การศึกษา / เผือกร้อน ‘การศึกษา’ รอ รมว.ศธ.คนใหม่จัดการ

การศึกษา

 

เผือกร้อน ‘การศึกษา’

รอ รมว.ศธ.คนใหม่จัดการ

 

จนถึงตอนนี้โผคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในส่วนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) น่าจะนิ่งแล้ว

จากเดิมก่อนหน้านี้มีชื่อ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)

ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็น นายวราวุธ ศิลปอาชา แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.)

และล่าสุดมาเป็น นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่ออันดับ 1 รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)

ส่วนรัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. 2 คน มีชื่อ น.ส.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.)

และ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รองหัวหน้าพรรค ปชป. ติดโผ

ในส่วนของนายณัฏฐพล มีกระแสข่าวว่าเดิมได้กระทรวงพลังงาน แต่กลุ่มสามมิตรต่อรองแกนนำพรรค จะให้ยกเก้าอี้ให้นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่ออันดับ 2 พปชร.แทน

แต่นายณัฏฐพลไม่ยอม เนื่องจากเกรงว่าหากไปนั่งรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ตามที่มีการวางตัว อาจถูกโจมตีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน

เนื่องจากเป็นเจ้าของโรงเรียนนานาชาติรักบี้สคูล ไทยแลนด์ ที่พัทยา จ.ชลบุรี นายณัฏฐพลและสาย กปปส.ใน พปชร.จึงยื่นข้อเสนอต่อพรรค ขอทวงคืนเก้าอี้กระทรวงพลังงาน

 

เรื่องนี้นายณัฏฐพลชี้แจงผ่านเฟซบุ๊กว่า

“มีข่าวโผ ครม. ที่ผมจะได้รับมอบหมายให้ดูแล ศธ. แต่ก็ยังไม่ใช่ข่าวจริง เพราะผมยังไม่ทราบการตัดสินใจสุดท้ายของนายกฯ แต่ถึงอย่างไรต้องขอบคุณคนที่แสดงความยินดีในเพจ รวมทั้งเสนอความคิดเห็นและแนวทางแก้ปัญหา เราเห็นตรงกันว่า ศธ.เป็นกระทรวงหลักและสำคัญต่อการพัฒนาเยาวชน”

“แต่ก็มีข่าวเท็จข่าวปล่อยอื่นๆ เช่น ผมต้องการดูแลกระทรวงพลังงาน เปิดศึกภายในพรรค ทะเลาะแย่งเก้าอี้หรือหวงเก้าอี้รัฐมนตรี ขอย้ำว่าเป็นข่าวเท็จ ข่าวปล่อย โดยนิสัยผมไม่เคยขอหรือต่อรองกระทรวงนั้นกระทรวงนี้ อยากให้ทุกท่านติดตามข่าวอย่างพิจารณา อย่าตกเป็นเครื่องมือ”

นายณัฏฐพลกล่าวด้วยว่า สำหรับตนทุกกระทรวงมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ขึ้นอยู่กับเราจะตั้งใจพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศได้มากแค่ไหน หากนายกฯ ตัดสินใจมอบหมายให้ตนทำงานตำแหน่งใด หรือแม้จะไม่ให้ตำแหน่งใดๆ เลย ตนรับได้ทุกอย่าง หน้าที่ตนคือ รับใช้ประเทศชาติในกำลังที่ตัวเองสามารถทำได้ ไม่มีเหตุผลอื่นใดแฝง รอนายกฯ พิจารณาตัดสินใจให้รอบด้าน

และมอบหมายแต่ละคนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมในการดูแลแต่ละกระทรวงดีกว่า

 

ฟากแวดวงการศึกษาอย่าง นายชลำ อรรถธรรม เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) มองว่า เชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะเลือกคนที่เหมาะสมมาดูแล ศธ. หากเป็นนายณัฏฐพล ก็คิดว่าเหมาะสม เพราะมีประสบการณ์งานการศึกษา เป็นเจ้าของโรงเรียนเอกชน น่าจะเข้าใจปัญหาการศึกษาอย่างดี ส่วนจะถือว่ามีส่วนได้ส่วนเสียหรือไม่นั้น คิดว่าไม่น่ามีปัญหา

   นายศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) ระบุว่า เหมาะสม เพราะเป็นทั้งนักธุรกิจและนักการศึกษา

น่าจะเข้าใจปัญหาการศึกษาอย่างดี

ส่วนที่เป็นเจ้าของโรงเรียนเอกชน จะเอื้อประโยชน์หรือไม่นั้น คิดว่าไม่น่ามีปัญหา เพราะการขออนุญาตจัดตั้งโดยบริษัท ไม่ใช่คนเดียวเป็นเจ้าของ

ดังนั้น จึงไม่มีเรื่องสิทธิประโยชน์ทับซ้อน อีกทั้งเป็นโรงเรียนนานาชาติ ก็ไม่ได้รับงบฯ อุดหนุนเรียนฟรีจากรัฐบาล จึงไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับราชการ

หากนายณัฏฐพลเป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ.จริง อาจจะนำความรู้ความสามารถในการบริการโรงเรียนนานาชาติ หรือเทคโนโลยีต่างๆ มาพัฒนาการศึกษาได้

