ธวัชชัย พิณะพงษ์ : สัญวิทยา และการเปิดเผยที่มาแห่งอำนาจ (1) – มองผ่าน “โลกมวยปล้ำ”

บทนำว่าด้วยความเป็นคนดี

การใช้หลักศีลธรรมอันดีเป็นเกราะกำบังของรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร แสดงนัยยะว่าพวกเขากำลังขาดหรือมีปัญหาว่าด้วยความชอบธรรม ตามรูปแบบและแนวทางแห่งประชาธิปไตยอย่างเห็นได้ชัดเจน

พวกเขาไม่สามารถที่จะกล่าวกับประชาชนได้เต็มปากเต็มคำว่าพวกเขามาตามครรลองที่ถูกต้องตามหลักการแห่งกฎหมาย

หรืออาจกล่าวได้ว่า รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารไม่สามารถที่จะอ้างความชอบธรรมใดๆ ตามหลักของกฎหมายและประชาธิปไตยได้

เพราะการเข้าสู่อำนาจของพวกเขานั้น ได้ทำลายหลักดังกล่าวนี้ นับตั้งแต่วินาทีที่พวกเขาฉีกกฎหมาย ยึดสิทธิและเสรีภาพโดยอำนาจปืน

เพราะฉะนั้น สิ่งเดียวที่พวกเขาจะสามารถยึดกุมเป็นหลักชัยได้ก็มีเพียงการอ้างหลักแห่ง “ศีลธรรมความดี” หรือ “ความเป็นคนดี” ซึ่งเป็นเรื่องอันว่าด้วยความเข้าใจภายใต้จิตสำนึกของแต่ละตัวบุคคล

ซึ่งหลักการดังกล่าวนี้มีส่วนทำให้รัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจ เกิดความรู้สึกว่าตนมีความชอบธรรมเพราะเป็นคนดี จนกระทั่งเกิดความรู้สึกกล้าที่จะปกครองหรืออยู่ต่อไปในอำนาจ

เช่นนั้นแล้วในบทความนี้จะเป็นความพยายามที่จะชี้ให้เห็นว่า หลักแห่งศีลธรรมความดีในสังคมไทยเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเรามาก และเป็นสิ่งหนึ่งที่มีผลต่อการตัดสินใจ รวมทั้งเป็นตัวกำหนดความคิดทางการเมืองของผู้คนโดยทั่วไป

ซึ่งในบทความนี้จะทำความเข้าใจผ่านแนวคิดแบบสัญวิทยา และแน่นอนว่าในอีกแง่หนึ่งนั้น มันก็คือการหันกลับไปทบทวนเกี่ยวกับศีลธรรมอันดีของสังคม

การสร้างระบบการเมืองที่ดีขึ้นมาควบคู่กันกับคนดี ในแง่มุมนี้มันก็คือการไม่ถ่วงดุลอำนาจของความเป็นคนดี ที่อาจเข้าครอบงำระบบการเมืองได้ตลอดเวลา

และที่สำคัญ หากพิจารณาให้ดีจะพบว่า ความเป็นคนดีที่ถูกกล่าวถึงนี้ แท้ที่จริงแล้วก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นผ่านขั้นตอนหรือกระบวนการจากอำนาจของรัฐ

 

Ferdinand de Saussure และสัญวิทยา

ภาษามีความเกี่ยวเนื่องและยึดโยงกับการเมืองอย่างเหนียวแน่น

ซึ่งในบางครั้งต่างฝ่ายต่างขยายความซึ่งกันและกัน หรืออาจกล่าวได้ว่า ภาษาคือการเมืองและการเมืองคือภาษา

แต่ที่ผ่านมาในแวดวงการเมืองไทยเราแทบจะไม่ปล่อยให้ภาษากลายเป็นพื้นที่ในการวิเคราะห์ที่มาของอำนาจ หรือในอีกมิติหนึ่ง ภาษาไม่ได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการทำความเข้าใจการเมือง

การใช้ภาษาเป็นเครื่องมืออาจทำให้เรารับรู้เหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้น ในรูปแบบที่แปลกและแตกต่างออกไป

