กิติกร มีทรัพย์ : ทางสายด่วน ละโว้-โยเดีย และพระตำหนักเจ้าปลุก

เป็นทางสายด่วน ลพบุรี-อยุธยา แต่ผู้เขียนเรียกเสียใหม่ ใช้คำเก่าว่าละโว้-โยเดีย เป็นเส้นทางจริงและจำเป็นต้องมีอย่างยิ่ง

ถึงแม้ว่าสมเด็จพระนารายณ์จะทรงโปรดลพบุรีอย่างมาก ถึงกับประทับอยู่ที่นั่นปีละแปดเดือนก็จริง แต่จะไม่ทรงทอดทิ้งอยุธยาแต่อย่างใดด้วยเป็นเมืองสัญลักษณ์แห่งอำนาจขององค์พระมหากษัตริย์ เมืองแห่งศูนย์กลางการปกครอง การค้า การทูต และการต่างประเทศ ตลอดจนเป็นศูนย์กลางแห่งพิธีการทางศาสนา ประเพณี วัฒนธรรมและความเชื่อต่างๆ เช่น พิธีการกฐิน และพระราชพิธีไล่เรือ เป็นต้น

ลพบุรีเป็นเพียงเมืองที่ประทับเพื่อสำราญอิริยาบถ อากาศบริสุทธิ์ เป็นอิสระจากการเมือง กับได้พักผ่อนโพนช้างผ่อนคลายพระทัยจากความเคร่งเครียดอันเนื่องมาแต่การได้ราชสมบัติ

(ทรงได้ราชสมบัติโดยต้องสำเร็จโทษพระเชษฐา พระปิตุลาและพระอนุชาอีกสองพระองค์ รวมทั้งพระญาติและขุนนางฝ่ายที่เห็นต่างอีกเป็นร้อย ทรงหวั่นไหวและมีศัตรูรอบด้าน ลพบุรีจึงคล้ายเป็นเซฟตี้โซน หรือเอสเคปทีพ เพลส ที่แสนจะปลอดภัย พระองค์โปรดเป็นพิเศษ)

 

ทางสายด่วนนั้นอยู่ที่ไหน?

คงมีแต่เดอ ชัวชีย์ คนเดียวเท่านั้นที่พูดถึงทางสายด่วนหรือทางลัด เมื่อเขาเดินทางร่วมกับคณะทูตเดอ โชมองต์ เดินทางจากอยุธยาขึ้นไปลพบุรีเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2228 โดยทางเรือ อันเป็นการคมนาคมที่นิยมและสะดวกสบายในสมัยนั้นและฤดูกาลนั้น

เดอ ชัวชีย์ เล่าว่า ระหว่างทางในตอนเย็นๆ ได้เห็นพิธีศพภิกษุรามัญชั้นผู้ใหญ่ พอตกค่ำก็เห็นกระทงของชาวบ้านลอยมา บ่งบอกว่าเป็นวันเพ็ญเดือน 12 จากนั้นก็เห็นหลักเครื่องหมายทางลัดต้องตัดผ่านเข้าไปในทุ่งนา น่าจะเป็นทุ่งอำเภอมหาราชตอนเหนือ และตำบลเจ้าปลุกในปัจจุบัน

“ครั้นแล้ว เราก็ใช้ทางลัดตัดผ่านเข้าในทุ่งนา เราได้พบหลักใหญ่ป้ายสองขีด แสดงว่าเป็นระยะทางสองลิเออ…”

เดินเรือแล่นในแม่น้ำลพบุรี จากนั้นจึงต้องตัดเข้าทางลัดออกทุ่ง อ้อมคลองบุญ วกเข้าแม่น้ำลพบุรีอีกครั้งหนึ่ง (เป็นเวลาเดือน 12-น้ำทรง) เมื่อเรือแล่นต่อไปก็พบศาลาสาธารณะที่พักแรมคนเดินทางก่อนพระตำหนักทางซ้ายมือ และต่อไปยังเรือนพักสำหรับราชทูตซึ่งอยู่ไม่ไกลกัน

