อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ : ตาม “ชิ้น” ตาม “ชั้น” จน “ขวัญหายได้ปลื้ม” เรื่องสั้นหาอ่านยากของครูเหลี่ยม

ครั้งแล้วครั้งเล่าที่ครูเหลี่ยมหรือหลวงวิลาศปริวัตร ถูกกล่าวถึงในแวดวงวรรณกรรมยึดโยงอยู่กับผลงานประเภทนวนิยาย

โดยเฉพาะความไม่พยาบาท ที่ใครต่อใครร่ำลือและหลงเชื่อมาช้านานว่าเป็นนวนิยายไทยแท้เรื่องแรกสุด

อย่างไรก็ดี ผมเองหาคล้อยตามเช่นนั้นไม่

มิหนำซ้ำ ยังแลเห็นร่องรอยจากหลักฐานเอกสารเก่าๆ

จนนึกอยากเสนอทำนอง บางทีนวนิยาย ความไม่พยาบาท อาจไม่ใช่เรื่องแรกสุดของไทยที่มักเอ่ยอ้างเสมอๆ ก็ได้

แต่เอาเถอะ ประเด็นน่าถกเถียงข้างต้น คงขอยกไว้ไปแจกแจงให้คุณผู้อ่านแจ่มแจ้งข้อเท็จจริงภายภาคหน้า

สำหรับคราวนี้ ใคร่เชื้อเชิญทุกท่านทำความรู้จักงานเขียนลักษณะเรื่องสั้นของครูเหลี่ยมสักชิ้นหนึ่ง

ได้แก่ขวัญหายได้ปลื้มซึ่งท่านร้อยเรียงตัวอักษรผ่านนามปากกา “นายสำราญ”

 

ถามว่าทำไมผมจึงถือโอกาสเลือกเขียนเกี่ยวกับเรื่องสั้นของครูเหลี่ยม?

มูลเหตุก็เพราะคุณหลวงวิลาศปริวัตรเป็นคนเดือนสิงหาคม

ท่านลืมตาดูโลกหนแรกวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ.2422

หากยังมีลมหายใจตราบปัจจุบันอายุก็จะราวๆ 140 ปี

ทว่าความจริงท่านอำลาโลกไปเมื่อกลางเดือนธันวาคม พ.ศ.2506

หลวงวิลาศปริวัตร คือนักเขียนคนสำคัญแห่งยุคเริ่มต้นงานวรรณกรรมไทยสมัยใหม่

แม้เรื่องราวของท่านอาจจะค่อนข้างถูกหลงลืมในความรับรู้ของคนรุ่นหลังๆ

นักเรียนวิชาครูจากอังกฤษรุ่นแรกๆ ต้นทศวรรษ 2440 รวมทั้งนักทดลองและนักบุกเบิกวรรณกรรมหลากหลายรูปแบบ

นั่นละ เป็นภาพจำของครูเหลี่ยม วินทุพราหมณกุล

ทว่าสิ่งที่ทำให้ชื่อเสียงท่านโดดเด่นขึ้นมาในหมู่นักอ่านหรือผู้ศึกษาทางด้านวรรณกรรมย่อมมิพ้นสถานะผู้สร้างนวนิยายไทยแท้เรื่อง ความไม่พยาบาท

ถ่ายทอดผ่านนามปากกา “นายสำราญ”

ดังเกริ่นไว้ตอนต้น

 

ที่มาของนามแฝง “นายสำราญ” สืบเนื่องจากครูเหลี่ยมเคยออกนิตยสาร สำราญวิทยา และครองตำแหน่งเอดิเตอร์ (ยุคนั้นยังไม่มีคำว่า “บรรณาธิการ” เพิ่งจะมาปรากฏเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบัญญัติขึ้นใช้ช่วงทศวรรษ 2450)

สำราญวิทยา ออกเผยแพร่ครั้งแรกเดือนมกราคม รัตนโกสินทรศก 125 (เทียบวิธีนับศักราชแบบปัจจุบันจะตรงกับเดือนมกราคม พ.ศ.2550 แต่คนอาจเข้าใจผิดได้ว่าตรงกับเดือนมกราคม พ.ศ.2449 นี่แหละจุดพึงระวัง เพราะเดิมทีเมืองไทยเริ่มต้นนับศักราชใหม่ที่เดือนเมษายน)

ลงพิมพ์งานเขียนร้อยแก้วสนุกๆ พร้อมเรื่องแปลของครูเหลี่ยมหลายชิ้น

เป็นต้นว่า “วิวาห์นางปีศาจ”, “ได้เมียเพราะกระดูกแมว” และ “นางแมรีแมคอะลิศเตอร์”

เรื่องหลังสุดระบุตอนท้ายว่าแปลจากต้นฉบับใน “อิงกลิชอิลลัศเตรเต็ดแมกกาซีน ตุลาคม ค.ศ.1904” (ตรงกับ พ.ศ.2447 ส่วน “อิงกลิชอิลลัศเตรเต็ดแมกกาซีน” ก็คือ The English Illustrated Magazine)

พอเลิกออก “สำราญวิทยา” ท่านก็มิวายขะมักเขม้นผลิตงานเขียนและงานแปลจำนวนมากลงตีพิมพ์ในนิตยสารอื่นๆ และจัดพิมพ์หนังสือเล่ม

 

นิตยสารรายเดือน อุตริวิทยา ที่ก่อกำเนิดใน พ.ศ.2455 นับเป็นอีกแหล่งลงพิมพ์ “เรื่องอ่านเล่น” ของครูเหลี่ยม ซึ่งท่านมักจะใช้นามปากกา “นายสำราญ”

เท่าที่ผมเคยอ่านแน่ๆ มี 3 เรื่อง จำชื่อได้แค่ 2 เรื่องคือ “หุ่นคน” และ “ขวัญหายได้ปลื้ม”

แว่วยินชื่อ ขวัญหายได้ปลื้ม มาเนิ่นนานตั้งแต่อายุไม่เต็มยี่สิบ กว่าผมจะค้นพบและได้สัมผัสงานเขียนชิ้นนี้พลันอายุล่วงสู่เบญจเพส

บังเอิญเจอจากหน้ากระดาษกรอบเกรียมในอุตริวิทยา เล่ม 4 ประจำเดือนพฤศจิกายน ร.ศ.133 (ตรงกับ พ.ศ.2457) ราวปลาย พ.ศ.2557 จะว่าไปก็ครบรอบ 100 ปีหลังตีพิมพ์หนแรก

ลองพลิกอ่านดู ถือเป็น “เรื่องอ่านเล่น” อันมีลักษณะเรื่องสั้นหักมุมที่ดีทีเดียว

หาก ความไม่พยาบาท เข้าข่ายนวนิยายไทยแท้ด้วยเหตุผลของการใช้ตัวละครไทย ฉากในเมืองไทย เล่าเรื่องผ่านบรรยากาศแบบไทยๆ

