รายงานพิเศษ / ปฏิบัติการ ‘บิ๊กแดง’ เคียงคู่ ‘บิ๊กตู่’ สูดกลิ่นโผทหาร เนรมิตฝัน ‘กรมสไตรเกอร์’ เฮือกสุดท้าย ที่ทุ่งดอนเมือง

รายงานพิเศษ

 

ปฏิบัติการ ‘บิ๊กแดง’

เคียงคู่ ‘บิ๊กตู่’

สูดกลิ่นโผทหาร

เนรมิตฝัน ‘กรมสไตรเกอร์’

เฮือกสุดท้าย ที่ทุ่งดอนเมือง

 

ในยามที่บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ถูกฝ่ายค้านตามบี้เรื่องการถวายสัตย์ที่ไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ

บทบาทของบิ๊กแดง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ก็ยิ่งถูกจับตามอง เพราะก็ได้ชื่อว่า เป็นองครักษ์พิทักษ์ตู่

ด้วยที่ผ่านมา พล.อ.อภิรัชต์ก็ออกมาชนกับกลุ่มต่อต้าน คสช. จนมาถึงฝ่ายค้าน แม้ตนเองจะต้องบาดเจ็บก็ตาม แต่นักรบย่อมมีบาดแผล

จนทำให้การหายตัวไปจากกองบัญชาการกองทัพบกของ พล.อ.อภิรัชต์ เมื่อสัปดาห์ก่อน ถูกมองว่ามีนัยสำคัญ

แม้นายทหารที่ใกล้ชิดจะอ้างว่า เพราะไม่สบาย เป็นหวัด แต่ พล.อ.อภิรัชต์ก็เงียบหายไป ไม่ออกงานตลอดทั้งสัปดาห์ จนเป็นที่ผิดสังเกต

ด้วยเพราะหลายภารกิจเป็นงานสำคัญ แต่ พล.อ.อภิรัชต์ก็มอบหมายให้บิ๊กเล็ก พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รอง ผบ.ทบ. ทำหน้าที่แทนหลายครั้ง

ทั้งการโชว์ความฟิต ทดสอบร่างกายของนายทหารชั้นผู้ใหญ่ แต่ พล.อ.อภิรัชต์ก็ไม่ปรากฏตัว

แม้แต่พิธีประดับยศนักศึกษาวิชาทหาร (นศท.) ที่จบการศึกกว่า 1 พันคน แต่ พล.อ.อภิรัชต์ก็ไม่ได้มาร่วมงาน ทั้งๆ ที่ให้ความสำคัญกับน้องๆ นศท. ถึงขั้นที่เดินสายไปพบปะพูดคุยมาหลายภาคแล้ว เพราะหวั่นตกเป็นเหยื่อโซเชียล

จนทำให้มีข่าวสะพัดว่า มีภารกิจลับ

ด้วยเพราะ พล.อ.อภิรัชต์ยังต้องปฏิบัติหน้าที่ ผบ.หน่วยเฉพาะกิจทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ 904 (ผบ.ฉก.ทม.รอ.904) อีกด้วย

เพราะนอกจากจะต้องมีการจัดทำบัญชีรายชื่อโยกย้ายนายทหารให้เสร็จสิ้นแล้ว

ยังเป็นจังหวะที่ พล.อ.ประยุทธ์กำลังจะถูกอภิปรายเรื่องการถวายสัตย์ในสภา

ท่ามกลางเสียงแนะนำทางออกหลากหลาย ทั้งการขอพระราชทานอภัยโทษ และขอถวายสัตย์ใหม่ หรือการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ

ก่อนที่จะนำมาซึ่งเหตุการณ์ที่ พล.อ.ประยุทธ์นำคณะรัฐมนตรี แต่งเครื่องแบบปกติขาว รับพระราชดำรัสและลายพระราชหัตถ์ ในเช้าวันที่ 27 สิงหาคม 2562 ที่ถูกจับตาและวิเคราะห์ตีความกันว่า จะมีส่วนช่วยทำให้ไม่มีการอภิปรายในสภาเกิดขึ้นหรือไม่

ด้วยเพราะก่อนหน้านั้น มีกระแสข่าวลือการถวายสัตย์ใหม่ แพร่สะพัดออกมา

อันเป็นช่วงที่ พล.อ.อภิรัชต์กลับมาปรากฏตัวตามปกติที่ บก.ทบ. แต่งดพูดเรื่องปัญหาจากการถวายสัตย์ของ พล.อ.ประยุทธ์