“…เราผ่านพระตำหนักแปรพระราชฐานแห่งหนึ่งไปทางด้านซ้ายมือ และไปถึงเรือนพักแห่งหนึ่งซึ่งจัดไว้โดยเฉพาะสำหรับท่านราชทูต เป็นแบบเดียวกับเรือนพักที่ด่านขนอน พื้นที่นั้นกรุยยกขึ้นสูง เราพอเดินเที่ยวเล่นได้ มีต้นไม้ใหญ่กำลังออกผลสะพรั่ง อาจทำเป็นสวนหรืออุทยานที่งดงามได้ ภูมิประเทศยิ่งน่าชมมากขึ้นทุกขณะโดยลำดับที่แล่นทวนน้ำขึ้นไปและเกือบจะไม่มีน้ำท่วมเลย

พระตำหนักนี้คือพระตำหนักเจ้าปลุก คำว่าเจ้าปลุกมาเพิ่มขึ้นภายหลัง ซึ่งหมายถึง “เจ้าปลูก” คือปลูกตำหนัก หรืออีกความหมายหนึ่ง หมายถึงเจ้าปลุก คือปลุกพลพายทั้งหลายให้รีบตื่นขึ้นเตรียมตัวเดินทางต่อไป โดยต้องพายเรือแล่นทวนน้ำขึ้นไปถึงเมืองลพบุรีอย่างรวดเร็วทันเวลา

ตรงนี้แหละ คือกลางทางสายด่วนละโว้-โยเดีย

 

ชวนให้คิดว่า ทางสายด่วนละโว้-โยเดียนี้ คือใช้ลำแม่น้ำลพบุรี แต่ได้ขุดคลองลัดตัดตรงเฉพาะในช่วงโค้งที่เรือต้องแล่นอ้อมเสียเวลา แม่น้ำลพบุรีช่วงอำเภอมหาราชนั้นขึ้นไปถึงเมืองลพบุรีมีโค้งคดดังกล่าวจำนวนมาก เมื่อดูจากในกูเกิลมีถึง 7 โค้งที่คาดว่าน่าจะทรงบัญชาให้ขุดตรงเป็นคลองหรือทางลัด!

ส่วนตำหนักเจ้าปลุกนั้น เดอ ชัวชีย์ เล่าถึงพระตำหนักว่า

“…เราไปชมพระตำหนักที่ประทับสำราญพระราชอิริยาบถของพระเจ้าแผ่นดินแห่งหนึ่ง ก็ดูคล้ายกับตำหนักในที่แห่งอื่นๆ นั่นแหละ คือ มีลานใหญ่เต็มไปด้วยต้นไม้ แล้วก็มีห้องโถงสำหรับพวกขุนนางไปหมอบเฝ้าเมื่อพระเจ้าแผ่นดินเสด็จออก มีอาคารรายรอบอีก 3 หรือ 4 หลัง หลังคามุงด้วยตะกั่วถ้ำ เราเข้าไปในพระลานนั้น..”

แต่ไม่อาจเข้าไปในพระตำหนักที่ประทับได้ เรื่องพระตำหนักนี้ ในหลวงรัชกาลที่ 5 เคยทรงเล่าถึงไว้เหมือนกัน ในพระราชนิพนธ์ ระยะทางเสด็จประพาสมณฑลอยุธยา 2421 แต่ทรงเรียกว่าปราสาทแทนตำหนัก อันเป็นที่ประทับร้อนของสมเด็จพระนารายณ์ก่อนเข้าเมืองลพบุรี และไม่ทรงเห็นด้วยว่าที่นี่เป็นวัดเก่า

เดอ ชัวชีย์ เล่าต่อไปว่า ได้พักอยู่ที่นี่สองวันจึงออกเดินทางต่อไปถึงเมืองลพบุรี ราวๆ สองทุ่ม ประมาณว่าใช้เวลาเดินทาง 14-16 ชั่วโมง (ทวนน้ำ) โดยทางด่วนสายนี้เริ่มต้นตรงพระตำหนัก

พระตำหนักเจ้าปลุกที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันเป็นพระตำหนักขนาดเล็ก ก่ออิฐถือปูน สถาปัตยกรรมไทยต้นแบบผสมสกุลช่างสมเด็จพระนารายณ์ งดงามสมพระเกียรติยศ ตั้งอยู่บนเนื้อที่ราว 40 ไร่ อุดมด้วยต้นไม้ แต่ขาดการดูแลที่ดี จึงรกเรื้ออย่างมาก

ท่านผู้เฒ่าเล่าว่า เมื่อสิ้นแผ่นดิน พระตำหนักก็ถูกทิ้งร้าง มีผู้เข้ามาครอบครองว่าเป็นวัด เป็นพระอาราม เรียกว่าวัดหน้าวัว แต่ถูกทิ้งร้าง จนเมื่อยี่สิบกว่าปีมานี้มีผู้เข้ามาครองคณะใหม่ เข้ามาดูแล คล้ายๆ จะให้ตัวพระตำหนักเป็นพระอุโบสถ ตั้งพระประธานฝีมือช่างพื้นบ้านขึ้นองค์หนึ่ง กับก่อฐานใบสีมาโดยรอบหกฐาน สร้างกุฏิสงฆ์สองหลัง กับก่อพระรูปพระนเรศวร-พระสุพรรณกัลยาอีกหลังหนึ่ง รวมทั้งก่อเพิงสำหรับพระพุทธรูปใหญ่อีก 3 องค์ นัยว่าจะทำให้เป็นพระอารามสมบูรณ์แบบ

แต่ทั้งหมดต้องล้มเลิกไปด้วยผิดกฎหมายการตั้งวัดใหม่บนซากวัดเก่าและโบราณสถาน จะกระทำมิได้

พระตำหนักวันนี้จึงรกร้างอย่างที่เห็น หวังว่ากรมศิลปากรคงจะรีบจัดการให้เรียบร้อยในไม่ช้า

 

ผู้เขียนมั่นใจว่า ทางสายด่วน ละโว้-โยเดีย กึ่งทางอยู่ที่ตำบลนี้ เลียบริมแม่น้ำลพบุรีขึ้นไปทางเหนือโดยตัดโค้งแม่น้ำขึ้นไปจนเข้าเขตเมืองลพบุรี

โค้งแม่น้ำดังกล่าว น่าจะมีดังนี้

1. โค้งวัดกุฎีทอง, วัดแจ้ง

2. โค้งวัดโบสถ์, วัดนาค

3. โค้งวัดท้าวอู่ทอง, วัดเขียนลาย

4. โค้งวัดญาณเสน, วัดกระเจียว

5. โค้งวัดหลวงพ่อเขียว

6. โค้งวัดพะเนียง (วัดสำพะเนียง)

7. โค้งวัดกระโจมทอง

โค้งทั้ง 7 อยู่ในท้องที่อำเภอมหาราช อำเภอบ้านแพรก และเขตอำเภอเมืองลพบุรีตอนใต้ ทุกโค้งมีลำน้ำแคบ น้ำไหลเชี่ยว เรือแล่นได้ช้า ต่อเมื่อเข้าเขตเมืองลพบุรี ลำน้ำจะกว้างขึ้น เรือแล่นได้สะดวกขึ้น คือตั้งแต่ย่านบ้านดาบ บ้านโก่งธนู วัดยางใหญ่ (วัดยางณรังสี) และวัดหลวงสุวรรณาราม ขึ้นไปจนถึงวัดเชิงท่า หน้าวังนารายณ์ (พระนารายณ์ราชนิเวศน์)

