วงค์ ตาวัน : โจ๊กการเมืองแห่งปี

วงค์ ตาวัน

มีการสรุปรวบรวมข่าวใหญ่ในรอบปีที่ผ่านมา รวมทั้งจัดอันดับเหตุการณ์สำคัญๆ ในแง่มุมต่างๆ โดยสื่อมวลชน อันเป็นบทสรุปวาระส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ เพื่อทบทวนความเป็นไปของโลกและของประเทศไทย ก่อนจะก้าวต่อไปข้างหน้า

แต่ถ้าจะถามว่า เรื่องโจ๊กทางการเมืองอะไรที่ฮาสุดในรอบปีที่ผ่านมา

ต้องนึกถึงเรื่องนี้ทันที คือผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชนของสำนักโพลรายหนึ่ง ที่สรุปได้ว่า ประชาชนส่วนใหญ่ชอบรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร มากกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

ด้วยเหตุผล เพราะรัฐบาลจากรัฐประหาร ทำงานได้เร็ว คล่องตัว มีอำนาจพิเศษ

“ต้องยกให้เป็นข่าวการเมืองที่ฮาที่สุดจริงๆ!”

เหมือนเป็นการบอกว่า เราอยากถอยกลับไปอยู่ในถ้ำแทนอยู่ในบ้านเรือนที่ออกแบบตกแต่งตามใจได้

เราอยากใช้ชีวิตในยุคที่มีไดโนเสาร์เต่าพันปี มากกว่ายุคปัจจุบันที่มีมือถือเครื่องเดียว สามารถทำอะไรได้ทุกอย่าง

“พูดง่ายๆ ว่า สิ่งที่พูดกับสิ่งที่เป็นจริงนั้น มันสวนทางกัน”

รัฐบาลคณะรัฐประหารเอง ทำไมจึงต้องเพียรพยายามบอกกับประชาชนและบอกกับโลกว่า เราจะคืนประชาธิปไตยในปี 2560 นี้แน่นอน เราจะมีเลือกตั้งตามปกติแน่นอน อะไรเหล่านี้

คือ รัฐบาลคณะรัฐประหาร อาจจะชอบอยู่ลึกๆ ในใจในการที่ตนเองอยู่ในอำนาจ แต่ไม่อาจป่าวประกาศกับคนทั่วไปว่าอยากอยู่นานๆ เพราะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้

ในแวดวงสนทนาการเมือง จึงตั้งคำถามกันอย่างเฮฮา เพื่อรับกับข่าวโจ๊กนี้ว่า สงสัยโพลนี้ไปสำรวจคนที่เป่านกหวีดกระมัง

“เพราะม็อบนกหวีดนั้น ชัดเจนว่า ทำทุกอย่างเพื่อให้ทหารเข้ามายึดอำนาจ ต้องการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง เพื่อจะยังไม่ต้องมีเลือกตั้ง”

อย่างไรก็ตาม โพลดังกล่าวนี้พบว่า สำรวจจากความเห็นของประชาชนประมาณ 1 พันคนเศษ ซึ่งก็มิได้มากมายมหาศาลอะไร

อาจจะไม่ใช่ประชาชนที่ไปร่วมปรี๊ดๆ อยากได้ทหารโหยหาอัศวินม้าขาว มากกว่าจะให้การเมืองแก้ไขอย่างเป็นระบบด้วยมือประชาชนโดยส่วนใหญ่

อาจจะเป็นประชาชนทั่วๆ ไปก็ได้

“นั่นก็ไม่แปลกใจอะไร เพราะสภาพปกติของสังคมโดยทั่วไปนั้น คนส่วนใหญ่ชอบดูละครทีวีน้ำเน่า มากกว่าดูละครหรือหนังคุณภาพ ชอบฟังเพลงรักใคร่สนุกสนาน มากกว่าจะฟังเพลงสะท้อนปัญหาสังคมหรือเพลงปลุกเร้าเพื่อต่อสู้ทางสังคมการเมือง”

คนส่วนใหญ่ที่มักกล่าวว่า อย่าเอาสาระอะไรให้มากนักเลยหนักสมองเปล่าๆ

อาจทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นว่า ทำไมผลโพลจึงบอกว่า คนชอบรัฐบาลรัฐประหารมากกว่ารัฐบาลจากการเลือกตั้ง!

 

ความเป็นจริงอีกอย่างที่เกิดขึ้นกับสังคมในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ก็คือ สังคมตกอยู่ในภาวะชะงักงันทุกด้าน เพราะยุครัฐบาลรัฐประหารเน้นการควบคุมบ้านเมืองให้อยู่ในความสงบ ใช้อำนาจพิเศษจัดระบบระเบียบให้อยู่หมัด

ผลก็คือ ประชาชนไม่สามารถมีส่วนร่วมทางการเมืองใดๆ ได้ อำนาจการเมืองที่สามารถใช้ได้ในมือของทุกคนในวันเลือกตั้ง ก็หายวับไปแล้ว ไปอยู่ในมือคนกลุ่มเดียว

การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองก็มีข้อจำกัด

“เพราะรัฐบาลรัฐประหารจะเน้นย้ำว่า ไม่อยากให้เกิดบรรยากาศความขัดแย้ง เกรงจะย้อนกลับไปสู่ยุคแห่งความแตกแยกอีก”

คณะรัฐประหารจัดตั้งกลุ่มคนที่เลือกกันเอง เพื่อมาเขียนร่างรัฐธรรมนูญ กำหนดกติกาการเมืองและการเลือกตั้ง ซึ่งเน้นตีกรอบให้นักการเมืองและพรรคการเมือง ไม่สามารถทำอะไรได้มากมายนัก

เขียนกติกาโดยทำให้นักการเมือง ซึ่งเป็นผู้แทนราษฎร เป็นตัวแทนของประชาชน ไม่มีสิทธิอะไรได้มากนัก อย่างนี้แปลว่า ตัดอำนาจของประชาชนในภายภาคหน้าอีก

“นี่หรือคือการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง กำจัดนักการเมืองชั่ว ทั้งที่นักการเมืองนี่แหละคือผู้ที่เชื่อมโยงกับประชาชนมากที่สุด!”

