วอชเชอร์ : ‘ไทย’ มอง ‘ฮ่องกง’ ทุกเหตุการณ์ล้วนมีจุดเริ่มต้น

นับเป็นเวลา 2 เดือนเต็มๆกับสถานการณ์ชุมนุมประท้วงรอบล่าสุดของฮ่องกง โดยแนวร่วมชาวฮ่องกงสวมเสื้อดำ ปักหลักชุมนุมประจัญหน้ากับตำรวจตั้งแต่ย่านมงก๊ก เซ็นทรัล จนถึงภายในสนามบินฮ่องกง จากข้อเรียกร้องถอดถอนกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน ขยายตัวกลับไปสู่ข้อเรียกร้องให้ผู้บริหารฮ่องกงต้องถูกเลือกโดยประชาชนฮ่องกงเท่านั้น

สเปรย์พริกไทย แก๊สน้ำตา กระสุนยาง ร่ม เลเซอร์พอยเตอร์ สื่อทางการจนถึงโซเชียลมีเดีย ถูกใช้ในการประท้วงครั้งนี้มากกว่าตอนชุมนุมของขบวนการร่มเหลืองปี 2557 และต่างจากคราวก่อนที่ ทำเอารัฐบาลจีนตัดสินใจส่งกำลังพลไปรอที่เมืองเซิ่นเจิ้นพร้อมหยั่งเชิงว่า ฝ่ายบริหารเกาะฮ่องกงจะเอาอยู่หรือไม่

ถึงจุดนี้ การชุมนุมของฮ่องกงก็อยู่ในสายตาทั่วโลก รวมถึงไทยว่า ที่สุดแล้ว ตอนจบของเรื่องจะออกมารูปไหน ไม่ว่าจบดีหรือไม่ เหตุการณ์บนเกาะที่ถูกยกให้เป็นศูนย์กลางการเงินโลกจะเป็นจุดเปลี่ยน

 

น่าแปลกที่การชุมนุมของฮ่องกง มีการนำมาเทียบเคียงกับการชุมนุมในไทย ไม่ว่าการชุมนุมในสนามบิน หรือบนท้องถนน พร้อมแสดงความคิดเห็นเชิงถากถางกลุ่มการเมืองฝ่ายต่างๆของไทย เช่น เอามาโยงว่าแนวคิดการชุมนุมในฮ่องกงเหมือนกับพวกชังชาติในไทยที่กำลังพยายามทำ เป็นการจับแพะชนแกะให้เป็นเรื่องเดียวกัน ทั้งที่เป็นคนละเรื่อง

เหตุการณ์ชุมนุมในไทยหรือฮ่องกง มีความต่างอยู่มาก ไม่นับถึงสถานะของประเทศไทยกับเขตปกครองพิเศษฮ่องกงที่มีข้อแตกต่างกันมากมาย จึงเกิดคำถามว่า เอาประเทศที่ยังคงเรียกตัวเองว่าเป็นประเทศกำลังพัฒนามาหลายสิบปี มาเทียบกับศูนย์กลางทางการเงินอันดับต้นของโลกได้ยังไง

ดังนั้น ก่อนจะเอามาเทียบเคียง ควรศึกษาที่มีที่ไป บริบทต่างๆ และสถานการณ์นอกเหนือจากตามเนื้อหารายงานข่าวให้ละเอียดมากกว่านี้

 

แต่หากจะเทียบสภาพที่ดำรงอยู่ในสังคมทั้งฮ่องกงและไทยที่พอเทียบเคียงกันได้คือ ความเหลื่อมล้ำทางสังคม และอาจเป็นเชื้อไฟที่รอเพียงแค่ใครจุดไฟให้ปะทุขึ้นมา

จุดเริ่มต้นของฮ่องกงอาจมาตั้งแต่การส่งมอบคืนเกาะให้กับจีนในปี 1997 ภายใต้เงื่อนไขหลักการ 1 ประเทศ 2 ระบบจนถึงปี 2047 ฮ่องกงแม้สถาบันฝ่ายบริหารจะขึ้นตรงกับรัฐบาลจีน แต่ด้วยเกาะที่เป็นเมืองนานาชาติ ทำให้นโยบายเศรษฐกิจถือว่าเสรีมาก เงินทุนหลั่งไหลเข้าสู่ฮ่องกง และเป็นรายได้ให้กับรัฐบาลจีน ทำให้เกิดนโยบายเอื้อต่อทุนใหญ่ และนำไปสู่การเก็งกำไรที่ดินบนเกาะนี้ในระดับสูง แม้มีขนาดไม่กี่ตารางวา ราคาซื้อขายอาจสูงถึงหลักล้าน

ราคาที่ดินที่สูงขึ้นติดอันดับโลก ประชาชนฮ่องกงส่วนใหญ่ต้องอยู่ในอพาร์ตเม้นต์ที่ห้องมีขนาดเท่ารูหนูหรือกรงสุนัข ผิดกับมหาเศรษฐีฮ่องกง ตามรายงานของออกซ์แฟมปีที่แล้ว มีคนรวยจำนวน 67 คน ถือครองทรัพย์สินรวมกัน 3.34 แสนล้านดอลลาร์ฮ่องกง ในขณะที่ชาวฮ่องกง 1.37 ล้านคน อยู่ต่ำจากเส้นแบ่งความยากจน

ส่วนของไทย รายงานความมั่งคั่งของปีที่แล้ว ระบุประเทศไทยเหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลก คนรวย 1% ถือครองทรัพย์สินรวมกันเกินครึ่งเมื่อเทียบกับทรัพย์สินทั้งประเทศ

นอกจากภาวะเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ กรณีเลือกตั้งทางอ้อมที่นำไปสู่ชุมนุมร่มเหลืองปี 57 และการผลักดันกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนจนเกิดการประท้วงครั้งใหญ่ล่าสุด ก็อาจถูกมองว่าเป็นความเหลื่อมล้ำทางการเมือง อย่างระบอบการปกครองที่่รัฐบาลจีนพยายามทำต่อฮ่องกง

ถ้าคิดว่าไทยมีสิทธิ์จะเกิดขึ้นชุมนุมเหมือนฮ่องกงได้หรือไม่ ไม่มีทางรู้ได้ แต่ปัญหาที่เผชิญอยู่เหมือนกันนี้ หากช่องว่างยิ่งห่าง ความเหลื่อมล้ำไม่ลดลง ความเป็นได้ย่อมมี

เหลือเพียงแต่เหตุการณ์อะไรที่จะเป็นชนวนเหตุให้คนโกรธเกินทน เลิกบ่นผ่านโซเชียลมีเดียแล้วพาตัวลงท้องถนน