เมื่อ สปสช.เป็นเหตุแห่งความล่มจมทุกเรื่อง แล้วทำไมถึงไม่ยุบทิ้ง?

ต้นปี 2544 พรรคไทยรักไทยของทักษิณ ชินวัตร ชนะการเลือกตั้งทั่วไป โดยมีนโยบายหาเสียงสำคัญอย่าง “30 บาทรักษาทุกโรค” เป็นตัวชูโรง

ก่อนหน้านั้น หากใครเป็นโรคร้ายแรง โรคเรื้อรัง ก็ต้องไปต่อคิวทำบัตรสวัสดิการรักษาพยาบาลสำหรับผู้ที่สังคมควรช่วยเหลือเกื้อกูล หรือบัตรสปร. เพื่อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ไม่ต้องบอกก็รู้ ในสังคมแบบไทยๆ ย่อมมีการ “เอียงข้าง” ใครที่ใกล้ชิดนายอำเภอ ใครที่ใกล้ชิดนักการเมืองท้องถิ่น ย่อมมีโอกาสได้บัตร สปร. มากกว่า และย่อมมีชาวบ้านจำนวนมาก “ถูกทิ้ง” ไว้กลางทาง ไม่ได้รับการรักษา เพราะไม่มีเงิน ไม่มีเส้น ต้องเจ็บป่วยจนเสียชีวิตอยู่ที่บ้าน

นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานปฏิรูประบบสาธารณสุขในขณะนั้นเอา 30 บาทรักษาทุกโรคไปขายกับทักษิณ ผลก็คือทักษิณซื้อ และรีบนำมาทำเป็นนโยบายเร่งด่วน

ภายใน 1 ปี คนไทยก็ได้เห็น พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และภายใน 2 ปี ก็ถือกำเนิดหน่วยงานอย่างสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นหน่วยงานของรัฐในการขับเคลื่อนนโยบายให้เห็นผลจริง

 

แน่นอน เราต่างรู้กันว่า หากเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรง หากรัฐจะเป็นผู้ “จ่ายตามจริง” ให้กับคนไทยทุกคน แบบที่ใช้กับระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ รัฐย่อมเจ๊ง ขาดทุนทั้งระบบ เนื่องจากไม่มีเงินอุดหนุนจำนวนมากขนาดนั้น

วิธีที่นำมาใช้ก็คือการคำนวณ “อัตราเหมาจ่ายรายหัว” แบบเดียวกับประกันสุขภาพ โดยตั้งงบประมาณไว้ก่อน แน่นอน จะมีคนที่ “ไม่ป่วย” จำนวนมากกว่าคนป่วย แล้วเอาเงินจำนวนนั้นมารักษาผู้ป่วยโรคค่าใช้จ่ายสูง

และหากจะทำวิธีนั้นได้ ก็ต้องหาทาง “ประหยัด” ค่าใช้จ่ายในระบบสุขภาพให้ได้มากที่สุด

ด้วยเหตุนี้ จึงแยกระบบผู้ซื้อบริการและผู้ให้บริการออกจากกัน โดยให้ สปสช. ทำหน้าที่ผู้ซื้อ ถือเงินงบประมาณในโครงการ “30 บาทรักษาทุกโรค” และกระทรวงสาธารณสุขทำหน้าที่ผู้ให้บริการเหมือนเดิม และก็ถืองบประมาณในการดูแลโรงพยาบาลเช่นกัน

ดูเหมือนใน “ปรัชญา” อาจไม่มีปัญหาอะไร แต่การเกิดขึ้นของ สปสช. ส่งผลให้ระบบที่เป็นอยู่เดิมต้องเปลี่ยนแปลงไป

เมื่อระบบการจ่ายเงินเปลี่ยนไป การจ่ายย่อมซับซ้อนขึ้น เพราะเงินในระบบเองก็ไม่ได้มีมากมาย ซ้ำการจัดซื้อ หรือการจ่าย ก็ต้องทำไปตามระเบียบของรัฐทุกประการ ไม่ให้มีช่องโหว่แม้แต่น้อย ทั้งหมดนี้จึงทำให้ทุกหน่วยงานที่รอรับการจ่ายเงินย่อมไม่พอใจ และคิดว่า สปสช. เป็นตัวปัญหาของทุกอย่างในโลกใบนี้

เป็นต้นว่า โรงพยาบาลล้น คนไข้ล้น โรงพยาบาลขาดทุน ยาไม่มีประสิทธิภาพ หมอลาออก พยาบาลเครียด ฯลฯ และเมื่อมีโอกาส ต้อง “กระทืบ” ให้จมดิน

ถามว่ามีส่วนจริงไหม สปสช.เองก็ถือเป็นผู้รับผิดชอบส่วนหนึ่ง ในฐานะหน่วยงานที่ต้องนำนโยบายไปปฏิบัติ และเป็นผู้ถือเงิน ซึ่งระบบทุกวันนี้ก็ต้องยอมรับว่ายังมีข้อบกพร่อง

ผู้ปฏิบัติงานมีความไม่พอใจ เงิน “ไหลออก” ยาก และในโรงพยาบาลใหญ่ งานก็ยังโหลดกับบุคลากรจริง

แต่เมื่อแลกกับการที่ประชาชนจำนวนมากรอดพ้นจากการล้มละลายทางการเงินเป็นล้านๆ คน และทำให้คนเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องขายรถ ขายบ้าน ขายที่ดิน ไปรักษา ซ้ำยังสามารถบรรจุสิทธิประโยชน์ให้ครอบคลุมการรักษาโรคร้ายแรงมากขึ้นในแต่ละปี นั่นก็คือความคุ้มค่าใช่หรือไม่? 

