ไซเบอร์ วอชเมน : จาก “เคมบริดจ์ แอนาไลติก้า” ถึง “เฟซแอพพ์” ขอต้อนรับสู่เศรษฐกิจข้อมูล

การจ่ายค่าปรับจำนวนสูงถึง 5 พันล้านเหรียญสหรัฐของเฟซบุ๊ก โซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่ระดับโลกที่มีจำนวนบัญชีเข้าใช้งานพร้อมกันต่อวันมากถึง 2.41 พันล้านคน นับเป็นข่าวใหญ่พอสมควรสำหรับวงการไอที

ที่ต้องเสียค่าปรับมหาศาลอันมาจากผลพวงของการเปิดโปงครั้งใหญ่ของเคมบริดจ์ แอนาไลติก้า บริษัทผู้จัดทำข้อมูลวิจัยเพื่อการตลาดและการรณรงค์หาเสียงทางการเมือง ซึ่งตอนนี้ได้ปิดตัวลงแล้วเพราะความน่าเชื่อถือและความรับผิดชอบหายไปหมด

แม้แต่เฟซบุ๊กเองก็เผชิญวิกฤตความเชื่อมั่นต่อความปลอดภัยในการปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานจนถูกเชิญไปไต่สวนอย่างหนัก

แต่กว่าเรื่องจะถูกเปิดเผยจนนำไปสู่ที่แจ้งได้ ถือว่านานมากและเราอยู่กับโซเชียลมีเดียมาร่วมทศวรรษในฐานะสัญลักษณ์ของความเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิตอล ข้อมูลนับล้านล้านชิ้นไหลเวียนในระบบโครงข่ายเพื่อกิจกรรมหลายอย่างของเราทั้งความรู้ ความสนุกสนาน ความทรงจำที่ดี หรือแม้แต่ถ้อยคำ เนื้อหาที่เป็นพิษภัยต่อบุคคลและสังคม

ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ว่าเนื้อหาดีหรือแย่ ล้วนเป็นข้อมูลทั้งสิ้น เราอาจเคยได้ยินเรื่องของการซื้อขายข้อมูลจากบุคคลที่มีข้อมูล แต่ปริมาณข้อมูลอาจน้อยและเจาะจง แล้วถ้าหากเป็นข้อมูลมหาศาลนับล้านๆ ชิ้น โค้ดดิ้งที่บรรจุเนื้อหาต่างๆ จำนวนมหาศาลล่ะ

ใครกันที่จะมีความสามารถครอบครองข้อมูลอันมโหฬารและใช้ประโยชน์จากตรงนี้ได้?

 

ปัจจุบันมีเบราเซอร์ โปรแกรม แอพพลิเคชั่นหลายล้านตัวเกิดขึ้นบนโลก ที่เราใช้กันตั้งแต่ส่งจดหมาย จดบันทึกการประชุม จองรอบภาพยนตร์ จองโรงแรม นัดเพื่อนไปสังสรรค์ รีวิวร้านอาหาร ถ่ายรูปเล่นๆ เซลฟี่ ลงภาพผลงาน บันทึกเหตุการณ์ รายงานข่าว และอีกสารพัดเกี่ยวกับชีวิตประจำวันของเราทุกคน

และทุกครั้งเวลาเราใช้นิ้วจิ้มจอสัมผัสเพื่อเกิดข้อความ ข้อความเหล่านี้ได้ถูกบันทึกเข้าสู่ระบบของผู้ให้บริการ

ยิ่งมีคนจำนวนมากผลิตข้อมูล ข้อมูลเหล่านี้จะถูกกักเก็บไว้ในคลังที่พื้นที่มากพอและรองรับข้อมูลที่จะกลายเป็นสินทรัพย์ของบริษัทเพื่อใช้ประโยชน์ และบริษัทเหล่านี้แลกเปลี่ยนกับผู้ใช้งานด้วยการนำเสนอสิ่งอำนวยความสะดวกและการประมวลข้อมูลที่ตอบสนองต่อผู้ใช้งานในแบบเฉพาะเจาะจง

แบบที่เรียกว่าผู้ใช้งานเองก็แปลกใจกับหน้าเพจตัวเองที่มีป๊อปอัพโฆษณาเกี่ยวกับสิ่งที่เขาหรือเธอสื่อสารออกไปว่าต้องการสิ่งนั้นสิ่งนี้หรือเพียงแค่พูดคุยกับเพื่อนหรือครอบครัว

