จักรกฤษณ์ สิริริน : Overflowing Brain ยุคข้อมูลล้นโลก สมองเรารับได้แค่ไหน?

เพิ่งอ่านหนังสือเล่มหนึ่งจบ ชื่อปกว่า The Overflowing Brain : Information Overload and the Limits of Working Memory เขียนโดยศาสตราจารย์ ดร. Torkel Klingberg นักวิทยาศาสตร์ด้านการรู้จำ แห่งสถาบัน Karolinska Institutet กรุง Stockholm ประเทศสวีเดน

The Overflowing Brain เป็นหนังสือที่พูดถึงการพัฒนาสมองส่วนความทรงจำในสถานการณ์แห่งยุคสมัย คือการปะทะกันของข้อมูลจำนวนมากที่ล้นไหลอยู่ในปัจจุบัน

บางคนเรียกสภาวะ Information Overload – Knowledge Overflow หรือ IOKO ว่าโรคสำลักข้อมูล

หลายคนตั้งชื่อ IOKO ว่า ยุคข้อมูลล้นโลก หรือช่วงเวลาของข้อมูลที่ล้นทะลัก

ขณะที่นักการตลาดหลายคนออกปากชื่นชม IOKO ว่าเป็นพระเอกขี่ม้าขาวมาช่วยในยามเศรษฐกิจฝืดเคือง ในแง่ที่ว่าการนำเสนอสินค้าและบริการต่างๆ ทั้งการ Boost Post ใน Facebook การทำ SEO ใน Google การใช้ LINE@ ในการเปิดการขายและส่งเสริมการขาย

ทำให้ผู้บริโภคมีช่องทางและตัวเลือกมากมายในการเสพสื่อ

 

แต่ Dr. Torkel Klingberg เจ้าของหนังสือ The Overflowing Brain กลับมองว่า ปริมาณและความถี่ของข้อมูลที่สมองได้รับในปัจจุบันนั้น ทั้งเร็วขึ้นและมากขึ้น จากการวิจัยพบว่า โครงสร้างของสมองมนุษย์ยุคนี้เปลี่ยนไปจากช่วง 40,000 ปีที่ผ่านมา ทุกวันนี้ เราต่างใช้งานสมองเกินกำลังของเราไปมาก นับจากยุคหิน

“…เมื่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีก้าวไปอย่างรวดเร็ว พวกเรากำลังประสบภาวะข้อมูลล้นทะลัก ผมมีสถิติที่แสดงให้เห็นว่า เราถูกขัดจังหวะทุกๆ สามนาทีในระหว่างวันทำงาน ด้วยการทำงานหลายอย่างพร้อมๆ กัน ทั้งตอบ e-Mail รับสายมือถือ อ่าน LINE เข้าเว็บไซต์ และกด Like ใน Facebook ขณะที่ใส่หูฟังเพลงจาก YouTube อยู่ด้วย”

“ทั้งหมดนี้คือความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีขั้นสูง ทุกๆ วัน สิ่งเหล่านี้ทำให้สมองมนุษย์ประมวลผลข้อมูลมากขึ้นด้วยความเร็วที่สูงขึ้นและมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งผมถือว่าเป็นเรื่องที่เกินกำลังสมองของเราไปมาก…”

 

Klingberg ได้พาเราเดินทางไปรับรู้ขอบเขตและความเป็นไปได้ในการทำงานของสมอง Klingberg แนะนำว่า เราควรรับทราบและยอมรับความต้องการข้อมูลและความท้าทายทางจิตใจ โดยต้องพยายามหาสมดุลระหว่างข้อมูลที่พุ่งเข้ามากับและความสามารถในการรับข้อมูลที่แท้จริง

“…แต่ละวัน เราควรได้สำรวจความต้องการทางปัญญาหรือความซับซ้อนของข้อมูลในชีวิตประจำวันและวิธีที่สมองพยายามตอบสนองต่อข้อมูลเหล่านั้น ผมคิดว่า คนเรามีความสนใจที่แตกต่างกัน ความสนใจของคนหนึ่งอาจขับเคลื่อนด้วยแรงกระตุ้นภายใน ขณะที่อีกคนก็ต้องการควบคุมทุกอย่างไว้ในกำมือ ผมคิดว่า พวกเราควรใช้สมองไปกับความจำในการทำงานซึ่งจะเป็นประโยชน์มากกว่าพยายามทำในเรื่องอื่นๆ…”

โดยทั่วไป ในสถานการณ์เฉพาะหน้า สมองของเราจะสามารถเก็บข้อมูลไว้ในใจเป็นระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น Klingberg บอกว่า ความสามารถในการทำงานของหน่วยความจำในสมองที่เชื่อมโยงกับกระบวนการคิด และพัฒนาไปกักเก็บเป็นความทรงจำในสมองนั้น สามารถพัฒนาได้โดยการฝึกฝน

และที่สำคัญซึ่งเป็นเรื่องที่น่าตกใจก็คือ สมองสามารถพัฒนาหน่วยความจำได้ตามความต้องการของมัน หากเห็นว่ามีข้อมูลที่น่าสนใจเอาไปเก็บกักเพิ่ม

อย่างไรก็ดี สมรรถนะนี้ของสมองอาจไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรในยุค IOKO

 

