ปรีชภักดิ์ ทีคาสุข : ดีลใหม่ของมหาธีร์ ชัยชนะของมาเลเซียต่อทุนจีน… จริงหรือ?

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีการจัดประชุมใหญ่ประจำปีเกี่ยวกับโครงการ Belt and Road Initiative ซึ่งเป็นโครงการการลงทุนครั้งใหญ่จากรัฐบาลประธานาธิบดี Xi Jinping และมีการเชิญชวนผู้นำประเทศจากหลากหลายชาติทั่วโลกเข้าร่วมประชุมเพื่อหารือและเจรจาพูดคุยถึงความคืบหน้าและวิวัฒนาการของโครงการที่จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของประเทศพันธมิตรทั้งหลาย

ซึ่งประเทศไทยนั้นก็เป็นอีกหนึ่งในประเทศผู้เข้าร่วมการประชุม แต่ก็มิวายมีภาพและกระแสแง่ลบออกมาโจมตีรัฐบาลไทยและตัวแทนรัฐบาลอีกเช่นเคย

ต่อกรณีการเสียผลประโยชน์ภายในโครงการลงทุนร่วมกับรัฐบาลจีน

และยังมีกระแสเปรียบเทียบรัฐบาลไทยและรัฐบาลมาเลเซียในการเปิดโต๊ะเจรจาผลประโยชน์แห่งชาติในโครงการลงทุน Belt and Road Initiative ที่กำลังจะลากเส้นทางการขนส่งโลจิสติกส์ขนาดใหญ่ลงมายังไทยและมาเลเซียอีกด้วย

ประเด็นก็คือ ชาวเน็ตบ้านเรามักอวยกันว่านายกรัฐมนตรีมหาธีร์นั้นคือผู้ปลดปล่อยชาวมาเลเซียออกจากทุนผูกขาดอย่างทุนของประธาน Xi Jinping และรัฐบาลจีนที่หวังเข้ามากินรวบโครงการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของมาเลเซียแบบที่เคยทำกับในภูมิภาคแอฟริกาจนเกิดกับดักหนี้ระยะยาว (debt-trap) และต้องกลายเป็นเบี้ยล่างให้แก่รัฐบาลจีนไปในที่สุด

แต่ด้วยเพราะมหาธีร์สามารถบรรลุข้อตกลงชุดใหม่จากการเจรจาครั้งล่าสุดในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาว่าจะให้ทางจีนลดราคาของโปรเจ็กต์การสร้างทางรถไฟดังกล่าวจากชายฝั่งทางตะวันตกเชื่อมไปยังตะวันออก (East Coast Rail Link) ลง 1 ใน 3 (คือจาก 6 หมื่นกว่าล้านริงกิต เหลือประมาณ 4 หมื่นล้านริงกิต)

โดยจะมีการเปลี่ยนแปลงแผนของการลงทุนและลดสเป๊กของโครงการรถไฟลงจากเดิมที่เคยตกลงกันไว้

ชาวเน็ตในไทยเห็นจึงออกอาการชอบอกชอบใจกันยกใหญ่ เห็นว่ามหาธีร์คือผู้ปลดปล่อยแก่ชาวมาเลเซีย และปกป้องผลประโยชน์ของชาติมาเลเซียที่กล้าจะต่อรองและมีอำนาจในการเจรจากับรัฐบาลจีน

 

ผมขออนุญาตตั้งคำถามกลับว่าเขามีอำนาจต่อรองกับจีนมากมายขนาดนั้นจริงๆ

หรือว่าเขามีความจำเป็นต้องสร้าง movement เช่นนั้นเพราะไม่มีทางเลือก

และเป็นฝ่ายจีนต่างหากที่เป็นฝ่ายอ่อนข้อยอมประนีประนอมให้?

ผมบอกได้เลยว่า จริงๆ แล้วมันมีอีกแง่มุมและอีก narrative หนึ่งของประเด็นในครั้งนี้

เราอาจมองได้ว่า Xi Jinping จำเป็นต้องง้อมาเลเซียและรัฐบาลมหาธีร์เพื่อทำให้โครงการลงทุน Belt and Road Initiative ของจีนนั้นดำเนินการต่อไปได้ภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

แต่ในอีกมุมหนึ่งถ้าเกิดมองในภาพที่กว้างกว่านั้น อาจมองได้ว่ามาเลเซียยังคงพึ่งพาจีนเสียเป็นส่วนมากในทางเศรษฐกิจอย่างแยกไม่ขาด

