พิราภรณ์ วิทูรัตน์ : ค่านิยมภาพลักษณ์ “นักการเมืองติดดิน” สะท้อนโครงสร้างสังคมไทยที่บิดเบี้ยว

เมื่อเร็วๆ นี้ผู้ใช้เฟซบุ๊กท่านหนึ่งได้ออกมาเผยแพร่ภาพถ่ายในงานโต๊ะจีนระดมทุนของพรรคอนาคตใหม่ โดยโพสต์ดังกล่าวมีการเขียนคำบรรยายใต้ภาพทำนองว่า ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้ซึ่งเป็นนักธุรกิจเศรษฐีหมื่นล้านนั่งกินอาหารเหลือตามโต๊ะหลังจากส่งแขกกลับหมดแล้ว

และแน่นอนว่าภายหลังมีการเผยแพร่โพสต์ออกไปได้สักระยะก็มีกระแสชื่นชมพ่อของฟ้ากลับมาไม่ขาดสาย

หลายคนรู้สึกว่านี่คือภาพที่น่ารัก ติดดิน และเข้าถึงประชาชนคนธรรมดาอย่างแท้จริง

แม้ในกรณีของธนาธรอาจจะไม่ใช่การโพสต์รูปตัวเองลงในแอ็กเคาต์ส่วนตัว

ทว่าสิ่งที่น่าสนใจและดูจะยึดโยงกับกรณีนี้อยู่ไม่น้อย คือก่อนหน้านี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยก็เคยออกมาโพสต์รูปตนเองลงบนสื่อโซเชียลมีเดียในอิริยาบถนั่งกินก๋วยเตี๋ยวข้างทางกับลูกสาว พร้อมแคปชั่นชวนให้คนดูผู้ติดตามรู้สึกว่านายอนุทินมีวิถีชีวิตชอบรับประทานอาหารริมทางเป็นปกติ

หรืออย่างกรณีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เองก่อนหน้าเข้าสู่การเลือกตั้งเพียงไม่กี่เดือนก็ได้ลุกขึ้นมาปรับลุคที่ดูขึงขังสู่แฟชั่นเซ็ตสบายๆ ด้วยใบหน้าเปื้อนรอยยิ้มที่หวังจะเข้าถึงประชาชนได้ง่ายและกลมกล่อมมากขึ้น

หรือหากจะให้ย้อนกลับไปไกลกว่านั้นในยุคที่ยังไม่มีสื่อโซเชียลมีเดียเกิดขึ้น นักการเมืองหรือกลุ่มการเมืองเองก็ใช้วิธีคลุกคลี เข้าถึง ทรานสฟอร์มตนเองจากนักการเมืองใส่สูทผูกไทด์นั่งรถหรู สู่เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายละม้ายคล้ายคลึงกับผู้คนในพื้นที่ด้วยเช่นกัน

ซึ่งส่วนใหญ่เรามักจะเห็นภาพแบบนี้ในช่วงเวลาประมาณ 1-2 เดือนก่อนการเลือกตั้งเท่านั้น

 

ลักษณะเหตุการณ์ที่ว่ามาทั้งหมด คือความพยายามในการสร้างภาพตัวแทน (Representation) ชุดหนึ่งเพื่อสร้างความใกล้ชิด เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับกลุ่มคนที่นักการเมืองต้องการจะสื่อสารให้ได้มากที่สุด

แนวคิดเรื่องภาพตัวแทนมีฟังก์ชั่นคล้ายกับการทำงานของระบบภาษา ด้วยความที่กลไกของภาษาและภาพตัวแทนมีฐานคิดขั้นพื้นฐานจากสิ่งเดียวกัน นั่นก็คือการเชื่อมต่อความคิดและการรับรู้ของมนุษย์ผ่านสิ่งสร้างบางอย่างที่สามารถสวมครอบให้ปัจเจกมีวิธีคิดแบบใดแบบหนึ่งได้

แต่สิ่งที่ภาพตัวแทนแตกต่างจากระบบภาษา คือ มันจะคัดเลือกความจริงบางประการออกมาดัดแปลงให้เข้ารูปเข้ารอยกับสถานการณ์และบริบทมากขึ้น

ในที่นี้นักการเมืองหลายต่อหลายคนจึงพยายามสร้างภาพของตนเองที่สามารถเชื่อมโยงถึงลักษณะเฉพาะของกลุ่มคนที่ตนเองต้องการเจาะกลุ่มให้ได้ ทั้งการโชว์วิถีชีวิตแบบมนุษย์เงินเดือน คนหาเช้ากินค่ำ หรือการใช้คำพูดถ้อยแถลงที่ดูจะเข้าอกเข้าใจประชาชนได้แบบถึงแก่น แม้เราจะทราบกันดีอยู่แล้วว่า ในความเป็นจริงนักการเมืองเหล่านี้ไม่ได้มีวิถีชีวิตแบบชนชั้นกลาง

ทว่าพื้นที่ทางสังคมที่เป็นเซ็ตว่างเองก็เอื้อให้เกิดการรื้อสร้าง เปลี่ยนแปลงความจริงทางสังคมในมุมใหม่ๆ ได้ตลอดเวลาเช่นกัน

ความเป็นจริงในสังคมจึงเป็นพื้นที่ที่ถูกช่วงชิงความหมายโดยกลุ่มคนที่มีอำนาจพิเศษเหล่านี้เสมอ

ซึ่งพื้นที่ที่ reality เหล่านี้ถูกสกัดกั้นเปลี่ยนตัวแบบไปมามักจะถูกกระทำผ่านสิ่งที่เรียกว่า ภาพตัวแทนนั่นเอง

