จักรกฤษณ์ สิริริน : ปัญหาเหยียดผิวหลอกหลอนไม่จบสิ้น มุมมองของนักเขียนเบอร์หนึ่งแห่งยุค

หลายคนอาจประหลาดใจอยู่บ้าง เพราะไม่บ่อยนักที่นิตยสาร TIME จะขึ้นปกนักเขียน แต่สำหรับคนในวงการวรรณกรรมสหรัฐแล้ว พวกเขาไม่แปลกใจเลยที่ปกนิตยสาร TIME เล่มใหม่เป็นภาพ Colson Whitehead

เพราะเขาคือนักเขียนคนที่ 6 ในประวัติศาสตร์วรรณกรรมอเมริกันที่คว้าทั้ง National Book Award และ Pulitzer Prize จากหนังสือเล่มเดียวกัน นั่นคือนวนิยายเรื่อง The Underground Railroad

นักวิจารณ์วรรณกรรมและนักเขียนชื่อดังในสหรัฐต่างชื่นชอบผลงานของ Colson Whitehead ที่มักเขียนถึงประเด็นปัญหาเหยียดผิวที่เขาบอกว่า ปัญหานี้ยังคงตามหลอกหลอนคนอเมริกันอย่างไม่จบสิ้น

“นี่คือการหลอมรวมเรื่องแต่งกับเรื่องจริงเข้าด้วยกันอย่างแนบเนียน ประเด็นทาสในสังคมอเมริกันยังคงไม่ล้าสมัย หากมันคลี่คลายและสะท้อนถ่ายปัญหาการเหยียดผิว และหนังสือเล่มนี้มีพล็อตที่ร่วมสมัยมากสำหรับสหรัฐ”

คณะกรรมการ Pulitzer Prize กล่าวชื่นชมนวนิยาย The Underground Railroad ของ Colson Whitehead

 

The Underground Railroad เป็นนวนิยายสะท้อนสังคม เดินเรื่องโดยหญิงผิวสีเชื้อสายแอฟริกันคนหนึ่งซึ่งหลบหนีจากการเป็นทาสในรัฐทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกายุคก่อนสงครามการเมือง

การเดินทางของเธอเริ่มต้นที่รัฐเวอร์จิเนียขึ้นไปทางตอนเหนือผ่านความช่วยเหลือของ “ขบวนการรถไฟใต้ดิน” หรือ The Underground Railroad

“ขบวนการรถไฟใต้ดิน” เกิดขึ้นราวปี ค.ศ.1850 ภายหลังจากที่รัฐสภาสหรัฐผ่านร่างกฎหมายไล่ล่าทาสที่หลบหนี หรือ Fugitive Slave Law กฎหมายฉบับนี้กำหนดบทลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการจับกุมและกล่าวโทษทาสที่หลบหนี โดยระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ

ขณะเดียวกันก็มีรางวัลนำจับเมื่อจับทาสได้ ส่งผลให้คนผิวดำจำนวนมากถูกหว่านแหโดยไม่มีการประกันตัว

ที่ร้ายไปกว่านั้นก็คือ หลายคนถูกนำตัวส่งให้ผู้คนผิวขาวซึ่งสามารถอ้างความเป็นเจ้าของทาสได้เพียงแค่คำสาบานว่าเป็นเจ้าของทาสจริง

กฎหมายไล่ล่าทาสยังมีบทบัญญัติลงโทษผู้ให้ความช่วยเหลือแก่ทาสที่หลบหนีทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะให้ที่พักพิง ให้อาหาร โดยจะมีโทษจำคุก 6 เดือนและปรับ 1,000 เหรียญเช่นกัน กฎหมายฉบับนี้เป็นต้นเหตุให้เกิดการลักพาตัวทาสที่ถูกปล่อยเสรีไปแล้วเพื่อนำไปขายแก่ผู้ต้องการใช้ทาสซ้ำอีก

ความอยุติธรรมนำนี้นำไปสู่การก่อตั้ง “ขบวนการรถไฟใต้ดิน” ในที่สุด

 

Colson Whitehead ให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร TIME ฉบับล่าสุดว่า เรื่องราวเกี่ยวกับทาสวนเวียนอยู่ในความคิดของเขาตลอดเวลา “อเมริกาสร้างความศิวิไลซ์จากการเหยียดผิวตั้งแต่อินเดียนแดงมาจนถึงทาสจากแอฟริกา ร่องรอยเหล่านี้ได้หยั่งรากลึกในปัจจุบัน” Colson Whitehead กล่าว

Colson Whitehead เป็นชาว New York โดยกำเนิด เขาเกิดและเติบโตในเมือง Manhattan เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน ค.ศ.1969 จบชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียน Trinity และจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัย Harvard University ในปี ค.ศ.1991

หลังจบจาก Harvard เขาเข้าทำงานเป็นนักข่าวที่หนังสือพิมพ์ The Village Voice ซึ่งเป็นสื่อที่ทรงอิทธิพลฉบับหนึ่งใน New York ทำให้ Colson Whitehead ซึมซับบรรยากาศปัญญาชนจาก The Village Voice บ่มเพาะแรงบันดาลใจให้เขาเขียนนวนิยายเล่มแรกจนสำเร็จในอีก 9 ปีต่อมา