ดังที่ครั้งหนึ่ง St.Augustine นักคิดของฝ่ายคริสต์ศาสนา ได้กล่าวเกี่ยวกับสัญญะไว้ว่า “สัญญะ คือบางสิ่งซึ่งนอกเหนือจากตัวเนื้อหาที่สัมผัสได้โดยผัสสะ (Senses) แล้วยังเกิดการระลึกถึงสิ่งอื่นขึ้นในจิตใจเราด้วย”

สัญศาสตร์มีต้นกำเนิดมาจากผลงานของนักภาษาศาสตร์ชาวสวิส นามว่า “Ferdinand de Saussure” (มีชีวิตอยู่ในช่วงปี 1857-1912)

ในหนังสือรวบรวมคำบรรยายด้านภาษาศาสตร์ที่มีชื่อว่า “Cours de linguistique générale” หนังสือดังกล่าวเป็นหนังสือได้รับการรวบรวมขึ้นมาภายหลัง (was subsequently compiled) จากการเสียชีวิตของ Saussure ซึ่งมีทั้งจากคำบรรยายโดยการจดบันทึกของนักเรียนของเขา และจากการจดบันทึกของตัว Saussure เอง (several of Saussure”s students from his lecture notes.)

ผลงานของเขาได้สร้างความเปลี่ยนแปลงในหลายๆ แวดวงของวิชาการ โดยเฉพาะวิชาปรัชญา

สำหรับ Ferdinand de Saussure ภาษาคือสิ่งที่ใช้ในการเข้าถึงสิ่งต่างๆ ของมนุษย์ ดังนั้น เขาจึงให้ความเห็นเกี่ยวกับภาษาไว้ว่า

“ภาษาคือระบบหนึ่งๆ ของเครื่องหมายที่แสดงความคิดต่างๆ และเช่นนั้น ภาษาจึงพอที่จะเทียบเคียงกับระบบการเขียนหนึ่งๆ ตัวอักษรของคนหูหนวก สัญลักษณ์ทางพิธีกรรม มาตรฐานความสุภาพ สัญญาณทางทหาร เป็นต้น แต่ทว่ามันเป็นสิ่งที่สำคัญกว่าระบบเหล่านี้ทั้งหมด”

หรือกล่าวอย่างง่ายๆ ที่สุด ในการทำความเข้าใจคือ ภาษาก็คือระบบของเครื่องหมาย แต่เป็นระบบเครื่องหมายที่สำคัญกว่าระบบเครื่องหมายอื่นๆ ทั้งปวง

การที่เราจะเข้าใจแนวคิดที่ว่าด้วยสัญศาสตร์ของ Ferdinand de Saussure เราต้องทำความเข้าใจความหมายของสามคำดังต่อไปนี้คือ “Sign = Signifier + Signified.”

Sign คือเครื่องหมายหนึ่งๆ ที่ดำรงอยู่เพื่อวัตถุหนึ่งๆ ในโลกทางวัตถุ (A sign stands for an object in the material world) ดังนั้น Sign หรือเครื่องหมาย คือ เอกสัมพันธ์หนึ่ง และเป็นสิ่งที่ถูกสร้างประกอบขึ้นของสองส่วน (the sign itself is a relational entity, a composite of two parts.) อันได้แก่ “รูปสัญญะ (the signifier)” และ “ความหมายสัญญะ (the signified)”

“รูปสัญญะ (signifier)” จะอ้างถึงรูปแบบความหมายหนึ่งๆ (refers to a meaningful form.) แต่ในขณะที่ “ความหมายสัญญะ (signified)” จะกำหนดมโนทัศน์อันเป็นสิ่งที่รูปแบบจะทำให้เกิดขึ้น (designates the concept which that form evokes.)

หรือกล่าวอย่างง่ายคือ “ภายในของระบบภาษา รูปสัญญะจะเป็นสิ่งที่ Saussure เรียกว่า “เสียงของภาพ”

นั่นคือ ภาพของสิ่งสิ่งหนึ่งของบรรดาเสียงเหล่านั้น อันเป็นสิ่งที่เรากำหนดรูปทรงหรือรูปร่างภายในจิตของเราเมื่อเราคิด ส่วนความหมายของรูปสัญญะนั้นจะเป็นความหมายสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ “เสียงของภาพ” นั้นจะทำให้เกิดขึ้น”

