“The Clash of Generations” : เมื่อคนสองวัยมองการเมืองไทยต่างกันสิ้นเชิง?

งานไหว้ครูซึ่งเป็นกิจกรรมที่โรงเรียนทุกแห่งในไทยต้องจัด เพื่อแสดงถึงความเชื่อของการกตัญญูกตเวที ความเคารพระหว่างนักเรียน-ครูพานไหว้ครู จึงถือเป็นตัวแทนของความสัมพันธ์ดังกล่าว

ปีนี้กลับมีความต่างออกไป พานไหว้ครูที่มักคุ้นชินกับแบบพุ่มดอกไม้ หรือธูปเทียน หรือมีดอกไม้ประดับประดาสวยงาม

กลับมีพานแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในกรงขัง, ชูสามนิ้วพร้อมข้อความ #SaveThailand ภาพหน้าของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนเดิม หรือนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ จนถึงตาชั่งเอียงที่กลุ่ม 250 เสียงดูหนักกว่ากลุ่มล้านเสียง

แล้วภาพพานรูปแบบที่ฉีกกรอบธรรมเนียมก็ถูกเผยแพร่ออกสู่สังคม

นั่นจึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นวิวาทะทางการเมืองรอบใหม่

โดยเฉพาะทัศนะที่แตกต่างกันระหว่างคนรุ่นปัจจุบันกับคนรุ่นก่อนที่มองประเพณีนี้แตกต่าง จนลุกลามถึงสิ่งที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้อย่างการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่แบ่งชัดว่าพรรคการเมืองไหน คนรุ่นไหนสนับสนุนมากที่สุด

และอาจเป็นความขัดแย้งรูปแบบใหม่ ที่ไปไกลกว่าเรื่องสีเสื้อ หรือเอา-ไม่เอา คสช.

แต่เป็นเรื่องของทัศนะความคิดต่อการเมืองไทยของคนสองรุ่นที่กำลังเป็นเส้นขนานและห่างกันทุกทีหรือไม่?

 

พานไหว้ครูที่กลายเป็นดราม่าการเมืองล่าสุดนี้ เกิดขึ้นเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา นับเป็นธรรมเนียมประเพณีที่ฝังรากมานาน พอเข้ากลางเดือนมิถุนายนของทุกปีหลังเปิดภาคเรียน โรงเรียนในไทยจะมีพิธีไหว้ครู

นอกจากพานไหว้ครูแบบดั้งเดิมแล้ว ยังมีพานไหว้ครูประเภทสร้างสรรค์ด้วย ปีนี้พบว่ามีโรงเรียนหลายจังหวัดรวมถึงกรุงเทพฯ จัดพานไหว้ครูที่สะท้อนสังคมและการเมืองไทย

ซึ่งสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา ไม่ว่าประชาธิปไตยที่อยู่ในกรงขัง สามนิ้วที่ชูพร้อมข้อความ “ปกป้องประเทศไทย”

แต่ที่ดูจะสื่อสารตรงมากสุด เห็นจะเป็นพานตาชั่งเอียงของโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดหนองคาย ที่ด้านหนักสุดคือเสียง ส.ว. 250 คน ส่วนตาชั่งอีกข้างซึ่งเบากว่าคือเสียงประชาชนล้านเสียง

สะท้อนว่าเสียงคนส่วนน้อยดังกว่าเสียงทั้งประเทศ ซึ่ง 250 ส.ว.แต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็มีส่วนทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะหัวหน้า คสช.ได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ เรียกว่าทำเอามีข่าวครึกโครมว่าทหาร-ตำรวจถึงกับรุดเข้ามายังโรงเรียนดังกล่าว

แต่ต่อมา ทั้งตำรวจในพื้นที่ โฆษกกองทัพบก หรือ ผอ.โรงเรียนที่เป็นประเด็นก็ออกมาปฏิเสธว่าไม่มีเจ้าหน้าที่เข้ามาและสั่งให้ลบรูป

ในส่วนของทีมจัดพานไหว้ครูของโรงเรียนดังกล่าวก็ได้ออกมาเปิดเผยภายหลังถึงแนวคิดดังกล่าวว่า พานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ต้องการสื่อถึงสิ่งที่พวกเขายังรักและเชื่อมั่นต่อระบอบประชาธิปไตยซึ่งไม่ค่อยจะมีอยู่แล้ว ไม่ได้มีเจตนาลบหลู่ ส่วนพานตาชั่งเอียงนั้น พวกเขาบอกว่าขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแต่ละคนว่าจะมองกันยังไง