นั่นคือนวนิยายเรื่อง The Intuitionist

 

หากเรามองปัญหาเหยียดผิวอย่างจริงจัง ทุกวันนี้บรรยากาศหลายอย่างยังคงเหมือนช่วงก่อนยุคสงครามกลางเมืองด้วยซ้ำ

ยังไม่ต้องพูดถึงการเลิกทาสในความหมายที่จริงจังก็เหมือนกับว่ามันยังไม่เคยเกิดขึ้น เพราะในปัจจุบันเรายังพบความไม่เท่าเทียมหลายอย่างที่เกิดขึ้นระหว่างคนดำกับคนขาวในหลายกรณี

และหากมองออกไปจากอเมริกา เรายังพบปัญหาการเหยียดผิวที่รุนแรงกว่าในยุโรปทั้งในอดีตกับตัวอย่างความเลวร้ายของนาซีที่ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวและในปัจจุบันอีกหลายประเทศจนถึงปัญหาปาเลสไตน์ในตะวันออกกลาง หรือแม้แต่ชาติที่ยังดำรงวัฒนธรรมโบราณด้วยระบบวรรณะในอินเดียรวมถึงประเด็นเหยียดเพศ โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกที่การเหยียดผิวมาในรูปแบบการกดขี่ทางเพศในสังคมชายเป็นใหญ่

ขณะที่ในรวันดามีสงครามการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ระหว่างทุตซีและฮูตู หรือเหตุการณ์ในกัมพูชายุคเขมรแดง

และมีคำถามว่าสงครามสีเสื้อในไทยเข้าข่ายปัญหาเหยียดผิวดังกล่าวด้วยหรือไม่

 

Colson Whitehead สานต่อเรื่องราวเกี่ยวกับปัญหาเหยียดผิวจาก The Underground Railroad สู่นวนิยายเรื่องล่าสุด The Nickel Boys โดยจะพาเราย้อนกลับไปมองความแหลมคมของปัญหาดังกล่าวในยุคทศวรรษ 1960 เหตุการณ์ลอบสังหาร John F. Kennedy ขณะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และ Dr. Martin Luther King ผู้นำกลุ่มต่อต้านการเหยียดผิว รวมถึงการทำร้าย จับกุมคุมขัง และสังหารคนผิวดำจำนวนมากรวมถึงเด็ก

โดยเฉพาะการเข่นฆ่าทารุณกรรมนักศึกษาที่ชุมนุมประท้วงต่อต้านการเหยียดผิวและสงครามเวียดนาม ล้วนเกิดขึ้นในทศวรรษ 1960

นอกจาก The Underground Railroad และ The Nickel Boys แล้ว Colson Whitehead ยังมีผลงานอื่นๆ ที่น่าสนใจหลายเล่ม อาทิ นวนิยายเล่มแรก The Intuitionist (ค.ศ.1999) คว้ารางวัล Quality Paperback Book Club New Voices Award และเข้ารอบสุดท้าย Hemingway Foundation/PEN Award นวนิยายเล่มที่สอง John Henry Days (ค.ศ.2001) คว้ารางวัล Young Lions Fiction Award และ Anisfield-Wolf Book Award และเข้ารอบสุดท้าย Pulitzer Prize, National Book Critics Circle และ Los Angeles Times Book Prize

นวนิยายเล่มที่สาม Apex Hides the Hurt (ค.ศ.2006) คว้ารางวัล PEN Oakland/Josephine Miles Literary Award นวนิยายเล่มที่สี่ Sag Harbor (ค.ศ.2009) เข้ารอบสุดท้าย PEN/Faulkner Award for Fiction และ Hurston-Wright Legacy Award นวนิยายเล่มที่ห้า Zone One (ค.ศ.2011) เข้ารอบสุดท้าย Hurston-Wright Legacy Award

และที่สำคัญที่สุดคือนวนิยายเล่มที่หก ซึ่งเป็นผลงานชิ้นล่าสุด คือ The Underground Railroad (ค.ศ.2016) ถือเป็นวรรณกรรมที่ส่งให้เขาขึ้นสู่บัลลังก์นักเขียนหมายเลขหนึ่งแห่งยุค ด้วยการกวาดรางวัลใหญ่บนเวทีวรรณกรรมโลกมาได้ถึง 4 รางวัลด้วยกัน

อันประกอบไปด้วย National Book Award for Fiction, Carnegie Medal for Excellence in Fiction, Arthur C. Clarke Award และที่สำคัญที่สุดคือ Pulitzer Prize for Fiction นอกจากนี้ ยังเข้ารอบสุดท้าย Booker Prize และ IMPAC Award อีก 2 รางวัล

ผลงานเล่มล่าสุดของ Colson Whitehead คือนวนิยายเรื่อง The Nickel Boys ที่เพิ่งวางแผงไปเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาครับ