อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : ด้านหนึ่งของการศึกษาไทย

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

การศึกษาไทยมีปัญหาหลายด้านที่สั่งสมมานาน

ปัญหาที่กล่าวถึงบ่อยมากแต่ยังแก้ไม่ได้คือ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งมองได้หลายด้าน

มองไปที่ส่วนที่เล็กคือ การศึกษาของเด็กเล็ก สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันคือ แนวคิดการควบรวมโรงเรียนของเด็กเล็ก โดยเฉพาะโรงเรียนที่อยู่ห่างไกลและยากจนดังเช่นในเขตอีสานใต้ของประเทศ

มีข้อน่าสังเกตว่า มีการวิจารณ์ว่า รัฐบาลไทยหลายยุคหลายสมัยลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะถนน เพื่อให้คนในหมู่บ้านเดินทางไปมาหาสู่กันได้ง่ายขึ้น

แต่การลงทุนนี้กลับไม่เกิดผล คนยากจนและเห็นความสำคัญของการศึกษาต้องการให้บุตรหลานของตนไปโรงเรียน แต่เมื่อเกิดปัญหาต่างๆ นานา เช่น สังคมไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย เด็กเกิดน้อย ดังนั้น จึงมีเด็กเล็กไปเรียนโรงเรียนน้อยลง

บ้างก็ว่า เด็กๆ ต้องช่วยพ่อแม่ทำงานหาเลี้ยงชีพ ดังนั้น พวกเขาจึงไม่สามารถไปเรียนหนังสือได้

ซึ่งก็จริงเพราะสภาพการณ์นี้เกิดขึ้นกับครอบครัวยากจนทั่วประเทศ รวมทั้งแม้แต่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล

ไม่เพียงแต่เท่านั้น มีการกล่าวถึงคุณภาพทางการศึกษา ทั้งนี้ คุณภาพการศึกษาหากวัดจากมุมมองของภาครัฐอาจจะหมายถึงจำนวนครู เนื้อหาวิชาเรียน อุปกรณ์ทางการศึกษา

แต่หากมองจากครูในโรงเรียนเด็กเล็กทั้งหลาย พวกเขากลับให้ความสำคัญกับทักษะการดำรงชีวิต การทำงานและคิดถึงส่วนรวม ความมีจิตอาสา มากกว่าการเรียนในห้องเรียน

หลายรัฐบาล หลายผู้บริหารของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการศึกษาต่างเห็นความสำคัญของการศึกษา และถือว่าการศึกษาคือกุญแจสำคัญในการผลักดันในการพัฒนาประเทศชาติ

ทว่า ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา อันได้แก่ การเข้าถึงทางการศึกษา การศึกษาตั้งแต่ชั้นเด็กเล็กในพื้นที่ยากจนที่จะสามารถก้าวเข้าสู่การศึกษาเพื่อประกอบอาชีพ หรือการก้าวสู่อุดมศึกษาเพื่อต่อยอดความรู้ของตนในขั้นสูงแล้วนำกลับมาพัฒนาหมู่บ้านและชุมชน ตลอดจนครอบครัวของตนเองให้ดีขึ้น

 

ที่กล่าวอย่างย่อในข้างต้น สังคมไทยก็ยังอยู่ในวังวนของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอยู่ดี

แม้ว่ามีการศึกษาค้นคว้าต่างๆ ออกมามากมาย

แม้เป็นนโยบายของหลายรัฐบาล

แม้เป็นถึง “ยุทธศาสตร์ชาติ”

แต่ก็ต้องยอมรับว่า สังคมไทยยังตกอยู่ในวังวนนี้ บ้างก็โทษกันเอง โทษงบประมาณ โทษการบริหาร

ดังนั้น เราจึงยังคงได้ยินและรับรู้เรื่อง “การปฏิรูปการศึกษา” อยู่หลายสิบปีและยังคงได้ยินกันต่อไป

ทว่า ผมคิดว่าวงการศึกษาไทยเริ่มมีโจทย์ใหญ่และใหม่ที่ท้าทายไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเดิม

แต่เกี่ยวข้องโดยตรงกับระดับอุดมศึกษาหรือมหาวิทยาลัยนั่นเอง

 

อำนาจละมุนหรือทุนนิยม

อํานาจละมุน (soft power) เข้ามาเกี่ยวข้องกับการศึกษาได้อย่างไร?

