ชาคริต แก้วทันคำ : เมย์เดย์-เมย์เดย์ สิทธิมนุษยชนของแรงงานต่างด้าว

แรงงานข้ามชาติ หรือแรงงานต่างด้าว เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่พบได้ทั่วโลกตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

การเติบโตทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้ทุกสังคมเกิดการเคลื่อนย้ายของผู้คน ทุน และสินค้าที่เสรีมากขึ้น

แรงงานข้ามชาติจึงเป็นผลผลิตของระบบเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นการเติบโตจนละเลยคุณค่าความเป็นมนุษย์

การอพยพข้ามถิ่นฐานเข้ามาทำงานของแรงงานข้ามชาติ มีทั้งเข้ามาอย่างถูกกฎหมาย ผิดกฎหมาย

และลักลอบหลบหนีเข้ามา โดยการอพยพของแรงงานข้ามชาติเข้าสู่ประเทศไทยมี 2 ปัจจัยหลักคือ ปัจจัยที่เป็นแรงผลักดัน (Push Effect) ได้แก่ ปัญหาการว่างงานจากความยากจนหรือความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ความไม่สงบทางการเมืองหรือสงคราม ความด้อยโอกาสทางการศึกษา

และปัจจัยที่เป็นแรงดึงดูด (Pull Effect) ได้แก่ นโยบายการจ้างแรงงานและสถานภาพทางเศรษฐกิจของประเทศไทย

บทความนี้จะศึกษาเรื่องสั้น “ชั้นต่ำ” ของทรงวุฒิ อินเรือง ตีพิมพ์ในเล่ม คนธรรพ์ รวมเรื่องสั้นรางวัลกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ปี 2562

โดยจะวิเคราะห์การละเมิดสิทธิมนุษยชนของแรงงานต่างด้าว และความหมายของคำว่า “ชั้นต่ำ” ในโอกาสวันเมย์เดย์ แรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคม

 

เรื่องสั้น “ชั้นต่ำ” ของทรงวุฒิ อินเรือง ให้สรรพนามบุรุษที่สาม เป็นผู้เล่าเรื่องเสมือนมีตัวตน (Personal Narrator) แบบผู้รู้ (Omniscient) ที่คล้ายกับผู้เล่าเรื่องแบบผู้ประพันธ์ คือ แสดงความเห็น ตีความ วิจารณ์ สามารถถ่ายทอดอดีต ปัจจุบันและอนาคตของตัวละครได้

ส่วนที่ต่างคือ ผู้เล่าเรื่องประเภทนี้จะไม่เรียกตัวเองว่า “ข้าพเจ้า” หรือ “ผู้เขียน” แต่จะเป็นเพียง “เสียงบนหน้ากระดาษ” ที่ถ่ายทอดเรื่องราวและเหตุการณ์ต่างๆ ผ่านการกระทำ คำพูดหรือความคิดของตัวละครที่ถูกกล่าวถึง

สารวัตรชัยณรงค์กำลังวิ่งเต้นเรื่องโยกย้ายตำแหน่งเพื่อความสุขสบายของครอบครัว

ระหว่างนั้นก็ติดตามข่าวสารการลักลอบหลบหนีเข้าเมืองที่นำไปสู่การสืบเสาะคดี สะสางปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นประเด็นเร่งด่วนให้ต้องแก้ไข โดยเขานำกำลังบุกจับร้านคาราโอเกะและพบสาวน้อยดึงเสื้อสายเดี่ยวเผยหน้าอกชูชัน แล้วถาม “พี่ไปเอากับหนูไหมล่ะ ไม่แพงหรอก เดี๋ยวจัดให้พิเศษ”

ในขณะที่ปัญหาเรื่องงานรุมเร้า ปัญหาครอบครัวก็เกิดขึ้นไม่หยุดหย่อน ทั้งลูกชายย้ายโรงเรียน ไร้เพื่อนคบหา แม่บ้านออกจากงานกะทันหันหลังจากเรียกร้องเงินเดือนตามค่าแรงขั้นต่ำและประกันสังคม

จนสารวัตรชัยณรงค์ต้องหาคนใช้ใหม่ คราวนี้ได้ทั้งหญิงสาวต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมืองพร้อมสามี แต่ถูกจับแยก สามีต้องลงไปทำงานกับเรือประมงอย่างไม่รู้ชะตากรรม และคนงานชายที่ลูกน้องมอบให้ มันหลบหนีเข้าเมืองจากภัยสงคราม โดยคนใช้ทั้งสองต้องทำงานบ้านงานสวนแลกค่าแรงแสนถูก

นอกจากนี้ยังต้องเลี้ยงหมากับแมวของลูกๆ สารวัตรชัยณรงค์อีกด้วย

 

การละเมิดสิทธิมนุษยชน
ของแรงงานต่างด้าว

สิทธิมนุษยชน (Human Right) หมายถึง สิทธิความเป็นมนุษย์ อันเป็นสิทธิตามธรรมชาติของทุกคนที่เกิดมา ไม่สามารถโอนให้แก่กันได้ และไม่มีบุคคลใด องค์กร หรือแม้แต่รัฐจะสามารถล่วงละเมิดได้

สิทธิในความเป็นมนุษย์จึงเป็นของคนทุกคน ไม่เลือกเชื้อชาติ แหล่งกำเนิด เพศ อายุ สีผิวที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะยากดีมีจนหรือเป็นคนพิการก็ตาม

สิทธิมนุษยชนไม่มีพรมแดน การกระทำใดก็ตามที่มนุษย์ปฏิบัติต่อกันอย่างดูหมิ่น เหยียดหยาม กดขี่ข่มเหงโดยไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรี ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

“เริ่มแรกภรรยาของเขาไม่พอใจนัก ไม่รู้ว่าจะจ้างคนมาเพิ่มให้สิ้นเปลืองอีกทำไม แต่เมื่อรู้ราคาค่าแรง เธอก็หัวเราะออกมาเสียงดัง จ้างคนใช้ใหม่ทีเดียวสองคนค่าแรงยังน้อยกว่าคนใช้เชื้อชาติเดียวกันคนเก่าเสียอีก เธอพูดคุยกับพวกมันไม่รู้เรื่องนัก แต่พวกมันก็รู้ว่าเธอสั่งงานอะไร เธอตั้งชื่อให้พวกมันใหม่เพื่อจะเรียกได้ง่ายขึ้น ผู้หญิงให้ชื่อว่าอีเปื่อย ส่วนผู้ชายเรียกว่าไอ้ปลวก” (น.116)

ข้อความข้างต้น หลังแม่บ้านคนเก่าออกกะทันหัน สารวัตรชัยณรงค์จึงหาแม่บ้านคนใหม่มาทำงานแทน และคราวนี้รับถึงสองคน สร้างความไม่พอใจให้กับภรรยา แต่ “เธอก็หัวเราะออกมาเสียงดัง จ้างคนใช้ใหม่ทีเดียวสองคนค่าแรงยังน้อยกว่าคนใช้เชื้อชาติเดียวกันคนเก่าเสียอีก” เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยการเอาเปรียบแรงงานต่างด้าวด้วยการขูดรีดค่าแรง ทั้งๆ ที่สารวัตรชัยณรงค์เป็นเจ้าหน้าที่รัฐผู้ใช้กฎหมาย แต่ยังกดขี่แรงงานต่างด้าว และไม่สนใจจะปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน

นอกจากงานบ้าน งานสวนที่ไอ้ปลวกกับอีเปื่อยต้องทำในแต่ละวันแล้ว พวกมันต้องเลี้ยงแมวกับหมาของลูกๆ สารวัตรชัยณรงค์ โดยทั้งสองคนต้องนำกรงสัตว์เลี้ยงเข้าไปดูแลในห้องพักด้วย

“เกิดความสับสนขึ้นเมื่อหมา-แมวและคนใช้มีชื่อเรียกเหมือนกัน แต่ทั้งคุณท่าน คุณนาย คุณชายและคุณหญิงมองเป็นเรื่องตลกขบขัน มีเพียงคนใช้ทั้งสองที่สับสนจนหัวหมุน ไม่รู้ว่าเรียกหมา-แมวหรือคนกันแน่” (น.124)

ข้อความข้างต้น ลูกชายกับลูกสาวสารวัตรชัยณรงค์ตั้งชื่อหมา-แมวเหมือนชื่อเรียกแรงงานต่างด้าว ที่สมาชิกในบ้านมองเป็นเรื่องตลกขบขัน

นอกจากจะเป็นเป็นการแบ่งชั้นอย่างเห็นได้ชัดจากการเรียกสมาชิกในครอบครัวสารวัตรชัยณรงค์ว่า “คุณ” นำหน้าแล้ว

การตั้งชื่อคนใช้ด้วยชื่อเรียกสัตว์หรือต้องนำกรงหมา-แมวเข้าไปเลี้ยงในห้องพัก ยังเป็นการดูหมิ่นหรือเปรียบคนเป็นสัตว์ ซึ่งเป็นการเหยียดหยามความเป็นมนุษย์ของแรงงานต่างด้าวให้มีคุณค่าตกต่ำเช่นเดียวกับสัตว์

หลังเปิดเทอมใหญ่ คุณนายขับรถไปส่งคุณหญิงที่มหาวิทยาลัยและถือโอกาสพาคุณชายไปเปิดหูเปิดตาด้วย