ไม่ว่าสิ่งที่ถูกรายงานข่าวเป็นความจริงหรือไม่ แต่พานไหว้ครูล้อการเมืองก็เกิดขึ้นแล้ว และกลายเป็นประเด็นถกเถียงที่ทั้งคนรุ่นใหม่และรุ่นเก่าแลกเปลี่ยนความเห็น โต้แย้งกันอย่างดุเดือด

 

ข้อโต้แย้งก็เช่นเคยที่แบ่งเป็น 2 ฝั่งชัดเจน

ด้านหนึ่งชื่นชมนักเรียนที่ตื่นตัวทางการเมืองและสะท้อนออกมาผ่านพานไหว้ครู ซึ่งไม่เคยเห็นหรือเห็นน้อยมาก นอกจากเห็นผ่านพาเหรดล้อการเมืองหรือแปรอักษรของมหาวิทยาลัยชั้นนำของไทย พร้อมกับส่งเสียงสนับสนุนพลังคนรุ่นใหม่

ขณะที่อีกด้าน คือความเห็นที่มีลักษณะเป็นอนุรักษนิยมที่มองว่าธรรมเนียมประเพณีอันดีงามนี้ไม่ควรถูกบิดเบือน ซึ่งเป็นมุมมองของนักการเมืองพรรคเก่าแก่อย่างประชาธิปัตย์ และกังวลว่าเยาวชนเหล่านี้กำลังถูกล้างสมอง

หรือบางทัศนะของผู้ที่เรียกตัวเองว่าเป็น นักวิชาการอิสระ ก็เรียกเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่แสดงออกผ่านพานไหว้ครูว่าเป็นยุวชนเรดการ์ด

ถึงขั้นโจมตีบางพรรคการเมืองที่ตัวเองจงเกลียดจงชังว่าอยู่เบื้องหลังบงการให้นักเรียนทำพานไหว้ครูนี้ขึ้น

เพราะมีพานไหว้ครูในบางโรงเรียนแปะรูปหัวหน้าพรรคหรือทำโลโก้พรรคจนโดดเด่น

หรือมีการกล่าวหาว่าครูที่ดูแลนักเรียนนั้น เป็นเสื้อแดงและสนิทกับทักษิณ ชินวัตร

ซึ่งในเวลาต่อมา นักเรียนที่ทำพานไหว้ครูดังกล่าวระบุว่า รูปแบบพานเกิดจากมติของทุกคนที่ตัดสินใจร่วมกันว่าจะทำพานไหว้ครูปีนี้ในรูปแบบไหน

แต่ข้อกล่าวหาที่ว่ามีคนบงการนี้ ไม่มีใครกลายเป็นวิวาทะให้คนวิจารณ์ได้หนักหน่วงเท่ากับความเห็นของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหมที่ออกมากล่าวว่า

“เชื่อว่ามีคนอยู่เบื้องหลัง เพราะเด็กจะไปคิดแบบนี้ได้อย่างไร”

 

วาทะดังกล่าวของ พล.อ.ประวิตรเรื่องคนเบื้องหลัง ได้ทำให้คนในสังคมออกมาวิจารณ์

เช่น “ผู้มีอำนาจดูถูกสติปัญญาเยาวชน” หรือ “พวกที่ถูกจูงจมูกมาทั้งชีวิต มักจะไม่เชื่อว่าคนอื่นแสดงออกด้วยความคิดของตัวเอง”

หรือ “พอผู้ใหญ่เห็นเด็กไม่สนใจเหตุการณ์บ้านเมือง ก็ชอบพูดว่า “เด็กสมัยนี้ไม่สนใจอะไรนอกจากเรื่องตัวเอง” แต่พอเด็กสนใจและแสดงออกมา ก็พูดว่า “เด็กถูกหลอกง่าย โดนล้างสมอง””

แม้ล่าสุดมีความพยายามไม่ให้เกิดขึ้นเหมือนบางโรงเรียนที่เป็นข่าว แล้วออกเป็นหนังสือเผยแพร่ ขอความร่วมมือจัดพานให้ถูกต้องตามประเพณี ไม่ล้อเลียน เสียดสีหน่วยงานหรือสถาบันอื่นเพื่ออนุรักษ์ประเพณี “อันดีงาม”

แต่เรื่องออกสู่สังคมแล้ว การปิดกั้นแทบเป็นไปไม่ได้

 

