเฉพาะหลักสูตรครูที่มีในมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่อาจเปิดช่องเรียนประกาศนียบัตรบัณฑิตได้ในกรณีไม่จบครุศาสตร์

สำหรับผมที่ผ่านมา การฝึกหัดครูใหม่ ปัญหาคือ การไม่จริงจังการกับการผลิต ถ้าต้องการผลิตครูที่เก่งในการอยู่กับเด็ก จะต้องมีชั่วโมงฝึกในห้องเรียนระดับเข้มข้น แต่มหาวิทยาลัยฝึกหัดครูแทบไม่ต่างจากโรงเรียนคืออยู่ได้ด้วยเงินรายหัวของผู้เรียน นั้นทำให้ครุศาสตร์รับบุคคลเข้าเรียนจำนวนมาก แต่พอผู้เรียนไปฝึกงานกลับไม่เอาจริงเอาจัง ไปติดตามดูแลพวกเขา ทำให้เด็กถูกทิ้งไว้ที่โรงเรียน และโรงเรียนในฐานะสถาบันพัฒนาครูก็ไม่ได้รับรู้ปัญหานี้ ลองนึกภาพถ้าเป็นแพทย์ มีการดูแลอย่างเข้มข้น พอปี 2-3 ก็เดินจากอาจารย์แพทย์ตามวอร์ด ปี 6 ก็ต้องอยู่โรงพยาบาลเต็มเวลาโดยมีแพทย์รุ่นพี่ตามประกบ ไม่ปล่อยให้รักษาโดยไม่มีความรู้ การเตรียมครูของบางสถาบันกลับหละหลวม แต่เราไม่สามารถเอาปัญหามาเหมารวมได้ ตลอดหลายปีมานี้ มีความพยายามแก้ไขอยู่ เช่นคุมกำเนิดจำนวนผลิตครู จากปีๆหนึ่งทั้งประเทศผลิตออกมา 40,000 คน ลดลงเยอะเหลือ 30,000 คน มหาวิทยาลัยที่รับเป็นพันคน ก็จำกัดจำนวนโดยยึดตามสัดส่วนอาจารย์ประจำหลักสูตรกับนิสิต-นักศึกษา และยังกำหนดว่า วิชาหลักที่เป็นวิชาเล็ก ตอนละ 30 คน ถือว่าลดอย่างมหาศาล นั้นทำให้ลดจำนวนผู้เรียน ซึ่งพบจบจริงๆจำนวนอาจไม่ถึง

อย่างไรก็ดี นี่ยังเป็นการผลิตในระบบเปิด ต่างคนต่างผลิตออกมา ไม่ได้สนใจว่าตำแหน่งงานรองรับมีอยู่เท่าไหร่ หลายประเทศจะไม่ยอมให้การผลิตครูเป็นระบบเปิด เพราะเป็นความสูญเปล่า ถ้าผลิตเกินตำแหน่งรองรับ กลายเป็นที่เหลือตกงาน แต่ที่ผ่านมาเราปล่อยให้มหาวิทยาลัยอยู่ได้ด้วยการรับนักเรียน และเด็กในโรงเรียนฝึกหัดครูคือเด็กในท้องถิ่น การเรียนราชภัฏอาจประหยัดค่าใช้จ่าย ได้วุฒิเหมือนกัน หลายคนเลยคิดว่าเรียนก็สอบได้ใบอนุญาตเหมือนกัน เลยเป็นสิ่งที่เรียกว่า ไม่มีการรับผิดชอบ ถ้าเราผลิตนักเรียนเป็นครูออกมา 700 คน แต่สอบบรรจุไม่ได้เลย สถาบันมีปัญหาแล้ว แต่เราไม่มีระบบกำกับติดตามการผลิตที่มีคุณภาพ และเราไม่สามารถยกระดับคุณภาพด้วยการเปลี่ยนหลักสูตร

การเปลี่ยนจาก 5 ปี กลับไปเป็น 4 ปี ไม่ได้การันตีคุณภาพการเปลี่ยนแปลงในทันที ยิ่งชั่วโมงในการฝึกงานในห้องเรียนลดลงจาก 1 ปี เหลือเพียง 1 เทอม ชั่วโมงบินในการอยู่ในห้องเรียนน้อยลงอีก นั้นจะมีผลต่อประสบการณ์ภาคสนามแล้ว

 