ความจริงแล้ว อำนาจละมุนอาจเกี่ยวข้องทางด้านวัฒนธรรม เช่น ภาพยนตร์ ศิลปะและวัฒนธรรม เช่น ดนตรี การแสดง สื่อสารมวลชนต่างๆ อันก่อให้เกิดความนิยมชมชอบ การสร้างภาพลักษณ์ (image) ที่ดีก็ได้

ผมไม่ได้ย้อนไปในช่วงสงครามเย็น ที่ชาติมหาอำนาจใช้การให้ความช่วยเหลือด้านทุนการศึกษา การฝึกอบรม หรือแม้แต่การประชาสัมพันธ์และการโฆษณาให้กับประชาชนอีกประเทศหนึ่งชื่นชอบเป็นพิเศษต่อประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือนั้นๆ

แน่นอนครับ อำนาจละมุนในยุคโลกาภิวัตน์แยบยลและซับซ้อนยิ่งกว่ามาก

เพราะมีการใช้วัฒนธรรม เช่น หนัง ละคร เพลงข้ามชาติข้ามโลกเพื่อสร้างกระแสนิยมซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นประเด็นเพื่อเป้าหมายทางการเมืองอันหมายถึงการเลือกข้างก็ได้

แต่อาจเป็นกลไกหนึ่งของระบบทุนนิยมเพื่อโน้มน้าวทางการตลาดและธุรกิจการค้า

หากทว่า เพื่อโน้มน้าวความนิยมทางสังคมก็เป็นไปได้

 

วิกฤตของมหาวิทยาลัยไทย

ด้วยเหตุผลของการเปลี่ยนแปลงด้านประชากรที่ไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย (aging society) จำนวนประชากรเกิดใหม่น้อยลง ด้วยระบบการศึกษาด้วยเทคโนโลยีการศึกษาทางไกล เหตุผลนี้มีผลโดยตรงต่อมหาวิทยาลัย ถึงขั้นวิกฤตในแง่คนเรียนมหาวิทยาลัยน้อยลงซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทั่วโลก

อีกทั้งปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นมานานแล้ว รายได้หลักของมหาวิทยาลัย และจริงๆ แล้วคือโรงเรียนด้วยขึ้นอยู่กับ “ค่าเทอม” เป็นหลัก

เมื่อมีคนเรียนน้อยลง การเปิด “วิทยาเขต” ของมหาวิทยาลัยตามต่างจังหวัดจึงเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด มหาวิทยาลัยส่วนกลางมีวิทยาเขตของตัวเองในต่างจังหวัด บางจังหวัดมีวิทยาเขตของหลายๆ มหาวิทยาลัยเปิดตัว ในไม่ช้ามหาวิทยาลัยต่างจังหวัดก็มีวิทยาเขตในกรุงเทพฯ

การเปิดหลักสูตรที่นิยมเรียนก็เพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกัน มีการปิดตัวลงของสาขาวิชาที่ไม่ทำเงินและมีคนเรียนน้อย

การเปิดปริญญาโทและปริญญาเอกก็มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มจำนวนนักศึกษามากกว่าการยกระดับคุณภาพทางการศึกษา

แม้กระทั่งการสร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยจากต่างประเทศ มีทั้งการเปิดโรงเรียนนานาชาติที่คิดค่าเรียนแพงขึ้น ว่าจ้างบุคลากรจากต่างประเทศ รวมทั้งการธุรกิจอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ได้แก่ การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะตามจังหวัดที่ติดทะเล

มีการตั้งวิทยาเขต ที่ประกอบด้วยที่พักอาศัยในลักษณะคอนโดมิเนียม มีสนามกอล์ฟ รีสอร์ตสร้างรายได้แก่มหาวิทยาลัยและเจ้าของกิจการด้วย

แต่ในที่สุดเมื่อมีนักศึกษาไม่พอ เศรษฐกิจการท่องเที่ยวชะลอตัว การขาดสภาพคล่องมีปัญหา การควบรวมมหาวิทยาลัยก็เกิดขึ้นตามมา

