เจริญชัย ไชยไพบูลย์วงศ์* : พยายาม 1,000 สำเร็จเพียง 1 ครั้ง ดีเกินพอแล้ว

*เจริญชัย ไชยไพบูลย์วงศ์ มหาวิทยาลัยสยาม YouTube : BigBallBar


“พยายาม 1,000 สำเร็จเพียง 1 ครั้ง ดีเกินพอแล้ว”

ประโยคนี้มีนัยยะลึกซึ้งซ่อนอยู่ ผมอยากอธิบายให้ฟัง

ดังต่อไปนี้

 

1.การค้นหา “สิ่งที่ใช่” ต้องใช้เวลาและเงินทุน

มนุษย์ถูกออกแบบมาให้หวาดกลัวความล้มเหลว เพราะในโลกที่มีทรัพยากรจำกัดนั้น ความล้มเหลวเพียง 2-3 ครั้ง อาจหมายถึงความตาย

การเข้าป่าเพื่อล่าสัตว์ หากไปผิดสถานที่ ไปไม่ทันเวลา หรืออาวุธไม่ดีพอ ก็อาจทำให้ทั้งครอบครัวต้องหิวโหยไปทั้งวันแล้ว

ในยุคปัจจุบัน การมีข้าวกินครบ 3 มื้อ ไม่ใช่เรื่องยากเย็นเหมือนในสมัยโบราณ

หากทว่า การจะหาเงิน 1 ล้านบาทเพื่อมาเริ่มต้นสร้างธุรกิจใหม่ จ่ายเงินเดือนพนักงาน จ่ายเงินเดือนตัวเอง เช่าสถานที่ และซื้อโฆษณา ก็ยังเป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญสำหรับคนธรรมดาทั่วไป

ดังนั้น คนส่วนใหญ่จึงแทบจะไม่ได้รับโอกาสให้ “พยายาม 1,000 ครั้ง” เพื่อจะไปให้ถึงความสำเร็จ

การเป็นพนักงานกินเงินเดือน จึงอาจเป็นทางเลือกที่ดีงามสำหรับประชากร 80% ที่อยู่ในวัยทำงาน

แต่สำหรับคนที่มีความฝันยิ่งใหญ่ และอยากจะประสบความสำเร็จให้โดดเด่นแตกต่างจากผู้อื่น คุณก็ต้องตระเตรียมเงินทุนและเวลาให้พรั่งพร้อมไว้ ก่อนจะเริ่มต้นภารกิจ

เมื่ออ่านประวัติของ Howard Schultz ผู้ก่อตั้ง Starbucks ผมก็ยังแปลกใจอยู่ไม่วาย เหตุใดจึงต้องบากหน้าไประดมทุนให้ถูกปฏิเสธครั้งแล้วครั้งเล่า แทนที่จะค่อยๆ สร้างร้านกาแฟไปทีละ 1 แห่ง แล้วนำกำไรที่ได้ไปขยายกิจการทีละน้อย

ในตอนนี้ ผมเข้าใจลึกซึ้งแล้ว เพราะการมีเงินทุนหนุนหลัง จะทำให้เขาสามารถทดลองและสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ถูกจำกัดด้วยทรัพยากรของตัวเองที่มีจำกัดจำเขี่ย

Steve Jobs ถูกไล่ออกจากบริษัท Apple ที่เขาก่อตั้งขึ้นมาได้อย่างไร?

คำตอบคือ เพราะเขามีหุ้นประมาณ 20-30% เท่านั้น สำหรับหุ้นที่เหลือ นอกจากแบ่งปันให้กับคู่หูของเขา Steve Wozniak ยังต้องนำไปขายให้กับ “นายทุน” เพื่อแลกกับเงินสด สำหรับการพัฒนาและสร้างสรรค์กิจการให้ยิ่งใหญ่

การมีไอเดียธุรกิจดีๆ มีทีมงานเก่งๆ ที่พร้อมจะร่วมหัวจมท้ายไปด้วยกัน จึงยังไม่เพียงพอสำหรับความสำเร็จ

เพราะตลอดเส้นทางแห่งการแปรเปลี่ยนไอเดียล้ำเลิศให้กลายเป็นความจริงนั้น คุณยังต้องลองผิดลองถูกเกินกว่า 1,000 ครั้ง เพื่อจะค้นหา “สิ่งที่ใช่” สำหรับลูกค้า

อย่าเข้าใจผิด!!!