ดังนั้น ศูนย์กลางของความเข้าใจเครื่องหมายทางภาษาของ Saussure นั้น มันจึงเป็นลักษณะของธรรมชาติที่พลการของสิ่งที่ผูกมัดกันระหว่าง “รูปสัญญะ” และ “ความหมายสัญญะ” (Central to Saussure”s understanding of the linguistic sign is the arbitrary nature of the bond between signifier and signified)

อย่างไรก็ตาม มโนทัศน์นี้เป็นสิ่งที่เปิดให้วิพากษ์ในประเด็นที่หลากหลาย และมักที่จะสมมุติฐานกันว่าความคิดที่พร้อมกระทำได้ดำรงอยู่ก่อนหน้าคำพูด และที่สำคัญ ในทัศนคติของ Saussure “ความสามารถของภาษา มันจะได้รับการกล่าวถึงราวกับว่ามันได้ปรากฏต่อเราเสมือนความสามารถที่ถูกรับมอบโดยธรรมชาติ แต่ตรงกันข้าม ภาษาเป็นบางสิ่งได้มาตามแบบแผนทางสังคม มันไม่สามารถที่จะรับเอาสถานะที่สูงส่งเหนือปรากฏการณ์ทางธรรมชาติและสัญชาตญาณทางธรรมชาติได้”

งานเขียนของ Saussure จึงเป็นงานปรัชญาที่มีสถานะในการลดทอนความจริงของปรัชญาสำนักอื่นๆ ให้เหลือเพียงแค่วาทกรรมของอำนาจ

นอกจากนี้ งานเขียนของเขายังส่งผลต่อนักปรัชญาในยุคต่อมา เช่น เมอร์ลัว ปอร์ตี้ (Merleau-Ponty) เลวี่ สโทรส (Levi-Strauss) เฮนรี่ เลฟเบร (Henri Lefebvre) โลลองด์ บาร์ตส์ (Roland Barthes) ลากอง (Lacan) และรวมทั้งมิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault) ด้วย

จนในบางครั้งมีผู้กล่าวกันว่า ผลงานของ Saussure เป็นการปูทางให้กับนักคิดยุคต่อมา โดยเฉพาะกลุ่มหลังโครงสร้างนิยม (post-structuralism) และหลังสมัยนิยม (post-modernism)

 

ในมายาคติของ Roland Barthes

แน่นอนว่าการศึกษามายาคติของ Roland Barthes ก็ได้รับอิทธิพลทางความคิดมาจาก Ferdinand de Saussure อย่างเลี่ยงไม่ได้

แต่ทว่า Barthes สนใจกลับไม่ใช่เพียงกรอบเดิมของสัญศาสตร์แบบ Saussure

แต่เป็นความผิดพลาดและความคลาดเคลื่อนของการสื่อสาร

ไม่ว่าจะเป็นความจงใจทำให้เกิดหรือไม่ก็ตาม หรือที่เรียกกันว่า “มายาคติ (Mythologies)”

หากเราพิจารณาให้ดีว่าในการสื่อสารของมนุษย์นั้น สิ่งที่กำหนดความเข้าใจในการสื่อสารไม่ใช่เพียงระบบสัญลักษณ์ของภาษา อันประกอบไปด้วย “รูปสัญญะ” และ “ความหมายสัญญะ” เท่านั้น

ดังที่ Saussure อธิบายไว้ หากแต่ยังขึ้นอยู่ที่ตัวผู้สื่อสาร บริบทของการสื่อสาร เวลา สถานที่อีกด้วย ลักษณะของภาษาเป็นสิ่งที่สังคมหนึ่งๆ สั่งสมประสบการณ์มา

เพราะฉะนั้น ภาษาจึงมีลักษณะที่ลดทอนภาพความเป็นจริงของมันภายในตัว

ดังนั้น Barthes จึงได้อธิบายมายาคติของภาษาไว้ในเชิงที่ว่า ทุกความหมาย ภาพความเป็นจริงต่างๆ มันได้ถูกทอนลงเป็นแค่เพียงสัญลักษณ์ ซึ่งในงานที่มีชื่อว่า “Elements of Semiology” Roland Barthes อธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า

“ตราบใดที่มีสังคมหนึ่งๆ ทุกๆ การใช้งานจะถูกจำแลงให้อยู่ในรูปสัญลักษณ์หนึ่ง (As soon as there is a society, every usage is converted into a sign of itself.)”

