วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ / ประเทศไทยหลายเสี่ยง : อย่ายุส่งสงครามกลางเมือง

ไม่ใช่ครั้งแรกที่นักเคลื่อนไหวทางการเมืองถูกทำร้ายร่างกายนับตั้งแต่การรัฐประหารของรัฐบาล คสช. และเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 1 เดือนที่ “จ่านิว” หรือนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ นักเคลื่อนไหวด้านการเมือง หนึ่งในแกนนำคนอยากเลือกตั้ง ถูกทำร้ายร่างกายอย่างรุนแรง

ซึ่งในครั้งนี้หนักถึงขั้นต้องเข้ารักษาอาการในห้อง ICU ด้วยอาการบาดเจ็บบริเวณเบ้าตา ศีรษะ และจมูก จากการถูกทุบตีด้วยของไม่มีคม

ก่อนหน้านี้จ่านิวถูกทำร้ายร่างกายช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา ภายหลังตั้งโต๊ะเปิดรับรายชื่อยื่นเรียกร้องให้ ส.ว. 250 คน งดออกเสียงโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

ยิ่งไปกว่านั้น ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา จ่านิวไม่ใช่นักเคลื่อนไหวทางการเมืองคนเดียวที่ตกเป็นเป้าการถูกกระทำความรุนแรง แต่ยังมีนายเอกชัย หงส์กังวาน อีกหนึ่งรายที่ปรากฏบนสื่อบ่อยครั้ง ที่โดนทั้งชกหน้า ปาแก้วใส่ รุมทำร้ายจนศีรษะแตก และโดนเผารถยนต์ที่มีเอกสารการล่ารายชื่อถอดถอน กกต. หลังการเลือกตั้ง

ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ก่อเหตุความรุนแรงต่อนักเคลื่อนไหวทางการเมืองนั้น ยังไม่เคยถูกจับกุมตัวแม้แต่เพียงคนเดียว

ทำให้ไม่อาจรู้ได้ว่าผู้กระทำเหล่านั้นเป็นใคร และแท้จริงชนวนเหตุของการก่อเหตุ เป็นเรื่องการเมืองอย่างที่คาดการณ์ไว้หรือไม่

ซึ่งหากเป็นเรื่องการเมืองจริง ก็ยังต้องคาดเดาต่อว่า เป็นการกระทำจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือเป็นเพียงผู้เห็นต่างทางการเมืองที่ไม่พอใจการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล คสช.

 

ความปลอดภัยของผู้เห็นต่าง

หากตีความว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำร้ายจ่านิวและเอกชัย โดยเทียบเคียงกับเหตุการณ์ที่จ่านิวถูกอุ้มโดยคนแต่งกายชุดทหารบริเวณข้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ในช่วงดึก ปี 2559 อย่างอุกอาจนั้น อาจอนุมานไปได้ว่านอกจากการเรียกปรับทัศนคติ การดำเนินคดี และการส่งเจ้าหน้าที่ทหารไปติดตามตัวนั้น คสช.มีกรรมวิธีการจัดการผู้เห็นต่างที่น่าหวาดหวั่น ละเมิดสิทธิ์อย่างไร้อารยะ

แต่หากผู้ก่อเหตุต่อผู้ต่อต้าน คสช. ทั้งหมดไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ เป็นเพียงผู้ที่ไม่พอใจกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองแล้วนั้น ภาพที่สะท้อนออกมา จะกลับกลายเป็นความล้มเหลวอย่างรุนแรง ในการรักษาความสงบของรัฐบาล คสช. ที่อ้างเรื่องความมั่นคงตลอด 5 ปีที่ผ่านมา

เนื่องด้วยการปล่อยให้เกิดความรุนแรงต่อประชาชนด้วยกันเพียงเพราะความเห็นต่างทางการเมือง ทั้งยังจับมือใครดมไม่ได้ ล้วนแสดงถึงความละเลยและไร้ประสิทธิภาพในการรับรองความปลอดภัยของประชาชน โดยเฉพาะประชาชนที่เห็นต่างจากอำนาจหลักของรัฐ

แต่สิ่งที่น่ากลัวที่สุดหาใช่เรื่องที่เกิดขึ้นแล้วไม่ เพราะเมื่อคาดการณ์ไปถึงเหตุการณ์ในอนาคตแล้วนั้น ยังมีความเป็นไปได้ที่รุนแรงกว่านั้น จากการเลือกปฏิบัติของความยุติธรรมในเรื่องการเมือง ที่ร้อนระอุไปด้วยความขัดแย้ง ซึ่งอาจผลักดันสังคมไทยให้ไปสู่ความรุนแรงระหว่างประชาชนต่อประชาชนที่ไร้ทิศทางและควบคุมไม่ได้

 

สังคมอุดมขัดแย้ง

นอกจากการถูกทำร้ายของผู้เคลื่อนไหว รัฐบาล คสช.แล้ว สิ่งที่สะท้อนภาพความขัดแย้งในการเมืองได้ชัดเจนคือความคิดเห็นต่างๆ ในสื่อสังคมออนไลน์