แต่เรื่องพานไหว้ครูที่ยังไม่ทันจะหาย ประเด็นต่อเนื่องก็ตามมา เมื่อโรงเรียนสภาราชินี ในจังหวัดตรังจัดกีฬาสีขึ้น ไฮไลต์ครั้งนี้ทุกคนจับตาข้อความบนผ้าใบในขบวนพาเหรดที่เขียนแซว พล.อ.ประยุทธ์แบบน่ารักๆ ว่า อยู่มา 5 ปีแล้ว แต่นั่นยังไม่พอ เลยขออยู่ต่ออีกหน่อย

แม้ไม่ได้ล้อเลียนอะไรแรง แต่คอการเมืองก็ดูออกว่าคนรุ่นใหม่นี้รู้การเมืองไทยอย่างดีและเข้าใจที่จะสื่อสารอย่างคมคายออกมาอย่างไร

และที่น่าสนใจกว่านั้นคือ โรงเรียนสภาราชินี ซึ่งเป็นโรงเรียนดังในเมืองตรัง ก็ตั้งอยู่ตรงข้ามบ้านนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาคนปัจจุบันด้วย ไม่รู้ว่าถ้าวันนั้นคุณชวนอยู่ด้วยและเห็นข้อความในขบวนพาเหรด เจ้าตัวจะคิดเห็นยังไง

และเช่นเคย ข้อความในพาเหรดนั้นก็ถูกเผยแพร่บนโซเชียลและถูกพูดถึงกันกว้างขวางในเชิงชื่นชมความกล้าหาญของเด็ก ซึ่งต่อมาประธานสภานักเรียนของโรงเรียนสภาราชินีตรังได้ออกมาพูดว่า

“พวกเราต้องการสื่อให้เห็นว่าเด็กและเยาวชนวันนี้ มีความตื่นตัวทางด้านการเมืองอยู่ตลอดเวลา และเรากำลังเฝ้ามองการพัฒนาของประเทศครับ”

เรื่องนี้ แม้แต่ผู้อำนวยการโรงเรียนสภาราชินี ก็ออกมาเปิดเผยกับสื่อท้องถิ่นว่า ทางโรงเรียนตรวจสอบกลั่นกรองแล้วเห็นว่ามีลักษณะหรือเนื้อหาที่มิได้ส่อไปถึงความรุนแรงใดๆ จึงอนุญาตให้ดำเนินการ โดยเข้าใจถึงความคิดของนักเรียนที่ต้องการแสดงออกทางการเมือง แต่ทุกอย่างจะต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตที่เหมาะสม

และกรณีพาเหรดกีฬาสี ก็เป็นการลบคำปรามาสที่ว่าเด็กคิดเองไม่เป็นและต้องมีคนอยู่เบื้องหลังไปโดยปริยาย

 

2กรณีนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ได้กลับมาเป็นนายกฯ ต่ออีก หลังยึดอำนาจและขึ้นเป็นผู้นำประเทศและบริหารมา 5 ปี แต่ผลที่ได้กลับมีแต่ความตกต่ำ แล้วพอมาเป็นนายกฯ ตามขั้นตอนปกติ อิทธิพลความเป็น คสช.ก็หมดลงแล้ว คนจึงกล้าวิจารณ์หนักกว่าแต่ก่อน

แม้ก่อนหน้านี้ไปอีก มีเหตุฝรั่งทำคลิปเพลงล้อเลียนเพลงคืนความสุขของ คสช.จนตำรวจบุกบ้านและบังคับให้ขอโทษ ซึ่งสังคมก็ออกมาวิจารณ์ แต่คราวนี้เยาวชนได้ออกมาวิจารณ์ผู้มีอำนาจและผู้ใหญ่ที่ร่วมก่อความเลวร้ายและส่งมอบมรดกบาปให้พวกเขา หลายเสียงออกมาสนับสนุน แต่ฝ่ายอนุรักษนิยมสุดโต่งก็มองว่าไม่เหมาะสม และชี้ว่าเด็กควรเรียนหนังสือ ไม่ใช่มาสนใจการเมือง

ถึงกระนั้น กรณีบางส่วนนี้ก็ทำให้พออนุมานถึงภาพใหญ่ของการเมืองไทยได้ว่า แนวคิดการเมืองไทยของคนสองรุ่นกำลังกลายเป็นเส้นขนานที่ยากจะบรรจบ

แต่นั่นไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะสิ่งนี้เป็นเรื่องปกติของทุกยุคสมัย