Barthes สนใจในเรื่อง “มายาคติ” อันเกิดจากความตั้งใจบิดเบือนหรือเกิดจากความผิดพลาดในการสื่อสาร

ดังนั้น ในเดือนตุลาคมปี 1952 เขาตีพิมพ์บทความในทางการศึกษาดังกล่าว หรือที่เราได้รู้จักในชื่อว่า “Le monde où l’on catche (โลกของมวยปล้ำ)” ที่ได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสาร “Esprit”

บทความดังกล่าวสร้างความตื่นตะลึงให้กับวงวิชาการฝรั่งเศส และรวมทั้งระดับโลกในเวลาต่อมาด้วยเป็นอย่างมาก

บทความดังกล่าวเป็นความพยายามในการศึกษาวิเคราะห์มายาคติที่มีในระดับทั่วไปของสังคมฝรั่งเศส

ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกปกปิดและไม่ปรากฏว่าเป็นสิ่งมีความสัมพันธ์กับอำนาจแต่อย่างไร

ตามความเข้าใจของเราๆ ท่านๆ มวยปล้ำที่เรารับชมผ่านทางรายการทีวี คือเกมกีฬาการแข่งขันประเภทหนึ่ง

แต่สำหรับ Barthes มวยปล้ำสื่อความทางสัญญะได้มากกว่านั่น

มวยปล้ำมีหัวใจที่สำคัญๆ ที่ไม่แตกต่างไปจากการแสดงละครเวทีในยุคกรีกและยุคโรมัน

อันที่จริงเราสามารถแยกแยะระหว่างกีฬาออกจากการแสดงได้อย่างง่ายๆ ผ่านช่องทางที่ว่า หากเราพิจารณาการแข่งขันอย่างจริงๆ จังๆ เราจะพบว่าการแข่งขันเป็นการต่อสู้ภายใต้กฎที่เคร่งครัด เอาจริงเอาจัง

แต่ในทางตรงกันข้าม เราจะพบว่ามวยปล้ำมีการกระทำที่นอกเหนือจากกติกา

บ่อยครั้งที่เราจะเห็นผู้แข่งขันละเมิดกติกา

นั่นคือการที่ผู้เข้าแข่งขันบางคนแอบย่องไปทุบด้านหลังของอีกฝ่ายโดยที่อีกฝ่ายไม่รู้ตัวในช่วงพักยก

การใช้เก้าอี้เป็นอาวุธในการทำร้ายคู่ตรงข้าม

หรือมากกว่านั้นเราอาจเห็นการกระทำนักกีฬาบางคนถึงกับชกตรงไปที่กรรมการซึ่งเป็นสัญลักษณ์ว่าไม่เคารพกฎกติกา

ด้วยเหตุนี้เราจึงพอพูดอย่างหยาบๆ ได้ว่ามวยปล้ำเป็นการแสดงมากกว่าการแข่งขันแบบกีฬา

การแข่งขันในแต่ละครั้งหากพิจารณาอย่างถี่ถ้วน จะเห็นมีการจัดวางสัญญะผ่านตัวผู้แข่งขันเพื่อเป็นการสื่อสารความหมายให้ยึดโยงกับการให้คุณค่าต่อสิ่งต่างๆ ของสังคม อันได้แก่ การให้คุณค่าว่าด้วยเรื่องคุณธรรมความดี-ชั่ว

หรือกล่าวอย่างง่ายๆ นั่นก็คือ คุณค่าที่ว่าด้วยความดีและความชั่วถูกจัดวางผ่านตัวผู้แข่งขัน

นับตั้งแต่รูปร่าง ท่าทาง การแต่งกาย หรือแม้กระทั่งเพลงในขณะผู้แข่งขันกำลังจะขึ้นเวที

