อภิปรายนโยบาย (นอก) สภา กับ “ศิริกัญญา ตันสกุล” สาวนักวิจัย สู่ ส.ส.รุกกี้พรรคอนาคตใหม่

วันแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาวันที่ 2 เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ส.ส.ฝ่ายค้านทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ได้ออกมาโชว์ฝีมืออภิปราย ไม่ว่าการใช้ฝีปากซัดตัวบุคคลในรัฐบาลจนโต้ตอบกันอย่างดุเดือด หรืออภิปรายชี้แจงแบบละเอียดยิบ จนสื่อหลายสำนักยกให้เป็นดาวสภา

ในจำนวนนี้ยังมี น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.หญิงจากพรรคอนาคตใหม่ พรรคการเมืองใหม่ที่ได้รับความนิยมจนครอง ส.ส.มากถึง 80 ที่นั่ง ปรากฏตัวในสภาด้วยมาดนิ่งๆ สายตาแน่วแน่ อภิปรายนโยบายเศรษฐกิจพร้อมโชว์ข้อมูลแน่นด้วยน้ำเสียงราบเรียบ จนเปลี่ยนรัฐสภาเวลานั้นกลายเป็นชั้นเรียนบรรยาย

จากนั้นไม่นาน ก็ออกมาตอบโต้คำชี้แจงนโยบายเศรษฐกิจของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี อย่างดุเดือดว่าสิ่งที่สมคิดพูดกับข้อเท็จจริงคืออะไร พร้อมด้วยข้อมูลอ้างอิงรองรับ

ถือเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ที่กำลังสร้างบรรทัดฐานการเมืองไทยในแบบที่อยากให้เป็น

 

ชีวิต “จับผลัดจับผลู” ของศิริกัญญา

ศิริกัญญาได้เล่าย้อนชีวิตก่อนมาเป็นนักการเมืองด้วยอิริยาบถสบายๆ และสีหน้ายิ้มแย้ม ผิดกับตอนอยู่ในสภาด้วยสีหน้าเคร่งขรึมว่า เริ่มต้นจากทำงานในฐานะทีมงานของพรรคอนาคตใหม่ ก่อนได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายนโยบาย และได้รับการทาบทามเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จนได้เป็น เรียกว่าเป็นการจับผลัดจับผลูทางการเมืองเหมือนกัน เพราะการเป็นเจ้าหน้าที่ก็เหมือนอยู่หลังบ้านพรรค ไม่เคยคิดว่าจะต้องเข้าสู่เส้นทางนี้ แต่พอคุณธนาธร (ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่) ซึ่งฝ่ายนโยบายนั้นขึ้นตรงกับเขา และร่วมงานกันมาซักพักจนถูกทาบทาม

“ก็ใช้เวลาชั่งใจคิดเหมือนกัน วนไปวนมาว่าจะทำยังไงกันต่อ เพราะว่าการเข้าสู่วงการการเมือง ก็มีราคาที่ต้องจ่ายในฐานะเป็นนักวิชาการ ซึ่งพอเป็นนักการเมืองแล้ว ความเป็นอิสระหรือความน่าเชื่อถือทางวิชาการจะถูกสังคมมองว่าถดถอย เพราะสิ่งที่เราพูดจะแอบแฝงการเมือง ดิสเครดิตฝ่ายตรงข้ามหรือเอื้อฝ่ายเดียวกัน”

ศิริกัญญากล่าวอีกว่า หลายคนพูดด้วยความกังวลว่า จะกลับไปวงการวิชาการอีกไม่ได้แล้วนะ แต่เราคิดว่าเป็นโอกาสที่ดี และอยู่ในพรรคที่มีอุดมการณ์ที่เราสนับสนุน

คุณธนาธรเคยกล่าวเสมอว่า ถ้าอยากเปลี่ยนแปลงอะไร ก็ต้องเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงนั้น แล้วคิดว่าที่ผ่านมาเราทำได้อย่างที่เราคิดว่า อย่างน้อยภูมิทัศน์ในสภามีการเปลี่ยนแล้ว นับตั้งแต่เราเข้าไปสร้างสีสัน เพราะไม่มีใครอภิปรายแนวนี้

