ค้าน พ.ร.บ.คอมพ์พ่นพิษ กะเทาะเปลือกเว็บรัฐ…เต่าล้านปี แฮ็กเกอร์เจาะข้อมูลง่ายแค่พลิกฝ่ามือ

ในช่วงปลายปี 2559 คงไม่มีเรื่องไหนที่จะฮ็อตฮิต เป็นที่สนใจจากประชาชนวงกว้าง นั่นคือการประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. … หรือ พ.ร.บ.คอมพ์ (อีกแล้ว)

ส่งผลให้มีผู้ไม่เห็นด้วยออกมาจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์มากมาย

แต่ตามมาด้วยการลองของ ด้วยการแฮ็กเว็บไซต์ของหน่วยงานภาครัฐหลายกระทรวงล่มไม่เป็นท่า

สาเหตุที่กลายเป็นที่ถกเถียงทางสังคมเนื่องจากการที่ เครือข่ายพลเมืองเน็ต ออกมาล่ารายชื่อผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายดังกล่าว เพราะเห็นว่าหากกฎหมายฉบับดังกล่าวออกมา อาจส่งผลกระทบอย่างมากในเรื่องของการกระทบสิทธิส่วนบุคคลของผู้ที่ใช้งานอินเตอร์เน็ต ในเรื่องการแสดงความคิดเห็นต่างๆ และให้อำนาจเจ้าที่รัฐในการเข้าถึงข้อมูลเว็บไซต์ และเครือข่ายสังคมออนไลน์ เพื่อลบ หรือระงับการเผยแพร่ข้อมูลที่ผิดกฎหมาย หรือกระทบศีลธรรมอันดีงามของสังคมได้ รวมทั้งยังมีการให้อำนาจของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) จัดตั้งศูนย์บล็อกเว็บไซต์ และคณะกรรมการกลั่นกรองเนื้อหาต่างๆ ด้วยเช่นกัน

ขั้นตอนปัจจุบัน พ.ร.บ.คอมพ์ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รอเพียงประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาอย่างเป็นทางการภายใน 120 วัน

แต่เสียงคัดค้านยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุดแต่อย่างใด

ในมุมของผู้ผลักดันกฎหมายฉบับดังกล่าวอย่างกระทรวงดีอี นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี ให้ข้อมูลย้ำว่า จุดประสงค์ของร่าง พ.ร.บ.คอมพ์ ฉบับใหม่ เพื่อรู้เท่าทันเทคโนโลยีดิจิตอลที่เปลี่ยนแปลงไปไวมาก และจำเป็นต้องเขียนให้ครอบคลุม เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาและการบังคับใช้ให้ดีขึ้น

ลดการตีความแบบผิดๆ และเพิ่มกลไกลการถ่วงดุลที่เป็นธรรม แต่ยังคงใช้กระบวนการของศาลเพื่อความเป็นธรรมไม่กระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชนกับประชาชน และเป็นการถ่วงดุลอำนาจภาครัฐ ซึ่งจะทำให้เกิดมาตรฐาน สอดคล้องกับแนวปฏิบัติของสากล

รัฐมนตรีพิเชฐกล่าวเสียงหนักแน่นว่า เนื้อหา 90% ของ พ.ร.บ.คอมพ์ มีเจตนาที่เป็นคุณหรือให้ประโยชน์แก่สังคมโดยรวม ทำให้ประชาชนได้รับการคุ้มครอง ไม่ว่าจะเป็นการคุกคามทางออนไลน์จากผู้ไม่หวังดี และช่วยเหลือผู้เสียหาย โดยเจ้าหน้าที่สามารถตามไปเอาผิดกับผู้ที่กระทำผิดต่อผู้เสียหาย ตามขั้นตอนกระบวนการที่กฎหมายกำหนดก่อนส่งให้ศาลพิจารณา

นอกจากนี้ พ.ร.บ.คอมพ์ ไม่ได้ให้รัฐเข้าไปสอดแนมหรือล้วงข้อมูลการติดต่อสื่อสารของประชาชน หรือทำให้การใช้งานอินเตอร์เน็ตช้าลงตามที่เป็นข่าวลือออกมา

อีกทั้งการใช้อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามร่าง พ.ร.บ.คอมพ์ ยังต้องทำตามกลไกตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐตามที่กฎหมายปัจจุบันกำหนดไว้ ซึ่งส่วนใหญ่ต้องขออนุญาตจากศาลก่อนจึงจะดำเนินการ

อีกทั้งการสอดแนมหรือล้วงข้อมูลการติดต่อสื่อสารของประชาชน ยังถือเป็นความผิดตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ฐานดักรับข้อมูลโดยไม่ชอบอีกด้วย และหากมีการใช้อำนาจในทางมิชอบ กฎหมายก็กำหนดบทลงโทษไว้ใน มาตรา 22 และ มาตรา 23 เป็นต้น

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี ยังให้ความเห็นในกรณีการแสดงความเห็นด้วยว่า ข้อกฎหมายที่ฝ่ายต่อต้านยังไม่เห็นด้วย ได้แก่ มาตรา 14 ที่กังวลว่าจะเข้ามาควบคุมเรื่องการแสดงความคิดเห็น ในข้อเท็จจริง พ.ร.บ.คอมพ์ที่แก้ไขไม่ได้ต้องการปิดกั้นเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น ปิดปากการตรวจสอบของประชาชนแต่อย่างใด

ส่วนประเด็นที่ฝ่ายต่อต้านให้อำนาจรัฐจัดตั้งศูนย์กลางบล็อกเว็บไซต์ในข้อเท็จจริง ร่างประกาศเป็นการบูรณาการการระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นเอกภาพ และตรวจสอบได้