แม้ว่าพิธีรับพระราชดำรัสนี้จะไม่ใช่การถวายสัตย์ใหม่ แต่ก็ถูกมองว่า เหตุใด พล.อ.ประยุทธ์จึงต้องทำเรื่องขอพระราชทานพระราชดำรัส ที่ได้พระราชทานในโอกาสที่ พล.อ.ประยุทธ์นำ ครม.เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณเมื่อ 16 กรกฎาคม 2562 ไปแล้วนั้น มาอีกครั้งหนึ่ง

“มีการขอพระราชทาน พระบรมราชานุญาตขึ้นไป และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานมาเป็นลายลักษณ์อักษร นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ขอน้อมรับใส่เกล้าใส่กระหม่อมไว้เป็นสิริมงคล และเป็นเครื่องกำกับสติเตือนใจสืบไป” พล.อ.ประยุทธ์เน้นย้ำหลายครั้ง

เพื่อหวังจะสะท้อนว่า การถวายสัตย์ 16 กรกฎาคม 2562 ที่ถูกฝ่ายค้านโจมตีนั้น ถูกต้องแล้ว จึงได้พระราชทานพระราชดำรัสและลายพระราชหัตถ์มาอีกครั้งหนึ่ง

 

แต่ดูเหมือนจะไม่ส่งผลใดๆ กับความเคลื่อนไหวของฝ่ายค้าน ที่จะเดินหน้าเปิดอภิปรายต่อไป และแม้แต่ผู้ตรวจการแผ่นดินก็ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก็ตาม

แต่กระนั้น บทบาทของ พล.อ.อภิรัชต์ก็ถูกจับตามองอย่างมากอีกครั้ง หลังหายตัวไป และคาดว่าไปปฏิบัติหน้าที่ในต่างประเทศ

ก่อนหน้านี้ เมื่อครั้งที่ พล.อ.ประยุทธ์เป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคพลังประชารัฐ และมีปัญหาเรื่องคู่แข่งนายกฯ จากพรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งเป็นช่วงที่ พล.อ.อภิรัชต์ไปปฏิบัติหน้าที่ในต่างประเทศ

ก่อนที่เหตุการณ์จะคลี่คลายเป็นไปในทางบวกสำหรับ พล.อ.ประยุทธ์

จนทำให้ พล.อ.อภิรัชต์ถูกมองว่าเป็นผู้ช่วยพระเอก ในยามที่ พล.อ.ประยุทธ์มีปัญหาเสมอ

 

แม้ความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นกับกองทัพ โดยเฉพาะกองทัพบก เหล่าทัพที่ใหญ่ที่สุดในยุคเปลี่ยนผ่าน และในยุคที่ พล.อ.ประยุทธ์ควบเก้าอี้ รมว.กลาโหม ด้วยตนเอง อาจทำให้จุดยืนและสถานภาพของ พล.อ.อภิรัชต์ถูกจับตามอง แม้แต่จาก พล.อ.ประยุทธ์ก็ตาม

แต่สำหรับ พล.อ.อภิรัชต์แล้ว สิ่งใดที่ “พี่ตู่” สั่งการมา ไม่ว่าจะเมื่อใด ก็จะถูกสานต่อและปฏิบัติให้เป็นจริงเสมอ

ทั้งแนวคิดในการปรับปรุงอาคารพิพิธภัณฑ์กองทัพบก อายุกว่า 100 ปี ที่เคยเป็นโรงเรียนนายร้อย จปร. ที่ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของกองบัญชาการกองทัพบก

จากที่ถูกปิดไว้เป็นแค่พิพิธภัณฑ์ ก็ให้ปรับปรุงกลายเป็นสถานที่รับรองแขกต่างประเทศ และมีห้องจัดเลี้ยงขนาด 100 คน รวมทั้งลิฟต์แก้ว เพื่อที่จะได้ไม่ต้องไปใช้ บก.ทบ. และมีความสวยงามคลาสสิคอีกด้วย

ในห้วงหลายเดือนที่ล้อมรั้วปรับปรุงนั้น พล.อ.อภิรัชต์ลงมาตรวจอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เสร็จทันตามกำหนดกลางกันยายนนี้ เพราะตั้งใจจะเชิญ พล.อ.ประยุทธ์มาเยือน บก.ทบ. ในฐานะ รมว.กลาโหม และเปิดใช้งานในส่วนที่ปรับปรุงใหม่นี้ด้วยเลย

