ชาคริต แก้วทันคำ : เสรีภาพ ของเจตจำนงและความหมาย ของชนชั้นแรงงานเสี่ยง

จอห์น กอสเวอร์ธี (John Gosworthy) นักเขียนนวนิยายและบทละครชาวอังกฤษ เกิดเมื่อ 14 สิงหาคม

เขาเข้าเรียนที่โรงเรียนแฮร์โรว์และวิทยาลัยนิวคอลเลจ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เพื่อเป็นทนายความ

แต่ต่อมาเลือกที่จะเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ เพื่อดูแลธุรกิจขนส่งของครอบครัว

กอสเวอร์ธีออกผลงานเล่มแรก From the Four Winds ในปี 1897 และออกผลงานในเล่มต่อมาด้วยชื่อ “จอห์น ซินจอห์น”

ในปี 1904 เขาเริ่มใช้ชื่อจริงในหนังสือ The Island Pharisees

กอสเวอร์ธีเป็นที่รู้จักจากผลงานชุด The Forsyte Saga ซึ่งเป็นเรื่องราวชีวิตครอบครัวชนชั้นสูงชาวอังกฤษ ผลงานชุดที่ทำให้สังคมหันมาสนใจการตรวจพิจารณาเรื่องสิทธิสตรีและการปฏิรูปเรือนจำช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1

กอสเวอร์ธีเป็นประธานคนแรกของสมาคมนักเขียน PEN International และได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้น OM (Order of Merit) ในปี 1929 แต่ปฏิเสธที่จะรับบรรดาศักดิ์ชั้นอัศวิน

และในปี 1932 เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม และเสียชีวิตในปีต่อมา

 

บทความนี้มุ่งนำเสนอความหมายของชนชั้นแรงงานเสี่ยง โดยจะวิเคราะห์ตัวบทในสองประเด็น ได้แก่ เสรีภาพของเจตจำนงและความหมายของชีวิตในเรื่องสั้น “คุณภาพ” (Quality) ของจอห์น กอสเวอร์ธี (John Gosworthy)

ตีพิมพ์อยู่ในรวมเรื่องสั้นรางวัลโนเบลชุดที่ 28 “ดอกไม้ในสุสาน” แปลโดยวิมล กุณราชา

ผู้เขียนไม่ได้ให้ “ผม” เป็นตัวละครหลัก แต่เป็นตัวละครรองในเรื่องที่เป็น “พยาน” รับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นและนำเรื่องนั้นๆ มาเล่าถึงชีวิตพี่น้องเกสส์เลอร์ที่เปิดร้านตัดเย็บรองเท้าบู๊ตสองร้านติดถนน

แกจะทำเฉพาะเมื่อมีลูกค้าสั่งตัดเท่านั้น ไม่มีการตัดเพื่อวางจำหน่ายแก่ลูกค้าทั่วไป และรองเท้าบู๊ตของแกนั้นทนทาน ตัดเย็บด้วยความประณีต แต่ไม่ค่อยมีใครเข้ามาใช้บริการ

เวลาผ่านไปจนพี่ชายของแกตาย เพราะทำใจไม่ได้ที่ต้องเสียร้านหนึ่งไป และลูกค้าหันไปซื้อรองเท้าบู๊ตในห้างใหญ่กันหมด

เมื่อผมเดินทางไปต่างประเทศและกลับลอนดอนอีกครั้ง จึงแวะไปที่ร้านรองเท้าบู๊ต จากชายวัยหกสิบ กลายเป็นชายวัยเจ็ดสิบห้าในตอนท้าย

แกยังรับทำรองเท้าบู๊ต และตายลงเพราะอดอาหาร

 