Barthes ตั้งข้อสังเกตประการหนึ่งเกี่ยวกับมวยปล้ำในสังคมฝรั่งเศส พบว่ามีลักษณะในการให้คุณค่าคุณธรรมว่าด้วยความดีและความชั่วผ่านตัวผู้แข่งขันอย่างเข้มข้น การใช้รูปร่างของนักมวยปล้ำที่มีลักษณะน่าเกลียดน่ากลัว การใช้ท่าทางที่อวดเบ่ง การแสดงความเย่อหยิ่งอย่างทระนง การแสดงนิสัยที่ไม่เคารพกฎในการแข่งขัน สิ่งเหล่านี้นับว่าเป็นสิ่งที่ยึดโยงกับระบบคุณค่าว่าด้วยเรื่องดี-ชั่วอย่างเหนียวแน่น ยิ่งนักมวยปล้ำคนใดสร้างอารมณ์อันเกลียดชังของผู้ชมได้สูงเท่าไร นักมวยปล้ำคนนั้นจะได้รับความสนใจจากผู้ชมมากเท่านั้น

การแสดงพฤติกรรมที่ไม่เคารพกฎกติกาในสถานการณ์ของการแข่งในช่วงที่เสียเปรียบ หรือในทางตรงกันข้าม ผู้แข่งขันบางคนกลับแสดงการกระทำที่เป็นการเคารพกฎเมื่อสถานการณ์ได้เปรียบนั้น

นั่นเท่ากับว่ากำลังเป็นการสื่อความหมายว่า มีผู้ที่พร้อมจะเคารพกฎหมาย ตราบใดที่กฎหมายยังคงเอื้อประโยชน์ให้ตนเองและพรรคพวก

แต่ในทางกลับกันนั้น เขาก็พร้อมที่จะไม่ปฏิบัติถ้าหากกฎหมายไม่เอื้อต่อประโยชน์ของเขา

ในสังคมสหรัฐอเมริกา ระบบการให้คุณค่าว่าด้วยเรื่องของมวยปล้ำมีการผูกติดยึดแน่นกับอุดมการณ์ทางการเมือง

ผู้ที่เป็นตัวร้ายในระบบสัญญะของมวยปล้ำในสหรัฐมักเป็นผู้ที่มีลักษณะเข้มขรึม น่าเกรงขาม อันสื่อถึงอำนาจ หรือบางครั้งไว้หนวดคล้ายกับฮิตเลอร์และสตาลิน ซึ่งเป็นการสื่อผ่านไปถึงผู้นำในโลกเผด็จการ ที่มีพื้นฐานทางอำนาจจากความน่าเกรงขาม การใช้อำนาจอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

นอกจากนี้ Barthes ยังเห็นพฤติกรรมหนึ่งที่ปรากฏอย่างชัดเจนจากฉากแห่งการแข่งขันนี้ นั่นคือการแสดงอารมณ์ที่ล้นเกินกว่าเหตุ

ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับละครเวทีในยุคกรีกและโรมัน นั่นคือการแสดงเพื่อบ่งบอกความรู้ผ่านการแสดงสีหน้าและท่าทางที่มีอารมณ์แบบล้นเกิน หรือมากกว่าบทที่พูด

ความเจ็บปวดจากการต่อสู้ที่แสดงออกมาอย่างมากเกินนั้นเป็นการแสดงให้เห็นว่าสังคมฝรั่งเศสกำลังต้องการความชัดเจน การตัดผ่านที่เป็นรูปธรรมมากกว่านามธรรม

ซึ่งในอีกมิติหนึ่งนั้น มันกำลังบอกว่า ผู้คนกำลังต้องการความชัดเจน ความชัดเจนเป็นสิ่งที่หาได้ยากขึ้นในการใช้ชีวิตในสังคมทุนนิยมฝรั่งเศส

ดังนั้น ชาวฝรั่งเศสส่วนใหญ่จึงต้องการความแน่นอนในการแสดงออก เพื่อใช้ในการแบ่งสิ่งต่างๆ ทางสังคม

บทความของ Barthes ชิ้นนี้สร้างคุณูปการทางวิชาการให้แก่โลกวิชาการไม่น้อย อย่างน้อยก็เป็นการตั้งคำถามกับสิ่งที่เป็นอยู่รอบข้าง ซึ่งไม่เคยเป็นเป้าในการวิเคราะห์เรื่องอำนาจ จากสิ่งที่เคยมองว่าปราศจากอำนาจ ไร้พิษภัย

และแท้ที่จริงแล้วมันทำหน้าที่ของมันได้อย่างลงตัวในการค้ำจุนระบบทุนนิยม ดังนั้น สิ่งที่ดูไร้เดียงสาจึงไม่ใสดังแก้วอีกต่อไป

