ปรางค์ปรา : “ไม้เบสบอล” รุมฟาด “โรงหนัง”

หากเปรียบ “ไม้เบสบอล” คือ “วัฒนธรรมแปลกถิ่น” ก็คงนำมาเทียบกับสถานการณ์ “โรงหนัง” ในวันนี้ได้เป็นอย่างดี

เพราะ “วัฒนธรรมไม้เบสบอล” เป็นเรื่องปกติของสังคมอเมริกันและญี่ปุ่น ซึ่งเป็นสองประเทศที่ “เบสบอล” เป็นที่นิยมในระดับ “กีฬามหาชน” ทำให้ “ไม้เบสบอล” เสมือน Prop ประจำบ้าน หรือของพกพาสำหรับเด็กอเมริกันและญี่ปุ่นมาช้านาน

เราจึงเห็นฉากตัวละครถือ “ไม้เบสบอล” ในภาพยนตร์อเมริกันและการ์ตูนญี่ปุ่นกันอยู่เสมอ ไม่ว่าจะใช้แทนอาวุธป้องกันตัวเมื่อมีผู้บุกรุกบ้าน หรือใช้โพสท่าถ่ายรูป

ทำให้แทบจะไม่พบ “วัฒนธรรมไม้เบสบอล” ในชาติอื่นๆ มากนัก โดยเฉพาะประเทศไทย

 

“ไม้เบสบอล” จึงเสมือน “คนแปลกหน้า” หากปรากฏตัวในวัฒนธรรมไทย ยิ่งเมื่อนำไปเทียบกับ “ธุรกิจโรงหนัง” อาจทำให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น โดยเมื่อ 30 ปีก่อนที่ธุรกิจโรงหนังเคยพังทลายมาแล้ว เมื่อถูก “ไม้เบสบอลแรก” คือ “ร้านเช่าวิดีโอ” รุมฟาด

“ร้านเช่าวิดีโอ” ในยุคนั้น เสมือน “วัฒนธรรมแปลกหน้า” ที่ผุดขึ้นราวดอกเห็ด ทุกปากซอย ป้ายรถเมล์ จะมี “ร้านเช่าวิดีโอ” ตั้งอยู่แทบทุกจุด ด้วยความสะดวกสบายในการเช่าหนังไปนอนดูที่บ้าน แถมมีหนังทุก Rate ให้เลือก แม้ค่าเช่าวิดีโอต่อม้วนจะใกล้เคียงราคาตั๋วหนัง แต่ก็ส่งผลถึงปริมาณคนดูหนังในโรงลงฮวบฮาบ ทำเอาโรงหนังใหญ่ม้วนเสื่อไปหลายโรง

ก่อนที่ “ธุรกิจโรงหนัง” จะคืนชีพอีกครั้ง ด้วยโมเดลธุรกิจใหม่คือ Mini Theater หรือโรงหนังขนาดเล็กในห้างสรรพสินค้า ถือเป็นการแก้เกมร้านเช่าวิดีโอได้ในระดับหนึ่งราวกลางทศวรรษ 2530

แม้จะสร้างความตื่นเต้นได้ในระยะแรก แต่ดูเหมือนกิจการยังไม่เฟื่องฟูเท่ายุคธุรกิจโรงหนังในอดีต

ประกอบกับการเกิดขึ้นของร้านเช่าวิดีโอแฟรนไชส์จากต่างประเทศคือ Tsutaya จากญี่ปุ่น Blockbuster จากสหรัฐ และ VideoEzy จากออสเตรเลีย ที่เข้ามาเสริมทัพ “ไม้เบสบอล” อันใหม่ รุมฟาด “โรงหนัง” อย่างต่อเนื่อง

การมาถึงของสามยักษ์ ทำให้ร้านเช่าวิดีโอแบบไทยไทยต้องปรับตัวขนานใหญ่ เพราะร้านเช่าวิดีโอจากเมืองนอกมาพร้อมกับแผ่น VCD ก่อนจะขยายเป็น DVD และ Blu-ray ในยุคท้ายๆ

ก่อนที่จะทยอยปิดกิจการกันไปทุกเจ้าในเวลาต่อมา ผลพวงจากยุค Digital

ทําให้ “ธุรกิจโรงหนัง” ฟื้นตัวขึ้นมาอีกครั้ง ในช่วงกลางทศวรรษ 2540 จากกระแสหนังไทย “นางนาก” และการทุ่มทุนเปิด Movie Multiplex อลังการงานสร้าง และฉายหนังด้วยรูปแบบใหม่ๆ เช่น IMAX และ 3D ก่อนพัฒนามาเป็น 4DX ในปัจจุบัน ที่ต้องยอมรับว่านายทุนเจ้าของธุรกิจโรงหนังคิดกลยุทธ์กันหัวแทบระเบิด

เมื่อเทคโนโลยี Streaming หรือการดูหนังออนไลน์ ทั้งผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือ Smart TV ที่เปรียบเสมือน “ไม้เบสบอล” รุมฟาด “โรงหนัง” รอบที่สองต่อจากร้านเช่าวิดีโอ

ทว่า คราวนี้ดูจะเป็น “ศึกใหญ่ที่ยาวนาน” และอาจทำให้ “โรงหนัง” ถึงขั้นสูญพันธุ์ หรือไม่ก็ต้องปรับโมเดลธุรกิจกันอีกครั้ง