 

 

คลังความคิดในไทย :
ทางเลือกน้อย-
ความคิดไม่หลากหลาย

ก่อนหน้านี้ หลังเรียนจบปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยตูลูส ประเทศฝรั่งเศส ศิริกัญญาได้ร่วมงานในฐานะนักวิจัยที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) จากนั้นร่วมงานเป็นเจ้าหน้าที่วิจัยรุ่นบุกเบิกของสถาบันอนาคตไทยศึกษา และลาออกในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายวิจัยและนักวิจัยอาวุโส ออกมาทำงานเป็นที่ปรึกษาก่อนตัดสินใจร่วมงานกับพรรคอนาคตใหม่

“หากเรามองภูมิทัศน์ด้านคลังความคิดในไทย ก็พบว่ามีตัวเลือกน้อยเกินไป เพราะว่าคลังความคิดเจอความท้าทายมากมาย ทั้งรูปแบบธุรกิจที่คลังความคิดจะต้องเลี้ยงตัวเองได้ เป็นความท้าทายใหญ่ หลายครั้งในเรื่องการหารายได้ ก็ทำให้เราไม่สามารถกำหนดโจทย์วิจัยด้วยตัวเองได้ ตอนอยู่ทีดีอาร์ไอ ก็รับงานจากหน่วยงานราชการเป็นหลัก ไม่ได้กำหนดจากเราเอง ทำให้คลังความคิดหลายแห่งไม่สามารถทำงานโจทย์วิจัยระยะยาว แต่โชคดีที่ตอนอยู่สถาบันอนาคตไทยศึกษา ซึ่งมีรายได้จากการบริจาค ทำให้สามารถกำหนดโจทย์วิจัยได้เอง ไม่ต้องพึ่งพารายได้จากหน่วยงานรัฐ ทำให้จุดยืนและการค้นพบไม่ต้องเกรงใจใคร” ศิริกัญญา กล่าวถึงสภาพการทำงานในฐานะนักวิจัย

ไหมอยากเห็นคลังความคิดในไทยมากขึ้น เพราะตอนนี้ ถ้าเราอยากได้คำปรึกษา แต่พอมองไปก็มีไม่กี่แห่ง ถ้าเกิดไม่แตกต่าง ไม่หลากหลาย พอเวลาถกเถียงประเด็นอะไรก็ได้ในมุมมองที่ไม่ได้แตกต่างมาก

 

นโยบายแบบ “ศิริกัญญา”

ศิริกัญญากล่าวว่า นโยบายที่ดีจะต้องอยู่บนข้อเท็จจริงด้วยข้อมูล หลังผ่านสายงานวิจัยมาครึ่งชีวิต ก็เห็นแล้วว่า หลายครั้งนโยบายที่เกิดขึ้นหรือรัฐบาลเอามาใช้ไม่ว่าโดยตั้งใจหรือไม่ ไม่ได้ตั้งบนฐานของข้อมูล อาจเกิดจากวิสัยทัศน์ของผู้นำรัฐบาลแล้วค่อยออกมาเป็นนโยบาย แต่ไม่สามารถขับเคลื่อนด้วยข้อเท็จจริงได้เพราะ ภาครัฐละเลยเก็บข้อมูลมานาน แล้วพอไม่ได้เก็บข้อมูล ตอนทำนโยบายก็ไม่ได้ใช้ข้อมูลที่เป็นจริง ใช้แต่เท่าที่มี หรือใช้ไปไม่ได้มีผลตอบรับว่าเราจะพัฒนาถังข้อมูลยังไง

ที่แย่ที่สุดคือ ไม่มีการประเมินผลอย่างจริงจังของนโยบายรัฐบาลว่า บทเรียนจากการทำนโยบายต่างๆถูกเอาไปกลับแก้ไขเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง พอรัฐบาลหนึ่งทำแบบนี้ รัฐบาลใหม่ก็ไม่อยากที่จะเดินตามรอย ก็บอกมีทางเลือกใหม่ แต่ไม่ได้วิเคราะห์ที่ผ่านมาว่าไม่ดีหรือแก้ไขยังไง หรืออยากทำซ้ำแต่อยู่คนละพรรคก็ใช้เปลี่ยนชื่อ แต่ไม่มีการเก็บข้อมูลหรือประเมิน