 

ไม่แค่นั้น การปรับหน่วยให้กองพลทหารราบที่ 11 ฉะเชิงเทรา ให้มาเป็นหน่วยกำลังรบหลักของ ทบ. แทน พล.1 รอ. ที่ไปเป็น ทม.รอ.904 แล้ว ด้วยการซื้อรถเกราะ Stryker จากสหรัฐอเมริกา ผ่านโครงการความช่วยเหลือทางทหาร (FMS) มาประจำการนั้น ก็เป็นแนวคิดของ พล.อ.ประยุทธ์

แม้ พล.อ.อภิรัชต์จะได้ชื่อว่าเป็นนายทหารสไตล์อเมริกัน และนิยมอเมริกันก็ตาม แต่ก็ทำเรื่องนี้ตามไอเดีย พล.อ.ประยุทธ์

โดยจะมีการจัดกรมทหารราบที่ 112 ของ พล.ร.11 ให้เป็นกรมทหารราบผสม แบบ ทบ.สหรัฐ ให้เป็น Stryker Brigade Combat Team และถือเป็นกรม Stryker กรมแรกของกองทัพบกไทย ที่กำลังพลประจำกองร้อยนี้ ถูกส่งไปฝึกที่สหรัฐเป็นเวลา 1 เดือน

กล่าวกันว่า พล.อ.ประยุทธ์มีแนวคิดนี้ตั้งแต่เมื่อครั้งไปดูงานที่ ทบ.สหรัฐอเมริกา เมื่อครั้งเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 เพื่อให้มีหน่วยรบที่คล่องตัว ปรับกำลังได้ตามภัยคุกคาม

โดยมีแผนที่จะขยับ ร.112 จากค่ายสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ แปดริ้ว ฉะเชิงเทรา ไปอยู่ค่ายพนัสบดีศรีอุทัย อ.เกาะจันทร์ จ.ชลบุรี ที่มีเนื้อที่กว้างขึ้น และสร้างโรงเก็บและที่ฝึกต่างๆ

แถม พล.ร.11 นี้ ก็เป็นกองพลที่ พล.อ.อภิรัชต์เคยเป็น ผบ.พล.ร.11 และตอนนี้ก็มีบิ๊กตั้ม พล.ต.วรยุทธ์ แก้ววิบูลย์พันธุ์ น้องรักสายทหารเสือราชินี ของ พล.อ.ประยุทธ์ เป็น ผบ.พล.ร.11

โดยที่ ทบ.จัดซื้อรถเกราะทั้งหมด 60 คัน แต่ความสัมพันธ์ที่ดีทำให้สหรัฐให้เพิ่มมา 23 คัน แต่มีการจัดซื้อล็อตสองเพิ่มอีก 155 คัน รวมเป็น 75 คัน สหรัฐให้เพิ่มอีก 17 คัน รวมสหรัฐให้เพิ่ม 40 คัน ที่ทำให้ได้ถึง 2 กองร้อย

โดย 10 คันแรก จะส่งมอบ 12 กันยายนนี้ ที่ พล.อ.อภิรัชต์จะรับมอบเองจาก ผบ.กองกำลังภาคพื้นอินโด แปซิฟิกของสหรัฐ ที่ บก.ทบ. แต่จะนำรถเกราะมาเป็นพิธีแค่ 4 คันก่อนเท่านั้น

โดยในปีนี้สหรัฐจะส่งมอบรถเกราะจำนวน 60 คัน ส่วนอีก 55 คัน ก็จะทยอยส่งมอบภายในปีหน้า

เป็นที่รู้กันดีในสายยุทธการทหารบก ว่า พล.อ.ประยุทธ์ชื่นชมรถเกราะ Stryker มาตั้งแต่เป็น ผบ.ทบ. และต้องการจะจัดซื้อมา แต่สถานการณ์ทางการเมืองที่วุ่นวายในเวลานั้น พล.อ.ประยุทธ์จึงไม่สามารถทำเรื่องพัฒนาหน่วยรบของ ทบ.ได้

เมื่อ พล.อ.อภิรัชต์ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. พล.อ.ประยุทธ์ก็ส่งต่อความฝัน พล.อ.อภิรัชต์ เนรมิตให้ทันที

