มงคล วัชรางค์กุล : สู่แอฟริกาตะวันตก ไนจีเรีย ดินแดนที่เศรษฐกิจ ดีที่สุดในแอฟริกา

ฟ้าสางที่สนามบินนานาชาติ Bole (Bole International Airport) ของ Addis Ababa ประเทศ Ethiopia อากาศต้นเดือนธันวาคม 2561 เหนือฟ้าแอดดิสอบาบามีหมอกปกคลุม อุณหภูมิกำลังเย็นสบายที่ 14 C

เครื่องจอดในรันเวย์ต้องนั่งรถไปที่อาคารเทอร์มินอล ตอนเช้าที่สนามบิน Bole ถือว่าจอแจมาก เพราะมีเที่ยวบินของ Ethiopian Airlines บินเข้ามาจากหลายมุมโลก มาเชื่อมต่อเที่ยวบินสู่หลายเมืองหลวงของแอฟริกาหรือสู่ยุโรปหรืออเมริกา Chicago, New York, Washington D.C. และ LAX กับ Toronto, Canada รวมทั้ง Sao Paulo และ Buenos Aires ในอเมริกาใต้

Ethiopian Airlines มีเครือข่ายบินครอบคลุมทั่วโลก

ข้อดีของการต่อเครื่องที่สนามบิน Bole คือไม่ต้องผ่านเอ็กซเรย์อีกครั้ง เพราะไม่ต้องรื้อคอมพิวเตอร์และโน้ตบุ๊กจากกระเป๋าสะพายออกมาให้ยุ่งยาก ที่ผมผ่านมามีสนามบินที่ต่อเครื่องโดยไม่ต้องผ่านเอ็กซเรย์คือ กวางโจว ดูไบ และโดฮา

รอต่อเครื่อง 3 ชั่วโมง แล้วบินด้วย Boeing 777-300 ER อีก 4 ชั่วโมงสู่เมืองลากอส (Lagos) – LOS ไนจีเรีย (Nigeria) ถึงตอนเกือบบ่ายโมงเวลาท้องถิ่น

สนามบินนี้ชื่อ Murtala Muhammed International Airport – MMIA ตั้งชื่อให้เป็นเกียรติแก่นายพลผู้ปกครองไนจีเรีย ปี 1975-1976 เขาถูกลอบสังหารปีนี้ที่อายุ 37 ปี

สนามบิน MMIA เป็นสนามบินไม่ใหญ่โตอะไรนัก

ที่สนามบินลากอส คำถามแรกก่อนเข้าเมืองคือขอดู “สมุดเหลือง”

 

Lagos คือเมืองหลวงเก่าของไนจีเรียตั้งอยู่ริมอ่าว Guinea ของมหาสมุทรแอตแลนติก เมืองหลวงใหม่ของไนจีเรียชื่ออาบูจา (Abuja) ตั้งอยู่ด้านในของประเทศไม่ติดทะเล ศูนย์กลางการปกครองและการปฏิบัติราชการของไนจีเรียย้ายมาที่กรุงอาบูจา

แต่ศูนย์กลางของธุรกิจยังคงอยู่ที่ Lagos

ไนจีเรียมีประชากร 170 ล้านคน ตามสถิติของ World Bank ปี 2017 เป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในแอฟริกา เคยเป็นผู้ส่งออกน้ำมันอันดับสองของโลก ปัจจุบันอยู่อันดับ 8 มีโรงกลั่นน้ำมันที่เครื่องกลั่นพังใช้งานไม่ได้แล้ว

วันนี้ไนจีเรียจึงกลายเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันดิบ แต่ต้องนำเข้าน้ำมันกลั่น

แต่ถึงอย่างไร ไนจีเรียก็เป็นประเทศมั่งคั่งที่มีน้ำมันสำรองอันดับ 10 ของโลก และทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลจากชายฝั่งที่ยาว 800 กิโลเมตร

ชื่อประเทศไนจีเรีย ตั้งตามการบัญญัติของ Flora Shaw ซึ่งต่อมาเป็นภรรยาของ Lord Lugard ผู้บริหาร British colonial เมื่อปี 1897 ใช้เรียกชื่อดินแดนแถบนี้ว่า Nigeria มาตั้งแต่ปี 1900

