ฝรั่งเข้าใจการเมืองไทย(ไม่)ยาก : เจาะทัศนะ “เจมส์ ไวส์” อดีตเอกอัครราชทูตออสเตรเลีย ผ่านคำพูดและหนังสือเล่มแรก

ข่าวสารเรื่องราวของเมืองไทยโดยเฉพาะการเมือง คนไทยมักมีชุดความคิดหนึ่งเมื่อพบว่า มีชาวต่างชาติออกมาแสดงความคิดเห็นหรือไปถึงขั้นวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเหตุการณ์บ้านเมืองไทยด้วยมุมมองที่ไม่คุ้นเคยหรือปฏิปักษ์ต่อความคิดความเชื่อตัวเอง มักจะมีคำอธิบายเพื่อตอบชาวต่างชาติ เช่น “ฝรั่งไม่เข้าใจการเมืองไทย”, “การเมืองไทยเป็นเรื่องยากเกินกว่าฝรั่งจะเข้าใจ”

แต่การเมืองไทยตลอดหลายทศวรรษจนถึงวันนี้ นักวิชาการ นักการทูต หรือสื่อต่างชาติ ได้ให้ความสนใจกับการเมืองไทย โดยเฉพาะวิกฤตการเมืองไทยในทศวรรษนี้อย่างมาก และศึกษาถึงสาเหตุที่เป็นรากฐานของปัญหาที่คนไทยเผชิญอยู่ แม้ประเทศไทยได้รับอิทธิพลทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมแบบตะวันตกมามาก แต่มีบางสิ่งที่อยู่เหนือหลักการและแนวคิดแบบตะวันตก

ที่อาจทำให้รูปแบบและวัฒนธรรมทางการเมืองไทย ยากที่จะอธิบายคนต่างชาติหรือแม้แต่คนไทยด้วยกันเองเข้าใจ

 

“บ่อยครั้ง คนไทยมักบอกกับชาวต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาติตะวันตกหรือฝรั่งว่า เราไม่ได้ หรือไม่สามารถเข้าใจประเทศไทยโดยเฉพาะเรื่องราวการเมืองไทยได้ โดยเฉพาะเมื่อประเทศไทยกำลังประสบกับความไร้เสถียรภาพทางการเมือง การรัฐประหารและผลพวงหลังรัฐประหาร”

นี่คือ ประโยคแรกของบทนำในหนังสือ “Thailand : History, Politics and the Rule of Law (ประเทศไทย : ประวัติศาสตร์ การเมืองและหลักนิติรัฐ) ผลงานชิ้นแรกจากประสบการณ์และการศึกษาวิเคราะห์เชิงลึกของเจมส์ ไวส์ อดีตเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทยปี 2010-2014 ซึ่งเปิดตัวไม่นานมานี้ ได้ถ่ายทอดเรื่องราวการเมืองและสังคมไทยซึ่งอาจอธิบายถึงความวุ่นวายอันไม่รู้จบที่คนไทยต้องเผชิญและยังไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่

ผ่านสายตาคนต่างชาติให้คนต่างชาติเข้าใจการเมืองไทย และที่สำคัญ อยากบอกกับคนไทยว่า เขาเข้าใจการเมืองไทยมากแค่ไหน

 

คุณไวส์เล่าถึงหนังสือเล่มนี้ว่า เนื้อหาในหนังสือบอกถึงสิ่งที่ตัวเองค้นพบและหาคำอธิบายต่อสิ่งที่เกิดขึ้นต่อการเมืองและสังคมไทยเพื่อบอกกับคนอื่นว่า ทำไมการเมืองไทยถึงไม่มีเสถียรภาพและสับสนวุ่นวาย

สิ่งแรกที่เราต้องดู คือโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยในปัจจุบันก่อน เรามักเชื่อว่า สถาบันทางการเมืองที่อยู่ในโครงสร้างรัฐมีอยู่ 3 ฝ่าย นั้นคือ นิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ ซึ่งเป็นสถาบันแทนอำนาจ 3 ฝ่าย ตามฐานระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตย

แต่สำหรับประเทศไทย ยังมีอีก 2 ฝ่ายที่มีอำนาจ นั้นคือ กองทัพและชนชั้นนำจารีตประเพณี หากนึกภาพตามโครงสร้างการเมือง 5 ฝ่าย นั้นทำให้เราเข้าใจง่ายขึ้นว่าทำไมรูปแบบการเมืองไทยถึงดูแตกต่างจากที่อื่น

อย่างที่สอง การเมืองไทยไม่เหมือนที่อื่นตรงที่ เป็นชาติที่ไม่ตกเป็นอาณานิคมทางตรง ด้วยเหตุนี้ ฐานอำนาจทางการเมืองแบบจารีตประเพณีของไทยจึงยังคงอยู่ในฐานอำนาจอันชอบธรรม