ก็จะปรากฏให้ผู้ใช้งานอย่างเราๆ เห็นทันที จนแอบสงสัยว่า ระบบรู้ได้ยังไง

ซึ่งสิ่งนี้ถือเป็นพลังของบิ๊กดาต้าและปัญญาประดิษฐ์ที่ได้เข้ามาในระบบโครงข่ายและดำเนินขับเคลื่อนสู่ชีวิตประจำวันและกิจกรรมทางเศรษฐกิจยุคดิจิตอล

 

แต่ในอีกด้านของเหรียญ ข้อมูลของเรามากมายผ่านเพจส่วนตัวที่เราบันทึกชีวิตประจำวันและกิจกรรมที่ทำ เว็บไซต์ช่องทางแลกเปลี่ยน จนถึงคำสำคัญต่างๆ ที่เรากดเพื่อค้นหาในเซิร์จเอนจิ้น ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสินทรัพย์ที่พร้อมแปรสภาพเป็นสินค้าพร้อมขายให้ใครก็ตามที่ต้องการใช้ข้อมูลนี้ตั้งแต่ทางการค้าจนถึงทางการเมือง

เมื่อถามว่า ใครกันที่เป็นคนเก็บข้อมูลต่างๆ ที่เรากระทำบนโลกออนไลน์จำนวนมหาศาลไว้ คำตอบก็คือ บรรดาเว็บไซต์ แอพพลิเคชั่น ดิจิตอลแพลตฟอร์มทั้งหลายที่เราใช้งานกันทุกวันนี้นั่นเอง

ถ้าให้ยกตัวอย่างชื่อก็คุ้นหูทุกคนดีอย่างเฟซบุ๊กและกูเกิล สิ่งที่ทั้งคู่มีเหมือนกันคือ ข้อมูลผู้ใช้งานนับพันล้านคนอยู่ในความครอบครอง ไม่นับแอพพลิเคชั่นหลายตัวที่ก็ได้ข้อมูลเหล่านี้ไปจากการเข้าไปใช้งาน เช่น ไลน์ ทวิตเตอร์ มายด์ วีแชต เว่ยโป เกมพับจี จนถึงเฟซแอพพ์ แอพพลิเคชั่นฟรีที่แต่งรูปเราให้หนุ่มหรือแก่จนเป็นข่าวว่าอาจเป็นตัวล้วงข้อมูล

ขณะที่เรากำลังลิงโลดกับเศรษฐกิจดิจิตอลที่ทุกคนสามารถนำสินค้าเข้าสู่ฐานข้อมูลออนไลน์ ซื้อ-ขายแลกเปลี่ยน ทำธุรกรรมผ่านแอพพลิเคชั่น ใช้จ่ายกับเงินดิจิตอลเพื่อใช้ซื้อของในเกมที่เราเล่น เจ้าของแพลตฟอร์มเหล่านี้มีฐานข้อมูลผู้ใช้งานในกำมือที่แม้พวกเขาจะบอกกับเราว่า จะรักษาความลับของผู้ใช้งานและปกป้องความเป็นส่วนตัวอย่างดีที่สุด แต่อะไรก็ตามที่แลกเปลี่ยนเป็นทุนได้ พวกเขาทำได้และลืมคำมั่นที่ให้กับผู้ใช้บริการไปเสียหมด

เราจะไม่มีทางรู้ได้เลย ถ้าไม่ใช่เพราะความฉาวโฉ่ของเคมบริดจ์ แอนาไลติก้าที่เอาข้อมูลผู้ใช้งานเฟซบุ๊กนับล้านบัญชีมาใช้งานถูกเปิดโปงออกมา

ไม่เช่นนั้นแล้ว ทุกวันนี้เราคงไม่ได้ตระหนักถึงคุณค่าของข้อมูลและความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภคอย่างเราทุกคนเป็นแน่

 

มีหนังสารคดีล่าสุดเกี่ยวกับเรื่องนี้ฉายอยู่ในเน็ตฟลิกซ์อย่าง The Great Hack ที่จะเจาะลึกทั้งหมดเกี่ยวกับคดีภัยต่อความเป็นส่วนตัวครั้งใหญ่ในยุคดิจิตอลที่ทำให้ข้อมูลส่วนตัวของเรากลายเป็นสินค้า

และเราจะไม่มีทางได้รู้จักกับสิ่งที่กำลังเป็นพัฒนาการต่อไปของเศรษฐกิจดิจิตอลนั้นคือ “เศรษฐกิจข้อมูล” (Data Economy)

เมื่อข้อมูลของเราทุกคนบนโลกถูกทำให้เป็นสินค้าเพื่อซื้อขายแลกเปลี่ยน ยิ่งข้อมูลที่มีค่ามากเท่าไหร่ ยิ่งทำมูลค่ามากขึ้นเท่านั้น และหนังสารคดีจะทำให้เราได้ยินศัพท์ใหม่ๆ อาทิ นายหน้าค้าข้อมูล (Data Broker) หรือทุนนิยมการสอดแนม (Surveillance Capitalism)

