ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 29 มิถุนายน - 5 กรกฎาคม 2562 |
---|---|
คอลัมน์ | เชิงบันไดทำเนียบ |
ผู้เขียน | ปรัชญา นงนุช |
เผยแพร่ |
ถูกจับตาไม่แพ้กับการจัดตั้ง ‘ครม.ตู่รีเทิร์น’ คือการฟอร์มทีมงานของ ‘บิ๊กตู่’พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ในการทำงานสมัยที่ 2 ที่ ทำเนียบรัฐบาล โดยตำแหน่งที่นิ่งแล้วคือ เลขาธิการนายกฯ หลัง ‘บิ๊กอ้อ’พล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกฯ เพื่อน ตท.12-จปร.23 ที่อยู่กับ ‘บิ๊กตู่’ มายาวนานกว่า 5 ปี ขอยุติบทบาท เพื่อไปพักผ่อนและอยู่กับครอบครัวตามที่ตั้งใจไว้ โดยรายชื่อที่จะมานั่งตำแหน่งนี้แทนคือ ‘ดิสทัต โหตระกิตย์’ ปรึกษานายกฯ นั่นเอง โดยดีกรีเป็นอดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา หลัง นายกฯ นำ ‘ดิสทัต’ มาอุ่นเครื่องร่วมประชุมอาเซียนซัมมิท และร่วมประชุม G20 ที่ญี่ปุ่นด้วย โดย พล.อ.วิลาศ ได้ร่วมงานอำลากับ ขรก. ที่ทำเนียบฯ เรียบร้อยแล้ว
โดยมีการมองว่าการดึง ‘ดิสทัต’ มาเป็นเลขาธิการนายกฯ ก็เพื่อกลั่นกรองงานเอกสารที่จะมีผลผูกพันทางข้อกฎหมายต่างๆ และเป็นที่ปรึกษาในด้านกฎหมายไปในตัวด้วย เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จะกลับเข้าสู่สภาวะรัฐบาลปกติ ที่ไม่ได้มีอำนาจเด็ดขาดผ่าน ม.44 เช่นเดิมแล้ว รวมทั้งจะต้องเข้าสู่ระบอบรัฐสภาปกติด้วย ที่มีฝ่ายค้านและการซักฟอกในสภา แต่ก็ยังมี ‘วิษณุ เครืองาม’ ที่จะรีเทิร์นกลับมาเป็น รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย เป็นขุนศึกหลักในการดูเรื่องกฎหมายต่างๆให้ นายกฯและครม.ด้วย
.
แต่อีกชื่อที่ถูกจับตาคือ ‘เสธ.มิตต์’พล.ต.นิมิตต์ สุวรรณรัฐ นายทหารเสนาธิการประจำ รมว.กลาโหม หลังมีกระแสข่าวว่าได้ยื่นใบลาออกจาก ขรก.ทหาร แต่ล่าสุด ‘บิ๊กณัฐ’พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกลาโหม ยืนยันว่า ไม่มีและไมได้เซ็นต์ ส่วน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม ก็ระบุว่า ตนไม่ทราบและไม่เห็นเอกสาร และถ้าลาออกก็ต้องมารายงานให้ตนทราบแล้ว
โดยก่อนหน้านี้มีการมองว่า พล.ต.นิมิตต์ ถ้าลาออกจาก ขรก.ทหาร จะมาลงตำแหน่งเลขาธิการนายกฯ หรือตำแหน่งการเมืองใน ครม.ชุดหน้า หรือไม่ แต่ก็ต้องยุติลงไปหลัง พล.ต.นิมิตต์ เปลี่ยนใจไม่ยื่นใบลาออก จึงต้องจับตาบทบาท พล.ต.นิมิตต์ ต่อไปว่าจะทำงาน ‘เบื้องหลัง’ ในตำแหน่งใด แต่เชื่อกันว่าอาจขยับออกมา ‘เบื้องหน้า’ มากไม่ได้เพราะยังเป็น ขรก.ทหาร สังกัดกระทรวงกลาโหมอยู่ โดยที่ผ่านมา พล.ต.นิมิตต์ ได้ชื่อว่าเป็น ‘นายกฯน้อย’ ที่ติดตาม พล.อ.ประยุทธ์ อยู่เสมอและรับหน้าที่กลั่นกรองงานและประสานบุคคลต่างๆแทนนายกฯ โดย พล.ต.นิมิตต์ ทำงานให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ มาตั้งแต่สมัยเป็น แม่ทัพภาคที่ 1
.