โดยเฉพาะกับในตลาดการค้าส่งออกของมาเลเซียที่จำเป็นต้องส่งสินค้าไปยังจีนและรับเงินจากจีนกว่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

การประกาศจะล้มโครงการการลงทุนที่ไม่เป็นธรรมของจีนในมาเลเซียภายหลังการเลือกตั้งเมื่อปีที่ผ่านมาจึงเป็นเพียงแค่การขู่บลัฟฟ์กันทางการทูต (diplomatic bluffing) ที่มีแต่ผลทางจิตวิทยา

แต่ไม่มีผลเชิงบวกในระยะยาว

เพราะท้ายที่สุดแล้ว มันเป็นเพียงแค่แผนการลีลาถ่วงเวลาและการแสดงความพยายามดิ้นรนเพื่อเสี่ยงหาข้อตกลงที่ดีขึ้น (ไม่มากก็น้อย) ในอนาคตก็เท่านั้น

และหลังจากการประกาศแข็งข้อกับจีนก็ทำให้ตัวเลขการส่งสินค้าออกของมาเลเซียตกลงไปกว่า 5%

ในส่วนของปาล์มน้ำมันและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับปาล์มน้ำมัน น้ำมันดิบ การขนส่งไม้และผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากไม้ รวมถึงยางพารา จากผลของการเล่นเกมจิตวิทยากับรัฐบาลจีน และนอกจากปัจจัยที่เกิดจากการกดดันจากรัฐบาลจีนนี้ เศรษฐกิจของมาเลเซียเองก็กำลังตกอยู่ในสถานการณ์ย่ำแย่ในปัจจุบันเป็นพื้นฐานอยู่แล้วด้วย

ดังนั้น ทำให้กลุ่มทุนและภาคธุรกิจเอกชนต่างๆ ภายในมาเลเซียเองก็เป็นฝ่ายที่เริ่มเรียกร้อง ร้องเรียน เพราะต้องได้รับความเดือดร้อนจากแผนการจะลดปริมาณการลงทุนจากกลุ่มทุนจีนที่เข้ามาในมาเลเซียลง จากท่าทีของมหาธีร์

ทำให้ภาคธุรกิจภายในมาเลเซียมีส่วนร่วมในการกดดันรัฐบาลมาเลเซียให้เปลี่ยนท่าทีและต้องเปิดโต๊ะเจรจาเพื่อดึงทุนจีนกลับเข้ามาสู่สนามเศรษฐกิจมาเลเซียอีกครั้งให้ได้ จากเดิมที่กระแสอาจเคยพุ่งไปถึงขั้นยกเลิกโครงการการลงทุนจากจีนบางส่วน

แต่ทว่าด้วยความเสียหายต่อทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น ทำให้มาเลเซียและภาคธุรกิจภายในมาเลเซียไม่อาจสามารถจะแบกรับภาระทางด้านนี้ได้ไหว

โครงการการลงทุนทางด้านโลจิสติกส์เหล่านี้จึงจำเป็นจะต้องถูกฟื้นขึ้นมาอีกไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

และที่สำคัญที่สุดคือ มันมีประเด็นเรื่องผลของการผิดสัญญาอยู่ ตรงที่ว่าหากรัฐบาลมาเลเซียทิ้งหรือผิดสัญญาจากโครงการ Belt and Road ของจีนนี้ไป มาเลเซียจะต้องแสดงความรับผิดชอบต่อรัฐบาลจีนโดยการจ่ายค่าปรับ (ค่าฉีกสัญญา) ในราคาหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

การประวิงเวลาไปเรื่อยๆ ตามพฤติการณ์ที่มหาเธร์แสดงออกไว้เมื่อปี 2018 จึงเป็นสิ่งที่มีแต่เสียกับเสียต่อตัวมาเลเซียเอง

การกลับออกมาพบกันครึ่งทางและโน้มน้าวให้รัฐบาลจีนกลับมาลงทุนในมาเลเซียมากขึ้นจึงเป็นผลดีในระยะยาวต่อมาเลเซียมากกว่า

ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ ทำให้มหาธีร์จึงจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนมาแสดงออกถึงท่าทีที่เปิดกว้าง ต้อนรับต่อการลงทุนของรัฐบาลและกลุ่มทุนจีนที่กำลังจะเกิดขึ้นในครั้งถัดๆ ไป

ซึ่งมีแผนที่จะเข้ามาลงทุน พัฒนาพื้นที่ภายในมาเลเซียเพิ่มเติมต่อในโครงการ AI Park และการสร้างศูนย์กลางทางด้านเทคโนโลยีให้แก่มาเลเซีย ซึ่งเดิมทีภาคธุรกิจในมาเลเซียเองมีความต้องการทุนจีนในภาคอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในระดับที่สูงขึ้นอยู่แล้ว