Dr.Sabinus Chuba Amako เพื่อนชาวไนจีเรียนเล่าว่า ชาวไนจีเรียนมีหลายชนเผ่ามากถึง 250 เผ่า แต่เป็นเผ่าใหญ่ๆ ได้ 4 เผ่าคือ

เผ่า Hausa – Fulani 29% พวกนี้เป็นอิสลาม เผ่า Yoruba 20% พวกนี้เป็นเกษตรกร และเผ่า Ibo 18% นอกนั้นที่เหลือเป็นชนเผ่าย่อยหลากหลายรวมกันราว 35%

เผ่า Ibo มีประชากรน้อยที่สุด แต่ฉลาดที่สุด เป็นพ่อค้า นักธุรกิจผู้กุมเศรษฐกิจของประเทศ

แน่นอนว่า คุณ Sabinus Chuba Amako เป็นชนเผ่า Ibo

เมื่อมีมากมายหลายชนเผ่า 250 ภาษามารวมกัน ดังนั้น ภาษาราชการของไนจีเรียจึงเป็นภาษาอังกฤษ คนไนจีเรียนที่มีการศึกษาจึงพูด อ่าน เขียนภาษาอังกฤษได้ดีทุกคน

 

Nigeria ได้รับเอกราชปี 1960 แล้วทหารเข้ามาทำรัฐประหารเมื่อปี 1966 เพื่อระงับสงครามนองเลือดระหว่างชนเผ่า และการคอร์รัปชั่นของคนในรัฐบาลที่มีมาตลอด 5 ปีแรกหลังได้รับเอกราช

Nigeria อยู่ภายใต้การปกครองจากการทำรัฐประหารของทหารสองช่วงนาน 30 ปี มากกว่าการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

เริ่มจากทหารยึดอำนาจช่วงแรกเดือนมกราคม 1966-ตุลาคม 1979 แล้วทหารยึดอำนาจช่วงหลัง ธันวาคม 1983-พฤษภาคม 1999

รวมทหารปกครองประเทศ 30 ปี

แต่หลังจากทหาร “ปล่อยอำนาจ” ในปี 1999 Nigeria ก็เป็นประชาธิปไตยมาตลอด

(ไม่มีการออกกฎหมายสืบทอดอำนาจเผด็จการ)

 

ไนจีเรียแบ่งการปกครองออกเป็น 36 รัฐ แต่ละรัฐมีรัฐบาลของตัวเองและสภาท้องถิ่นจากการเลือกของประชาชน อยู่ภายใต้รัฐสภากลางและรัฐบาลกลางที่ประชาชนเลือกเช่นกัน

ห่างไกลถึงแอฟริกา แต่ไนจีเรียก็ไม่มีสมาชิกสภาแต่งตั้ง

ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้ง สมัยละ 4 ปี เป็นได้ติดต่อกัน 2 สมัย

ประเทศไทยควรส่งสมาชิกรัฐสภาไปศึกษาดูงานที่ไนจีเรียมากกว่าไปยุโรป

ในจำนวน 36 รัฐ เป็นรัฐเกษตรกรรมปลูกมันสำปะหลังถึง 32 รัฐ แต่การทำผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลังยังไม่พัฒนาก้าวหน้า ยังสู้เมืองไทยไม่ได้ ข้อมูลจาก BOI ไทย

BOI จากเมืองไทยส่งทีมสำรวจเข้าไปเซอร์เวย์ไนจีเรียเมื่อเดือนเมษายน 2562 แล้วมีรายงานให้นักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนพัฒนาอุตสาหกรรมมันสำปะหลังในไนจีเรีย รวมทั้งทำโรงสีข้าวที่นั่นด้วย และแนะนำการจัดส่งเครื่องมืออุปกรณ์การทำเกษตร เช่น รถไถเข้าไปจำหน่ายพร้อมการซ่อมบำรุง

BOI ไทยยังรายงานอีกว่า อุตสาหกรรมการก่อสร้างทุกประเภทกำลังขยายตัวอย่างมากในไนจีเรีย ทั้งการสร้างอาคารที่พักอาศัย ถนน ทางรถไฟด่วน จึงเหมาะที่บริษัทก่อสร้างไทยจะเข้าไปลงทุน

