แนวรบ แนวเสี่ยง ประชามติ “7 สิงหาคม” คสช. และรัฐบาล

กรองกระแส
มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 8 ก.ค. 59

 

การประกาศจัดตั้ง “ศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อย” โดยพุ่งเป้าไปยังการออกเสียง “ประชามติ” ร่างรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 7 สิงหาคม มากด้วยความละเอียดอ่อนยิ่งในทางการเมือง

ประกาศนี้มาจาก “คสช.”

ประกาศนี้เป็นการขยายและเพิ่มบทบาทจากรากฐานเดิม คือ กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย หรือ กกล.รส. อันเป็นเครื่องมือของ คสช. นับแต่รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา

เพียงแต่ กกล.รส. ดำเนินการโดย “กองทัพภาค”

ขณะที่ศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อย ดำเนินการโดยกลไกของ “กระทรวงมหาดไทย” มีลักษณะเฉพาะกิจจากวันที่ 1 กรกฎาคม กระทั่งวันที่ 10 สิงหาคม โดยมีโครงการประกอบด้วยศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อยระดับจังหวัด และศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อยระดับอำเภอ

เป้าหมายก็คือ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยให้กับการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญวันที่ 7 สิงหาคม เป็นสำคัญ

น่าสนใจก็คือ ได้รับการขานรับจาก กรธ. และ กกต. อย่างคึกคัก

น่าสนใจก็คือ สำนักงานเลขาธิการ คสช. ประกาศว่ากองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) พร้อมให้ความร่วมมือกับศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อยอย่างเต็มที่

ถามว่า “ความละเอียดอ่อน” อยู่ตรงไหน

กลไก ขับเคลื่อน

ประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญ

เหมือนกับว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประชามติตาม พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559

งบประมาณจำนวน 3,000 ล้านบาท ก็เทให้กับ กกต.

กระนั้น บทบาทเสริม 1 มาจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ในฐานะที่มีบทบาทในการยกร่างรัฐธรรมนูญตามคำสั่งของ คสช. จึงได้มีการจัดตั้ง ครู ก. ครู ข. และครู ค. เพื่ออธิบายและชี้แจงเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ

กรธ. จึงมีส่วนอยู่กับงบประมาณจำนวน 3,000 ล้านบาท

กระนั้น บทบาทเสริม 1 มาจาก สนช. และ สปช. เพราะว่าประชามติครั้งนี้ได้มี “คำถามพ่วง” เกี่ยวกับบทบาทและหน้าที่ของ ส.ว. ที่จะเลือกตั้งนายกรัฐมนตรี

บทบาทนี้ร่วมไปกับเวทีของ กรธ. และ กกต.

กระนั้น ก่อนหน้านี้บทบาทเสริม 1 มาจากกองทัพบกในฐานะทำหน้าที่สำนักงานเลขาธิการ คสช. ได้มอบหมายให้หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน (นบช.รด.) จัดตั้ง “รด.จิตอาสา” จากนักศึกษาวิชาทหาร (นศท.) จำนวนประมาณ 100,000 คน เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนไปลงประชามติ

นี่จึงเป็นงานที่ประสานเข้ากับกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) ในแต่ละกองทัพภาค

การจัดตั้งศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อยขึ้นมาโดยมีกระทรวงมหาดไทยเป็นกำลังหลักจึงเท่ากับเป็นการจัดตั้งหน่วยเคลื่อนไหวโดยมีเป้าหมายรวมศูนย์ไปยังการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 สิงหาคม อีกหน่วยงาน 1

ถามว่ากระบวนการ ขับเคลื่อนและรณรงค์ “ประชามติ” อันคึกคักนี้สะท้อนอะไร

รับ และไม่รับ

ร่างรัฐธรรมนูญ

คล้ายกับเป้าหมายของ คสช. และรัฐบาลจากการจัดตั้งและขับเคลื่อนในหลายภาคส่วนล้วนเป็นหลักประกันให้กับกระบวนการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 สิงหาคม

เด่นชัดว่า 1 ต้องมีการออกเสียงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม อย่างแน่นอน