ผมไม่ได้บอกให้ทุกคนงอมืองอเท้า ก่อนที่จะมีเงินทุน 1 ล้านบาท ร่วงหล่นลงมาจากฟ้า

สิ่งที่ต้องการคือ การสื่อสารถึงเคล็ดลับในการ “ลงมือทำ” ให้ได้ถึง 1,000 ครั้ง เพื่อความสำเร็จ ซึ่งเราไม่อาจปฏิเสธการระดมทุนและทรัพยากรจากภายนอกได้

ในตอนเริ่มต้น คุณอาจต้องกระทำด้วยทรัพยากรที่มีจำกัด ให้มีผลงานอย่างน้อย 20% แต่เมื่อถึงจุดนั้น อย่าเพิ่งรีบร้อนไปต่อเพียงลำพัง จงเปิดใจกว้าง และค้นหาเพื่อนร่วมทาง

 

2.ฝึกฝนการลดต้นทุนอย่างชาญฉลาด เพิ่มโอกาสระดมทุนให้สูงขึ้น

บางคนอาจ “ท้อแท้ใจ” ที่เกิดมาในเมืองไทย

หากว่าอยู่ใน Silicon Valley เราคงได้รับเงินทุนมหาศาลจาก Venture Capital เพื่อไปเริ่มสร้าง Startup ที่ยิ่งใหญ่แล้ว

แต่นั่นเป็นความเชื่อที่โลกสวยไปนิด เพราะนายทุนไม่ใช่คนโง่เขลา Start Up ที่ได้รับเงินสนับสนุนนั้น จะต้องถูกเคี่ยวกรำและตรวจสอบอย่างเคร่งครัด ไม่ใช่ทุกคนจะได้รับ และน่าจะมีไม่ถึง 10% ของสตาร์ตอัพบนโลกใบนี้ ที่จะได้รับความเมตตานั้น

เราเกิดเมืองไทย ย่อมต้องต่อสู้บนผืนแผ่นดินไทยสักครั้ง

หากไม่สำเร็จ จะคิดเรื่องย้ายประเทศ ก็ยังไม่สายเกินไป

ยิ่งกว่านั้น การย้ายไปเมืองนอก อาจจะได้รับโอกาสที่ดีกว่า แต่ก็ต้องแลกมาด้วยต้นทุนที่สูงขึ้น ทั้งบ้านพัก การเรียนรู้เรื่องภาษา และที่สำคัญ เครือข่ายทางสังคม ที่เราสั่งสมไว้ในเมืองไทยหลายสิบปี

ในโลกยุคนี้ เรามีวิธี “ลดต้นทุน” อย่างมากมาย เพื่อจะทำให้เรามีทรัพยากรเหลือมากพอ ที่จะพยายามให้ครบ 1,000 ครั้ง

ตัวอย่างเช่น การสร้างเพจใน Facebook เพื่อเป็นหน้าร้านสำหรับขายสินค้าและบริการของเรา โดยที่ไม่ต้องไปเสียเงินลงโฆษณาในพื้นที่ของคนอื่น

เรื่องนี้ ใครก็รู้

แต่สิ่งที่ผมอยากจะบอกก็คือ ในเมื่อทุกคนก็สามารถสร้างเพจขึ้นมาได้ง่ายๆ เราจะทำอย่างไรให้เพจของเรา ได้รับความสนใจมากกว่าคนอื่น

การลดต้นทุนในยุคนี้ มีความเป็นไปได้มากกว่าในอดีตเกินกว่า 10 เท่า

ในทางส่วนตัว ผมได้สร้างเพจ “โอตะสายกิน” ร่วมกันกับมิตรสหาย ปรากฏว่า ไม่ได้รับความนิยมมากนัก

ผมจึงเปลี่ยนกลยุทธ์ โดยการสร้างช่องรายการใน YouTube ที่มีชื่อว่า BigBallBar ซึ่งได้รับความสนใจมากกว่าเดิม 100 เท่า โดยใช้เงินลงทุนเริ่มต้นไม่เกิน 2,000 บาท เพราะใช้กล้องจากโทรศัพท์มือถือ จึงมีค่าใช้จ่ายเพียงไมโครโฟนขยายเสียงและที่วางกล้องเท่านั้น

