อ้าง ‘อัตลักษณ์’ เฟ้อไปไหม? | นงนุช สิงหเดชะ

ผลงานโดดเด่นของพรรคคนรุ่นใหม่ในวันแรกของการเข้าสภา ประสบความสำเร็จเกินคาดหมาย

เพราะสามารถเรียกความสนใจจากสื่อมวลชนและกลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์กระหึ่มไปทั่ว เมื่อบรรดา ส.ส.พรรคนี้จงใจพากันแต่งกายที่แหวกไปจากประเพณีปฏิบัติ ด้วยการแต่งกายด้วยชุดพื้นถิ่นหรือตามกระแสในละคร โดยอ้างว่าเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงอัตลักษณ์และความหลากหลายของการแต่งกายของคนไทย

ก่อนหน้านั้น โฆษกหญิงของพรรคนี้ก็สร้างประเด็นถกเถียงมาครั้งหนึ่งแล้วกับชุดแต่งกายไว้ทุกข์ เมื่อเธอคนนั้นใส่ชุดกางเกงสูทขาว-ดำ แหวกคอลึกจนเห็นร่องอกและขอบยกทรง ทำให้ถูกตั้งคำถามถึงความเหมาะสม

อันที่จริง เป็นความตั้งใจของ ส.ส.พรรคนี้อยู่แล้ว ที่จะทำในสิ่งตรงข้ามที่สภาเคยทำกันมา

เพราะต้องการแสดงถึงความเป็นคนรุ่นใหม่ที่ต้องหาทุกวิถีทางที่จะกบฏต่อสิ่งเดิม

หรือพยายามทำตรงข้ามในสิ่งที่พวกเขามองว่าพวกอนุรักษนิยมทำกันมา

ไม่ต่างจากเด็กงอแงที่อยากต่อต้านพ่อ-แม่ด้วยการทำในสิ่งตรงข้ามที่พ่อ-แม่สอน

ทั้งที่สิ่งที่พ่อ-แม่สอนนั้นหลายอย่างไม่เคยล้าสมัย

แต่ในขณะที่อ้างเรื่องอัตลักษณ์ ลึกๆ แล้วปฏิเสธไม่ได้ว่าพวกเขาต้องการสร้างความโดดเด่นเพื่อให้เป็นข่าว ตามนิสัยของคนรุ่นใหม่ที่เสพติดโลกโซเชียล ซึ่งเป็นโลกที่พยายามดิ้นรนเพื่ออวดกันทุกเรื่อง ตั้งแต่ข้าวของวัตถุ เงินทองที่มี ไปจนถึงเรือนร่าง

(ดูไปแล้วเหมือนคนมีปมด้อย)

 

คนเหล่านี้อาจคิดง่ายๆ ว่าการทำในสิ่งตรงข้ามที่สังคมเคยปฏิบัติมา มันคือการโชว์ว่าพวกตนมีความทันสมัยกว่า หัวก้าวหน้ากว่า

แต่ถึงที่สุดแล้วการแต่งกายหรือการทำอะไรแหวกแนว บางครั้งมันเป็นแค่รูปแบบ (บางทีก็แค่อยากเรียกร้องความสนใจ) ไม่ใช่สาระสำคัญที่จะสะท้อนว่าคนคนนั้นจะประสบความสำเร็จในชีวิตมากไปกว่า “คนปกติ” ที่พวกเขาคิดว่าเป็นฝ่ายอนุรักษนิยม

แต่งกายแหวกแนวพิสดาร แต่บางครั้งผลงานไม่เอาไหนก็มี สมองไม่ได้ฉลาดไปกว่าคนอื่น ล้มเหลวในชีวิตก็เยอะเพราะเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง ไร้วินัยและความอดทน ไม่ยอมทำตามกฎเกณฑ์อะไรทั้งสิ้นอ้างว่ากดขี่อัตลักษณ์