ขณะเดียวกัน หากคำนึงถึงข้อจำกัดอันมาจากท่าทีของ คสช. และรัฐบาล ตลอดจนภายในองคาพยพแห่ง “แม่น้ำ 5 สาย” ตลอดจนคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ตีความ พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 อย่างเคร่งครัดไปทำนองที่ว่า

การเคลื่อนไหวแสดงความคิดเห็น รับ และ ไม่รับ สามารถมีได้ แต่ภายในรายละเอียดกลับปรากฏเด่นชัดว่า เป็นความโน้มเอียงในด้านของ “รับ” ขณะที่ในด้าน “ไม่รับ” มิได้ดำเนินไปอย่างราบรื่น

อย่างเช่น การจับกุมนักศึกษา และนักกิจกรรม

อย่างเช่น ไม่เพียงแต่ไล่ปิด “ศูนย์ปราบโกงประชามติ” ในวันที่ 19 มิถุนายน หากแต่ยังใช้อำนาจของ กสทช. ในการปิด “พีซทีวี” อันเป็นช่องทางการแสดงออกของ นปช.

การผลักดัน “ศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อย” ขึ้นมาภายหลังการไล่ปิด “ศูนย์ปราบโกงประชามติ” ของ นปช. จึงเท่ากับยืนยันที่จะให้การเคลื่อนไหวเป็นของฝ่าย “รับ” อย่างเป็นด้านหลัก ขณะเดียวกัน ก็ปิดล้อมกระบวนการของฝ่าย “ไม่รับ” ในทุกวิถีทาง

อาศัยทั้งกฎกติกาของ พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ประสานเข้ากับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ประสานเข้ากับประกาศและคำสั่ง คสช.

สรุปได้ว่าเป็นการปิดกั้นในทุกโอกาส ทุกช่องทางต่อฝ่าย “ไม่รับ”

ทั้งหมดนี้ ด้าน 1 สะท้อนให้เห็นว่า คสช. และรัฐบาลต้องการหลักประกันอย่างเต็มเปี่ยมว่าจะสามารถกำหนดทิศทางการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 สิงหาคม ให้เป็นไปตามเป้าหมายอย่างครบถ้วน

นั่นก็คือ เป้าหมายที่ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะต้อง “ผ่าน” ประชามติ

ขณะเดียวกัน ด้าน 1 ก็สะท้อนได้ด้วยว่าภายในความต้องการและการดำรงเป้าหมายและความต้องการนั้น คสช. และรัฐบาลก็บังเกิดความไม่มั่นใจในมาตรการที่กำหนดเอาไว้อย่างเต็มร้อย จึงจำเป็นต้องกำหนดมาตรการแล้วมาตรการเล่าออกมาจนกว่าจะถึงวันที่ 7 สิงหาคม

ในความมั่นใจจึงแสดงออกซึ่งความรู้สึกที่ไม่มั่นใจ

อารมณ์ ความรู้สึก

ประชาชน มวลชน

สิ่งที่ คสช. และรัฐบาลกำลังประสบอยู่ในขณะนี้ก็คือการต่อสู้และเผชิญกับอารมณ์และความรู้สึกของประชาชนจากผลสะเทือนและความต่อเนื่องของรัฐประหาร

จากรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 และจากรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

ทั้ง 2 การรัฐประหารสะท้อนความคิดเห็นที่ขัดแย้งและแตกแยกกันในทางความคิดอย่างรุนแรงล้ำลึกกระทั่งการเลือกตั้งไม่สามารถเยียวยาและปรองดองได้

ความรู้สึกนี้ยังดำรงอยู่แม้จะผ่านรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 มาแล้ว

คำถามอยู่ที่ว่า คสช. และรัฐบาลมีความมั่นใจมากน้อยเพียงใดว่าประชาชนส่วนใหญ่จะเลือก คสช. และรัฐบาล อันมาจากกระบวนการรัฐประหาร หาก คสช. และรัฐบาลสอบผ่านในเรื่องประชามติก็เท่ากับเป็นการสอบผ่านในทางการเมือง

ขณะเดียวกัน หากไม่อาจสอบผ่านในแนวรบด้าน “ประชามติ” ได้ หรือผ่านด้วยคะแนนเสียงก้ำกึ่งก็อาจจะกลายเป็นปัญหาใหม่เพิ่มเข้ามาอีกในกระบวนการทางการเมือง