เพราะกลุ่มบริษัทด้านเทคโนโลยีของจีนนั้นสามารถจะเข้ามาช่วยพยุงและสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่กลุ่มธุรกิจภายในท้องถิ่นด้านเทคโนโลยี IT และกลุ่มธุรกิจที่มีการดำเนินบนแพลตฟอร์มดิจิตอลเป็นตัวกลางของมาเลเซียได้

โดยภาคธุรกิจของมาเลเซียนั้นเชื่อว่ามาเลเซียมีจุดเด่นทางด้านทรัพยากรและต้นทุนที่ดีซึ่งเหมาะแก่การพัฒนาต่อยอดไปในทางด้านการเป็นศูนย์กลางของเทคโนโลยีระดับภูมิภาค

การดึงทุนจีนในกลุ่มอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีมาร่วมทุนและร่วมพัฒนาเศรษฐกิจมาเลเซียจึงเป็นทางออกและทางเลือกที่สวยงามสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในมาเลเซียเอง

เพราะการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากกลุ่มอุตสาหกรรม IT ของจีนมาสู่มาเลเซียจะช่วยต่ออายุอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของมาเลเซียไปได้ไกลยิ่งขึ้นกว่าเดิม

 

ภายหลังม่านการเจรจาทางการทูตระหว่างจีน-มาเลเซียนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ได้ถูกเปิดเผยทั้งหมด 100% จึงไม่มีใครทราบได้ว่าการเจรจาเพื่อต่อรองลดค่าใช้จ่ายและสัดส่วนความรับผิดชอบของภาคท้องถิ่นมาเลเซียภายในโครงการ East Coast Rail Link (ECRL) ที่มหาธีร์ไปดีลไว้กับ Xi Jinping เมื่อช่วงสงกรานต์นั้นมีข้อตกลงอะไรสอดไส้เข้ามาบ้าง

และมหาธีร์นำข้อเสนอหรือสิ่งใดไปแลกกับ Xi Jinping เพื่อให้ฝ่ายรัฐบาลจีนส่งของขวัญชิ้นใหญ่เป็นการลดค่าใช้จ่ายในโครงการมหาศาลครั้งนี้ได้

หรือข้อเสนอเหล่านั้นอาจเป็นข้อเสนอที่พยายามจะดึงทุนจากจีนกลับเข้ามายังมาเลเซียให้มากขึ้นภายหลังโครงการ ECRL ก็ย่อมเป็นไปได้

เราต้องลองมองในหลายๆ กรอบ หลายๆ ด้าน เพราะในภาพแนวขวางที่กว้างขึ้นมานั้น มาเลเซียยังคงต้องการพึ่งพาจีนมากกว่าที่จีนจำเป็นจะต้องพึ่งพามาเลเซีย

แม้ว่าจีนเองจะมองว่ามาเลเซียคือจุดหักเหสำคัญในการแก้เกมทางภูมิรัฐศาสตร์การค้าการเดินเรือของจีนที่มีต่อสหรัฐอเมริกาก็ตาม

แต่ถ้าเทียบกันในเชิงสมการของเศรษฐกิจแล้วมาเลเซียมีโอกาสให้เสียในเกมการต่อรองชุดนี้มากกว่าที่จีนจะเสียให้มาเลเซีย

และแม้ว่าสถานการณ์บนพื้นผิวอาจจะกำลังชี้ให้พวกเราเห็นว่าจีนต้องยอมอ่อนข้อให้แก่ท่าทีอันแข็งกร้าวของนายกรัฐมนตรีมหาธีร์ที่พยายามก่อกระแสต้านทุนจีนภายในมาเลเซีย

แต่ภายในเบื้องลึกหลังม่านการทูตและโต๊ะเจรจาของทั้งสองฝ่ายแล้ว มันเป็นไปได้ยากเอามากๆ ที่จะสามารถตั้งแง่สรุปได้ว่าดีลครั้งนี้คือชัยชนะของมหาธีร์และชาวมาเลเซีย

เพราะเราไม่รู้ว่าสิ่งที่มหาธีร์นำไปแลกกับ Xi Jinping บนโต๊ะเจรจานั้นคืออะไร

และจะมีสิ่งใดแอบแฝงแลกเปลี่ยนแถมมากับดีลใหญ่ครั้งนี้หรือไม่

สถานการณ์ทุนจีนภายในมาเลเซียจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องถูกจับตามองให้ใกล้ชิดมากขึ้น