นอกจากนั้น BOI ไทยยังมีรายงานว่าพลังงานไฟฟ้าเป็นสิ่งขาดแคลนอย่างมากในไนจีเรีย เพราะไฟฟ้าผลิตได้ไม่พอใช้ บ้านเรือนที่มีฐานะจึงต้องมีเครื่องปั่นไฟไว้ใช้ในยามไฟดับ

ดังนั้น การลงทุนด้านพลังงานไฟฟ้าจึงเป็นสิ่งสมควรที่นักลงทุนไทยจะเข้าลงทุนในไนจีเรีย

นั่นตรงกับข้อมูลที่เราเสาะหามาไว้ก่อนแล้ว ประกอบกับไนจีเรียมีแสงอาทิตย์ที่แผดแรงกล้า การเปิดตลาดโซลาร์รูฟท็อปในไนจีเรียจึงเหมาะสม

ที่ไนจีเรียมีโซลาร์รูฟท็อปจากอินเดียมาวางขายอยู่ แต่นั่นเป็นผลิตภัณฑ์ที่ล้าสมัย

สิ่งที่ BOI ไทยไม่ได้รายงานคือ การรักษาพยาบาลในไนจีเรียยังขาดแคลนและล้าหลังอยู่มาก ดังนั้น จึงมีกลุ่มนักธุรกิจไทยจากแอลเอ อเมริกา บินมาตกลงทำสัญญาลงทุนสร้างโรงพยาบาลมูลค่า 600 ล้านบาทในไนจีเรียแล้ว

อีกสิ่งที่ผมมองเห็นในการเดินทางมาคราวนี้คืออุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและการติดตั้งเป็นสิ่งที่น่าลงทุนในไนจีเรีย เพราะที่นี่อากาศร้อนมาก คนระดับที่มีฐานะจึงต้องการเครื่องปรับอากาศชั้นดี

 

โรงแรมที่พักจัดเตรียมไว้ในย่านไม่ไกลจากสนามบิน แต่ก็ใช้เวลาเดินทางนานเกือบชั่วโมง เพราะในลากอสซีกนี้รถติดมากไม่แพ้กรุงเทพฯ จาการ์ตา หรือนิวเดลี

สิ่งที่เหมือนกันระหว่างนิวเดลีกับลากอสนอกจากรถติดก็คือฝุ่นละอองที่ลอยคลุ้งในอากาศ และเสียงแตรรถ

คนขับรถในลากอสบีบแตรตลอดเวลาเหมือนในเดลี และโดยเฉพาะบริเวณย่านสนามบินของลากอสที่กำลังมีการปรับปรุงซ่อมสร้างถนน ฝุ่นละอองจึงลอยฟุ้งมหาศาล

บางครั้งถนนพาเลี้ยวผ่านตลาดที่มีร้านค้าสองฝั่ง แถมมีแผงค้าวางแบกะดินอยู่สองฟากถนนยาวเฟี้อย บีบให้ถนนเหลือเพียงเลนเดียว รถที่ขับสวนกันสองฝั่ง ต้องจอดสลับให้อีกฝั่งวิ่งกันคนละที ทุลักทุเลน่าดู เป็นอย่างนี้อยู่หลายต่อหลายตลาด

นึกภาพอากาศแสนร้อน ถนนแคบแทบเป็นลูกรังล้วน รถติดแบบไม่ขยับแทรกเบียดกันไปมาในเสียงแตรที่บีบระงมตลอดเวลา พร้อมฝุ่นละอองมหาศาลที่ทำให้ทัศนวิสัยพร่ามัว

นั่นคือ Lagos ที่ต้อนรับเรา

แต่การประชุมเปิดตลาดโซลาร์รูฟท็อปกับตัวแทนชาวไนจีเรียนสิบกว่าคนที่คุณ Sabinus นัดหมายไว้ก็ต้องดำเนินงานทันทีในเย็นวันแรกที่โรงแรมใน Lagos

ถึงจะเหนื่อยแสนเหนื่อยจากการเดินทางทั้งวันทั้งคืน แต่จิตวิญญาณของนักบุกเบิกย่อมต้องไม่ย่อท้อ