แนวความคิดทางลัดตัดโค้งแม่น้ำดังกล่าวน่าจะทรงได้ตัวอย่างจากสมเด็จพระไชยราชาธิราช (2077-2089) สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (2091-2099) และสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (2172-2199) พระองค์แรกคือขุดคลองลัดแม่น้ำเจ้าพระยาที่คลองบางกอกน้อย พระองค์ถัดมา คือขุดคลองลัดที่คลองบางกรวย ส่วนพระองค์ที่สาม ขุดคลองลัดจากวัดท้ายเมืองไปทะลุวัดเขมาภิรตาราม ซึ่งต่างย่นระยะทาง เวลา และทดกำลังฝีพายลงได้อย่างมาก

ส่วนทางลัดที่เดอ ชัวชีย์ กล่าวถึงนั้นน่าจะเป็นทางลัดออกทุ่ง ไม่แล่นตามโค้งแม่น้ำ แต่กลับวกเข้าแม่น้ำอีกครั้งหนึ่งใกล้ๆ พระตำหนักเจ้าปลุก ซึ่งประหยัดเวลาได้จำนวนหนึ่งเหมือนกัน

โดยสรุปทางสายด่วนลพบุรี-อยุธยา หรือละโว้-โยเดีย ยาว 63 กิโลเมตร แต่ช่วงยุ่งยากมากๆ อยู่ตรงที่แม่น้ำลพบุรี มีโค้งคดหลายแห่ง อันเป็นอุปสรรคต่อการเดินเรืออย่างมาก อันน่าจะเริ่มต้นตรงพระตำหนักเจ้าปลุก ทวนน้ำขึ้นไปถึงลพบุรี โดยขุดคลองลัดโค้งแม่น้ำให้เรือแล่นขึ้น-ล่องได้โดยไม่เสียเวลา มีหลักฐานว่าย่นระยะทางอยุธยา-ลพบุรี จาก 63 กิโลเมตรเหลือเพียง 45 กิโลเมตร และใช้เวลาเพียง 12-15 ชั่วโมง ด้วยเรือขนาด 26 แจวเมื่อแล่นทวนน้ำ แต่ถ้าแล่นตามน้ำจะใช้เวลาน้อยลงอีก ตามที่บรรจง บุญการี เล่าไว้ในเรื่องทางด่วนลพบุรี-อยุธยา ในวารสารสมบัติไทย ฉบับ 29 มกราคม-2 กุมภาพันธ์ 2531 หน้า 38 ระบุว่า ทางสายด่วนโดยคลองลัดนี้ย่นระยะทางจาก 63 กิโลเมตร เหลือ 45 กิโลเมตร สามารถเดินทางโดยเรือ 26 ฝีพายทวนน้ำขึ้นไปถึงเมืองลพบุรีใช้เวลา 15-20 ชั่วโมง แต่ถ้าเป็นเที่ยวกลับอยุธยา เรือแล่นตามน้ำจะใช้เวลาน้อยกว่า

ทางสายด่วนละโว้-โยเดีย อีกมุมมองหนึ่งเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของสมเด็จพระนารายณ์

ส่วนตำหนักเจ้าปลุกนั้น เป็นตำหนักอยู่กึ่งทางที่สมเด็จพระนารายณ์ประทับเพื่อสำราญอิริยาบถก่อนเข้าเมืองลพบุรีและเมื่อเสด็จฯ กลับคืนอยุธยา

———————————————————————————————————
หมายเหตุ : เจ้าอธิการโบสถ์ เดอ ชัวชีย์ เป็นเจ้าของจดหมายเหตุรายวัน การเดินทางไปสู่ประเทศสยามในปี ค.ศ.1685 และ 1686 ฉบับสมบูรณ์ (สันต์ ท.โกมลบุตร แปล) เดอ ชัวชีย์ อยู่ในคณะเอกอัครข้าราชทูตเชอวาลิเอร์ เดอ โชมองต์-18 ตุลาคม พ.ศ.2228