นี่คือการปฏิรูป ที่ทำให้ประชาชนไทยสูญเสียอำนาจการเมืองไปแทบทุกด้าน แล้วอำนาจไปอยู่ที่ไหน ก็อยู่ที่คณะบุคคลที่ยังกุมการเมืองไทยทั้งหมดอยู่ ดังที่ปรากฏอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญ

โดยคณะบุคคลที่ว่านี้ ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง ไม่ต้องเชื่อมโยงกับประชาชน แต่มีอำนาจชี้เป็นชี้ตายเหนือนักการเมืองผู้แทนของประชาชน

ขณะเดียวกันคณะรัฐประหาร ก็แต่งตั้งกันเอง ให้คนกลุ่มหนึ่งเข้ามาทำหน้าที่ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มาร่วมกันยกมือผ่านกฎหมายต่างๆ อย่างรวดเร็วฉับไว

ล่าสุดผ่าน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ออกมาอย่างง่ายดาย ทั้งๆ ที่ประชาชนกว่า 3 แสนคนเข้าชื่อคัดค้านขอให้ทบทวน

“โดยความกังวลของประชาชนที่อยู่ในโลกออนไลน์ก็คือ เป็นกฎหมายที่ให้อำนาจฝ่ายรัฐในการเข้าถึงโลกคอมพิวเตอร์ได้อย่างไร้ขอบเขต เท่ากับเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลของประชาชนทั่วไป อย่างน่าเป็นห่วง”

เสรีภาพทางการเมืองก็หมดไป

ตอนนี้เสรีภาพในสังคมออนไลน์ ส่อว่าจะมีปัญหาอีก

นี่ไง ยุครัฐบาลคณะรัฐประหาร ที่โพลบอกว่า ประชาชนชอบมากกว่ารัฐบาลจากการเลือกตั้ง เพราะทำงานได้รวดเร็ว คล่องตัว มีอำนาจพิเศษ

อำนาจพิเศษนี่แหละ ที่ประชาชนต้องออกมาเคลื่อนไหวร่ำร้องหาเสรีภาพกันในขณะนี้!

 

ที่อ่วมอรทัยกันอีกประการ ในช่วง 2-3 ปีมานี้ คือ สภาพเศรษฐกิจการค้า ด้วยความที่เรามีรัฐบาลจากคณะรัฐประหารนี่แหละ ทำให้ทั่วโลกหมางเมิน ถูกปิดกั้นกดดันทางการค้าหลายประการ จนส่งผลให้สภาพเงินทองของคนไทยเราไม่ลื่นไหล

ก่อนสิ้นปีที่ผ่านมา มีหลายกิจการต้องปิดตัว หรือทยอยลดพนักงานลง

กิจการใหญ่บางเจ้า ที่ร่วมสนับสนุนเป่านกหวีดเรียกหารัฐประหารกับเขาอย่างเต็มที่ ต้องทนกับภาวะหนี้สินที่ทบทับในระยะ 2 ปีมานี้ไม่ไหว ต้องขายหุ้นให้กับกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่

“นี่เป็นเรื่องชัดเจนว่า มีผลจากการเมืองอันไม่ปกติของเรา”

ถึงขั้นที่ว่า ผลการลงประชามติรัฐธรรมนูญเมื่อ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา พบว่าคนจำนวนไม่น้อยไปลงประชามติโดยให้ความเห็นชอบ ด้วยหวังว่า ให้รัฐธรรมนูญเร่งออกมาใช้ จะได้เลือกตั้งเร็วๆ เศรษฐกิจการค้าจะฟื้นเสียที

นี่ไง โพลบอกว่าประชาชนชอบรัฐบาลรัฐประหาร

“แต่ทุกคนกำลังหวังการเลือกตั้ง เพราะมีการเลือกตั้ง มีรัฐบาลจากการเลือกตั้งเมื่อไร เท่ากับว่าการเมืองเข้าสู่ภาวะปกติ เศรษฐกิจก็จะเข้าสู่ความเป็นปกติด้วย จะได้เลิกฝืดเคืองกันเสียที!!”

ที่ต้องพูดถึงอีกประการ ในช่วงส่งท้ายปีก็คือ

สื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาล ยืนยันจุดยืน ไม่ทำกิจกรรมตั้งฉายาให้คณะรัฐมนตรี เหมือนที่เคยปฏิบัติ เพราะรัฐบาลชุดนี้ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เป็นช่วงที่การเมืองไม่ปกติ

เช่นเดียวกันสื่อมวลชนประจำสภา ประกาศงดตั้งฉายาผู้ดำรงตำแหน่งในฝ่ายนิติบัญญัติ ด้วยเหตุผลทำนองเดียวกัน

“สื่อมวลชน ได้แสดงท่าทีชัดเจน ต่อรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร และสภานิติบัญญัติที่แต่งตั้งจากคณะรัฐประหาร”

จึงต้องบอกว่า ผลโพลที่ว่าประชาชนชอบรัฐบาลจากรัฐประหารมากกว่ารัฐบาลจากการเลือกตั้ง

เป็นข่าวโจ๊กทางการเมืองแห่งปีจริงๆ!