ฉะนั้น จึงต้องอาศัยเจตจำนงทางการเมืองหรือรัฐบาลที่กดดันฝ่ายข้าราชการทำหน้าที่นี้อย่างจริงจัง แต่อาจเพราะกังวลที่ต้องทำเรื่องระยะสั้น เรื่องวางรากฐานจึงถูกละเลย ซึ่งต้องให้สำคัญเหมือนกัน

 

กว่าจะมาเป็นนโยบาย
แบบ “พรรคอนาคตใหม่”

ศิริกัญญาได้อธิบายขั้นตอนการทำนโยบายของพรรคว่า กระบวนการนี้เริ่มจากการตั้ง “วงนโยบาย” ที่สนใจเรื่องนั้นๆนำเสนอเรื่องขึ้นมา และส่งให้คณะกรรมการบริหารพิจารณาว่าใช้นโยบายไหน ซึ่งตัวเองทำหน้าที่แค่เจียระไนสิ่งต่างๆที่ส่งเข้ามาและพยายามทำโดยมีข้อมูลรองรับ เม็ดเงินต้องใช้เท่าไหร่ เพื่อให้นโยบายสมบูรณ์แบบ

“ต้องยอมรับว่า พรรคเจอกระแสนี้จริงๆ ซึ่งเป็นเรื่องดีที่คนสนใจนโยบายในการหาเสียงมากกว่าตัวบุคคล แต่บางครั้งเราติดหล่มกับตลาดการเมือง และจำเป็นต้องคิดคำที่ต้องติดตลาดคนจดจำได้ อีกทั้งกลยุทธ์ตอนนั้น หากคิดว่าเราเป็นสินค้า เราก็เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เราอาจขายที่คุณสมบัติสินค้าหรือเน้นสร้างแบรด์ สร้างภาพจำของแบรนด์พรรคก่อน จึงค่อนข้างให้เวลากับการสร้างแบรนด์ มากกว่านโยบายที่ละเอียดชัดเจน เช่น กองทุนหมู่บ้านหรือหวยบำเหน็จ ถ้าเป็นแบรนด์ที่อยู่มานานก็ทำแบบนั้นได้ แต่เราเน้นสร้างภาพลักษณ์ของสินค้าก่อน” ศิริกัญญากล่าวถึง เบื้องหลังการตัดสินใจท่ามกลางเสียงเรียกร้องให้เร่งเปิดนโยบายและว่า ดังนั้นจึงเห็นนโยบายพรรคอนาคตใหม่ที่เป็นแบบแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ปฏิรูปองค์กรต่างๆ เป็นภาพลักษณ์นโยบายก้าวหน้าและไม่เคยถูกหยิบยกมาก่อน ซึ่งไม่เหมือนใครในตอนนั้น

แต่ในอีกมุม คนจะมองว่าเป็นนามธรรม ไม่เห็นว่าประชาชนจะได้อะไร แต่เราก็ยอมเสี่ยงทางนั้น และสร้างแบรนด์ได้สำเร็จ ส่วนการเลือกตั้งครั้งถัดไป เราก็หันไปนโยบายที่เป็นรูปธรรม เพราะตอนนี้คนเลือกพรรคแล้ว

 

นโยบายพรรคอนาคตใหม่
มีทั้งสำเร็จและต้องปรับปรุง

ศิริกัญญายอมรับว่า ส่วนหนึ่งก็เป็นเรื่องของโชคด้วยและสิ่งที่เราทำได้ดีคือ แบรนด์แอมบาสเดอร์ของพรรคอย่าง “ธนาธร-ปิยบุตร-พรรณิการ์” เป็นตัวแทนภาพลักษณ์ของพรรคที่เราทำได้ดี แต่คิดว่าสามารถพัฒนาตัวนโยบายให้ลึกและมากกว่านี้