แน่นอนว่าฐานอำนาจดังกล่าวถูกท้าทายและปรับเปลี่ยนจากอิทธิพลอำนาจภายนอกมาตลอด

ในหนังสือนี้ ผมตั้งประเด็นนี้ถึงความเข้าใจต่อการเมืองไทยถูกวางบนรากฐานความชอบธรรม 2 ชุดความคิดนั้นคือ ฐานความชอบธรรมทางการเมืองแบบจารีตประเพณี

และ ฐานความชอบธรรมทางการเมืองแบบสมัยใหม่

ทั้ง 2 ชุดความคิดนี้มีพลวัตของตัวเอง ไม่คงที่ และพบในบรรดาชีวการเมือง ไปจนถึงวิธีคิดและค่านิยมของปัจเจกชนที่เล่นการเมืองไทย และยิ่งเข้าใจการเมืองไทยมากขึ้นที่ 2 ชุดความคิดดังกล่าวดำรงอยู่ร่วมกันแทนที่ขับเคี่ยวกัน

สิ่งเหล่านี้ไม่มีทางพบชัยชนะ และจะแข่งขันไม่รู้จบไปอีกหลายสิบปี

 

คุณไวส์กล่าวอีกว่า รากฐานความชอบธรรมทางการเมืองแบบจารีตประเพณีของไทย ตั้งอยู่บนสังคมลำดับชั้นสูงต่ำ (Hiearchy) โดยมีรากฐานของบุญทำกรรมแต่ง (Karma) และมักเชื่อว่าประเทศไทยจะสงบสุขหากบริหารประเทศโดยคนดี และยิ่งมากขึ้นจากการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลด้วยระบบ “อุปถัมภ์” ไม่ใช่ “การเลือกตั้ง” ทำให้การเลือกคนอยู่บนฐานของคนดีหรือกองทัพ มากกว่าตามหลักกฎหมายหรือผ่านการเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม วิธีคิดเช่นนี้มักขัดแย้งต่อฐานความชอบธรรมแบบสมัยใหม่ที่ตั้งอยู่บนหลักความเสมอภาค การเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยและนิติรัฐ ดังนั้น การแข่งขันที่เกิดขึ้นบน 2 ชุดความคิดนี้จึงไม่ทัดเทียมกันแล้ว

อีกทั้งรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นต้นมา ก็ไม่ได้มีการหารือถึงหลักการที่กำหนดเขียนรัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญฉบับหลังทำให้พลเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้เท่าเทียมภายใต้กฎหมาย และกระบวนการยุติธรรมไม่เป็นอิสระ

เช่นนี้แล้ว การเมืองไทยยังคงต้องเผชิญภาวะไม่นิ่งยืดเยื้อต่อไป และอาจเกิดรัฐประหารอีก เพราะยังไม่มีการตกลงทำความเข้าใจเพื่อถกเถียงหรือหาข้อยุติหรือชี้ขาดความขัดแย้งทางการเมืองไทย

พูดอีกอย่างคือ ประเทศไทยไม่มีกลไกระงับข้อพิพาททางการเมืองเลย

 

ไม่เพียงเท่านี้ เนื้อหาในหนังสือยังบอกถึงโครงสร้างการเมืองไทยแบบลำดับชั้นสูงต่ำที่ใช้ระบบอุปถัมภ์และความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และรวมถึงปฏิเสธอำนาจอันเป็นอิสระที่อยู่นอกลำดับชั้นเพื่อระงับพิพาท และด้วยระบบการเมืองลำดับชั้น ได้เกิดผลลัพธ์แบบเพิ่มต่อเนื่อง ปัญหาถูกระงับภายใต้ระบบนี้ กลไกระงับข้อพิพาทที่เป็นอิสระไม่มีอยู่จริง

จุดนี้คุณไวส์มองว่า แนวคิดหลักของระบบนี้มาจากการคุ้มครอง ซึ่งรัฐมีอำนาจสูงสุดในการคุ้มครองและควบคุมและทุกคนต่างต้องการเข้าถึงอำนาจของรัฐ และใช้รัฐในการเข้าไปเกี่ยวข้องทั้งในมิติสังคมและเศรษฐกิจ และบ่มเพาะความภักดีต่อประเทศให้กับผู้ใต้ปกครองผ่านการศึกษา จนทำให้การคุ้มครองปลอดภัยสำคัญยิ่งกว่าหลักสิทธิมนุษยชน

ยิ่งใช้วิธีคิดตัวบุคคลเป็นศูนย์กลางกับระบบลำดับชั้น จะทำให้เห็นการอ้างถึง “คนดี” และคนไทยไม่น้อยกลัวการกลับมาของทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หากดูคำพูดและการกระทำแล้ว ภารกิจสูงสุดของไทยนั้นคือ ยับยั้งไม่ให้ทักษิณกลับมาเพื่อทำลายอิทธิพลที่เป็นอยู่