หากมองในแง่ปัจเจก Klingberg บอกว่า IOKO เป็นสภาวะของสังคมที่เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารหรือสารสนเทศที่ล้นเกิน และมักเกิดจากแนวโน้มของสื่อบางประเภทที่มีข้อมูลนำเสนอเกินขนาดของจำนวนลูกค้าหรือผู้รับสื่อ ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร และโดยเฉพาะอย่างยิ่งโทรศัพท์มือถือ หรือโซเชียลมีเดีย เว็บไซต์ และเว็บบล็อกต่างๆ

Klingberg ย้ำว่า สภาวะของ IOKO ในปัจจุบัน ได้แสดงให้เห็นว่า ผู้ประกอบการและลูกค้าจำนวนมาก ต่างมีส่วนร่วมกับ IOKO ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม

ขณะเดียวกัน หากมองในแง่องค์กร Klingberg ชี้ว่า การตั้งรับขององค์กรต่อ IOKO นั้น องค์กรไม่เพียงต้องวางรากฐานและจัดโครงสร้างองค์กรใหม่เพื่อตอบสนองในด้านเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังต้องเปลี่ยนพฤติกรรมขององค์กรโดยรวมด้วย

Klingberg บอกว่า การค้นหาวิธีการลดภาระของ Information Overload นั้น องค์กรต้องพยายามสร้างสมดุลของผลประโยชน์ของผู้ส่งกับต้นทุนผู้รับ และผู้นำจำเป็นต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าวิธีการแก้ปัญหาไม่เพียงแค่เปลี่ยนภาระจากกลุ่มหนึ่งไปยังอีกกลุ่ม ซึ่งการแบกภาระนั้นจะมาจากต้นทุนสุทธิขององค์กร

Klingberg ตั้งข้อสังเกตถึงช่องว่างระหว่างความรวดเร็วของอุปกรณ์ไฮเทคอิเล็กทรอนิกส์และความสามารถของสมองในการประมวลผลข้อมูลที่ค่อนข้างช้า

“…เรื่องของสมองเป็นความจริงทางวิทยาศาสตร์ ผลกระทบที่ข้อมูลข่าวสารในโลกยุคใหม่ที่มีต่อหน่วยความจำยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง ด้วยอัตราเร่งที่รวดเร็วขึ้น และปริมาณที่ล้นทะลักมากขึ้น อย่างไรก็ดี สมองสามารถเพิ่มความสามารถในการทำงานของหน่วยความจำได้ ซึ่งเป็นที่ทราบกันมานานในวงการแพทย์ ว่าสมองคืออวัยวะมหัศจรรย์ที่สุดอยู่แล้ว…”

 

The Overflowing Brain : Information Overload and the Limits of Working Memory ถือเป็นหนังสือที่มีเสน่ห์เล่มหนึ่ง อ่านไหลลื่นเหมือนนั่งฟังเล็กเชอร์จากอาจารย์ที่สอนเก่ง Klingberg มีลีลาการเล่าเรื่องที่น่าติดตาม ใช้กลวิธีการเขียนในรูปแบบบทสนทนาที่ไม่น่าเบื่อเหมือนงานวิชาการทั่วๆ ไป

หนังสือเล่มนี้ ได้เฉลยคำตอบ ว่าเหตุใดสมองของเรา ที่แม้จะล้นด้วยข้อมูลจำนวนมากจากแหล่งข้อมูลที่เพิ่มมากขึ้น ทว่า สมองยังคงกักเก็บข้อมูลเหล่านั้นเอาไว้ได้ ก็ด้วยความสามารถในการทำงานและหน่วยความจำของสมองนั่นเอง

Klingberg ย้ำว่า สิ่งที่เราต้องทำต่อจากนี้ คือการรักษาสมดุลระหว่างการทำงานของสมองกับความจุของหน่วยความจำและข้อมูลที่พุ่งเข้ามา

ไฮไลต์ของ The Overflowing Brain คือการออกเดินทางเข้าไปสำรวจสมองของ Klingberg เอง ซึ่งเป็นการสำรวจที่มีชีวิตชีวามาก ต้นทุนของ Klingberg คือนักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับการรู้จำ สติปัญญา และประสาทวิทยา แม้จะฟังดูยาก แต่ Klingberg เขียนให้อ่านง่าย โดยในตอนท้าย เขาได้นำเสนอโปรแกรมฝึกฝนสมองในการเพิ่มพื้นที่ของหน่วยความจำอีกด้วย

“…ผมคิดว่าวิธีการฝึกฝน เสริมสร้างความจำในการทำงานของสมอง เป็นไฮไลต์ของหนังสือเล่มนี้ ด้วยความที่ The Overflowing Brain เป็นหนังสือเล่มแรก ผมจึงตั้งใจกับมันมาก…” Klingberg กระชุ่น

The Overflowing Brain : Information Overload and the Limits of Working Memory จบลงด้วยการอภิปรายเกี่ยวกับอนาคตของการพัฒนาสมอง และเราจะสามารถจัดการกับ IOKO หรือสภาวะข้อมูลที่มากเกินไปในชีวิตประจำวันของเราได้ด้วยวิธีใดบ้าง

จัดเป็นหนังสือที่น่าสนใจมากอีกเล่มหนึ่งครับ