ขณะที่ นายไพฑูรย์ อักษรครบุรี ประธานเครือข่ายครูโคราช มองว่า จากกระแสการจัดตั้ง ครม.ที่ผ่านมา ศธ.ถูกมองข้าม แม้จะเป็นกระทรวงใหญ่และได้รับงบประมาณจำนวนมาก อาจเพราะ ศธ.มีปัญหาต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะเรื่องร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … ที่มีข้อถกเถียงกันมาก

นักการเมืองอาจกลัวว่าจะส่งผลกระทบกับตนเองและฐานเสียง จึงโยนกันไปมา อีกทั้งการพัฒนาการศึกษาต้องใช้เวลานานกว่าจะเห็นผล เมื่อเข้ามาแล้ว รัฐมนตรีว่าการ ศธ.อาจสร้างผลงานไม่ได้ ต้องปรับเปลี่ยนผลงานเดิมๆ เพื่อสร้างมาเป็นผลงานของตน

ส่วนใครจะมาเป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ.นั้น เป็นใครก็ได้ ตนไม่มีเงื่อนไขหรือข้อคิดเห็น ขอเพียงเป็นคนที่รับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วน อย่ายึดแต่นโยบายตนเอง

 

ว่าไปแล้ว ใครมาเป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ. ต้องรับศึกหนักเรื่องยกระดับคุณภาพการศึกษาที่จนถึงตอนนี้แม้ปฏิรูปครั้งใหญ่ไปเมื่อปี 2542 ตามด้วยการปฏิรูปการเรียนรู้และหลักสูตรเมื่อปี 2551 และปฏิรูปการศึกษาครั้งที่ 3 ในปี 2560 เกิดคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.)

แต่คุณภาพการศึกษาก็ยังไม่ดีขึ้น ยังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำและความเสมอภาคทางการศึกษาระหว่างเด็กรวยกับเด็กจน เด็กในเมืองกับเด็กชนบทโดยเฉพาะในถิ่นทุรกันดารห่างไกล

นอกจากนี้ยังมีปัญหาผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา โดยผลทดสอบระดับชาติและระดับนานาชาติ ออกมาตรงกันคือผลสัมฤทธิ์ของเด็กไทยอยู่ในระดับเกือบรั้งท้าย

นอกจากนี้ รัฐมนตรียังต้องแก้ไขปัญหาเรื่องเด็กหลุดจากระบบการศึกษาเนื่องจากความยากจน ปัญหาการอ่านออกเขียนไม่ได้ ตลอดจนปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น อาทิ กองทุนเสมาพัฒนาชีวิตที่รอการเยียวยาให้กับเด็กที่ได้รับความเสียหาย, อควาเรียมหอยสังข์ ที่ก่อสร้างมากว่า 10 ปีแล้ว ยังไม่สามารถเปิดใช้งานได้

ตามเงินคืน 2,000 กว่าล้านที่มีการทุจริตจากกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษและส่งเสริมความมั่นคงตามโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค. จากการซื้อขายตั๋วสัญญาปลอม

ทวงเงินคืนจากธนาคารธนชาตกว่า 2,000 ล้านบาทที่ปิดบัญชีเงินฝากกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษฯ โดยพลการ

ทวงเงินคืนจากธนาคารออมสินกว่า 10,000 ล้านบาทที่หักเงินจากบัญชีกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษฯ โดยอ้างเรื่องครูค้างจ่ายเงินกู้โครงการ ช.พ.ค. 3 งวดติดกัน

ทวงเงินคืนจากบริษัทหนองคายน่าอยู่ 800 กว่าล้านบาทที่ขายหุ้นสูงกว่าราคาพาร์โดยอ้างว่าเพื่อไปลงทุนสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังงานขยะชุมชน บ้านป่าตอง จ.หนองคาย แต่เมื่อไปดูสถานที่จริงพบว่ายังไม่มีการก่อสร้าง เป็นต้น

นอกจากนี้ หลายเรื่องยังรอการตัดสินใจจากรัฐมนตรีคนใหม่ อาทิ การรับนักเรียน ม.1 และ ม.4 โดยการสอบ 100%, โครงการคูปองพัฒนาครูว่าจะยุติหรือเดินหน้าโดยการปรับปรุง, การสรรหา 3 ผู้บริหาร ได้แก่ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. และเลขาธิการคุรุสภา

การผลักดันร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติเพื่อรองรับการปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่ ซึ่งยังมีการถกเถียงรายละเอียดเรื่องเปลี่ยนคำเรียกจากผู้อำนวยการโรงเรียนมาเป็นครูใหญ่ และการเปลี่ยนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูมาเป็นใบรับรองความเป็นครู เป็นต้น

ตลอดจนแก้ไขปัญหาโรงเรียนเอกชนที่มีนักเรียนลดลงเพราะเกิดการแย่งเด็กเข้าเรียนกับโรงเรียนรัฐนำมาสู่การปิดกิจการ ปัญหาความเหลื่อมล้ำในเรื่องสิทธิประโยชน์และเงินเดือนระหว่างครูโรงเรียนอาชีวะเอกชนกับครูโรงเรียนรัฐ เป็นต้น

สารพัดปัญหาเหล่านี้รอรัฐมนตรีว่าการ ศธ.คนใหม่เข้ามาขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหา ซึ่งถือได้ว่าเป็นงานใหญ่เลยทีเดียว