นอกจากนี้ ไทยยังเป็นประเทศที่มีชาตินิยมอันแรงกล้า ด้วยแนวคิดที่หยั่งรากลึกมานาน

 

คุณไวส์ยังระบุด้วยว่า นอกจากความแตกต่างในฐานความชอบธรรมทางการเมืองแล้ว แม้แต่แนวคิดเกี่ยวกับกฎหมายที่เป็นอยู่ก็มีลักษณะแตกต่างกันระหว่างหลักการแบบตะวันตกกับหลักการแบบสยาม (หรือประเทศไทย) เช่น ในทัศนะตะวันตกนั้น กฎหมายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยมนุษย์ แต่ในทัศนะความเชื่อแบบสยาม กฎหมายเป็นสิ่งนิรันดร์และถูกบัญญัติมาแต่ก่อนแล้ว

ในขณะที่ทัศนะตะวันตกสร้างกฎหมายที่เป็นประชาธิปไตยที่ยึดอยู่บนหลักสิทธิ, ความเป็นปัจเจกชน และความเสมอภาคภายใต้กฎหมาย ทัศนะแบบสยามกลับยึดหลักหน้าที่ความรับผิดชอบ, ส่วนรวม และลำดับชั้น

ส่วนการแก้ไขปัญหาแบบตะวันตกคลี่คลายด้วยการถกเถียงด้วยเหตุผลเพื่อหาข้อสรุปซึ่งมีผลแพ้-ชนะ แต่แบบสยามแก้ไขด้วยการเจรจาและประณีประนอมเพื่อรีบยุติความขัดแย้งโดยเร็วที่สุด

นั่นทำให้แสดงให้เห็นว่าทำไมไทยถึงมีฐานความคิดทางกฎหมายที่แตกต่างกัน

 

ทั้งนี้ คุณไวส์ได้กล่าวว่า ประเทศไทยได้เผชิญการเปลี่ยนรูปการเมืองทั้ง 3 ครั้งตลอดเวลา 132 ปี โดยครั้งแรกคือการปฏิรูปการเมืองของรัชกาลที่ 5 สู่การสถาปนารัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ปี พ.ศ.2430

ครั้งที่ 2 คือ การอภิวัฒน์สยามสิ้นสุดระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในปี พ.ศ.2475

และครั้งที่ 3 คือการก่อเกิดรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนปี 2540

และผมยังตั้งคำถามถึงการเปลี่ยนรูปการเมืองครั้งต่อไปไว้ด้วย จากข้อสรุปในบทสุดท้ายของหนังสือที่ว่า ถึงที่สุดแล้ว การรัฐประหารปี 2557 อาจไม่ใช่ครั้งสุดท้าย และรัฐธรรมนูญ 2560 อาจไม่ใช่ฉบับสุดท้ายด้วย

จากเหตุนองเลือดบนถนนในกรุงเทพฯ ปี 2535 จนมีคนตายหลายสิบและสร้างแผลเป็นทั้งกายและใจให้คนอีกนับล้าน ความบอบช้ำจากวิกฤตการเงินในเอเชีย 2540 ทำให้เศรษฐกิจประเทศแตกเป็นเสี่ยงและชีวิตคนหลายล้านถูกทำลาย ประเทศไทยพยายามยุติวงจรรัฐประหาร จิตใจรวมเป็นหนึ่งหาทางออกจากความไร้เสถียรภาพทางการเมืองอันยืดเยื้อยาวนาน ผลออกเป็นรัฐธรรมนูญ 2540 เพื่อแสดงให้เห็นว่าประเทศสามารถบริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพยังไง แต่เวลาแสดงให้เห็นแล้วว่าผลออกมาไม่สมบูรณ์นัก แต่นั่นไม่ใช่ความพยายามอันสูญเปล่า บางความคิดและบางสถาบันทางการเมืองจากรัฐธรรมนูญ 2540 อยู่รอด ขณะเดียวกัน ความคิดและสถาบันอันชอบธรรมแบบจารีตประเพณียังคงยืนยง

ผ่านมากว่า 20 ปี หลังปี 2540 คำถามที่ไม่มีคำตอบจะเกิดขึ้นทั้งผู้ที่เชื่อในรูปแบบดั้งเดิมและสมัยใหม่ จนเห็นตรงกันในไม่ช้าว่า การปรับรูปการณ์เมืองไทยครั้งใหม่จะต้องเกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน

มิเช่นนั้น ความเร่งด่วนอาจเกิดขึ้นหลังผ่านการนองเลือดและความบอบช้ำมากขึ้นแทน