ความสำเร็จที่ได้ ยังน้อยนิดนัก แต่ได้มอบบทเรียนยิ่งใหญ่ให้กับผม นั่นคือ การประหยัดต้นทุนอย่างชาญฉลาด และการปรับตัวให้เข้ากับโลก

เนื่องจากคนยุคนี้ไม่ชอบเสพอะไรที่เยิ่นเย้อ เนื้อหาของรายการจึงถูกกำหนดให้มีความยาวไม่เกิน 8 นาที แต่เราก็ไม่ได้ควบคุมให้เคร่งครัด เพราะจะเสียอรรถรส

ข้อดีของการทำเช่นนี้ก็คือ เราสามารถนัดกันเดือนละ 2 ครั้ง โดยแต่ละครั้งสามารถผลิตรายการได้อย่างน้อย 6 ตอน และบางครั้งยังทำได้มากถึง 10 ตอน

ขณะเดียวกัน เนื้อหาที่เตรียมมาอย่างดี กลับมียอดรับชมไม่ถึง 100 ครั้ง หากทว่า เนื้อหาที่ทดลองทำเล่นๆ อย่างการวิเคราะห์เหล่าซุป”ตาร์ดาราไทย ได้สร้างยอดขายเกินกว่า 1,000 ครั้ง

หากเป็นเมื่อ 10 ปีก่อน ที่ผมยังยึดติดตำราและความสูงส่งของแวดวงวิชาการ ก็คงยากมากที่จะยินดีปรับเปลี่ยนตัวเอง แต่หลังจากได้เรียนรู้วิธีคิดแบบ “คล้อยตามฟ้า” ผมจึงปลดปล่อยตัวเอง และสร้างสรรค์ไปตามท่วงทำนองแห่งฟ้า

นอกจากผมจะได้ยอดขายเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม 10 เท่า ผมยังมีต้นทุนในการเตรียมเนื้อหาลดลง 10 เท่า เพราะคู่แข่งและลูกค้าในตลาดวิเคราะห์ข่าวดาราไทย ไม่นิยมข้อมูลที่ลึกซึ้งและแม่นยำมากนัก

การสร้าง “ช่องรายการ” ในโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น Facebook หรือ YouTube ให้ประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง ย่อมเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในยุคสมัยนี้ ไม่ใช่เพื่อใช้ขายสินค้าและบริการเท่านั้น แต่ยังเพิ่มโอกาสในการระดมทุน และแสวงหาพันธมิตรอีกด้วย เพราะชื่อเสียงและความนิยมจากช่องรายการที่สร้างขึ้น ย่อมเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับคนแปลกใหม่ที่เข้ามารู้จักกันเป็นครั้งแรกอีกด้วย

ยิ่งกว่านั้น การมีสื่อและช่องทางประชาสัมพันธ์ที่มีผู้ติดตามมากพอสมควร ยังเป็นเครื่องพิสูจน์ความสำเร็จของตัวเราอย่างน้อย 1 เรื่อง โดยเฉพาะการปรับตัวให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า ซึ่งทำให้เรามีแต้มต่อในการได้รับพิจารณาจากแหล่งเงินทุนทั้งหลายที่สนใจในธุรกิจของเรา

 

3.ล้มเหลว 999 ครั้ง ไม่เป็นไร ขอเพียงแค่ไม่ใช้วิธีการเดิมๆ ก็พอแล้ว

มนุษย์มีเวลาวันละ 24 ชั่วโมงเท่าเทียมกัน

แต่เหตุใดบางคนจึงสร้างสรรค์ผลงานได้มากกว่าคนอื่น ทั้งปริมาณและคุณภาพ

คำตอบอาจมีอยู่มากมาย แต่หนึ่งในนั้นก็คือ พวกเขามีความ “เปิดกว้าง” ในการละทิ้งวิธีที่ผิดพลาด และกล้าหาญที่จะทดลองวิธีการใหม่ๆ

การค้นหา “สิ่งที่ใช่” ทั้งในโลกธุรกิจ การงาน และความรัก อาจต้องผ่านการลองผิดลองถูก และความล้มเหลวมากมาย กว่าที่จะได้รับความสำเร็จ