ส่วนสารวัตรชัยณรงค์ต้องเดินทางไปประชุมวางแผนกวาดล้างขบวนการค้ามนุษย์ มันเป็นเรื่องเร่งด่วน กวาดล้างเท่าไรก็ไม่มีวันหมดจากแผ่นดิน จนผู้การต้องลงมาด้วยตนเอง สร้างความเคร่งเครียดให้กับสารวัตรชัยณรงค์ เพราะปัญหาการค้ามนุษย์ส่งผลต่อความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน

สารวัตรชัยณรงค์กลับบ้านพร้อมเหล้านอกชั้นดี มีอีเปื่อยคอยชงเหล้าให้ ระหว่างขบคิดเรื่องงานว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไร ภาพสาวน้อยดึงเสื้อสายเดี่ยวเผยอกชูชัน “พี่ไปเอากับหนูไหมล่ะ ไม่แพงหรอก เดี๋ยวจัดให้พิเศษ” ผุดขึ้นในหัวสลับภาพอีเปื่อยคลานเข้ามาชงเหล้า เขาจึงข่มขืนมัน

“ทำไมอีเปื่อยถึงทำให้กระชุ่มกระชวยได้ถึงเพียงนี้… ถึงอย่างนั้นมันก็ไม่ควรจะเป็นอีเปื่อย อีสารเลวชั้นต่ำ แต่รสสวาทของมันก็ถึงใจได้ที่ ไม่ต้องอ่อนโยนใดๆ อยากทำอะไรได้ทั้งนั้น เขาเป็นเจ้าชีวิตของมัน” (น.130)

ข้อความข้างต้น หลังใช้ให้แรงงานต่างด้าวทำงานหนักและขูดรีดค่าแรงแล้ว การตั้งชื่อเรียกหมา-แมวชื่อเดียวกับคนใช้ที่เป็นการเปรียบเทียบคนไม่ต่างจากสัตว์ และสร้างความตลกขบขันให้สมาชิกในครอบครัวจนกลายเป็นที่มา “ไม่ต้องอ่อนโยนใดๆ อยากทำอะไรก็ได้ทั้งนั้น”

การที่สารวัตรชัยณรงค์ข่มขืนอีเปื่อย เป็นการล่วงละเมิดทางเพศ โดยที่อีเปื่อยไม่อาจต่อสู้ขัดขืนใดๆ ได้

ยิ่งเมื่อเขาคิดว่า “เป็นเจ้าชีวิตของมัน” ด้วยแล้ว กลับตอกย้ำการกดขี่ข่มเหงและเหยียดหยามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างชัดแจ้ง โดยไม่ให้ความสำคัญหรือเคารพแรงงานต่างด้าวในฐานะ “คน” กับการต้องอยู่ภายใต้ภาวะการถูกกดทับ

 

ความหมายของคำว่า “ชั้นต่ำ”

ผู้เขียนตั้งชื่อเรื่องสั้นว่า “ชั้นต่ำ” ซึ่งแฝงความหมายให้ตีความได้ไม่ยาก ในเบื้องแรก สารวัตรชัยณรงค์และครอบครัวกับแรงงานต่างด้าวอยู่คนละชนชั้น แบ่งแยกฐานะจ้านาย-ลูกจ้างอย่างชัดเจน อีกทั้งสถานภาพของแรงงานต่างด้าวยังถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะเป็นการถูกใช้ให้ทำงานหนัก การจำกัดพื้นที่ การขูดรีดค่าแรง การละเมิดทางเพศอีเปื่อย แสดงให้เห็นคุณค่าของความเป็นคนที่แตกต่าง และมองว่าพวกเขาเป็นคนอื่นด้วยอคติทางชาติพันธุ์ หรือมองว่า “พวกมันไม่ใช่คน”

หลังสารวัตรชัยณรงค์ข่มขืนอีเปื่อยแล้ว วันต่อมาเขาขับรถไปประชุม พอเลิกงานก็ขับรถแล่นไปตามถนน แวะปั๊มน้ำมันเพื่อเปลี่ยนเสื้อผ้าพรางตัวก่อนจะเข้าร้านอาบอบนวด

“เมื่อก้าวเท้าผ่านประตูเข้าไป ทอดสายตาไปที่ตู้กระจกเห็นสาวน้อยสาวใหญ่แต่งตัววับๆ แวมๆ นั่งอยู่สามสิบกว่าคน เขายิ้ม รู้สึกกระชุ่มกระชวยขึ้นมาทันที หันไปมองกลุ่มคนที่กำลังนั่งดื่มอยู่หน้าตู้แล้วต้องยืนตัวเกร็ง พยายามเพ่งมองให้แน่ใจ นั่นท่านผู้การกับพวกองค์กรสิทธิมนุษยชนที่มาร่วมประชุม” (น.131)