แต่เพราะข้อจำกัดของเวลา ด้วยพรรคเพิ่งตั้งได้ไม่นานและแรงกดดันจากสังคม ทำให้พรรคต้องออกมาเปิดตัวนโยบายก่อนพรรคการเมืองอื่น ระยะเวลาในการทำงานจริงๆจึงน้อยมาก เราไม่สามารถเอามาเป็นข้อแก้ตัวได้ แต่จะเก็บเอามาแก้ไขว่าครั้งต่อไปทำยังไงบ้าง จะสามารถมีเวลามากขึ้นไหมก่อนเปิดนโยบาย ค่อยๆเปิดรายละเอียด

จริงๆหลายคนใหม่กันหมด ไม่เคยอยู่พรรคการเมืองไหนมาก่อน

 

นโยบายเศรษฐกิจไทยในรอบทศวรรษ
บอกอะไรได้บ้าง?

ศิริกัญญากล่าวว่า ความไม่แน่นอนทางการเมืองในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา แม้ว่ากระแสสังคมหรือรัฐบาลก็ดีจะพูดถึงการปฏิรูปโครงสร้าง พูดตลอด แต่พอทำจริงก็ต้องยอมรับว่ามีเรื่องระยะสั้นให้ทำตลอด แต่ไม่มีรัฐบาลไหนที่คิดจะทำพื้นฐานหรือปฏิรูปโครงสร้างที่ต้องใช้ความกล้า

ไม่ว่ารัฐบาลเสียงข้างมากหรือรัฐบาลทหารที่ไม่ต้องฟังเสียงใคร แต่นโยบายออกมาคล้ายกันหมดคือ “ลด-แลก-แจก-แถม” นานๆ จะมีนโยบายเชิงปฏิรูป เหมือนเริ่มต้นดีแต่สุดท้ายล้มเหลว เช่น ปฏิรูปภาษี เก็บได้น้อยมาก ไม่ตอบโจทย์ทำรายได้เข้ารัฐ ไม่ได้เพิ่มรายได้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ได้คุมประสิทธิภาพในการถือครองที่ดินกับคนที่ถือครองไว้เก็งกำไร

ซึ่งน่าเสียดายมาก

 

เรื่องที่ไม่ได้พูดในการอภิปรายสภา
วันแถลงนโยบาย

ศิริกัญญายังได้กล่าวถึงเรื่องที่ไม่ได้อภิปรายในรัฐสภาว่า มีเรื่องที่อยากพูดอย่างนโยบายการคลัง ซึ่งรัฐบาลก็ยอมรับกลายๆ ว่ามีความท้าทายในการจัดเก็บภาษีอยู่ แล้วแสดงให้เห็นว่าพวกเขามีปัญหาในการประมาณการภาษีผูกกับจีดีพี ซึ่งยังไงก็พลาดเป้า เพราะจีดีพีไม่ได้สะท้อนตัวเลขที่แท้จริง

อย่างส่วนใหญ่ได้จากภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ว่าการบริโภคของประชาชนไม่ได้โตในทุกชนชั้น ทำให้เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ได้อย่างที่คิด ส่วนภาษีเงินได้ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับจีดีพี ค่าจ้างและเงินเดือนไม่ขึ้นก็เก็บได้น้อย

ไม่ต้องพูดถึงที่ไม่ประมาณการว่าสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่คุณแจก ต้องแจกปีละเท่าไหร่ ถ้าเกิดปีนี้เงินเยอะขึ้นแต่ไปซื้อ LTF/RMF เพิ่มขึ้น คุณจะเก็บเงินได้อย่างเดิมหรือไม่ ได้มีประมาณการชัดๆไหม เพราะจะได้รู้ว่า เวลาให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ผลกระทบคืออะไร และอะไรเป็นสิ่งที่ต้องเฝ้าระวัง