ขวัญหายได้ปลื้ม ก็มิแคล้วเรื่องสั้นไทยแท้เช่นกัน

เพียง “นายสำราญ” หรือครูเหลี่ยมเปิดย่อหน้าแรก ผมก็ชักจะติดใจสำบัดสำนวนทันที

“วันนั้นข้าพเจ้าไปรถไบสิเก้อล์ถึงสระประทุม แลเกินสระประทุมไป แลยังเกินโพ้นไปอีก ถ้ากำหนดเกินอีกได้ก็ยังเกินไปอีก แทบไม่รู้ว่าได้ไปถึงไหนนอกจากที่ซึ่งอยู่ไกลบ้าน เกินสระประทุมไปไกล ทำไมไม่สังเกตว่าไปถึงไหนมันก็เปนเหตุเพราะว่า “ไปเพื่ออะไร” เพราะว่าไปเพื่อหาชิ้น ที่จริงไปตามชิ้น ซึ่งมากับชั้น ชั้นคือสื่อ สื่อเปนชั้นเหมือนคั่นบรรไดก้าวขึ้นไปหยิบชิ้น ตาไม่สังเกตถิ่นเพราะมัวดูแต่ชิ้น ข้าพเจ้ามิได้ตามชิ้นไปจากบ้าน แต่ว่าไปตากอากาศที่สระประทุม พบชิ้นกับชั้นที่นั่นทำชั้นเชิงชวนชม ข้าพเจ้าก็ตามลมตามแล้งไป จะพูดไปแทบกระดาก เพราะชิ้นๆ ชั้นๆ นั่นเขาพาไปไกลละลิ่ว เราหลงไปก็ไม่ได้ไม่ดีอะไรนอกจากที่เขาจะหลอกเอาไปเลี้ยงเหล้าเข้าขนม พอเราเมาซมเขาก็แกะเอาสายนาฬิกา สาธุสะ! ข้าพเจ้าโก้อย่างได้เปรียบ ใส่แต่สายนาฬิกาแต่ตัวนาฬิกาไม่มี เปนเคราะห์ดี หาไม่ตัวนาฬิกาก็หายด้วย อัฐทองแดงในกระเป๋าก็หมด ดีแต่ไม่ใช่เงินหรือธนบัตร์…”

ถ้าไม่ลืมสังเกตจะสะดุดสายตาว่า ทั้งจังหวะจะโคนและลูกเล่นถ้อยคำช่างแพรวพราวเสียนี่กระไร

เสน่ห์สำนวนภาษาของงานครูเหลี่ยมส่วนใหญ่มักจะเขียนร้อยแก้วด้วยจังหวะร้อยกรอง

พิจารณาจากบทเปิดเรื่องย่อมชัดเจน มีการเล่นสัมผัสเสียงและสัมผัสอักษร เฉกเช่น เล่นคำว่า “ชิ้น” ที่ในอดีตหมายถึงคนรัก และจงใจใช้คำว่า “ชั้น” มาสำแดงนัยยะของแม่สื่อ

เพราะ “ชั้น” ก็คือบันได สมดังที่ “นายสำราญ” บรรยายว่า “…ไปเพื่อหาชิ้น ที่จริงไปตามชิ้น ซึ่งมากับชั้น ชั้นคือสื่อ สื่อเปนชั้นเหมือนคั่นบรรไดก้าวขึ้นไปหยิบชิ้น…”

ในความรู้สึกคนไทยยุคก่อนๆ การเรียนรู้อะไรจำเป็นต้องมีบันไดนำไปสู่ จึงไม่แปลกที่ชื่อหนังสือคู่มือแบบเรียนยุคเก่านิยมมีคำว่าบันได มิเว้นกระทั่งความรักก็ต้องมีบันได

นวนิยายเลื่องลือของสันต์ เทวรักษ์ เลยให้ชื่อ บันไดแห่งความรัก

 

“ชิ้น” อันหมายถึงคนรักนั้น อาจินต์ ปัญจพรรค์ เล่าไว้ในหนังสือ โอ้ละหนอน้ำหมึก ตอนหนึ่งว่า

“สมัยโน้น ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง คำว่า “คู่รัก” ในนวนิยายหรือละครเรียกว่า “ชู้รัก” ภาษาตลาดเรียกกันว่า “ชิ้น” คงหมายความถึงของหวานหมูที่จะหยิบใส่ปากได้ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว เห่อคำฝรั่ง กลุ่มที่รู้คำฝรั่งก็ใช้คำว่า “โปร” ซึ่งแปลได้ในอาการว่า “ชอบ” เช่น แม่นั่น “โปร” นายนั่น ก็หมายความว่า แม่นั่นรักชอบนายคนนั้น”

อาจินต์ยังเล่าต่ออีก ครั้นมีหนังฝรั่งเข้ามาบ่อยๆ และชื่อเพลงประกอบหนังมีคำว่า “สวีตฮาร์ต” หรือ “หวานใจ” คำนี้จึงถูกนำมาใช้เรียกคนรักแทน “ชิ้น” และ “โปร” จวบจนช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง มีหนังฝรั่งที่ใช้คำว่า “แฟนาติก” หลั่งไหลเข้ามา

