ความครบถ้วนถูกต้อง ของการถวายสัตย์ปฏิญาณของรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 2) โดยมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ การกระทำใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ การกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้ (รัฐธรรมนูญฯ มาตรา 5)

นายกรัฐมนตรีหรือบุคคลต่างๆ ที่มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินจะต้องกระทำสัตย์ปฏิญาณก่อนการเข้ารับหน้าที่เช่นกัน พิธีนี้เรียกว่า “การถวายสัตย์ปฏิญาณ” (การถวายสัตย์ปฏิญาณ, ผู้เรียบเรียง : วิจิตรา ประยูรวงษ์ http://wiki.kpi.ac.th)

การถวายสัตย์ปฏิญาณ หมายถึงการแสดงความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งทรงเป็นประมุขแห่งราชอาณาจักรไทย ที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้ผู้ดำรงตำแหน่ง องคมนตรี รัฐมนตรี ผู้พิพากษาและตุลาการ ต้องกระทำก่อนเข้ารับหน้าที่ การถวายสัตย์ปฏิญาณนี้มีความแตกต่างจากการปฏิญาณตนตรงที่การถวายสัตย์ปฏิญาณต้องกระทำต่อหน้าพระพักตร์ขององค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นการเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายสัตย์ปฏิญาณ ในขณะที่การปฏิญาณตนเป็นการกระทำต่อหน้าพระบรมสาทิสลักษณ์ขององค์พระมหากษัตริย์ (วิจิตรา ประยูรวงษ์-เรื่องเดิม)

ไทยเราเริ่มมีบทบัญญัติเรื่องกายถวายสัตย์ปฏิญาณของรัฐมนตรีเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับที่ 5 (23 มีนาคม 2492) มีบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการถวายสัตย์ปฏิญาณ โดยมาตรา 141 บัญญัติว่า

“ก่อนเข้ารับหน้าที่รัฐมนตรีต้องปฏิญาณตนเฉพาะพระพักตร์พระมหากษัตริย์ ด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้ “ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะซื่อสัตย์สุจริตและจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ (พระบรมนามาภิไธย) และจะปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”” (การถวายสัตย์ปฏิญาณของคณะรัฐมนตรี ผู้เรียบเรียง : นางสาววรรณวนัช สว่างแจ้ง http://wiki.kpi.ac.th)

สำหรับในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยล่าสุด (ฉบับ พ.ศ.2560) มีบัญญัติเรื่องการถวายสัตย์ปฏิญาณของรัฐมนตรีไว้ คือ

มาตรา 161 ก่อนเข้ารับหน้าที่ รัฐมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้

“ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”

ในกรณีที่โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้คณะรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อนที่จะถวายสัตย์ปฏิญาณ ให้คณะรัฐมนตรีนั้นดำเนินการตามมาตรา 162 วรรคสองได้ ในกรณีเช่นนี้ ให้คณะรัฐมนตรีตามมาตรา 168(1) พ้นจากการปฏิบัติหน้าที่นับแต่วันที่โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมดังกล่าว

 

ข้อพิจารณา

1. การถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ของคณะรัฐมนตรี เป็นบทบังคับตามรัฐธรรมนูญบัญญัติ

โดยหลักตามรัฐธรรมนูญบัญญัติแล้ว คณะรัฐมนตรีต้องกระทำก่อนเข้ารับหน้าที่ จะกระทำหลังจากเข้ารับหน้าที่แล้วก็ไม่ได้ ต้องกระทำก่อนเข้ารับหน้าที่ และจะไม่กระทำคงจะไม่ได้

ถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ หมายถึง ต่อหน้าพระพักตร์ของพระมหากษัตริย์

เว้นแต่เป็นกรณีตามมาตรา 161 วรรคสอง อันเป็นกรณียกเว้น – โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้คณะรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อนที่จะถวายสัตย์ปฏิญาณ

ที่เรียกว่าถวายสัตย์ปฏิญาณนั้น ต้องกระทำด้วยการเปล่งเสียงออกมา จะถวายสัตย์ปฏิญาณอยู่ในใจไม่ได้

2. นอกจากบังคับให้ต้องกระทำ และต้องกระทำก่อนเข้ารับหน้าที่แล้ว

รัฐธรรมนูญยังได้กำหนดถ้อยคำหรือข้อความปฏิญาณไว้ด้วยว่า ถ้อยคำจะต้องเป็นเช่นนี้ ไม่ให้ผิดไปจากนี้ ไม่ให้คิดขึ้นเองตามใจชอบ หรือตามอำเภอใจ

3. สาระของข้อความถวายสัตย์ปฏิญาณที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ คือ จะต้องระบุว่า

“ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้า

2.1 จะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และ

2.2 จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน

2.3 ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”

ถ้อยคำถวายสัตย์ปฏิญาณดังกล่าว สั้นกระชับ มิได้ยืดยาวแต่ประการใด

พิจารณาบทบัญญัติลายลักษณ์อักษร มิได้เปิดโอกาสให้ผู้ถวายสัตย์ปฏิญาณสามารถเลือกกล่าวเพียงส่วนใด หรือยกเว้น หรือเลือกจะไม่กล่าวส่วนใดตามที่ตนเห็นควรก็ได้

จึงเห็นว่าคณะรัฐมนตรีสมควรต้องกล่าวให้ครบถ้วน 3 ประการนั้นตามรัฐธรรมนูญกำหนด

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อบุคคลผู้ถวายสัตย์ปฏิญาณเคยเป็นรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี เคยเป็นรัฐมนตรีที่เคยกล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณมาก่อน บ้างเคยเป็นนักการเมือง เคยเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เป็นผู้บริหารระดับสูงของประเทศล้วนเป็นผู้มีประสบการณ์ มีความรู้ความสามารถในด้านการเมือง การบริหาร และด้านกฎหมายมาก่อน