ข้อความข้างต้น สร้างความตกตะลึงให้กับสารวัตรชัยณรงค์ไม่น้อย เพราะนอกจากใจที่ตกต่ำของเขาที่ข่มขืนอีเปื่อยแล้ว สารวัตรชัยณรงค์ยังเห็น “ท่านผู้การกับพวกองค์กรสิทธิมนุษยชนที่มาร่วมประชุม” ที่ร้านอาบอบนวด จึงเป็นเรื่องน่าขบคิดว่า การค้ามนุษย์ที่ยังไม่หมดสิ้นไปจากแผ่นดิน เกิดขึ้นจากแรงงานต่างด้าวชั้นต่ำพวกนั้น

หรือเจ้าหน้าที่รัฐใจต่ำที่กลายเป็นคน “มือถือสาก ปากถือศีล”

ทั้งนี้ อาจกล่าวได้ว่าตัวละครในเรื่องสั้น “ชั้นต่ำ” ของทรงวุฒิ อินเรือง ไม่ว่าจะเป็นสารวัตรชัยณรงค์และคนในครอบครัว ท่านผู้การกับพวกองค์กรสิทธิมนุษยชน ต่างเป็นคนชั้นต่ำด้วยกันทั้งนั้น เพราะได้ล่วงละเมิดและแสวงหาผลประโยชน์จากแรงงานต่างด้าวโดยไม่คำนึงถึงคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ พวกเขามักถูกมองว่าเป็น “คนอื่น” “ไม่ใช่คน” หรือ “อีสารเลวชั้นต่ำ”

ดังนั้น สิทธิมนุษยชนของคนชั้นต่ำ จึงเป็นการล้อเลียนพฤติกรรมตัวละคร ที่ผู้เขียนสะท้อนแนวคิดจากเหตุการณ์การย้ายถิ่นของแรงงานต่างด้าวและปัญหาการค้ามนุษย์นั่นเอง

 

เรื่องสั้น “ชั้นต่ำ” ของทรงวุฒิ อินเรือง ได้สะท้อนปัญหาการคอร์รัปชั่นในวงการตำรวจ การค้ามนุษย์ และการละเมิดสิทธิมนุษยชนของแรงงานต่างด้าวที่เป็นปัญหาระดับนานาชาติ อีกทั้งยังสื่อความหมายของ “คนชั้นต่ำ” และ “คนใจต่ำ” ที่เสียดสีเจ้าหน้าที่รัฐกับการแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริง

นอกจากนี้ การบรรยายถึงที่มาของสองตัวละครแรงงานต่างด้าว ไม่ว่าจะเป็นไอ้ปลวกที่สะดุ้งเสียงปืนจากเกมสงครามที่ลูกชายสารวัตรชัยณรงค์เล่น สลับภาพชีวิตครอบครัวของเขาที่ต้องหลบหนีทหาร

หรือการที่อีเปื่อยแอบกินปลาทู อาหารแมวของลูกสาวสารวัตรชัยณรงค์ ซึ่งทำให้เธอคิดถึงผัวที่ลงเรือประมงไปทำงานอย่างไม่รู้ชะตากรรมได้อย่างสะเทือนอารมณ์กับชีวิตที่เลือกไม่ได้

การเป็นทั้งเหยื่อและผู้ถูกกระทำจากน้ำมือของมนุษย์ด้วยกัน ยังคงเป็นปัญหาในทุกสังคมและไม่รู้ว่าจะแก้ไขให้มีประสิทธิภาพได้อย่างไร เพราะ

“การต่อสู้กับขบวนการค้ามนุษย์เป็นสงครามที่ไม่มีวันจบสิ้นลงได้ง่ายๆ เมื่อคนต่างด้าวล้วนเต็มใจเข้ามา ใครจะหลอกลวงไปทำอะไรก็ไม่สนใจ ขอเพียงให้มีโอกาสได้เข้ามาในเมือง” (น.117)

——————————————————————————————————-
บรรณานุกรม

กมเลศ โพธิกนิษฐ และคณะ. (2560). แรงงานข้ามชาติกับการทำให้เป็น “สัตว์-เศรษฐกิจ” ภายใต้ภาวะการถูกกดทับ : กรณีศึกษาแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย. วารสารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร. 13(2) : 99-119.
กำพล นิรวรรณ และคนอื่นๆ. (2562). คนธรรพ์. ปทุมธานี : นาคร.
อิราวดี ไตลังคะ. (2543). ศาสตร์และศิลป์แห่งการเล่าเรื่อง. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์