การเรียกคนรักว่า “แฟน” จึงเกิดขึ้นมาแต่บัดนั้นตราบบัดนี้

 

วกกลับมายัง ขวัญหายได้ปลื้ม

ครูเหลี่ยมหรือ “นายสำราญ” ได้บอกเล่าเรื่องของนายเทพที่ขี่จักรยาน ซึ่งเป็นเครื่องแสดงความเป็นคนหนุ่มฟ้อสมัยใหม่ยุคทศวรรษ 2440-2450 ไปไกลพ้นจากแถวสระปทุมเพื่อไปหาหญิงคู่รักและแม่สื่อ

แต่เขาถูกเธอทั้งสองมอมเหล้าเมาสลบไสลก่อนจะขโมยจักรยาน เงินและของใช้

เขารู้สึกตัวอีกทีก็พบว่าตนนอนใน “กระท่อมเป็ด” (เล้าเป็ด) ยามดึกดื่น สภาพแวดล้อมเหมือนบ้านนอกคอกนาต่างจังหวัด

เดินตุหรัดตุเหร่มาตามทางจึงทราบว่าเป็นย่านคลองเตย

ครั้นเห็นแสงไฟจากบ้านตึกสองชั้นตรงชายคลอง เลยข้ามสะพานไปเคาะประตูเรียกขอความช่วยเหลือ

ส่งเสียงหลายนานแต่ไม่มีใครมาเปิดประตูให้ แม้ว่าแสงไฟฟ้าแสงโคมและแสงเทียนจะส่องสว่างราวกับมีคนพำนักอาศัยจำนวนมาก

สักพักมีคนคิ้วดกไว้หนวดเคราผมรกรุงรังสวมหมวกแก๊ปโผล่หน้ามาจากบานหน้าต่างชั้นบนร้องถามว่าใคร? มาด้วยเรื่องอะไร?

พอเขาเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นให้ฟัง คนไว้เคราซึ่งในเรื่องเรียก “ทิดเครา” ก็หลบหน้าไป จากนั้นมีอีกใบหน้าโผล่มา ผมสั้น ไม่มีเครา แต่มีไฝที่แก้ม ในเรื่องเรียก “ทิดไฝ” มาร้องถามไถ่

นายเทพทนยืนหนาวสั่นรอเป็นชั่วโมงกว่าจะมีผู้หญิงสองคนมาเปิดประตูบ้านให้

ตามความรู้สึกของนายเทพ หญิงคนที่แต่งกายเหมือนคุณนายมองจากรูปโฉมหน้าดำแล้วน่าจะเป็นบ่าว ขณะแม่บ่าวรับใช้คนสวยงามขำก็ควรจะเป็นคุณนายเสียมากกว่า

 

ที่สุด นายเทพได้เข้าไปข้างในบ้านตึก ผู้หญิงสองคนชวนเขามานั่งห้องรับแขก ซึ่งเขา “…ได้ยินข้างบนมีเสียงฝีเท้าคนใส่เกือกเดินอยู่ไปมาเปนอันมาก แลมีเสียงตบโต๊ะดังปึงปังแลเสียงถ้วยแก้วแลถ้วยชามกระทบกันอยู่มาก”

ชวนให้เข้าใจว่าข้างบนมีคนเยอะแยะกำลังกินเลี้ยงกัน

สักครู่แม่คนใช้สาวสวยยกสำรับข้าวเย็นหนึ่งก้อนพร้อมกระเทียมดอง ไข่เค็ม ปลาสลิด และมะม่วงอกร่องหนึ่งผลมาวาง

นายเทพกินข้าวเสร็จเอ่ยปากขอมีดปอกมะม่วง แต่หญิงทั้งสองไม่ยอมให้ บอกให้กัดกินกับปากเอง เขาจึงนึกโกรธว่าทำไมต้อนรับแขกได้แย่นัก