 

ระบบคุณค่าของ

Political morality ในสังคมไทย

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราไม่อาจปฏิเสธได้จากการศึกษาความเป็นมายาคติ (Mythology) ของ Barthes ในบทความเรื่อง “Le monde o? l”on catche (โลกของมวยปล้ำ)” คือ สิ่งที่เป็นจุดตัดผ่านของระบบคุณธรรมว่าด้วยเรื่องดี-ชั่ว

กล่าวคือ ผู้เขียนเห็นว่ามีจุดร่วมหลายประการในสังคมไทยที่ถูกอธิบายผ่านบทความดังกล่าว ถึงแม้ว่าบทความดังกล่าวจะมุ่งเป้าของการวิเคราะห์ไปที่สังคมวัฒนธรรมของชนชั้นกลางฝรั่งเศส

เช่นนั้นแล้ว ในหัวประเด็นนี้จะเป็นการนำเอาจุดร่วมดังกล่าวมาเป็นกรอบในการวิเคราะห์สังคมไทย นั่นคือ “ละครหลังข่าว” หรือ “ละครน้ำเน่า (soap opera)” เพื่อที่จะอธิบายว่าสิ่งดังกล่าวทำงานอย่างไร และมันถูกจัดวางอย่างไร มันเชื่อมโยงว่าด้วยเรื่องอำนาจรัฐสมัยอย่างไร อันจะนำเราไปสู่คำถามที่ว่า สังคมไทยเราต้องการ “ระบบการเมืองที่ดี” หรือ “คนดี” (good system or good man one?)

คำว่า “good governance” เป็นคำในภาษาอังกฤษซึ่งในสังคมไทยเรามีการแปลคำนี้ออกเป็นสองความหมายที่ถูกใช้อย่างกว้างขวางในสังคมไทย โดยเฉพาะในวงวิชาการไทยคือ “การบริหารจัดการที่ดี” และ “ธรรมาภิบาลในการบริหาร”

ในบทความนี้ผู้เขียนจะไม่ชี้ขาดหรือไม่ตัดสินว่าคำไหนเป็นการแปลที่ถูกต้องและเหมาะสม หรือดีกว่า

แต่ผู้เขียนขออธิบายว่ามันทำงานอย่างไร และให้ความรู้สึกในมิติของอำนาจทางภาษาอย่างไร

การแปลคำว่า “good governance” ให้ตรงกับคำในภาษาว่า “การบริหารจัดการที่ดี” คำดังกล่าวมีความหมายที่ผูกติดเชื่อมโยงกับตัวระบบอย่างชัดเจน มองตัวระบบเป็นหลักในการบริหาร กล่าวคือ ระบบดีย่อมนำไปสู่ประสิทธิภาพที่ดีในการบริหารจัดการ

ส่วนคำถัดมาคือ “ธรรมาภิบาลในการบริหาร” เป็นคำที่ให้ความรู้และทิศทางของการมีคุณธรรม จริยธรรมที่ดี ที่จะมีส่วนเข้าช่วยในการบริหารจัดการ ศีลธรรมที่ดีอันเกิดจากตัวบุคคลจะทำให้การบริหารมีศักยภาพ ดังนั้น คำหลังนี้จึงเป็นคำที่ยึดติดกับตัวบุคคลเป็นหลักใหญ่

ถ้าหากเราพิจารณาความหมายจากคำแปลอย่างหลังด้วยความถี่ถ้วน เราจะเห็นว่าเป็นการให้ความสำคัญกับความมีคุณธรรมในระดับตัวบุคคล

ดังนั้น เรามักจะพบการใช้หลักการว่าด้วยความเป็นคนดีในการเมืองไทยในทุกยุคทุกสมัย เพราะอย่างคำดังกล่าวก็ทำหน้าที่ให้ความชอบธรรมต่อระบบการเมือง หรือตัวผู้นำหรือผู้ที่กล่าวเสมอ

หรือแม้กระทั่งภายหลังการรัฐประหารครั้งล่าสุดในปี พ.ศ.2557 ทำไมคณะรัฐประหารจึงอ้างความเป็นคนดีมากกว่าความมีระบบการเมืองที่ดี?