 

ทีนี้เราจะมาชำแหละกระบวนการก่อรูปภาพตัวแทนที่ว่าแบบชัดๆ กันสักหน่อย การประกอบสร้างความจริงทางสังคมที่ว่า คนติดดิน = คนดีหรือนักการเมืองที่ดี ถูกทำให้กลายเป็นความจริงทางสังคมจากการสถาปนาชุดความรู้ (Knowledge) ที่มีส่วนสำคัญในการชี้นำความคิดความรู้สึกของผู้คนในสังคม

ชุดความรู้นี้จะทำการย่อยสิ่งต่างๆ ออกเป็นส่วนๆ ก่อน จากนั้นมันจะเข้าไปจัดระเบียบ ลำดับความสำคัญ จัดวางสรรพสิ่งให้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชุดความรู้

และเมื่อชุดความรู้เหล่านี้ถูกยกให้เป็นพิมพ์เขียวในสังคมมันจะกลายเป็นผลผลิตที่เรารู้จักกันในชื่อของวาทกรรม (Discourse)

อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ สำหรับความหมายของวาทกรรม ยกตัวอย่างเช่น เวลาเราพูดถึงคนอินเดีย หลายคนมักจะนึกภาพแบบเหมารวมว่าคนอินเดียมีกลิ่นตัว หรือหากพูดถึงคนผิวสีก็มักจะนึกถึงอาชญากรรม

ในที่นี้จึงแปลความหมายได้ว่า วาทกรรมคนดีที่ยึดโยงกับนักการเมืองเป็นสิ่งที่ถูกชุดความรู้เหล่านี้กำกับไว้อีกทีหนึ่ง ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วแต่ละคนล้วนมีความลื่นไหลในตัวเอง ที่ไม่จำเป็นจะต้องผูกติดกับอัตลักษณ์ใดๆ ทั้งสิ้น

ในกรณีของภาพลักษณ์นักการเมืองเองก็เช่นเดียวกัน เวลาที่พูดถึงนักการเมืองเรามักผูกโยงกับภาพของคนดี คนติดดิน คนที่มีส่วนหนึ่งของตัวตนเหมือนกันกับประชาชน เพราะคิดไปต่างๆ นานาว่า คนที่มีภาพลักษณะนี้จะเข้าใจหัวอกของประชาชน และสามารถทำงานได้จริง

ในทางตรงกันข้าม การที่เราชื่นชมนักการเมืองในลักษณะนี้ ก็ยิ่งเป็นการตอกย้ำลัทธิบูชาตัวบุคคล ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกลสำคัญของรัฐแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จ ดังที่ถูกฝ่ายซ้ายบางกลุ่มครหาเอาไว้ว่า อนาคตใหม่เป็นเพียงพรรคที่มีลักษณะแบบโครงสร้างหลวม และพยายามชูธนาธรเป็นตัวเรียกคะแนนความนิยมมาโดยตลอด

ทั้งที่ลักษณะเฉพาะประการสำคัญที่พรรคอนาคตใหม่พยายาม express ออกมา คือการให้ความสำคัญกับกลุ่มก้อนประชาชน สิทธิเสรีภาพ และฐานคิดที่วางอยู่บนความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน การที่ Futurista บางกลุ่มออกมาชื่นชมยกย่องธนาธรในอิริยาบถกินข้าวจึงไม่ต่างอะไรกับการบิดเบือนจุดยืนของตนเอง ผู้เขียนมองว่า สิ่งนี้อันตรายต่อหลักการของพรรคอย่างยิ่ง

สิ่งที่ประชาชนทุกคนควรจะทำมากที่สุดจึงไม่ใช่การยกยอบุคคลใดบุคคลหนึ่งเหนือปัจเจกคนอื่นๆ แต่เป็นการเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองแบบองค์รวมมากกว่า

ทำไมธนาธรกินข้าวเหลือจึงเป็นเรื่องแปลก?

ทำไมอนุทินกินก๋วยเตี๋ยวข้างทางแล้วดูประหลาด?

ทำไมเวลานักการเมืองทำอะไรที่เป็นวิถีแบบเราๆ ถึงดูเป็นสิ่งที่เกินเอื้อม

เราถูกทำให้เชื่อมาตลอดว่า คนไม่เท่ากัน คนรวย คนจน ชนชั้นกลาง ชนชั้นสูง มีเส้นแบ่ง หรือพีระมิดลำดับชั้นที่คอยจัดวางให้เราอยู่ในตำแหน่งแห่งที่ที่แตกต่างกัน

เราควรจะทรีตสิ่งเหล่านี้ให้กลายเรื่องปกติเสียทีหรือไม่

หากเชื่อว่าคนทุกคนเท่ากัน หากไม่ต้องการปากว่าตาขยิบ นักการเมืองที่ดี เก่ง มีความสามารถในการนำพาประเทศออกจากลูปปัญหาเดิมๆ ได้ไม่จำเป็นจะต้องมีวิถีชีวิตแบบเดียวกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

แต่คือคนที่เปิดรับ ยืนอยู่บนหลักการอย่างแน่วแน่ ทัศนคติดี และมีภาวะผู้นำมากเพียงพอ

การชื่นชมเยินยอในลักษณะนี้นอกจากจะไม่ได้สร้างประโยชน์ส่งเสริมวิถีประชาธิปไตยแล้ว

ยังนำมาซึ่งช่องโหว่ในการโจมตีตัวของธนาธรเองด้วยซ้ำ เรื่องนี้จำเป็นต้องรอบคอบระมัดระวังให้มากขึ้น