ลักษณะแรงงานเสี่ยงในฐานะชนชั้นการผลิต

ษัษรัมย์ ธรรมบุษดี (2556:161-132) กล่าวว่า “แรงงานเสี่ยง (precariat) ได้รับการบัญญัติโดย Guy Standing (2012) ลักษณะสำคัญของแรงงานเสี่ยงเป็นกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ซึ่งอยู่ในลักษณะการจ้างงานแบบชั่วคราว หรือมีการเว้นระยะเวลาจากการจ้างงานปกติที่ยาวนาน เป็นกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่ปราศจากการคุ้มครองจากองค์กรวิชาชีพต่างๆ โดยเงื่อนไขการทำงานเกิดจากการต่อรองระหว่างนายจ้างและลูกจ้างในฐานะปัจเจกชน ซึ่งส่งผลต่อการขาดการคุ้มครองทางกฎหมายของรัฐนั้น และอัตราค่าจ้างที่ยืดหยุ่นตามสภาพเศรษฐกิจของผู้จ้าง”

“คราวหนึ่ง (แค่ครั้งเดียว) ผมเดินเข้าไปในร้านของคุณเกสส์เลอร์อย่างใจลอย โดยตอนนั้นผมสวมรองเท้าบู๊ตที่ซื้ออย่างฉุกเฉินเร่งด่วนในห้างใหญ่แห่งหนึ่ง-นั่นม่ายช่ายบู๊ตของผม-มันทำให้คุณเจ็บตรงนี้ แกพูด ห้างหญ่ายพวกนั้นไม่เคารพศักดิ์ศรีตัวเองเลย ขยะ!-พวกนั้นฮุบเอามันไปหมด แกว่า พวกเขาฮุบเอามันไปด้วยการโคดสะนา ม่ายช่ายด้วยผลงาน พวกเขาแย่งมันไปจากเรา ผู้ซึ่งรักบู๊ตของเรา มันกลายเป็นแบบนี้-อีกหน่อยผมก็จะม่ายมีงาน” (น.21)

ข้อความข้างต้น สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและความสะดวกสบายจากระบบทุนนิยม (capitalism) เข้ามามีบทบาทในชีวิตผู้คนพลเมือง จนพวกเขาต้องปรับตัวไปตามยุคสมัย จากที่เคยสั่งตัดเย็บรองเท้าบู๊ตจากช่างฝีมือ เปลี่ยนไปเป็นซื้อรองเท้าบู๊ตที่วางขายในห้างใหญ่

ดังนั้น บรรดาพ่อค้ารายเล็ก ลูกจ้าง หรือผู้ประกอบการอิสระที่เป็นกลุ่มแรงงานเสี่ยง จึงได้รับผลกระทบโดยตรง

เช่นเดียวกับสองพี่น้องเกสส์เลอร์และร้านของพวกเขา ที่ไม่มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการและงานก็ลดน้อยลง

ทั้งนี้ พี่น้องเกสส์เลอร์และร้านตัดเย็บรองเท้าบู๊ตไม่มีความทรงจำร่วมในสังคม ไม่มีอนาคตของตนเองจากการตัดสินใจร่วมกับผู้อื่นในสังคม พวกเขาเป็นกลุ่มที่เติบโตจากความมั่นคงและการขยายขนาดของพื้นที่นั้น

แต่ยิ่งสังคมมั่งคั่งเท่าไร พวกเขากลับไม่มีความมั่นคงเพิ่มขึ้น การจ้างตัดเย็บรองเท้าบู๊ตที่ลดลงและไม่ได้รับความนิยมตามยุคสมัย ได้ส่งผลให้พี่น้องเกสส์เลอร์ว่างงาน ขาดรายได้ และตายในที่สุด

 

เสรีภาพของเจตจำนง
และความหมายของชีวิต

“เสรีภาพของเจตจำนง” (freedom of will) ตามคำนิยามของ Viktor E. Frankl จิตแพทย์ชาวเวียนนา ผู้เผยแพร่ทฤษฎีจิตบำบัดแนวความหมายของชีวิต (logotherapy) กล่าวไว้ว่า “เป็นเสรีภาพในการเลือกกำหนดวิถีชีวิตของตนเอง กล้าที่จะเลือกและรับผิดชอบการตัดสินใจด้วยตนเอง มีความเป็นอัตลักษณ์และตระหนักรู้ว่าตนต้องเป็นผู้กำหนดทิศทางเดินของตนเอง”