 

มหาวิทยาลัยจีนในไทย

ตามรายงานของสื่อมวลชนในช่วง 2-3 ปีมานี้มีการขายกิจการให้นักลงทุนชาวจีนเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น มหาวิทยาลัยเกริก มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี เป็นที่น่าสังเกตว่า การกว้านซื้อมหาวิทยาลัยเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับนักศึกษาจีนมาเรียน

ทั้งนี้เพราะผู้ประกอบการจีน เช่น บริษัท ไชน่า หยู่ฮว่า เอดูเคชั่น (China YuHua Education Investment Limited) นักลงทุนจีนจากมณฑลซานตง ประเทศจีน ที่จดทะเบียนที่เกาะบริติช เวอร์จิ้น ซึ่งบริษัทดังกล่าวเป็นผู้ดำเนินธุรกิจการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาล มัธยมปลาย เป็นบริษัทที่ยังเกี่ยวข้องกับธุรกิจด้านการศึกษาและอุปกรณ์การศึกษาด้วย (1)

ยังมีมหาวิทยาลัยรัตนบัณฑิต สถาบันเทคโนโลยีแห่งสุวรรณภูมิอีกด้วย เป็นต้น

ความจริงแล้ว การลงทุนโดยการควบกิจการมหาวิทยาลัยไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น หากแต่มีบริษัทเอเย่นต์ที่เคยป้อนนักศึกษาจีนให้กับมหาวิทยาลัยไทยหลายๆ แห่งมาแล้ว เพราะเราจะพบว่า มหาวิทยาลัยทั้งเอกชนและของรัฐในประเทศไทยมีจำนวนนักศึกษาเพิ่มมากขึ้นอยู่ตลอดเวลา

การกล่าวว่า นักศึกษาจีนชอบเรียนที่มหาวิทยาลัยในไทยอาจมองเพียงด้านเดียว ความจริงแล้ว นักศึกษาจีนที่เรียนที่เมืองไทยทั้งทำงานและบางรายทำการค้าขายระหว่างสองประเทศ รวมทั้งตั้งถิ่นฐานในเมืองไทยเลยก็มี

ดังเช่นที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เราจึงเห็นย่านคนจีนแพร่กระจายไปหลายแห่งทั้งในกรุงเทพฯ เชียงใหม่ ภูเก็ต

ส่วนหนึ่งต้องการเรียนให้นานที่สุดเพื่ออยู่เมืองไทยให้นานที่สุด บางคนก็แปลงสภาพนักศึกษาเป็นผู้ประกอบการจีนในไทยไปเลย

ในอีกประเด็นหนึ่ง เราจะพบว่า มีโรงเรียนสอนภาษาจีนเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด ทั้งนี้ ไม่ต้องพูดถึงเรื่องมาตรฐานด้านการศึกษา เช่นเดียวกัน บริษัทรับจัดทัวร์จีนทั้งไปจีนและมาไทยก็เกิดขึ้นจำนวนมาก บริษัทเหล่านี้ก็จะใช้พนักงาน รวมทั้งไกด์ที่เป็นคนจีนอีกด้วย

ผมไม่ปฏิเสธการลื่นไหลของผู้คน ไม่ปฏิเสธการค้าสินค้าและบริการระหว่างประเทศ หากทว่า ภาคการศึกษาของไทยมองได้หลายมิติ เรายังคงปฏิรูปกันอยู่ การศึกษาไทยยังเผชิญกับความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในหลายด้าน ทั้งของเก่าๆ เช่น งบประมาณ ข้อด้อยของการบริหารและการจัดการ

แต่ในเวลาเดียวกันเรากำลังประสบกับปัญหาใหม่คือ การไหลบ่าของระบบทุนนิยมที่เข้าครอบงำระบบการศึกษาไทยอย่างเต็มที่และลงลึกเข้าไปทุกที ดังเช่นทุนจีนจากมณฑลต่างๆ

ขอกลับไปคำถามเดิม

อำนาจละมุนหรือทุนนิยม

———————————————————————————————————-
(1) “ทุนจีนกวาดมหาลัยไทย” ประชาชาติธุรกิจ 1-4 สิงหาคม 2562 : 1, 9.