ผศ.อรรถพลกล่าวว่า พอเข้าสู่ช่วงที่ 2 คือการเป็นครู เราก็สอบเข้าเป็นครูด้วยข้อสอบ ภาค ก. ภาค ข.แต่ไม่ได้วัดทักษะปฏิบัติเลย เอาเป็นว่าต่อให้ได้คะแนนสอบเป็นอันดับต้นๆ ไม่ได้ประกันว่าจะเป็นครูที่สอนเก่ง หลายประเทศที่เลือกครูเข้าสู่ระบบ ใช้วิธีสัมภาษณ์ ทดลองงานและติดตามผลแล้วค่อยยอมให้เข้าสู่่ระบบ ซึ่งตอนนี้เป็นโจทย์ใหม่ของสังคมไทย เพราะมีการคิดระบบการเข้ารับครูอีกแบบ

เมื่อบรรจุแล้ว ช่วง2-3 ปีแรก เป็นช่วงเปราะบางที่สุดในการเตรียมครู ต้องนึกว่าเป็นบัณฑิตจบใหม่เพิ่งเข้ามาทำงาน แล้วมาทำงานครูซึ่งอยู่กึ่งกลางระหว่างเด็กกับผู้ปกครอง พวกเขาต้องอยู่ทุกวัน อยู่กับผู้ปกครอง ผู้บริหาร ซึ่งต้องการการปรับตัว จึงต้องมีโปรแกรมเตรียมรับคนใหม่ที่เข้ามา แต่ตอนนี้ครูบรรจุใหม่เจอโรงเรียนอัดงาน และระบบติดตามไม่จริงจังในการพัฒนา แค่ทำพอเป็นพิธี 2-3 เดือน แล้วก็นำเสนอความก้าวหน้า หลายประเทศจะไม่ปล่อยไว้ และให้ความสำคัญกับโปรแกรมดังกล่าว

ถ้าทำให้ครูสามารถปรับตัวเร็วได้เท่าไหร่ ก็จะอยู่ในโรงเรียนต่อไปได้อย่างเข้มแข็งขึ้นเท่านั้น แต่เราละเลยจุดนี้ เราเพียงทำ Portfolio นำเสนอจากเดิมทำ 2 ปี 8 ครั้ง เหลือเพียง 2 ปี 6 ครั้ง แล้วพ้นวาระครูผู้ช่วยเป็นครูประจำการ ที่สำคัญ ชีวิตหลังจากนั้น ทำอะไร เรายึดเอาแรงจูงใจเพราะตอนนี้เรามีครูอายุมากเต็มระบบ เราคิดระบบครู คส.1-4 แต่พอเป็นครูรุ่นใหม่เข้ามา ปัญหาคือ ครูรุ่นใหม่ไม่ค่อยแอคทีฟ พวกเขาโตเร็วมาก โอเวอร์โหลดจึงตกอยู่กับการจ่ายเงินตำแหน่งครูรุ่นใหม่มากขึ้น แทบติดเพดานแล้วจะไม่ไปต่อ ทำให้ต้องเปลี่ยนระบบ ไม่อยู่ที่งานวิจัยแต่ประเมินจากงานเชิงประจักษ์ ซึ่งกำลังปรับอยู่และเปลี่ยนกำหนดยื่นใหม่เมื่อครบ 5 ปี ซึ่งเป็นโจทย์ที่วิ่งแก้ปัญหาตามหลัง ในต่างประเทศครูจะต้องไปเป็นถึง Master Teacher (ครูผู้เชี่ยวชาญ) ซึ่งจะสามารถเป็นผู้อำนวยการ ผู้บริหาร โดยสำคัญคือคุณต้องสอนให้เก่งก่อน คุณถึงเป็นผู้บริหารได้ ต้องเป็นพี่เลี้ยงครูได้ ไม่มีปล่อยให้เรียนปริญญาโทบริหารแล้วเป็นผู้บริหารตอนอายุ 30 แต่บ้านเราใช้ระบบนั้น ขอแค่จบตรงวุฒิ สอบแล้วบรรจุ ก็เป็นผู้บริหารได้ แล้วมีปัญหาคือ เป็นผู้บริหารรุ่น 30 ท่ามกลางครูที่เป็นรุ่นพี่ จะบริหารผู้อาวุโสยังไง ซึ่งก็มีความพยายามจะแก้เกณฑ์นี้อีกแล้ว แต่ก็เหมือนเดิม เพราะเกิดจากคณะทำงานเล็กๆที่ถูกแต่งตั้งขึ้น ไม่ค่อยมีช่องให้สังคมได้ถกเถียง