คนประเภทนี้ถ้าไปทำงานราชการก็จะบ่นว่าไม่ชอบเครื่องแบบ เพราะมันแสดงถึงการยอมอยู่ใต้อำนาจรัฐ แต่ในโลกความเป็นจริง ตราบใดที่เป็นมนุษย์เงินเดือน (นักการเมืองเป็นมนุษย์เงินเดือน) ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการหรือเอกชนหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่ง ก็ล้วนมีการวางกฎเกณฑ์ทั้งสิ้น

ไม่อย่างนั้นจะบริหารอะไรไม่ได้เลย

 

สําหรับคนคลั่งเสรีภาพจนเกินขอบเขต มองว่าการกำหนดเครื่องแต่งกายหรืออื่นๆ เป็นการกดขี่อัตลักษณ์ กดขี่เสรีภาพส่วนบุคคล แต่นั่นเป็นการมองอะไรที่ซับซ้อนเกินจำเป็น

ที่จริงแล้วกฎเกณฑ์เหล่านี้มีขึ้นเพื่อความสะดวกในการบริหารจัดการองค์กรที่ประกอบไปด้วยคนมากมาย กฎเกณฑ์แต่ละอย่างก็ถูกกำหนดขึ้นตามความจำเป็นของธุรกิจหรือบริการนั้นๆ

บางคนที่เพ้อหนักมาก ก็อ้างว่าเครื่องแบบหรือชุดไทยเป็นเครื่องมือของรัฐในการทำให้คนยอมสยบอยู่ใต้อำนาจ แต่ในโลกนี้มีคนใส่เครื่องแบบมากมายแม้ไม่ใช่ข้าราชการ เช่น พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน หรือคนที่ทำงานตามโรงงาน ซึ่งเครื่องแบบเอกชนเหล่านี้ก็มีวัตถุประสงค์เดียวกันคือความสวยงาม มีเอกลักษณ์เฉพาะ และบอกให้รู้ว่าเป็นพวกเดียวกัน

ขณะเดียวกันก็เป็นการช่วยประชาสัมพันธ์บริษัทหรือสินค้าของตนไปในตัว

พนักงานเอกชนที่ต้องแต่งเครื่องแบบจำนวนไม่น้อยก็ไม่ได้เดือดร้อนที่จะสวมใส่ บอกว่าดีเสียอีกเพราะได้ชุดฟรี ประหยัดเงิน แถมแต่ละวันไม่ต้องมานั่งเสียเวลาคิดว่าจะใส่อะไรดี

ดังนั้น ใครจะไปดูถูกคนที่เขาแต่งเครื่องแบบก็ต้องระวังคำพูดไว้ให้ดี

ขนาดพรรคการเมือง ไม่เว้นแม้แต่พรรคอนาคตใหม่ยังมีเสื้อพรรคให้สวมใส่เหมือนกันหมดเวลาออกหาเสียงเลย ไม่เห็นมีใครในพรรคนี้บอกว่าถูกหัวหน้าพรรคกดขี่อัตลักษณ์

 

ถัดจากเครื่องแต่งกาย ก็มาเรื่องภาษาอภิปรายในสภา ที่ ส.ส.หญิงของพรรคอนาคตใหม่เสนอให้ใช้ภาษาท้องถิ่นอภิปรายแทนภาษากลางเพียงภาษาเดียว โดยอ้างว่ากดขี่อัตลักษณ์ทางภาษา

เธอคนนี้คิดแคบๆ ในแง่จะรักษาอัตลักษณ์ แต่คงลืมคิดไปว่า ถ้าใช้หลายภาษาคงวุ่นวายและเสียเวลามาก ต้องจัดหาล่ามจำนวนเยอะมากคอยแปล แต่การแปลก็เสี่ยงจะแปลไม่ครบหรือแปลเพี้ยน ซึ่งไม่เป็นผลดีแน่ๆ อย่างที่บางคนท้วงว่าถ้าสมาชิกฟังไม่รู้เรื่องแล้วจะให้ลงมติเรื่องนั้นอย่างไร และยังสร้างปัญหาในการบันทึกเอกสารประชุมด้วย