สิ่งที่เรากังวลก็คือ ถึงจะบอกว่าหนี้สาธารณะของคุณยังอยู่เกณฑ์รับได้ แต่ว่ามีระเบิดเวลารออยู่ น่าเสียดายที่หม่อมเต่า (ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน) นั่งอยู่แต่ไม่ได้พูด สิ่งที่ท่านควรจะพูดคือมีระเบิดเวลาลูกใหญ่คือ ประกันสังคมที่กำลังจะขาดทุนในอีกราว 20 ปีข้างหน้า กำลังจะล้มละลาย และจะเกิดขึ้นอีกไม่นาน ถ้าเกิดรอให้เหมือนเป็นรัฐบาลเก้าอี้ดนตรี ว่าใครที่นั่งเป็นรัฐบาลแล้วค่อยแก้ ก็ดูจะโหดร้ายกับประเทศและประชาชนที่เสียภาษีไป เพราะตอนนั้นหนี้จะบานแล้ว สุดท้ายคือต้องเก็บภาษีเพิ่มขึ้น ทำไมไม่ปฏิรูปเสียตอนนี้ และเป็นโอกาสดีที่หม่อมเต่ามีประสบการณ์และนั่งคุมแรงงานซึ่งคุมประกันสังคม ต้องมีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้เพื่อความยั่งยืนทางการคลัง

อย่างที่สองคือ การใช้นโยบายกึ่งการคลัง มีอีกหลายเรื่องที่แม้สภาจะสามารถผ่านพ.ร.บ.งบประมาณประจำปีได้ แต่มีอีกหลายอันที่เราไม่มีทางตรวจสอบได้ เช่นการใช้กลไกของธนาคารของรัฐ อย่าง ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือธนาคารเพื่อการเกษตรฯ ใช้วิธีการที่ให้นโยบายออกไป อย่างสมมติมีนโยบายเกษตรตัวหนึ่ง ธกส.ออกเงินไปก่อนแล้วค่อยตั้งงบประมาณเพื่อคืน ธกส. ทำให้ในปีนั้นก็จะไม่มีโครงการงบประมาณนี้เกิดขึ้น สภาจะไม่มีสิทธิรับรู้รับทราบ มารู้ทีหลังก็ตอนใช้หนี้ ธกส. ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ เราไม่สามารถตัดตรงส่วนนั้นได้เลย เป็นช่องโหว่ทางการคลัง ที่พวกเขาสามารถใช้วิธีนี้ผ่านนโยบายที่ไม่สามารถตรวจสอบงบประมาณได้ และรู้ว่าด้วยข้อจำกัดไม่มีงบประมาณจะใช้

แล้วพ.ร.บ.วินัยการคลัง ก็เขียนแบบมัดตัวเองแน่น ไม่ว่างบขาดดุลต้องขาดดุลไม่เกินเท่าไหร่ และงบขาดดุลต้องใช้ในลงทุนเท่านั้น คงไม่รู้ว่าตัวเองจะต้องกลับมาเป็นรัฐบาลอีก ก็เลยยอมออกพ.ร.บ.วินัยการคลังที่หนาแน่น จนล่าสุด มีกรอบบางตัวที่อยู่ในอำนาจหน้าที่คณะกรรมการนโยบายวินัยการคลังซึ่งสุดท้ายออกมาขยายขอบเขตให้ตัวเอง คือการก่อหนี้ผูกพันที่ไม่ได้อยู่ในงบประมาณ จากเดิมไม่เกิน 5% พอเจอกรณีลงทุนทางเชื่อมรถไฟ 3 สนามบินซึ่งรัฐต้องควักเงินเพิ่มอีกแสนล้าน กรอบตรงนี้จึงอยู่ไม่ได้และขอเพิ่มเป็น 8% ซึ่งรู้สึกว่า ถ้าทำอย่างนี้ก็ง่ายสิ เขียนๆใส่ไป พออะไรไม่ได้ก็มาใส่เพิ่มก็ได้เหรอ

นอกจากธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ก็มีกองทุนหมุนเวียน เป็นช่องทางที่ครม.เศรษฐกิจ เรียกว่าเป็นมรดกตั้งแต่รัฐบาลไทยรักไทย ซึ่งทักษิณชอบใช้เพราะมีความคล่องตัวสูง ได้เงินเป็นก้อนแล้วค่อยเอาไปจัดสรรและรายงานภายหลัง ซึ่งสภาไม่ได้ตรวจสอบ และครม.เศรษฐกิจชุดนี้ก็ชอบเมื่อปีที่แล้ว เช่น ออกกองทุนเอสเอ็มอี 2 หมื่นล้าน กองทุนประชารัฐ 4 หมื่นล้าน กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอีก 1 หมื่นล้าน ซึ่งพยายามทำแบบนี้มาโดยตลอด และข้ามหัวสภาไปเลย