“คนแก่ที่น่าสงสารอดอาหารตายครับ อดอาหารตายอย่างช้าๆ หมอว่าอย่างนั้น! คุณก็รู้ว่าเขามีวิธีการยังไง! อยากจะรักษาร้านไว้ต่อไป ไม่ยอมให้ใครแตะต้องบู๊ตที่เขาตัดเย็บนอกจากเขาเท่านั้น พอได้รับออเดอร์สั่งตัด เขาก็จะค่อยๆ ลงมือทำไปอย่างไม่รีบร้อน ใครๆ ก็ไม่อยากจะรอ เขาเลยเสียลูกค้าไปหมด เขาจะนั่งตรงนี้แหละครับ ทำไปเรื่อยๆ-ผมต้องขอชมว่า ไม่มีใครในลอนดอนทำบู๊ตได้ยอดเยี่ยมกว่าเขา! แต่ลองนึกถึงการแข่งขันสิครับ! เขาไม่เคยโฆษณาเลย! จะใช้หนังอย่างดีที่สุดและลงมือตัดเย็บด้วยตนเอง” (น.21)

ข้อความข้างต้น สะท้อนเสรีภาพและเจตจำนงของตัวละครพี่น้องเกสส์เลอร์ ท่ามกลางอุปสรรคความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการแข่งขันทางธุรกิจที่พวกเขาต้องเผชิญ

แต่กระนั้นพวกเขาก็ยังยืนหยัดที่จะมีเสรีภาพในตนเอง โดยลงมือตัดเย็บรองเท้าบู๊ตตามออเดอร์สั่งตัดเท่านั้น

แม้จะมองว่าอุปสรรคที่เกิดขึ้นกับพี่น้องเกสส์เลอร์ นอกจากปัจจัยภายนอกคือการเปลี่ยนแปลงของโลกตามระบบทุนนิยมแล้ว ยังเกิดจากปัจจัยภายในของตัวละครที่จะยืนหยัดทำงานตัดเย็บรองเท้าบู๊ตด้วยตนเอง ใช้หนังอย่างดี เพื่อให้รองเท้ามีคุณภาพ “เหมือนมีแก่นแท้บางอย่างของรองเท้าบู๊ตถูกเย็บใส่เข้าไปด้วย” (น.18) แต่การไม่โฆษณาหรือลงมือทำงานอย่างไม่รีบร้อน เท่ากับตัวละครเป็นคนกำหนดชีวิตตนเอง และจะรับผิดชอบทุกสิ่งที่เกิดขึ้นด้วย

“เขานั่งคร่ำเคร่งอยู่กับการตัดเย็บบู๊ตตลอดทั้งวันทั้งคืนจนถึงวาระสุดท้าย รู้ไหมครับ ผมเคยเฝ้าดูเขา เขาไม่ยอมเสียเวลากินเลย ไม่มีเงินติดบ้านสักเพนนีเดียว เงินที่มีหมดไปกับค่าเช่าและหนังทำรองเท้า ผมไม่รู้ว่าเขาอยู่มานานขนาดนี้ได้ยังไง เขาปล่อยให้ไฟในเตาผิงดับประจำจนเป็นเรื่องปกติ เขาเป็นคนแปลกไม่เหมือนใคร แต่เขาทำบู๊ตที่มีคุณภาพยอดเยี่ยม” (น.27-38)

ข้อความข้างต้น สะท้อนอิสรภาพเรื่องเวลาในชีวิตของตัวละครที่ใช้ไปกับสิ่งที่ตนรัก สิ่งที่ทำให้ตนมีความสุข ที่อาจถือได้ว่าเป็นการสร้างสรรค์อย่างทุ่มเท รับผิดชอบและซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ช่างตัดเย็บรองเท้าบู๊ตคุณภาพเยี่ยม