ที่เมื่อเปิดอ่านจะเห็นความแตกต่างและการด่าทออย่างรุนแรง

ซึ่งในสภาวะปกติของสังคมประชาธิปไตย การถกเถียง การด่าทอ และความเกลียดชังนับเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ ตราบใดที่ยังไม่เกิดการทำร้ายหรือขู่ฆ่ากัน

เพราะหากการด่าทอเกินขอบเขต สิ่งที่รองรับในทางกฎหมายคือกฎหมายหมิ่นประมาทนั่นเอง

แต่เมื่อการด่าทอเลยจุดของความหมิ่นประมาท ไปสู่การอาฆาตมาดร้าย และการทำร้ายร่างกาย เท่ากับว่าไม่เพียงแต่วุฒิภาวะทางการเมืองและการถกเถียงของสังคมจะไม่เป็นประชาธิปไตยที่ต้องดำรงไว้ซึ่งความแตกต่างแล้วนั้น ยังสะท้อนภาพความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารและจัดการความขัดแย้งทางการเมืองของรัฐบาลอีกด้วย

ยิ่งเมื่อใส่ปัจจัยความไม่ชัดเจนของระบบยุติธรรมแบบไทยในเรื่องการเมือง ที่เมื่อมองย้อนดูจะพบว่าตลอดช่วงการบริหารประเทศของ คสช.เกิดความไม่เป็นธรรมอย่างหลากหลาย

เช่น การที่ยังไม่สามารถจับตัวการก่อเหตุทำร้ายนักกิจกรรมทางการเมืองฝ่ายตรงกันข้ามกับ คสช.ได้เลย

หรือแม้แต่ในกรณีความขัดแย้งกับบุคลากรของกองทัพที่เต็มไปด้วยคำถามต่อกระบวนการยุติธรรม เช่น กรณีของชัยภูมิ ป่าแส ที่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่มีใครเห็นกล้องวงจรปิดที่ทางกองทัพพูดถึง ทั้งที่ในคดีอาชญากรรมอื่นๆ กลับแก้ไขปัญหาและดำเนินคดีได้รวดเร็วราวฟ้าผ่า

ความไม่มั่นคงของกระบวนการยุติธรรมในยุคนี้จึงเป็นชนวนเหตุสำคัญที่อาจนำไปสู่สงครามกลางเมือง เพราะเมื่อใดที่ผู้เห็นต่างจาก คสช.เริ่มสะสมความเกรี้ยวกราดจากการเลือกปฏิบัติทางกฎหมาย ซ้ำร้ายเปิดโลกออนไลน์ก็ยังเจอคำขู่ฆ่าและการด่าทอของผู้ที่สนับสนุน คสช.เสียอีก …เมื่อนั้นแพะรับบาปความเกลียดชังอาจไม่ใช่หน่วยงานรัฐ ที่มีทรัพยากรในการป้องกันตัวเอง แต่อาจเป็นประชาชนขั้วตรงข้าม

 

บทเรียนประวัติศาสตร์

พอกล่าวถึงจุดนี้ ผู้อ่านอาจมีความคิดแย้งว่าผู้เขียนมองโลกแง่ร้ายไปหรือไม่ ความรุนแรงระหว่างประชาชนจะเกิดขึ้นได้จริงหรือ…

ซึ่งเมื่อมองในภาพของประวัติศาสตร์แล้ว ทุกสิ่งเป็นไปได้

ในระยะเวลาที่ใกล้เคียงที่สุดคือ ปล้นปืนตากใบ จุดระเบิดสำคัญของความขัดแย้งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า นอกเหนือจากแนวคิดเรื่องการแบ่งแยกดินแดนแล้ว ชนวนเหตุสำคัญที่ทำให้ความรุนแรงปะทุขึ้นคือความไม่เป็นธรรม และการเลือกปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ทหารในอดีต ที่มีการใช้ความรุนแรงต่อคนในพื้นที่ห่างไกลมาตลอดประวัติศาสตร์ชาติไทย ทั้งการข่มเหงประชาชนมุสลิม การซ้อม ทรมาน

ย้อนไปจนถึงกรณีเผาในถังแดงสมัยคอมมิวนิสต์ ทั้งหมดทั้งมวลล้วนขับดันความโกรธแค้นในตัวประชาชน ซึ่งเมื่อไม่สามารถเล่นงานเจ้าหน้าที่ได้ถนัดนัก เป้าหมายที่ง่ายดายกว่าคือผู้สนับสนุนเจ้าหน้าที่ เช่น ประชาชนกลุ่มอื่นๆ

หากรัฐบาลตระหนักถึงความเป็นไปได้ของความขัดแย้งและความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น สิ่งสำคัญที่สุดในการเดินหน้าประเทศต่อ จะมิใช่การกดความคิดเห็นให้เหมือนกัน แต่คือการย้อนมองกลับไปดูความไม่ยุติธรรมแล้วเร่งแก้ไขให้ถูกต้อง มิใช่กดบีบไว้จนไฟแห่งความเกลียดชังถึงขีดสุด

…เว้นแต่ว่า ความขัดแย้งระหว่างประชาชนคือสิ่งที่รัฐบาลต้องการ