สำหรับผม ปัญหาการผลิตและพัฒนาครู คือ ปัญหานี้สำคัญจนยกระดับเป็นปัญหาสาธารณะหรือเปล่า การผลิตและพัฒนาครูเป็นนโยบายสาธารณะหรือไม่ ถ้าเป็นก็ยอมให้สังคมมีส่วนร่่วม สะท้อนกลับได้ เพราะที่ผ่านมาเป็นการพูดเฉพาะวงวิชาชีพ นักวิชาการไม่กี่คนมานั่งคุยและกำหนดกติกา ซึ่งไม่เชื่อมโยงกับสิ่งที่สังคมต้องการ โรงเรียนต้องการครูแบบไหน สังคมต้องการครูแบบไหน

 

“การวัดผลคะแนน” ตอกย้ำความเหลื่อมล้ำระบบการศึกษา?

ผศ.อรรถพล กล่าวว่า เราจะวัดคุณภาพการศึกษาได้จากอะไร หลายประเทศไม่ได้ดูจากผลการสอบ แต่ดูจากสมรรถนะที่ติดตัวในผู้เรียน เพราะการวัดสมรรถนะอาจไม่ได้เกิดจากการสอบก็ได้ หรือถ้าสอบก็เป็นการสอบที่ไม่ได้เกาะเกี่ยวกับความรู้ เช่น PISA ซึ่งเป็นการสอบสมรรถนะ ติวไม่ได้ เพราะมาจาการทำซ้ำจนติดตัว เป็นทักษะการคิดและให้เหตุผล ซึ่งเรามีปัญหาเรื่องนี้ตลอด คือเราเข้าใจ อะไรที่เป็นการสอบก็ต้องติว ฉะนั้นเด็กที่ได้ผลการเรียนดี อาจไม่ได้การันตีความสามารถก็ได้ เพราะคะแนนสอบในโรงเรียนบ้านเราตอนนี้ 30% มาจากการสอบ 70% มาจากคะแนนเก็บ ถ้าเป็นเด็กรับผิดชอบ สอบได้คะแนนหน่อยก็เป็นนักเรียนดีและสะท้อนจากความรับผิดชอบในการเรียนมากกว่า ถ้าเป็นเด็กที่มีเป้าหมาย รับผิดชอบต่องานทุกชิ้น สอบได้ดีประมาณหนึ่ง ก็จะได้เกรดดีได้

อีกทั้ง การวัดด้วยคะแนนสอบ เป็นการวัดที่แคบมาก เพราะความเก่งของคนมีหลากหลาย เราจะนิยามความเก่งว่าคืออะไร ถ้าเก่งการสอบ เราจะมองแต่ข้อสอบ แล้วข้อสอบบ้านเรา เพียงพอในการจำแนกคนเก่งคนอ่อน นั้นก็เป็นปัญหาเชิงข้อสอบอีก อย่างข้อสอบโอเน็ต ซึ่งโอเน็ตวัดตามจุดประสงค์ในการเรียน ฉะนั้นจึงไปตามหลักสูตรโรงเรียน เป็นการวัดให้ผลออกมากลับไปที่โรงเรียน แล้วโรงเรียนเห็นว่าผลของการพัฒนาเด็กเป็นยังไงบ้าง โอเน็ตไม่ควรเอาเทียบกันระหว่างโรงเรียน เพราะโรงเรียนต่างมีบริบทการทำงานที่ไม่เหมือนกัน จะเอาโรงเรียนที่มีความพร้อมกว่าไปเทียบกับโรงเรียนที่ทรัพยากรน้อย ครูไม่ครบชั้น เด็กมีพื้นเพต้องช่วยครอบครัวหรือมีฐานะยากจน ถือว่าไม่ได้และไม่แฟร์

หลายประเทศไม่ใช้ผลการสอบวัดระดับชาติมาวัดโรงเรียน ถ้าจะใช้ก็ใช้โรงเรียนที่เทียบใกล้เคียงกัน พอเป็นบ้านเราเอามาเทียบก็เกิดความเปราะบางในการจำแนกว่าโรงเรียนเป็นโรงเรียนกลุ่มดี โรงเรียนที่ถูกทิ้งก็จะถดถอย