โดย พล.อ.นิมิตต์ เป็น ตท.รุ่น 30 จากนั้นไปจบ ร.ร.นายร้อยที่ Virginia Military Institute (VMI) สหรัฐฯ แต่ได้นับรุ่นเป็น จปร.41 เพราะเรียน จปร. มา 1 ปี และเติบโตในเหล่าปืนใหญ่คุมกำลังรบ เป็นอดีต ผู้การ ป.1 รอ. มาก่อนด้วย
.
ส่วนนายทหารอีกคนที่อยู่คู่ พล.ต.นิมิตต์ คือ ‘เสธ.เก๋’พล.ต.ณัฐวุฒิ ภาสุวณิชยพงษ์ ตท.30 นายทหารฝ่ายเสนาธิการ ที่เป็นนายทหารใกล้ชิด พล.อ.ประยุทธ์ ที่ทำเนียบฯ โดยมีตำแหน่งใน ทบ. คือ ผอ.สำนักฝึกและศึกษา กรมยุทธการทหารบก ที่ก็ทำงานกับ พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่เป็น มทภ.1 แล้วเช่นกัน
.
โดยทั้ง ‘เสธ.มิตต์-เสธ.เก๋’ ต่างเป็นนายทหารฝ่ายเสธ.ที่ทำหน้าที่ดูกลั่นกรองงานต่างๆและงานประสานงานพูดคุยกับฝ่ายต่างๆ ทั้งฝ่ายการเมืองและภาคธุรกิจ ถือเป็น ‘มือซ้าย-มือขวา’ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ประจำตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบฯ โดยว่ากันว่าทั้งคู่จะยังทำงาน ‘เบื้องหลัง’ ให้นายกฯต่อไป ด้วยเป็นบุคคลที่ นายกฯ ไว้วางใจและเชื่อมั่นในผลงาน หลังร่วมงานกันมานานกว่าสิบปี
.
ในส่วนทีมโฆษกของ พล.อ.ประยุทธ์ ในรัฐบาลชุดใหม่ จะต้องจับตาว่าจะมีการปรับเปลี่ยนหรือไม่ โดยว่ากันว่า ‘บี’พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ จะนั่ง รมว.ประจำสำนักนายกฯ และควบ โฆษกรัฐบาล ไปในตัวด้วย ส่วนทีมงาน ‘3 ทหารโพเดี้ยม’ ได้แก่ ‘เสธ.โหน่ง’พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ ‘เสธ.ก้อง’พล.ต.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ‘ผู้พันลิซ่า’พ.อ.หญิง ทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกฯ ก็อยู่ระหว่างรอคำสั่งทางการว่าจะอยู่ทำเนียบฯช่วยงาน พล.อ.ประยุทธ์ในตำแหน่งใดต่อไป
แต่ทั้งหมดก็เคยทำงานร่วมกับ ‘พุทธิพงษ์’ มาแล้ว สมัยเป็น รองเลขาธิการนายกฯ ฝ่ายการเมืองและโฆษกรัฐบาลก่อนไปลาออกไปลงพรรคพลังประชารัฐเต็มตัว ขุนศึกหาเสียง-เลือกตั้งของพรรคในพื้นที่ กทม. ดีกรีผลงานเจาะ กทม. ได้ ส.ส.มากที่สุด 12 ที่นั่ง โควต้าเก้าอี้รัฐมนตรีจึงหนีไม่พ้น
.
พร้อมกันนี้ยังมี ‘เสธ.ไก่อู’พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด ที่ ครม. อนุมัติโอนย้ายจาก ขรก.ทหาร ไปเป็น ไปเป็น ขรก.พลเรือน ในตำแหน่ง อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ก่อนหน้านี้ด้วย ที่ยังเป็นขุนพลด้านงานพีอาร์ให้กับรัฐบาลต่อไป
ทั้งหมดนี้ถือเป็น ‘ขุนพล’ เคียงข้าง พล.อ.ประยุทธ์ ในรัฐบาลชุดหน้า ที่ภารกิจจะมีมากขึ้นและต้องประสานงานกับพรรคร่วมรัฐบาลที่พร้อมจะต่อรองงัดข้อเสนอ รวมทั้งรับมือจากพรรคฝ่ายค้านที่เป็นปึกแผ่น ในสภาวะการเมืองที่จะไม่ราบเรียบเช่นยุค คสช. อีกแล้ว รวมทั้งต้องดูอีกว่าบุคคลจากพรรคร่วมรัฐบาลจะมีใครมาทำงานกับ นายกฯ ที่ทำเนียบฯ อีกบ้าง