การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ : นานาชาติช่วยไทย จากความร่วมมือถึงแรงบันดาลใจ สู้วิกฤตโลก

นับเป็นปัญหาที่ถูกพูดถึงและส่งสัญญาณเตือนจนเป็นข้อถกเถียงมาหลายปีต่อภาวะปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือภาวะโลกร้อน (Global Warming)

และปัญหานี้นับวันทวีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งในแง่พื้นที่ สภาพอากาศที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของประชาชน และผลลัพธ์ที่ตามมาซึ่งอาจยากจะฟื้นกลับคืนมา

เมื่อธันวาคม ปี 2558 หลายชาติทั่วโลกและประเทศไทยได้ร่วมการประชุมนานาชาติเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวจนนำไปสู่การลงนามในข้อตกลงปารีส

โดยเป้าหมายใหญ่คือ การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส ซึ่งจะเริ่มขึ้นในปี 2563

ทั้งนี้ ในข้อตกลงดังกล่าว ได้กำหนดให้ประเทศภาคีต้องจัดทำเป้าหมายการดำเนินงาน สิ่งหนึ่งพื้นฐานคือ เป้าหมายที่แต่ละประเทศกำหนดเองตามความเหมาะสม หรือเอ็นดีซี (NDC)

สำหรับประเทศไทยก็ได้วางนโยบายในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนทั้งในระดับยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายกระทรวง แต่ปัญหาใหญ่ระดับข้ามชาติเช่นนี้ จึงต้องอาศัยความร่วมมือและการสนับสนุนจากนานาชาติ เพื่อให้ไทยได้เตรียมความพร้อมเพื่อสามารถดำเนินเป้าหมายให้สอดคล้องตามข้อตกลงปารีส

แน่นอนว่าประโยชน์สูงสุดคือ ให้มนุษยชาติรอดพ้นจากมหันตภัยก่อนจะเลวร้ายลงกว่านี้

 

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรฯ พร้อมด้วยสำนักงานความร่วมมือการพัฒนาระหว่างประเทศของรัฐบาลสวีเดนและกระทรวงสิ่งแวดล้อม อนุรักษ์ธรรมชาติและความปลอดภัยนิวเคลียร์ของรัฐบาลเยอรมนีได้สร้างความร่วมมือ เสริมความเข้มแข็งในการบริหารจัดการกลไกทางการเงินเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย

ซึ่งเป็นการเสริมสร้างศักยภาพการจัดสรรและการใช้งบประมาณสาธารณะเพื่อสนับสนุนนโยบายรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้ไทยบรรลุเป้าหมายตามข้อตกลง

โดยมีระยะเวลาโครงการ 3 ปี ตั้งแต่เมื่อปี 2561-2563 ในวงงบประมาณจำนวน 931,500 เหรียญสหรัฐ หรือมากกว่า 27 ล้านบาท

นับเป็นการสร้างความพร้อมในขั้นเริ่มต้นเพื่อทำให้นโยบายการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องและทำให้ไทยร่วมกับหลายชาติช่วยกันลดปัญหาการปล่อยก๊าซที่ทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น

 

นายพิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช รองเลขาธิการ สผ. กล่าวว่า ประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญที่สุดในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเพิ่มขีดความสามารถในการฟื้นตัวจากภาวะโลกร้อน

ทั้งนี้ ไทยได้มีการบูรณาการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบายและแผนพัฒนาของประเทศทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 พ.ศ.2560-2564 รวมถึงแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ.2558-2593

นายพิรุณกล่าวตอนท้ายว่า ปัญหาโลกร้อนไม่ได้เป็นปัญหาที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่คือความท้าทายที่ทุกคนต้องเผชิญร่วมกัน

ถ้าทุกคนร่วมมือกันอย่างจริงจัง เราจะสามารถทำให้เป้าหมาย NDC ประสบความสำเร็จได้ ผมมั่นใจว่าโครงการ NDC Support จะเป็นรากฐานสำคัญสำหรับความร่วมมือกันในอนาคตเพื่อบรรลุเป้าหมายในการแก้ไขภาวะโลกร้อน

รวมถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

 

นายเรอโน เมแยร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งองค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็นดีพี กล่าวว่า เรามาถึงตรงนี้ ได้ยิน ได้เห็น หลักฐานมากมายเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน

เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว เลขาธิการยูเอ็นได้เรียกร้องกับชาติสมาชิกในการประชุมสุดยอดผู้นำโลกร้อนพร้อมกับการประชุมสมัชชาให้มีการแสดงความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาโลกร้อน ซึ่งมีหลายที่ประกาศเป้าหมายแก้ไขปัญหาโลกร้อน จนมาถึงที่กรุงเทพฯ ที่จะประกาศความตั้งใจนี้

ความจำเป็นทั้งจากระดับโลก ระดับชาติ ระดับชุมชนจนถึงปัจเจกชน เราสนับสนุนรัฐบาลตั้งแต่การเงินจนถึงนโยบายเพื่อให้ประสบความสำเร็จ เราตั้งใจ เรามีทางเลือกในการรับมือ เราเป็นหุ้นส่วนอย่างเร่งด่วนทั้งรัฐบาล ประชาสังคมและภาคเอกชนต่อภาวะโลกร้อน ร่วมทุกฝ่ายในสังคมเพื่อบรรลุเป้าหมายอย่างที่ตั้งใจ

นายเมแยร์กล่าวตอนท้าย ภาวะโลกร้อนได้เป็นปัญหาที่ไม่เกี่ยวกับพรมแดนอีกต่อไป แต่เป็นปัญหาระดับโลกที่เราจำเป็นจะต้องเข้าใจ การอยู่รอดของเรานั้น อยู่ในจุดที่เสี่ยงมาก

 

ด้านนายเกออร์ก ชมิดท์ เอกอัครรัฐทูตสหพันธรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทยได้กล่าวว่า ปัญหาโลกร้อนในปี 1974 เป็นเรื่องน่ากังวลสำหรับทุกคน อาจมีคนถามว่าเมื่อถึงปี 2050 เราปล่อยให้หลายสิ่งเกิดขึ้นต่างจากเดิมไปได้ยังไง ผลกระทบไม่ใช่เกิดขึ้นกับคนที่เผชิญกับโลกภายนอก แม้แต่บนโต๊ะอาหารในบ้าน ลูกหลานอาจถามพ่อ-แม่ว่า ทำไมพวกท่านทำแบบนี้?