 

นี่ถือเป็นหน้าที่ของ สปสช. ที่ไม่มีใครเห็น และคิดแต่เพียงว่า สปสช. คือต้นเหตุของทุกเรื่องในระบบสาธารณสุข เหมือนที่แก๊สโซฮอล์ถูกกล่าวหาว่าเป็นต้นเหตุทำให้เครื่องยนต์พัง สมัยออกสู่ท้องตลาดใหม่ๆ

ทั้งที่การจะกำหนดอัตราจ่าย – กำหนดโรคที่สามารถจ่ายได้ ก็ไม่ได้กระทำโดยพลการ แต่ทำด้วยความร่วมมือกับ “ราชวิทยาลัย” ต่างๆ ซึ่งมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากมาให้ความเห็น มีงานวิจัยรองรับ

หรือการจะ “อนุมัติ” การเพิ่มสิทธิประโยชน์ ก็ทำโดย “คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ซึ่งมีรัฐมนตรีถูกแต่งตั้งจาก “ฝ่ายการเมือง” มาเป็นประธานบอร์ด และมีตัวแทนจากทั้งปลัดกระทรวงสาธารณสุข จากแพทยสภา จากโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชน โรงเรียนแพทย์ ฯลฯ

นี่คือการตรวจสอบถ่วงดุล ไม่ใช่ สปสช. สามารถทำอะไรได้เองโดยพลการ

แล้วถามว่า สปสช. เป็นองค์กรที่อยู่เหนือกฎหมาย อยู่เหนือระบบสาธารณสุขหรือไม่ ก็ไม่ใช่อีก…

 

5ปีที่ผ่านมา มี “พายุ” กระบวนการตรวจสอบอย่างเข้มข้น เพราะอำนาจรัฏฐาธิปัตย์อย่าง คสช.คล้อยตามฝ่ายข้าราชการ ว่า สปสช.เป็นต้นเหตุแห่งปัญหาทุกอย่าง

คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) เข้ามาตรวจสอบการทุจริต สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้ามาตรวจสอบการใช้เงินผิดประเภท และทุกองคาพยพของกระทรวงยุติธรรมต่างก็เข้ามาตรวจสอบองค์กรอย่างเข้มข้น จน นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. โดนมาตรา 44 แขวนไม่ให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อ

แต่ในที่สุดก็ไม่มีใครพบความผิดพลาด ไม่มีใครพบการทุจริต จน คสช. ต้องคืนตำแหน่งให้ นพ.วินัย และ สปสช. ก็ยังทำหน้าที่ต่อ

แม้แต่เรื่องโรงพยาบาลขาดทุน ที่บอกว่า สปสช.เป็นต้นเหตุนั้น ในที่สุดก็ไม่สามารถหาหลักฐานมาสนับสนุนได้ และกระทรวงสาธารณสุข เจ้าของโรงพยาบาลทั่วประเทศ ก็ยังออกมาปฏิเสธคำกล่าวอ้างดังกล่าว ทั้งในช่วงหลัง สปสช.และกระทรวงสาธารณสุขต่างก้าวข้ามเรื่องในอดีตและจับมือทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด ภายใต้ค่านิยม “ประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข ระบบสุขภาพยั่งยืน”

ซ้ำหัวหน้า คสช. ยังนำคุณประโยชน์ของระบบหลักประกันสุขภาพ และใช้สคริปต์ของ สปสช.ไปบอกให้โลกฟังถึงการเป็น “ผู้นำ” ระบบหลักประกันสุขภาพด้วยซ้ำ

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในสคริปต์ที่ พล.อ.ประยุทธ์ หยิบยกไปพูด สาธยายทั้งเรื่องความดีงามของการจัดสรรงบประมาณ และความพยายาม “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

และใน 5 ปีของพล.อ.ประยุทธ์ แม้จะไปบริภาษ 30 บาทรักษาทุกโรคในเวทีใดก็ตาม แต่ก็ไม่เคยคิดจะแก้โครงสร้างที่ถูกวางไว้แต่อย่างใด

แน่นอน สปสช. และระบบสุขภาพไทยไม่ได้เพอร์เฟ็กต์ แต่การโยนทุกเรื่องให้ สปสช. นั้น “เป็นธรรม” หรือไม่ แล้วส่วนประกอบอื่นๆ ไม่ต้องรับผิดชอบเลยหรือ?

ขณะนี้มี “รัฐสภา” ที่มาจากการเลือกตั้ง และมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว อาจารย์แพทย์ท่านใดก็แล้วแต่ที่ไม่เห็นด้วยกับระบบ ควรรวบรวมเสียงบุคลากร ประชาชน ที่ไม่เห็นด้วย เสนอไปยังรัฐสภา เพื่อแก้กฎหมาย สปสช.เสีย หากเห็นว่าเป็นปัญหาจริง

หรือจะเรียกร้องไปยัง รมว.สาธารณสุขท่านใหม่ ขอให้ลดอำนาจ สปสช. ก็สามารถทำได้ อาจจะดีกว่าการให้ข้อมูลซึ่งเปี่ยมไปด้วยอคติผ่านทางเฟซบุ๊กด้วยซ้ำ

ปัญหาก็คือ ในประเทศนี้มีคนพูดมากกว่าคนทำ และในบรรดาคนพูด ก็ไม่ได้เสนอทางออกที่ดีกว่า มีแต่ความพยายามบอกว่าต้อง “ยุบ” สปสช.เท่านั้น ระบบก็จะรอดพ้นจากปัญหาทั้งปวง

ระบบสาธารณสุขไทย เมื่อเต็มไปด้วยนักวิจารณ์ ซ้ำยังเต็มไปด้วย “ความเชื่อ” มากกว่าข้อมูลทางวิชาการ ก็ยากที่จะออกจากวังวนเดิม.