นายเทพเขาลอบมองแม่สาวใช้อย่างชมชอบเนืองๆ จวบจนหญิงทั้งสองมาซักถามเกี่ยวกับตัวเขา คนหนุ่มพยายามเขียนการ์ดอธิบายว่าเขาคือบุตรชายคุณนายทิม มีโรงสีริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีห้างใหญ่ตรงถนนเจริญกรุง มีบ้านตึกใหญ่อยู่ถนนสีลม

คุณนายยื่นการ์ดให้สาวใช้อ่านซึ่งเธออดกลั้นยิ้มมิได้

นายเทพขอผลัดผ้าที่เปียกปอนสกปรกมอมแมมและขอพักค้างแรม

ผู้หญิงสองคนจึงให้ขึ้นไปนอนห้องข้างบนแต่ไม่ยอมให้ผลัดผ้า ห้องนอนนั้นทึบและเล็กแคบ ไม่มีไฟให้ใช้

นายเทพจุดไม้ขีดดูพบว่า “ที่นอนเล็กกว้างสักศอกหนึ่งปูอยู่ มีมุ้งเก่ากางไว้ แลมีผ้าห่มนอนเปนผ้าผวยกองอยู่ หมอนก็เก่าดำทุกๆ อย่าง มุ้งหมอนที่นอนผ้าห่มเหม็นสาบทั้งนั้น แลผ้านุ่งที่หล่อนวางไว้ปลายที่นอนนั้นก็มีจริง แต่เก่าแลเหม็นสาบยิ่งกว่าผ้าขี้ริ้ว ข้าพเจ้าแทบไม่อยากจับต้อง”

นั่นยิ่งทำให้เขาทบทวีความโกรธหนักเข้า ตั้งใจว่าจะไม่นอนจนรุ่งเช้า

ตลอดคืนทั้งบ้านยินเสียงเท้าใส่เกือกเดินขวักไขว่ข้างบนและมีเสียงตบโต๊ะเลื่อนเก้าอี้ดังโครมคราม แล้วนายเทพก็ทนความมืดไม่ไหว เขาหมายจะไปเปิดประตูขอแสงไฟมาอ่านหนังสือ

แต่พบว่าตนถูกใส่กุญแจขังไว้ในห้องเสียแล้ว

นายเทพเชื่อว่านี่คงเป็นบ้านโจร บ้านพวกนักเลงแน่ๆ มือควานคลำดูในห้องพบม้วนผ้าแดงธงช้าง เลยนำมาผลัดเป็นผ้านุ่งแทน

นั่งสูบบุหรี่เพื่อผ่อนคลายความโมโห และหยิบมีดพับในเสื้อมาติดมือ เขาสูบบุหรี่เพลินๆ จนเผลอม่อยหลับไปนาน รู้สึกตัวอีกทีด้วยยินเสียงอื้ออึงและเสียงห้าวของผู้ชายว่า “จับมันได้แล้ว เจ้าคุณกับในกรมท่านช่วยเต็มมือมันหนีไม่รอด”

นายเทพก็ได้แต่นึกสงสัยว่าจับใครที่ไหนกัน

รุ่งเช้ามีเด็กยกอ่างน้ำ สบู่หอมๆ และผ้าผ่อนดีๆ มาให้นายเทพล้างหน้าล้างตาและผลัดผ้า ด้วยความโกรธเกรี้ยว พอเขาออกจากห้องได้ก็รีบบึ่งๆ หาหนทางกลับบ้าน

ระหว่างนั้น ได้ยินเสียงเคาะหน้าต่างข้างบนจึงเหลียวหลังมาดูเห็นผู้หญิงเมื่อคืนทั้งสองคนส่งยิ้มให้อยู่

แต่ด้วยความโกรธ นายเทพรีบเร่งเดินข้ามสะพานข้ามคลองไป เจอรถม้าจอดอยู่ เอ่ยปากถามว่ารถใคร ได้ความว่าของบ้านตึก แต่ถ้าจะให้ไปส่งก็ได้

เขาก็ขึ้นรถม้าไปยังสีลม

 

นายเทพซื้อรถจักรยานใหม่ และได้ปั่นเที่ยวไปไหนต่อไหน แต่ไม่เคยโผล่ไปทางแถวๆ คลองเตยหรือสระประทุมอีกเลย