พล.ท.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้

พล.อ.อภิรัชต์ยังคงเหลืออายุราชการอีก 1 ปี ก่อนที่จะเกษียณ 30 กันยายน 2563 ที่ทำให้ถูกจับตามองว่า เมื่อนั้น พล.อ.ประยุทธ์จะลุกจากเก้าอี้ รมว.กลาโหม แล้วให้ พล.อ.อภิรัชต์นั่งเป็น รมว.กลาโหมแทน

เพราะทุกวันนี้ พล.อ.อภิรัชต์ก็ถูกมองว่าเป็น ผบ.ทบ.ที่มีเพาเวอร์มากที่สุด แถมยังสวมหมวกอีกหลายใบ รวมทั้งเป็น ผบ.ทบ.สายตรงของ พล.อ.ประยุทธ์ และยังคงเป็นมือทำงาน ว.5 ปฏิบัติการลับให้ พล.อ.ประยุทธ์เสมอมา

จึงไม่แปลกที่การจัดโผโยกย้ายทหารครั้งนี้ พล.อ.อภิรัชต์จะมีบทบาทสำคัญในการจัดวางตัวแม่ทัพนายกอง ไม่ใช่แค่ใน ทบ. แต่รวมถึง บก.กองทัพไทย และกลาโหมอีกด้วย

ทั้งการดันบิ๊กบี้ พล.ท.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ แม่ทัพภาคที่ 1 ขึ้น ผช.ผบ.ทบ. เพื่อจ่อเป็น ผบ.ทบ.คนใหม่ ในตุลาคม 2563

และการส่งบิ๊กแก้ว พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทบ. ข้ามห้วยไปเป็นเสนาธิการทหาร เพื่อจ่อขึ้นเป็น ผบ.ทหารสูงสุด ในตุลาคมปีหน้า

โดยทั้ง พล.ท.ณรงค์พันธ์ และ พล.อ.เฉลิมพล ล้วนเป็นรอง ผบ.ฉก.ทม.รอ.904 เช่นกัน และต้องไม่ลืมว่า พล.อ.อภิรัชต์ก็เป็น ผบ.ฉก.ทม.รอ.904 ด้วยนั่นเอง

เรียกได้ว่า เป็นการกระจายนายทหารคอแดงสายเป๊ะ ไปเป็น ผบ.หน่วย เพื่อเดินหน้าในการจัดกองทัพใหม่ในทุกๆ ด้าน

แม้จะเป็นที่รู้กันดีว่า การโยกย้ายครั้งนี้ ทำให้ บก.กองทัพไทยจะระส่ำไม่น้อย เพราะ “คนใน” ไม่ได้ขึ้นในหลายตำแหน่ง กระทบต่อเนื่องกัน

แต่บิ๊กกบ พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผบ.ทหารสูงสุด ก็ออกมาสยบข่าว โดยยืนยันว่า เหล่าทัพเป็นหนึ่งเดียว ทั้งทิศทางการทำงานและหลักนิยม มีทัศนคติที่สอดคล้องกัน

“การจัดวางตัว ต้องมีความสอดคล้องกัน ต้องมองระยะยาว ไม่ใช่มองแต่หน่วยใครหน่วยมัน หรือองค์กรเดียว” พล.อ.พรพิพัฒน์ระบุ

สยบกระแสความไม่พอใจใน บก.ทัพไทย ที่ถูกข้ามห้วยมาเสียบยอด คนในไม่ได้ขึ้น ทั้งๆ ที่คนในได้เป็น ผบ.ทหารสูงสุดมาต่อเนื่อง 6 คนแล้ว

อีกทั้งรู้กันดีว่า การที่ พล.ท.ณรงค์พันธ์ และ พล.อ.เฉลิมพล ถูกวางตัวให้เป็น ผบ.เหล่าทัพพร้อมกันแบบนี้ ไม่ใช่แค่ พล.อ.อภิรัชต์เท่านั้นที่สนับสนุน แต่เพราะมีสัญญาณพิเศษ

แถมทั้ง พล.ท.ณรงค์พันธ์ เตรียมทหาร 22 และ พล.อ.เฉลิมพล เตรียมทหาร 21 ล้วนมีอายุราชการยาวถึงกันยายน 2566 เลยทีเดียว ที่ยิ่งทำให้เก้าอี้มั่นคง

พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์

แต่กระนั้น ก็ยังมีกระแสข่าวสะพัดในทุ่งดอนเมือง ว่า เต็งหนึ่ง ผบ.ทอ.คนใหม่อย่าง พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ เสนาธิการทหารอากาศ เพื่อน ตท.20 ของ พล.อ.อภิรัชต์ อาจถูกแซงโค้ง