รู้สึกเสียดายมากที่ไม่ได้พูดตอนนั้นทั้งที่สำคัญมาก

 

“แก่และจน” กำลังมาแล้ว นโยบายรัฐบาลหลายชุดก่อนหน้าแก้ถูกทางไหม รัฐบาลปัจจุบันพร้อมรับมือแค่ไหน?

ศิริกัญญากล่าวถึงความท้าทายใหม่นี้ว่า ถ้าจะแก้ไม่ถูกทางอย่างเดียวคือ ไม่สามารถทำให้เรารวยก่อนที่จะแก่ได้ แต่ก็ยังเป็นจิ๊กซอว์หนึ่งที่เราต่อไม่ได้ว่าสุดท้ายทำไมประชากรถึงแก่ไว จะเป็นหลายนโยบายเกี่ยวเนื่องกันหรือไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป ทั้งที่ไม่ได้มีนโยบายลูกคนเดียวเหมือนจีน แต่ทำไมอายุขัยเฉลี่ยถึงน้อยกว่าจีน มาตอนนี้ก็อะไรไม่ได้แล้ว

สิ่งที่ทำได้ในตอนนี้คือ ต้องเตรียมการรับมือ การที่เราแก่ไม่ได้หมายความว่าสัดส่วนของคนแก่มากขึ้น เรามีรายจ่ายมากขึ้น แต่ยังหมายถึงกำลังแรงงานกำลังหดตัว ซึ่งส่งผลต่อศักยภาพทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะทำอะไรเราต้องพึ่งกำลังแรงงานไปผลิตสินค้าและบริการ แต่พอภาคแรงงานหดตัว เศรษฐกิจจะไม่สามารถโตได้เหมือนเดิมอีกต่อไป

ส่วนแนวทางรับมือมี 2 ทางคือ ผลิตของที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นหรือลงทุนในเครื่องมือให้สามารถผลิตสินค้าได้มากขึ้น เราได้เตรียมตรงนี้หรือยัง เรามักพูดว่าต้องเพิ่มผลิตภาพ แต่มีรูปธรรมอะไรบ้าง เอาง่ายๆตอนนี้ภาวะค่าเงินบาทแข็ง เป็นโอกาสที่ดีที่บริษัทหรือโรงงานลงทุนเครื่องจักรชุดใหม่ที่ถูกลง รัฐบาลควรสนับสนุนตรงนี้แต่ไม่มีใครพูดถึงเลย พวกเขาคิดเรื่องนี้ไว้หรือยัง

อีกทางคือ เรามีประชากรในภาคเกษตรกรรมค่อนข้างสูง อาจลดลงจาก 35% หรือ 30% แต่ก็ยังถือว่ามีสัดส่วนค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับจีดีพี ยกตัวอย่างจีนที่ภาคเกษตรกรรมลดลงตามการพัฒนาที่เปลี่ยนไป ย้ายจากภาคเกษตรไปอยู่ที่ภาคอุตสาหกรรมหรือบริการที่ผลิตภาพสูงกว่า แต่ว่าจะย้ายยังไงโดยที่ยังไม่มีเตรียมความพร้อมในทักษะต่างๆ เราคงไม่ได้พูดถึงย้ายเกษตรกรที่อายุ 58 ปี เข้าโรงงาน แต่อาจมีการบริการที่ไม่ต้องย้ายถิ่นฐาน ถ้าพวกเขาคิดตลอดว่าจะทำยังไงให้ประเทศก้าวผ่านความท้าทายการหดตัวของแรงงานและสังคมผู้สูงวัย เราต้องเห็นเรื่องพวกนี้ในนโยบายแล้ว

แต่นี่ยังพูดแต่เรื่อง EEC การดึงเงินลงทุน ซึ่งเป็นระยะสั้นมากกว่าปรับปรุงโครงสร้างระยะยาวได้