เขาหวนนึกถึงดวงหน้าแม่สาวใช้คนสวยเสมอ แต่อีกใจก็แค้นเคืองคุณนายเจ้าของบ้านตึก

ล่วงผ่านมากว่าสองอาทิตย์ มีคนนำเอาจดหมายมาให้นายเทพ เปิดซองอ่านมีใจความว่า

“คนที่ดีมีคารวะจะไปก็ลา จะมาก็ไหว้ ตัวคุณไม่ล่ำลามาเสียเฉยๆ ไม่รู้จักขอบใจ ความเอื้อแก่กันมันไม่ต้องมาก หากแต่ให้กันแต่ผ้าสักท่อน หมอนสักใบ หรือเซ็นสักเล่มก็นับเอาเปนดี นี่คุณมากินนอนแล้วก็หนีไป ช่างไม่อาไลยบ้างเลย ยังกลับแทนคุณโดยนินทากันก็ได้ ดิฉันยังไม่ทันจะขอสะมาคุณเลย คุณก็หนีหน้าไปเสีย” ลงชื่อท้ายฉบับว่า “คุณนาย”

นายเทพยังคงเฉยไม่ยอมแวะไปหาคุณนาย จนวันหนึ่งเขาขี่จักรยานมาฟังดนตรี เห็นรถยนต์ขับผ่านถนนไปจอดตรงมุมหนึ่ง

จึงนึกประหลาดใจเพราะตัวนายที่นั่งในรถคือสาวใช้คนงามแต่งกายสวยๆ ที่บ้านตึกคลองเตย

และตัวคุณนายบัดนี้นั่งอยู่เป็นบ่าว คนขับรถยนต์ซึ่งเป็นคนเดียวกับที่ขับรถม้ามาส่งได้เข้ามาเชิญชวนให้นายเทพเดินไปที่รถยนต์

แล้วผู้หญิงหน้าดำก็ถามว่า “ได้รับจดหมายแล้วหรือคะ” เขาคำนับรับว่าได้รับแล้วคุณนาย

แต่หล่อนพูด “ดิฉันไม่ใช่คุณนาย นั่นเปนคุณนาย” พร้อมชี้ไปที่แม่สาวคนสวย นายเทพเลยถามทำนองนี่อย่างไรจึงกลับเป็นบ่าวเป็นนายกัน

มิทันขาดคำ คุณนายตัวจริงคนสวยก็ว่า “จงไปบ้านฉันเถิด ฉันจะบอกให้ในสิ่งซึ่งคุณเทพฉงนนั้น จงไปเย็นพรุ่งนี้ ฉันจะพบที่หลังบ้าน”

รถยนต์ออกแล่นไป แม่สาวคนสวยหันมาย้ำ “ถ้าไม่ไปก็โกรธกัน ฉันมีความคิดถึง”

นายเทพยืนตะลึง เขาไม่ทันบอกว่าเขาเองก็คิดถึงหล่อนเหมือนกัน

 

เย็นวันถัดมา นายเทพก็เดินทางไปพบคุณนายที่บ้านคลองเตยพร้อมกับสหายซึ่งแอบพกปืนซ่อนไปด้วย

หากวันนั้น คุณนายต้อนรับและเจรจรากับแขกอย่างอ่อนหวาน

ทางฝ่ายหญิงบ่าวหน้าดำที่ชายหนุ่มเคยเข้าใจว่าเป็นคุณนาย เธอก็ดูแลปรนนิบัติต่อผู้มาเยือนดีเยี่ยม

นายเทพได้ล่วงรู้ว่าแม่สาวคนสวยคุณนายตัวจริงชื่อแม่บุญ บุตรีพระ ป.