ด้วยเพราะยังมีทั้งบิ๊กยาว พล.อ.อ.วันชัย นุชเกษม รอง ผบ.ทหารสูงสุด เพื่อนรัก ตท.18 ของบิ๊กต่าย พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ผบ.ทอ. ที่กำลังเคาต์ดาวน์จะเกษียณ

เพราะ พล.อ.อ.วันชัยถูกเตะออกจาก ทอ.เมื่อปลายปีที่แล้ว จากที่เป็น เสธ.ทอ. และเป็นตัวเต็ง ผบ.ทอ.คนหนึ่ง เพื่อหลีกทางให้ พล.อ.อ.มานัตขึ้นมา

แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ลูกทัพฟ้าที่ถูกเตะออกนอกดอนเมืองแล้วจะได้กลับตึกแปดแฉกอีกครั้ง

อีกทั้งมีเสียงสะท้อนจากใน ทอ.ว่า ในรุ่นหนึ่ง ควรจะมี ผบ.ทอ.แค่ 1 คนเท่านั้น ตท.18 มี พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์เป็น ผบ.ทอ.แล้ว ก็ควรผ่องถ่ายให้รุ่นอื่น เช่น ตท.20 เป็นต่อ

ในขณะที่กระแสบิ๊กหมู พล.อ.อ.ปรเมศร์ เกษโกวิท รองปลัดกลาโหม เตรียมทหาร 18 อีกคน ก็ยังลุ้น เพราะโยกย้ายปลายปีที่แล้ว เขาก็ถูกเตะโด่งออกมาจากกองทัพอากาศ เพราะสายสัมพันธ์กับ พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ก็ไม่ราบรื่นนัก แม้จะเป็น ตท.18 ด้วยกัน

ทั้ง พล.อ.อ.วันชัย และ พล.อ.อ.ปรเมศร์ เป็น ตท.18 ด้วยกันและเกษียณกันยายน 2563 พร้อมกัน แต่ทว่า มีบุคลิกลักษณะที่แตกต่าง คนหนึ่งเงียบๆ เรียบๆ นิ่งๆ ส่วนอีกคน ออกแนวสายบู๊ และเป๊ะ และยังมีสายสัมพันธ์กับบิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ พี่ใหญ่ด้วย แต่ท้ายที่สุด พล.อ.อ.มานัต อดีต ผช.ทูตทหารอากาศ ประจำเยอรมนี น่าจะเข้าวิน

พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน, พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์

หลายตำแหน่งในแต่ละเหล่าทัพที่ยังไม่ลงตัว และมีความเคลื่อนไหว และหวังให้จบในการประชุม 7 เสือกลาโหม ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะ รมว.กลาโหม นั่งหัวโต๊ะ ร่วมด้วย รมช.กลาโหม ปลัดกลาโหม ผบ.ทหารสูงสุด ผบ.ทบ. ผบ.ทร.และผบ.ทอ. เพื่อตัดสินใจครั้งสุดท้าย ก่อนที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ เมื่อวันพุธที่ผ่านมา

จนทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ออกตัวว่า ตนเองได้ให้เสรีกับ ผบ.เหล่าทัพ ในการตัดสินใจ เพราะ ผบ.เหล่าทัพจะเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมดในการแต่งตั้งคนมาดำรงตำแหน่ง

“ไม่ใช่โยนภาระมาให้ผมเป็นคนตัดสินใจ เพราะ ผบ.เหล่าทัพรู้เรื่องภายในองค์กรตัวเองดีกว่าผม”

คำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่เป็นการสะท้อนได้ว่า มีบางตำแหน่งที่ ผบ.เหล่าทัพตัดสินใจไม่ได้ เพราะมีหลายตัวเลือก และแต่ละตัวเลือกนั้นก็มีแบ๊กอัพ จึงต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ที่เป็นทั้งนายกฯ และ รมว.กลาโหมตัดสิน

เพราะเป็นโผโยกย้ายทหารแรก ในฐานะที่เป็น รมว.กลาโหม แต่พิเศษตรงที่เป็นนายกฯ ด้วย จึงยิ่งมีอำนาจแบบเต็มๆ ในการจัดทัพ ทุบโต๊ะ

พราะกองทัพจะยังต้องเป็นกำลังหลักในการค้ำรัฐบาลและเก้าอี้นายกฯ ให้มั่นคงต่อไป