 

ความสัมพันธ์ของนโยบายรัฐบาลกับความมั่งคั่งทางธุรกิจของทุนใหญ่

ศิริกัญญากล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เราจะเห็นความสัมพันธ์ของสองสิ่งนี้ตามนโยบายที่ลงท้ายด้วยประชารัฐ กลุ่มทุนขนาดใหญ่ได้เข้ามามีบทบาทกำหนดนโยบายประเทศอย่างมหาศาล อย่างคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ที่มีกรรมการมาจากตัวแทนบริษัทเอกชนทั้งนั้น

แม้อาจไม่ได้ผิดเสียทีเดียว แต่อาจทำให้เกิดการตั้งคำถามเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน เช่น การขอละเว้นหรือให้สิทธิพิเศษ ซึ่งจะส่งผลปิดกั้นการแข่งขันอย่างเป็นธรรมระหว่างพวกเขากับธุรกิจอื่นหรือไม่

คือไม่ได้มีทุกคนร่วมโครงการประชารัฐ แล้วได้มีการตรวจสอบนี้หรือไม่ ว่าความสัมพันธ์อันแนบแน่นเกินไป จะนำไปสู่การขัดกันของผลประโยชน์หรือไม่

 

กลไกตรวจสอบการแข่งขันธุรกิจอย่างเป็นธรรม-ต้านการผูกขาด

ศิริกัญญากล่าวถึงกลไกตรวจสอบที่มีอยู่ว่า ยังไงก็ไม่พอ พูดเลยว่าไม่ได้ดูผลของนโยบายรัฐบาลแน่นอน เพราะว่าตัวอำนาจหน้าที่ในพ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า ไม่ได้ระบุหน้าที่ในการตรวจสอบ

จึงมีข้อเรียกร้องในเชิงรุกให้มีการตรวจสอบโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเอื้อประโยชน์ให้เกิดการผูกขาดอันเป็นผลมาจากระเบียบหรือนโยบายภาครัฐ โดยเฉพาะนโยบายประชารัฐที่ให้ทุนใหญ่สามารถเข้ามามีบทบาทกำหนดนโยบายได้ และนโยบายนำไปสู่การมีอำนาจเหนือตลาด ซึ่งยังไม่ได้ดู แค่เฉพาะกรณีที่มีอยู่ในทุกวันนี้ก็ไม่รู้ว่าจะวินิจฉัยเสร็จเมื่อไหร่

จึงต้องเป็นหน้าที่ของภาคประชาสังคมและพรรคการเมืองที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ

 

แนวโน้ม-สิ่งที่เกิดขึ้นต่อไป ภายใต้นโยบายเศรษฐกิจรัฐบาลประยุทธ์ 2

ทั้งนี้ ศิริกัญญากล่าวว่า เราจะเห็นภาพเดิมๆเหมือนที่เคยเกิดขึ้นตลอด 5 ปี พวกเขายังใช้วิธีคิดเดิมคือ เศรษฐกิจไหลจากข้างบน ไม่มีการทำให้เศรษฐกิจฐานรากเติบโตไปได้ กลับไปพูดแต่กระตุ้นจีดีพี ล่าสุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ภายใต้เม็ดเงินที่มีจำกัด พวกเขายังคงซอยให้ได้รับกันครบทุกคนทุกกลุ่ม

แต่สุดท้ายไม่ได้ดูว่า วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอยู่หรือวิกฤตจากภายนอกที่กระทบเรา ใครได้ผลกระทบมากที่สุดก็ต้องได้รับการเยียวยามากที่สุด ไปดูตรงนั้นดีกว่า ไม่ต้องไปดูแล้วว่าจีดีพีโตเท่าไหร่ เพียงแต่ดูว่าใครได้รับผลกระทบจริงๆ เรียกว่าเราต้องเรียกร้องถึงขั้นเป็นแผ่นเสียงตกร่องต่อไปว่า เปลี่ยนวิธีคิดเถอะ ช่วยให้ตรงเป้าและเกิดผลที่สุด

กระสุนมีน้อยควรยิงให้ถูกเป้า ไม่ใช่เอาไปยิงกราดจนหมด