ต้นทุนในการค้นหาเส้นทางที่ถูกต้อง ย่อมสูงมากแล้ว หากว่าเรายังถอนตัวออกจากเส้นทางที่ผิดพลาด ด้วยความเชื่องช้าเกินไปอีกด้วย ก็เป็นไปได้ว่า เราจะต้องประสบความล้มเหลวไปตลอดชีวิต

คนที่ล้มเหลวในเรื่องหนึ่งๆ เกินกว่า 10 ครั้ง ย่อมเกิดความเข็ดขยาด และอาจจะถอนตัวเร็วเกินไป

ส่วนคนที่อดทนและไปต่อได้ ก็อาจจะเกิด “ภาพหลอน” ของความล้มเหลว เข้ามารบกวนจิตใจ ทำให้ไม่กล้าทดลองวิธีการใหม่ๆ เพราะคิดว่าวิธีการเดิมๆ ที่คุ้นเคย น่าจะปลอดภัย และมีโอกาสล้มเหลวน้อยกว่า อย่างน้อยเราก็มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องเดิมๆ มากกว่าเรื่องใหม่ๆ ที่อาจต้องเริ่มต้นจากศูนย์

นี่จึงเป็นกับดักแห่งความล้มเหลว ที่คนธรรมดาทั่วไป ยากจะฝ่าด่านไปได้

“พยายาม 1,000 สำเร็จ 1 ครั้ง ก็ดีพอแล้ว” จึงเป็นวลีที่จะปลดปล่อยคุณจากความล้มเหลวได้

จงมองความล้มเหลวให้เป็นเรื่องธรรมดา

แต่การจะทำแบบนั้นได้ คุณต้องตระเตรียมทรัพยากรให้มากเพียงพอ ที่จะรับมือกับความล้มเหลว 999 ครั้ง

หลังจากนั้น คุณก็เพียงแค่ทดลองและปรับตัวอย่างใจเย็น ไม่ต้องสั่นไหวกับการถูกปฏิเสธ แต่ให้เฝ้าสังเกตถึงรายละเอียดต่างๆ ที่เกิดขึ้น

ในที่สุด คุณก็จะค่อยๆ มองเห็นปัจจัยเล็กๆ น้อยๆ ที่จะค่อยๆ ต่อยอดไปสู่ความสำเร็จได้

สิ่งสุดท้าย ที่จะต้องจดจำให้แม่นยำก็คือ เมื่อคุณล้มเหลวไปประมาณ 7 ครั้ง ความรู้สึกหนึ่งอาจจะผุดขึ้นมา “หากว่าเราประสบความสำเร็จในครั้งที่ 8 ก็ยังคงไม่คุ้มค่ากับความสูญเสียที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้”

นี่คือ ความอันตรายจากสมองที่คิดมากเกินไปของมนุษย์

ในเรื่องที่มีความซับซ้อน ซึ่งต้องใช้ความพยายามในการเรียนรู้และปรับตัวสูงมากนั้น

ความสำเร็จเพียง 1 ครั้ง มีแนวโน้มที่จะต่อยอดไปสู่ความสำเร็จอื่นๆ ได้อีกหลาย 100 ครั้ง

ดังนั้น ผลกำไรจึงย่อมเกิดขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน ขอเพียงให้มีครั้งแรก

หากทว่า จิตใจที่คำนวณผลได้ผลเสียมากเกินไปเช่นนี้ อาจจะทำให้เราตัดสินใจผิดพลาดได้ โดยเฉพาะการเร่งความเร็ว หรือเพิ่มเดิมพันเข้าไปมากกว่าที่ควรจะเป็น

ลืมเลือนทุกความล้มเหลวไปชั่วคราวก่อน และจดจ่อกับการกระทำที่อยู่ตรงหน้าให้ดีที่สุด

เมื่อทำได้ดังนี้แล้ว ผมก็ขออวยพรให้ทุกท่านประสบความสำเร็จ โดยไม่ต้องสนใจถามไถ่ว่า “ล้มเหลวไปกี่ครั้งแล้ว” เพราะนี่ไม่ใช่เรื่องสำคัญที่จะต้องจดจำใส่ใจ