อดีตซีอีโอของเคมบริดจ์ แอนาไลติก้าก็ได้กล่าวกับผู้ทำหนังเรื่องนี้ว่า นี่ไม่ใช่แค่เรื่องของบริษัทเดียว แต่เป็นเรื่องของการตรวจตราและควบคุมความคิดของทุกคนบนโลกออนไลน์ผ่านเทคโนโลยีดิจิตอล

สอดคล้องกับมุมมองของนายโจ เว็ตบี้ นักวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์และบิ๊กดาต้า ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ที่เจาะลึกเรื่องนี้และชี้ว่าเหตุอื้อฉาวของเคมบริดจ์ แอนาไลติก้าอาจเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น

 

นอกจากเรื่องการเก็บข้อมูลเพื่อแปลงเป็นสินทรัพย์ในแง่เศรษฐศาสตร์ข้อมูลแล้ว ข้อมูลส่วนตัวเรายังถูกใช้ในการประมวลเพื่อออกแบบเครื่องมือในการบงการความคิดและกระตุ้นพฤติกรรมเพื่อนำไปสู่การกระจายและเผยแพร่อย่างรวดเร็วเพื่อจุดมุ่งหมายทางธุรกิจหรือทางการเมืองตั้งแต่การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐเมื่อปี 2016 กระแสขวาจัดและต่อต้านผู้อพยพที่ไหลเวียนในสายธารข้อมูลทั่วโลก การปลุกระดมสร้างความเกลียดชังชาวโรฮิงญาของผู้ใช้เฟซบุ๊กในพม่า

(มีเรื่องชวนขำเรื่องหนึ่งที่ได้ยินมาจากสื่อพม่าที่ลงพื้นที่วิจัย เขาถามประชาชนพม่าว่ารู้จักอินเตอร์เน็ตหรือเว็บเซิร์จเอนจิ้นหรือไม่ พวกเขาตอบว่าไม่รู้จัก แต่ก่อนจบการสนทนา พวกเขาถามสื่อรายนี้ว่ามีแอ็กเคาต์เฟซบุ๊กหรือไม่ เลยเป็นอันเข้าใจว่า สำหรับพวกเขา “เฟซบุ๊กคืออินเตอร์เน็ต”)

มาถึงขนาดนี้แล้ว ก็อยากถามทุกคนว่า “เรื่องแบบนี้เรายอมให้เกิดขึ้นได้จริงหรือ?”

ยิ่งไปกว่านั้น เราก็ควรตั้งคำถามด้วยว่า เฟซบุ๊ก หรือแม้แต่กูเกิล รวมถึงบริษัทผู้ให้บริการด้านดิจิตอลแพลตฟอร์ม ทำหน้าที่แค่ให้บริการพื้นที่กับผู้ใช้งานเท่านั้นหรือไม่ หรือทำอย่างอื่นที่ไม่ได้เปิดเผย

การยอมจ่ายค่าปรับมหาศาลเพื่อยุติคดีของเฟซบุ๊ก อาจไม่ใช่ครั้งสุดท้ายสำหรับปัญหาการใช้ประโยชน์ของข้อมูลของลูกค้าจนละเมิดความเป็นส่วนตัว เพราะยังมีบริษัทอื่นที่ดำเนินธุรกิจแบบเดียวกับเฟซบุ๊กอยู่

เช่นนี้แล้ว หน้าที่สำคัญของเราที่ต้องคอยย้ำเตือนตัวเองนั้นคือ ให้ข้อมูลกับอะไรแม้แต่ผู้ให้บริการด้านแพลตฟอร์ม ซึ่งปฏิเสธไม่ได้สำหรับยุคดิจิตอล แต่ก็ควรให้ได้เท่าที่จำเป็น และผู้ให้บริการแพลตฟอร์มเองก็ยิ่งต้องมีสามัญสำนึก หากทำธุรกิจเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวของปัจเจกชนที่ไว้วางใจมาใช้บริการ ความเชื่อมั่นในการปกป้องความเป็นส่วนตัว ถือเป็นเรื่องสำคัญในโลกธุรกิจยุคดิจิตอล

เพราะไม่มีใครชอบทั้งสิ้น หากข้อมูลถูกขายไปให้กับองค์กรอาชญากรรมหรือรัฐบาลเผด็จการ (แม้อ้างว่าผ่านการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย) เพื่อเข้าไปสอดส่อง ติดตามจนถึงขั้นคุกคามชีวิตและสวัสดิภาพของเรา