 

นอกจากนี้ “การตัดเย็บบู๊ตตลอดทั้งวันทั้งคืนจนถึงวาระสุดท้าย” ยังเป็นการยืนหยัดเสรีภาพของเจตจำนงที่ตัวละครทำในสิ่งที่ตนเชื่อมั่น ศรัทธา ด้วยความรักและพลังสร้างสรรค์ โดยไม่หวั่นไหวไปกับแรงกดดัน ทั้งจากค่าจ้าง ค่าเช่า หรือความคาดหวังจากสังคม

อย่างไรก็ตาม Vikter E. Frankl (1967) ยังกล่าวไว้อีกว่า

“ความหมายของชีวิตนั้นไม่ได้มีคำตอบที่ตายตัวสำหรับทุกปัจเจกบุคคล มนุษย์ไม่ได้เป็นผู้กำหนดความหมายของชีวิตให้กับตนเอง แต่ความหมายของชีวิตนั้นถูกค้นพบผ่านการดำรงชีวิตและตระหนักถึงคุณค่าของการใช้ชีวิต บุคคลแต่ละคนจะถูกชีวิตตั้งคำถามไว้ และการที่บุคคลสามารถตอบคำถามนั้นได้ก็ด้วยการตอบคำถามของชีวิตตนเองโดยเฉพาะเท่านั้น”

และเพราะพวกเขาคิดว่า “มันเปนศีละปะ!” (น.17) จึงทำให้ชีวิตของพี่น้องเกสส์เลอร์ปฏิเสธระบบทุนนิยมโดยสิ้นเชิง รวมถึงไม่ยอมปรับตัวใช้ชีวิตร่วมกับสังคมภายนอกให้มีความสอดคล้องกับโลกภายในของตนได้ พวกเขาจึงต้องตายเพราะ “คิดมาก ทำใจม่ายได้” และ “อดอาหารตายอย่างช้าๆ” อย่างน่าสงสารและสะเทือนใจไปกับชะตากรรมของแรงงานฝีมือ

เรื่องสั้น “คุณภาพ” ของจอห์น กอสเวอร์ธี ได้สะท้อนเสรีภาพของเจตจำนงและความหมายของชีวิตชนชั้นแรงงานผู้ตัดเย็บรองเท้าบู๊ตในลอนดอนที่มีอิสระในการทำงานตามความถนัดหรือความเชี่ยวชาญ และกำหนดชีวิตตนเองโดยไม่มีพันธะระยะยาวกับนายจ้าง

ปฏิเสธระบบทุนนิยมที่เข้ามาครอบงำและส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง แข่งขัน และโฆษณา จนต้องรับกับความเสี่ยงสูงทางเศรษฐกิจทั้งหมดจากความไม่ยืดหยุ่น

จึงต้องล้มหายตายจากพร้อมกับสูญเสียอัตลักษณ์ไปอย่างน่าเสียดาย

——————————————————————————————————————–
บรรณานุกรม
คนุต แฮมซุน และนักเขียนรางวัลโนเบล. (2562). ดอกไม้ในสุสาน. ปทุมธานี: นาคร.

พิราภรณ์ มาลาโรจน์และคณะ. (2561). อาชีพอิสระ : เสรีภาพของเจตจำนงและความหมายของชีวิต. มนุษยศาสตร์สาร. 18(1): 232-264.

ษัษรัมย์ ธรรมบุษดี. (2556). ชนชั้นแรงงานเสี่ยง กลุ่มคนชายขอบบนศูนย์กลางทุนนิยมเสรีนิยมใหม่. วารสารสังคมศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ. 43(2): 157-172.

Frankl, V., E. (1967). Psychotherapy and Existentialism ; selected papers on logotherapy. Middlesex, England: Penguin books Ltd.