นำร่องมาด้วย YouTube ซึ่งกลายเป็นสื่อที่ทรงพลังไปแล้ว แม้จะมี Content หนังใหญ่ให้เลือกดูไม่มาก และ YouTube ก็ดูเหมือนส่งผลสะเทือนกับวงการเพลงหรือวงการโทรทัศน์มากกว่า แต่ก็ถือว่า YouTube เป็นจุดกำเนิดการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ และทัศนคติของคนรุ่นใหม่ที่มีต่อ “โรงหนัง” ได้ค่อนข้างมาก

และที่ตาม YouTube มาติดๆ ก็คือ LINE TV ที่จับมือกับค่าย Content ยักษ์ใหญ่ มีทั้งหนัง ทั้งละครซีรี่ส์ และทั้งมิวสิกวิดีโอ หรือถ่ายทอดสดคอนเสิร์ต

โดยก้าวหน้าไปถึงขั้นร่วมลงขันผลิต Content กันขึ้นมาใหม่ทั้งหมด

แต่ “ไม้เบสบอล” ที่กำลังรุมฟาด “โรงหนัง” ในปัจจุบัน ไม่ใช่ทั้ง YouTube และ LINE TV รวมถึง Facebook ที่แม้จะประกาศตัวเข้าร่วมขบวน Streaming แต่ก็ยังไม่เห็นอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน

เพราะ “ไม้เบสบอล” ตัวจริง มีชื่อว่า NETFLIX

นอกจาก NETFLIX จะซื้อลิขสิทธิ์ซีรี่ส์ชื่อดังระดับโลกเพื่อนำออกฉายทางออนไลน์อย่างเดียวแล้ว NETFLIX ยังดีลกับค่ายหนังฮอลลีวู้ดยักษ์ใหญ่ แถมยังลงทุนสร้างทั้งหนังและซีรี่ส์ใหม่ๆ ด้วยตนเอง

ด้วยโมเดลนี้ ธุรกิจของ NETFLIX จึงประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว และกลายเป็น “เบอร์หนึ่ง” ของโลกไปแล้ว

เมื่อคนดูหนังผ่านโทรศัพท์มือถือ Tablet PC หรือ Smart TV ได้ทุกที่ทุกเวลาด้วยความรวดเร็วจากสัญญาณอินเตอร์เน็ตและ Wi-fi ในปัจจุบัน อีกทั้งค่าใช้จ่ายก็ถูกกว่า แถมได้ดูหนังใหม่พร้อมกับโรง

โดย NETFLIX เพิ่งทลายกำแพงสุดท้ายฮอลลีวู้ด คือการยอมรับหนัง Streaming ให้เข้าประกวดออสการ์ได้ ยิ่งทำให้โมเดลธุรกิจของ NETFLIX เป็นที่จับตามองเป็นอย่างมาก

แต่ดูเหมือน NETFLIX จะไม่รอให้คู่แข่งขึ้นมาทาบรัศมี เพราะรีบขยายสาขาออกไปทั่วโลก ทำให้โรงหนังและบริษัทผลิต Content ท้องถิ่นในหลายประเทศ เริ่มสร้าง NETFLIX ของตัวเอง

โดยเฉพาะจีนที่มี iQiyi เป็นหัวหอก และประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก

 

และแม้ NETFLIX จะมีดีลกับยักษ์ฮอลลีวู้ด แต่ก็ยังไม่ครบ เพราะ Disney ได้ประกาศเปิดธุรกิจ Streaming ของตัวเองคือ Disney+ หรือ DisneyPlus ซึ่งกำลังจะเปิดตัว และตามมาติดๆ กับจักรพรรดิไอทีอย่าง Apple ที่ลงมาขอส่วนแบ่งทางการตลาด Movie Streaming ด้วยการประกาศเปิดตัว Apple TV+ ธุรกิจดูหนังออนไลน์ เหมือน NETFLIX และ Disney+ เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

ปรากฏการณ์ทั้งหมด เสมือน “ไม้เบสบอล” รุมฟาด “โรงหนัง” จะว่าเป็นการลงโทษก็ไม่เชิง จะว่าเป็นแค่การขู่ก็ไม่ใช่ เพราะเขาใช้ “ไม้เบสบอล” ฟาดกันจริงๆ

เหมือน “น้องชายแดน” ที่ถูก “ไม้เบสบอล” ติวเตอร์รุมฟาดจนเสียชีวิต

เหมือน “จ่านิว” ที่ถูก “ไม้เบสบอล” การเมืองรุมฟาดปางตาย

เป็นเรื่องเศร้าที่น่าสังเกตว่า “วัฒนธรรมไม้เบสบอล” ได้แทรกซึมเข้ามาในบ้านเรา แม้จะผ่านตากับข่าวคนขับรถลากไม้เบสบอลกระหน่ำตีกันบนท้องถนน หรือใช้เป็นอาวุธป้องกันขโมยขึ้นบ้านอยู่บ้างประปราย

แต่เหตุการณ์รุมฟาด “น้องชายแดน” และ “จ่านิว” ด้วย “ไม้เบสบอล” ล่าสุดนั้นสะเทือนขวัญชัดเจนมาก ซึ่งคงเปรียบได้กับ “ธุรกิจโรงหนัง” ยามนี้ และในอนาคตอันใกล้ได้เป็นอย่างดี