เราปล่อยให้การออกแบบระบบมาสร้างความเหลื่อมล้ำทางศึกษา ไม่นับรวมห้องพิเศษที่พ่อแม่ต้องจ่ายเพิ่ม ทั้งหมดมาจากนโยบาย ซึ่งต้องคำถามว่าเราจัดการเพื่ออะไร เพื่อทุกคนได้เข้าถึงหรือเพื่อบางคนที่พร้อมกว่า

 

การศึกษาในศตวรรษที่ 21 : เปิดให้เรียนรู้เพื่อมีชีวิตท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็ว

เมื่อถามว่า ครู-นักเรียนและสังคม จะต้องมีอะไรบ้างต่อการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ผศ.อรรถพลกล่าวว่า เรื่องสำคัญ 2 เรื่องที่ต้องรู้ คือ 1.เราอยู่ในภาวะที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงเร็วมาก และ 2.คาดเดายากมากด้วย การเตรียมทักษะความรู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางนั้นไม่พอแล้ว ครูเองก็ต้องเตรียมตัวอีกแบบหนึ่ง เพราะต้องอยู่เด็ก เพื่อให้เด็กอยู่ในอนาคตได้ ต้องมี Soft Skill และทักษะในการใฝ่รู้ตลอดชีวิต ต้องมาคู่กัน

Soft Skill คือทักษะในการอยู่ร่วมกัน ทำเป็น ค้นคว้าเอง นำชีวิตตัวเองเป็น ซึ่งต้องมาพร้อมกับแรงจูงใจในการเรียนรู้ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้เมื่อเปิดโอกาสให้ผู้เรียนค้นพบตัวเอง การเรียนรู้ที่มีความหมายต่อชีวิต แต่หลายครั้งกลับพบเห็นเด็กที่เรียนรู้อะไรซึ่งไม่เกี่ยวกับชีวิตเขาเลย เพราะเต็มไปด้วยความหวังดีของผู้ใหญ่ จากแบบเรียน จากหลักสูตร หลักสูตรเต็มไปด้วยเรื่องรกรุงรังที่ต้องให้เด็กรู้หมด แต่ปรากฎครูก็ใช้หลักสูตรดื้อๆ ไม่สามารถโยงกับชีวิตเด็กได้ เด็กก็ไม่สามารถค้นพบได้ว่าเกี่ยวข้องกับชีวิตพวกเขายังไง เด็กก็หันหลังให้การเรียนรู้

สิ่งที่น่ากลัวคือ เมื่อเด็กเบื่อหน่ายในการเรียนรู้ ซึ่งบั่นทอนศักยภาพในการพัฒนา การมีทักษะอยู่ร่วมกันกับมนุษย์ต้องควบคู่กับการสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้ ซึ่งทำให้ต้องสร้างโรงเรียนอีกแบบหรือครูอีกแบบขึ้นมา จะสอนให้ท่องจำเอาไปสอบนั้นไม่ได้แล้ว ต้องเน้นการเรียนด้วยตัวเองมากขึ้น เรียนไปด้วยกันกับเพื่อนมากขึ้น จะฝึกให้มี Soft Skill ต้องฝึกให้ทำงานร่วมกัน ต้องร่วมมือกันเรียนรู้ พอนำตัวเองได้ ทุกคนก็มีทักษะไม่เหมือนกัน เครื่องไม้เครื่องมือ ไอซีที การคิดเป็น นี่เป็นทักษะใหม่ที่พูดกันมา 20 ปี แต่เป็นสิ่งที่สังคมไทยยังขบคิดไม่แตกเสียที

ดูเหมือนเด็กชนชั้นกลางในเมืองที่พ่อแม่สนใจ ติดตามการเปลี่ยนแปลงก็จะปรับตัวได้ไวกว่า แต่เด็กกลุ่มที่ครอบครัวเข้าใจความเปลี่ยนแปลงนี้น้อย ก็ถูกเตรียมความพร้อมมาน้อย ยิ่งภูมิทัศน์ของการเรียนรู้เปลี่ยนแปลง ยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่เดิมถ่างออกมากขึ้นไปอีก

จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐต้องขบคิด มองภาพใหญ่ให้มากกว่าเรื่องหยิบย่อย จะต้องสื่อสารความเข้าใจหลักๆ ความคาดหวังหลักๆ ทิศทางหลักๆที่รัฐจะพาการศึกษาไป

สังคมถึงจะเห็นภาพร่วมกันว่าโรงเรียนจะทำอะไร ท้องถิ่นจะทำอะไร พ่อแม่ต้องทำอะไร?