นอกจากนี้ ความไม่สะดวกและน่ารำคาญก็จะเกิดขึ้นตรงที่ พอพูดไปไม่กี่ประโยค ก็อาจจะต้องหยุดรอให้มีการแปลเสียก่อน เสียเวลาหนักเข้าไปอีก จากที่มีเวลาจำกัดอยู่แล้ว ถ้าเป็นแบบนี้ตลอดเวลา การอภิปรายของสมาชิกหลายๆ ชั่วโมงจะเกิดอะไรขึ้น คนฟังที่ฟังอยู่ทางบ้านรำคาญแน่ๆ

การกำหนดให้ใช้ภาษากลาง ไม่ใช่การกดขี่อัตลักษณ์ แต่มันคือเครื่องมือหรือ “สื่อกลาง” ในการสื่อสารให้ง่ายขึ้น ลองนึกดูหากคนแต่ละภาคมาร่วมมือกันทำงานอะไรสักอย่าง แล้วไม่มีภาษาที่เป็นสื่อกลางให้เข้าใจร่วมกันได้ งานการนั้นคงจะลุล่วงไปไม่ได้ เพราะคนอีสาน-เหนือ-ใต้ก็จะไม่เข้าใจภาษากลาง คนภาคกลางก็จะไม่เข้าใจภาษาใต้หรือภาษาเหนือ-อีสาน แล้วเวลาจดบันทึกเอกสารคงยิ่งน่าปวดหัวไปกว่านั้น เพราะคงต้องบันทึกทุกภาษา

นี่ยังไม่รวมภาษาของชนกลุ่มน้อยอย่างปกากะญอ หรือบางทีก็เขมรที่คนไทยที่อยู่ติดชายแดนเขมรพูดกัน

หากไปร่วมกันทำงานที่ต้องเสี่ยงภัย เสี่ยงชีวิต ในสถานการณ์วิกฤตความเป็นความตาย แล้วไม่มีภาษากลางช่วยสื่อสารให้เข้าใจตรงกัน ลองคิดดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น

หายนะแน่

 

การกดขี่อัตลักษณ์ทางภาษาไม่เคยเกิดขึ้น เพราะในยามที่ไม่ต้องติดต่อราชการหรือเขียนเอกสารราชการ ทุกคนมีสิทธิ์ใช้ภาษาท้องถิ่นของตัวเอง (แต่เรื่องภาษาพูดแม้เป็นหน่วยงานราชการ บางแห่งก็พูดภาษาถิ่นได้ถ้าสองฝ่ายเข้าใจ) และภาษาถิ่นไม่มีทางสูญหาย เพราะเป็นภาษาแม่ที่แต่ละคนเรียนรู้และพูดได้ตั้งแต่เกิด

การกดขี่จะเกิดขึ้นต่อเมื่อรัฐไปก้าวล่วง บังคับให้คนทุกภาคพูด-เขียนภาษากลางเท่านั้น ห้ามใช้ภาษาอื่นไม่ว่าเวลาไหน

ถ้าจะอ้างหยุมหยิมเรื่องอัตลักษณ์ คงอ้างได้ไม่สิ้นสุด เพราะถ้าคิดในแง่กดขี่ คงมีอีกหลายหมื่นเรื่อง ซึ่งถ้าไปถึงจุดนั้นก็หมายความว่าเราต้องการให้คนอื่นมารับใช้ความต้องการของเราฝ่ายเดียว ไม่ยอมรับกติกาหรือ “จุดกึ่งกลาง” ในการอยู่ร่วมกันในสังคมสักเรื่องเดียว

ถ้าจะอ้างถึงเสรีภาพและอัตลักษณ์เยอะแยะ เฟ้อไปหมด ไม่ยอมรับกฎเกณฑ์อะไรเลย เราก็คงถอยกลับไปเป็นพวกมนุษย์ถ้ำป่าเถื่อน ไร้กติกาในการอยู่ร่วมกัน