อีกทั้งยังเป็นการให้เกิดความเป็นธรรมในการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ให้บริการ

 

อย่างไรก็ดี ไม่เพียงแต่ในเรื่องข้อกฎหมายมาตราต่างๆ เท่านั้น แต่ทางฝ่ายต่อต้านและประชาชนบางส่วนยังมีข้อกังวลในเรื่องของการทำซิงเกิลเกตเวย์ หรือการดักจับหรือคัดกรองข้อมูลที่ไหลผ่านอินเตอร์เน็ตทางช่องทางเดียว ซึ่งดูจะเป็นอีกประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงมากในโลกออนไลน์ ซึ่งที่ผ่านมาทางกระทรวงดีอีเองก็ได้ออกมาชี้แจงในประเด็นดังกล่าวไปแล้วเช่นกันว่าไม่มีการสอดไส้เรื่องซิงเกิลเกตเวย์เข้าไปแต่อย่างใด

ด้วยประเด็นเหล่านี้ ส่งผลให้ตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมา แม้ภาครัฐจะออกมาอธิบายแล้ว แต่ยังคงมีกลุ่มผู้ที่ไม่เห็นด้วยออกมาสร้างความปั่นป่วนต่างๆ มากมาย ตั้งแต่การลักลอบเจาะข้อมูล หรือแฮ็กข้อมูลต่างๆ ของหน่วยงานรัฐบาล หรือแม้แต่สื่อสัญลักษณ์ความไม่พอใจต่อ พ.ร.บ.คอมพ์ ด้วยการรวมกลุ่มเข้าใช้วิธีการ DDoS หรือการให้ผู้ใช้งานจำนวนมากเข้าเว็บไซต์เป้าหมายพร้อมกันและกดปุ่ม F5 เรียกข้อมูลของหน้าเว็บขึ้นใหม่เรื่อยๆ เพื่อหยุดการทำงานของเว็บไซต์ ซึ่งที่ผ่านมา ก็มีทั้งที่จับได้และจับไม่ได้

อย่างไรก็ดี ในมุมกลับกันการแถลงข่าวพร้อมโชว์ของกลางของแฮ็กเกอร์ หนุ่มวัย 19 ปี เมื่อวันที่ 26 ธันวาคมที่ผ่านมา สิ่งหนึ่งที่สร้างความฮือฮาแก่ภาคสังคมมากมาย กล่าวคือ แฮ็กเกอร์คนดังกล่าวมีการศึกษาจากหนังสือคู่มือฉบับนักทดสอบป้องกันการเจาะระบบ ที่ดูเป็นเรื่องมาตรการพื้นฐานพอสมควร นั่นหมายถึงระบบรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ของหน่วยงานภาครัฐสามารถเจาะได้อย่างง่ายดายเพียงแค่อ่านหนังสือคู่มือขั้นพื้นฐานหรือไม่

เพราะหากเป็นเช่นนั้นจริง ไม่เพียงแต่เรื่อง พ.ร.บ.คอมพ์ ที่เข้ามาบั่นทอนความเชื่อมั่นของประชาชนแล้ว แต่ในเรื่องของการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ก็จะกลายมาเป็นสิ่งที่ไม่น่าไว้วางใจเช่นกัน

รวมถึงการวาดฝันในการไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 เศรษฐกิจดิจิทัล หรือการทำธุรกรรมออนไลน์ (อี-เพย์เมนต์) ที่ต้องการให้ประชาชนใช้เทคโนโลยีให้มากขึ้น ก็ดูจะเป็นเรื่องยากขึ้นไป

 

สําหรับในกรณีดังกล่าว น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวงดีอี ก็ออกมาให้ข้อมูลเพียงว่า ในการดำเนินการเอาผิดผู้ที่ไม่เห็นด้วยวิธีการต่างๆ จะเน้นเอาผิดกับผู้ที่ปลุกปั่นให้ผู้อื่นกระทำความผิด มากกว่าเอาผิดแก่ผู้ที่ลงมือทำด้วยตนเอง ซึ่งในส่วนของข้อมูลภาครัฐที่โดนแฮ็กไป จากการตรวจสอบเบื้องต้นของกระทรวงดีอี พบว่า ส่วนใหญ่เป็นข้อมูลพื้นฐาน ไม่ใช่ข้อมูลลับแต่อย่างใด จึงไม่ได้เป็นการสร้างความเสียหายต่อภาครัฐมากนัก

ทั้งนี้ จากปัญหา พ.ร.บ.คอมพ์ ในครั้งนี้ ต้องจับตากันต่อไป จากนี้ไปจนถึงวันประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา จะมีเหตุการณ์ปั่นป่วนใดเกิดขึ้นอีกหรือไม่

แต่ที่ผ่านมาสิ่งหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นก็คือการสื่อสารทำความเข้าใจของภาครัฐกับประชาชนยังไม่ดีพอ ทั้งในแง่สิ่งที่ประชาชนไม่เห็นด้วย และสิ่งที่ประชาชนไม่เข้าใจ

ซึ่งหากต่อไปยังดึงดันเข็นผ่านกฎหมายในลักษณะนี้อีก ก็อาจเกิดไฟลามทุ่งได้

รวมถึงภาครัฐเองก็ต้องกลับมาคิดทบทวนด้วยว่าเมื่อกฎหมายเปลี่ยนไปตามยุคสมัยแล้ว

หน่วยงานรัฐเปลี่ยนไปตามยุคสมัยด้วยหรือไม่

เหตุใดจึงโดนเจาะข้อมูลง่ายดายเพียงนี้…