หล่อนอธิบายว่าในคืนที่ชายหนุ่มไปขอค้างนอนนั้น มีนักโทษฉกรรจ์หลบหนีมาเพื่อจะทำร้ายคุณพระผู้บิดา และคุณพระได้ออกไปตามจับกุมคนร้ายพร้อมเจ้าหน้าที่ ทั้งบ้านเหลืออยู่แต่ตัวหล่อนกับแม่แป้นหญิงบ่าว

ครั้นยามดึกหล่อนนึกว่าผู้ร้ายมาเรียกให้เปิดประตูเพื่อทำร้าย จึงไขไฟฟ้าให้สว่าง เปิดหน้าต่างชั้นบนทุกบานแสดงให้รู้ว่าที่บ้านมีคนอยู่ครึกครื้น

แม่บุญสยายผมใส่หนวดเคราโผล่จากหน้าต่างมาถามความ และแม่แป้นผู้มีผมสั้นก็ติดหนวดแต้มไฝโผล่มาด้วย หมายลวงผู้ร้ายว่ามีผู้ชายอยู่ในบ้าน

พอทั้งสองแต่งกายกลับเป็นหญิงแล้วมาเปิดประตูบ้าน เห็นนายเทพในสารรูปเปื้อนเปียกจึงคิดว่าใช่ผู้ร้ายหนีมาแน่ๆ เลยออกอุบายให้เข้าไปในห้องแล้วใส่กุญแจกักตัวขังไว้รอจนกว่าจะรุ่งเช้าให้คุณพระมาจัดการ

ตกดึกแวะย่องมาฟังดูที่ประตูด้วยอยากรู้ว่าผู้ร้ายทำอย่างไรบ้าง และที่มีเสียงคนเดินเกือกสนั่นไปมาเพราะแม่บุญกับแม่แป้นใส่เกือกเดินย่ำ พร้อมลากเก้าอี้และตบโต๊ะอึงคะนึง เพื่อลวงผู้ร้ายให้เข้าใจว่ามีคนอยู่ในบ้านเยอะแยะ

จนเมื่อคุณพระกลับมาบอกว่าจับผู้ร้ายได้แล้ว หล่อนจึงรู้ว่านายเทพหาใช่ผู้ร้ายไม่ อุตส่าห์หาอ่างล้างหน้าและผ้าผ่อนดีๆ สั่งเด็กยกขึ้นมาจัดวางให้

แต่นายเทพโกรธหนักรีบหนีไปก่อน

 

“นายสำราญ” ปิดท้ายเรื่อง ขวัญหายได้ปลื้ม ดังนี้

“หล่อนว่า ขอโทษฉันทีที่เขลาปัญญา

ข้าพเจ้าว่า ขอโทษทีที่คุมแค้นหล่อน

หล่อนว่า ถึงขวัญหายก็ได้ปลื้ม

ข้าพเจ้าก็เข้าประคองรับขวัญแม่งามปลื้ม”

เป็นอันว่า เรื่องราวของนายเทพจบลงอย่างมีความสุข จากที่โดน “ชิ้น” และ “ชั้น” หลอกไปมอมเหล้าปลดทรัพย์ จนไปถูก “แม่บุญ” และ “แม่แป้น” ลวงด้วยความที่เจ้าหล่อนเข้าใจผิด ในที่สุด บุตรชายคุณนายทิมก็ได้พบรักครั้งใหม่ มี “ชิ้น” คนใหม่หน้าตาสะสวย เป็นบุตรีคุณพระแห่งบ้านตึกแถวคลองเตย ถึงจะโดนหลอกลวงให้ขวัญหาย แต่ตอนท้ายก็ได้ปลื้มปริ่มอิ่มเอมหทัย

“ขวัญหายได้ปลื้ม” จึงเป็นเรื่องสั้นหักมุมที่อ่านได้เพลิดเพลิน

ผ่านการปรุงอรรถรสโดยครูเหลี่ยมหรือหลวงวิลาศปริวัตร

และถ้าไม่มุ่งอ่านแค่ในฐานะ “เรื่องอ่านเล่น” แล้ว บางทีเราอาจมองทะลุถึง “การละเล่น” ของผู้ประพันธ์ที่แฝงเร้นแง่มุมน่าศึกษา น่าแกะรอย

ทั้งในตัวบทวรรณกรรมและบริบททางประวัติศาสตร์ได้อย่างเป็นชิ้นๆ เป็นชั้นๆ