 

กล่าวได้ว่า ถ้อยคำที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ ให้เป็นถ้อยคำถวายสัตย์ปฏิญาณ แต่ละประเด็นล้วนเป็นสาระสำคัญ ซึ่งมีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญทุกฉบับก็ว่าได้

เห็นว่าการถวายสัตย์ปฏิญาณ น่าจะขาดข้อหนึ่งข้อใดไปไม่ได้ เช่น จะขาด 2.1 ย่อมไม่ได้ หรือจะละเว้นข้อ 2.2 หรือ 2.3 ก็ย่อมจะเป็นการไม่สมบูรณ์เช่นกัน หรือจะเพิ่มเติมข้อความอย่างอื่นก็น่าจะไม่ชอบ

แต่ละข้อหรือแต่ละประเด็นที่บัญญัติไว้ น่าจะมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน หากข้อใดหรือประการใดไม่สำคัญ ผู้ร่างรัฐธรรมนูญคงจะไม่บัญญัติเอาไว้ หรือผู้พิจารณาคงจะได้ตัดออกไปในชั้นพิจารณารัฐธรรมนูญแล้ว

ดังนั้น ในการกล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณหากขาดข้อใดข้อหนึ่งไป หรือมีการเพิ่มเติมข้อความอื่นๆ นอกเหนือจากที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ การถวายสัตย์ปฏิญาณนั้นก็ไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นการถวายสัตย์ปฏิญาณที่สมบูรณ์

เมื่อไม่เป็นการกล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณที่สมบูรณ์ จึงน่าจะมีค่าเท่ากับ ไม่ได้กล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนการเข้ารับตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญนั่นเอง

หากเกิดมีกรณีเกิดขึ้นว่า มีการถวายสัตย์ปฏิญาณไม่สมบูรณ์ในคณะรัฐมนตรีชุดใด จะมีผลเช่นไร จะมีผลเท่ากับการไม่ได้ถวายสัตย์ปฏิญาณหรือไม่ แล้วจะส่งผลถึงการปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีชุดนั้นหรือไม่ แล้วจะแก้ไขปัญหานี้ด้วยวิธีใด

การถวายสัตย์ปฏิญาณที่บกพร่องไม่สมบูรณ์ขาดประเด็นใดประเด็นหนึ่งไป หรือมีถ้อยคำเกินไปแตกต่างจากรัฐธรรมนูญกำหนด และการถวายสัตย์ปฏิญาณนั้นเสร็จสิ้นไปแล้ว วันเวลาล่วงเลยไปแล้ว จะสามารถย้อนกลับไปกล่าวเพิ่มเติมให้ครบถ้วนเช่นเดียวกับกรณีการแถลงนโยบายที่ขาดการอ่านความเบื้องต้นไป ที่ผู้แถลงสามารถย้อนกลับไปอ่านความนั้นในระหว่างที่การแถลงยังไม่เสร็จสิ้น จะสามารถทำได้หรือไม่ จะต้องทำเช่นไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นกรณีที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์โดยตรง การถวายสัตย์ปฏิญาณต้องกระทำต่อหน้าพระพักตร์พระมหากษัตริย์

ถ้าทำดังข้างต้นไม่ได้ ผลต่อการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะคณะรัฐมนตรี ผลกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดินจะมีเพียงไร? หรือไม่มีผลใดๆ เลย

นับเป็นเรื่องน่าสนใจหาคำตอบ!!!!

 

การถวายสัตย์ปฏิญาณ
ที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ

ทั้งนี้ การถวายสัตย์ปฏิญาณของบุคคลหรือคณะบุคคลต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญบัญญัติ นอกจากกรณีของรัฐมนตรีแล้ว ยังมีการถวายสัตย์ปฏิญาณขององคมนตรี ตามมาตรา 13 ความว่า

“ก่อนเข้ารับหน้าที่ องคมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำ ดังต่อไปนี้

“ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ””

การถวายสัตย์ปฏิญาณของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามมาตรา 19 ความว่า

“ก่อนเข้ารับหน้าที่ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามมาตรา 16 หรือมาตรา 17 ต้องปฏิญาณตนในที่ประชุมรัฐสภาด้วยถ้อยคำ ดังต่อไปนี้

“ข้าพเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอปฏิญาณว่า ข้าพเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ (พระปรมาภิไธย) และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”

ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งเคยได้รับการแต่งตั้งและปฏิญาณตนมาแล้ว ไม่ต้องปฏิญาณตนอีก”

โดยสาระสำคัญของคำถวายสัตย์ปฏิญาณจะตรงกันแทบทุกมาตรา ว่า

1. จะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และ

2. จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน

3. จะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”

เว้นแต่กรณีของผู้พิพากษาและตุลาการตามมาตรา 191 ความว่า

“ก่อนเข้ารับหน้าที่ ผู้พิพากษาและตุลาการต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำ ดังต่อไปนี้

“ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ในพระปรมาภิไธยด้วยความซื่อสัตย์สุจริตโดยปราศจากอคติทั้งปวงเพื่อให้เกิดความยุติธรรมแก่ประชาชน และความสงบสุขแห่งราชอาณาจักร ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมายทุกประการ””

ส่วนสมาชิกรัฐสภานั้น มิใช่ถวายสัตย์ปฏิญาณ หากแต่เป็นการปฏิญาณตน ตามมาตรา 115 ความว่า

“ก่อนเข้ารับหน้าที่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาต้องปฏิญาณตนในที่ประชุมแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกด้วยถ้อยคำ ดังต่อไปนี้

“ข้าพเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอปฏิญาณว่า ข้าพเจ้าจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ””

สาระสำคัญของคำปฏิญาณ

1. จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน

2. จะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