“ที่ผ่านมาประเทศเยอรมนีให้การสนับสนุนด้านงบประมาณแก่ประเทศไทยในการดำเนินโครงการในระดับทวิภาคีกว่า 60 ล้านยูโร และตั้งใจที่จะสนับสนุนต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ การให้ความสำคัญกับงบประมาณเป็นเรื่องจำเป็น มีนักวิจารณ์หลายคนมองว่าการต่อสู้กับภาวะโลกร้อนมีค่าใช้จ่ายสูงเกินไป แต่ผมคิดว่าการไม่ทำอะไรเลยจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อพวกเราและคนรุ่นต่อไปมากกว่านั้น” ฯพณฯ ชมิดท์กล่าว

ฯพณฯ ชมิดท์กล่าวอีกว่า อีกทางเลือกหนึ่งคือ การสร้างประสิทธิภาพด้วยการปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นขุมพลังที่ยิ่งใหญ่ที่สุด และชัดเจนอยู่แล้ว ผมแนะนำผ่านการสร้างทัศนคติ อย่างการใช้ชีวิต เดินทางมาทำงานในกรุงเทพฯ ด้วยสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า การทำเป็นตัวอย่าง การโน้มน้าวและการแนะนำให้กับภาคเอกชนจนถึงรัฐบาล นี่เป็นทางเลือกที่ดีที่สุด

ฯพณฯ ชมิดท์กล่าวตอนท้ายว่า เป็นเรื่องดีที่คุณแสดงทางเลือก ทำในสิ่งที่ดีในการสร้างทางเลือก เมื่อโลกได้เห็นและพูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ และนี่ไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับเงิน อย่าประเมินต่ำเกินไปกับเจตจำนงของคนที่ทำสิ่งดีงาม

 

ขณะที่ น.ส.โอซ่า ฮีย์เดน หัวหน้าฝ่ายความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระดับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก กล่าวว่า มีผลการศึกษาหลายชิ้นที่ยืนยันว่าปัญหาภาวะโลกร้อนมีผลกระทบต่อกลุ่มผู้หญิง ผู้ชาย คนรวย และคนจนไม่เท่ากัน

โดยกลุ่มผู้หญิงและเด็ก รวมถึงกลุ่มผู้ด้อยโอกาสจะได้รับผลกระทบมากกว่า

ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับข้อจำกัดในการปรับตัวและรับมือกับความเสี่ยง

“หากเราแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยไม่พูดถึงบริบททางเพศสภาพ จะถือเป็นเรื่องพลาดโอกาสอย่างมาก ในแง่การเงินและสิทธิมนุษยชน การแก้ไขปัญหาโลกร้อน จึงต้องให้ข้อมูลเรื่องความแตกต่างเรื่องเพศ ดังนั้น กลไกการเงินเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนจะต้องเป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมคุณภาพทางเพศสภาพ”

น.ส.ฮีย์เดนกล่าว

 

ในช่วงตอบคำถามกับสื่อ น.ส.ฮีย์เดนกล่าวเมื่อถูกถามต่อความเห็นของนักวิทยาศาสตร์ที่ได้กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังยกระดับเป็นวิกฤตสภาพอากาศ จากปัญหาที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น เท่ากับแปลว่าเวลาของเรากำลังหมดลงหรือไม่ว่า

สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า เราต้องเร่งเวลา เราต้องทำอะไรบางอย่างเดี๋ยวนี้

การลุกขึ้นของคนรุ่นใหม่ การประท้วงทุกวันศุกร์ ฉันรู้ว่าคนรุ่นใหม่ใส่ใจเรื่องนี้มาก เรามีโลกใบเดียว ดังนั้น เราต้องทำอะไร ไม่ใช่แค่เพื่อเราในวันนี้ แต่เพื่อลูกหลานในอนาคตข้างหน้า

เราสามารถทำบางอย่างได้ แต่จะเป็นไปไม่ได้หากเราไม่ร่วมมือกัน ภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม นักวิชาการ ต้องทำอะไรเพื่อเปลี่ยนวิถีทาง

ทั้งนี้ ฯพณฯ ชมิดท์ได้ขยายความถึง “ความคิดสร้างสรรค์” จะสร้างเป็นพลังได้ยังไงว่า เราสามารถทำได้หลายอย่าง เช่น เปลี่ยนแปลงขยะที่เราผลิตออกมา โดยเราตั้งเป้าหมายว่า เราจำเป็นที่จะหลีกเลี่ยงไม่ผลิต (ขยะ) ออกมาได้ไหม? เราจะตระหนักได้จากการเปลี่ยนพฤติกรรมเล็กๆ หรือเวลาไปร้านสะดวกซื้อ ได้ถุงพลาสติกซึ่งส่วนมากเราเลือกทิ้งไป ทำไมเราจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ล่ะ หรือสถานทูตเคยลองใช้รถยนต์ไฟฟ้าขับจากกรุงเทพฯ ไปเชียงใหม่ แน่นอนอาจเป็นเรื่องยาก

แต่เราได้ทำ เพื่อแสดงให้เห็นถึงอนาคตในระยะยาว