เศรษฐกิจ / บีเอสอาร์ซึม! ชวดเสียบไฮสปีดอีอีซี ‘ซีพี’ ถอยกรูด ถอน 12 ข้อเสนอพิเศษ เปิดทางถกสำเร็จ…ลุ้น พ.ค. เซ็นแน่?

เศรษฐกิจ

 

บีเอสอาร์ซึม! ชวดเสียบไฮสปีดอีอีซี

‘ซีพี’ ถอยกรูด ถอน 12 ข้อเสนอพิเศษ

เปิดทางถกสำเร็จ…ลุ้น พ.ค. เซ็นแน่?

 

ปิดโอกาสกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ ประกอบด้วยบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เข้าอย่างจัง

เมื่อกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้งส์ และพันธมิตร หรือกลุ่มซีพี ประกอบด้วยบริษัท เจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือซีพี บริษัท China Railway Construction Corporation Limited (สาธารณรัฐประชาชนจีน) บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีอีเอ็ม บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) และบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน)

ยอมถอนข้อเสนอเงื่อนไขพิเศษที่อยู่นอกกรอบเงื่อนไขการประกวดราคา (ทีโออาร์) ออกทั้ง 12 ข้อ ตามมติคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมทุนโครงการรถไฟเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กิโลเมตร (ก.ม.) วงเงินลงทุนรวม 2.24 แสนล้านบาทของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)

การหารือในเรื่องนี้ใช้เวลากว่า 3 เดือน นับตั้งแต่ รฟท.พิจารณาซอง 3 (ด้านการเงิน) ในวันที่ 21 ธันวาคม 2561 ที่พบว่ากลุ่มซีพีเป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด 117,227 ล้านบาท ในขณะที่กิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ เสนอราคา 169,934 ล้านบาท

ทำให้กลุ่มซีพีกลายเป็นผู้เสนอราคาต่ำกว่ากลุ่มบีเอสอาร์ 52,707 ล้านบาท และยังต่ำกว่ากรอบวงเงินที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้ไม่เกิน 119,425 ล้านบาทด้วย

 

จากนั้นในวันที่ 24 ธันวาคม 2561 รฟท.ได้เปิดซองที่ 4 ซึ่งเป็นข้อเสนอพิเศษของกลุ่มซีพี และมีการส่งเอกสารเข้ามาเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณาซองที่ 4 อีก 200 หน้า ทำให้ รฟท.ต้องแบ่งหมวดหมู่การพิจารณาออกมาก่อน เช่น เรื่องการเงิน การขอปรับแนวสถานี และการก่อสร้างส่วนต่อขยาย เป็นต้น หลังจากนั้นก็ได้มีการเจรจากับกลุ่มซีพีโดยแบ่งข้อเสนอออกเป็น 4 กลุ่ม คือ

  1. กลุ่มที่อยู่นอกอำนาจของกรรมการ
  2. กลุ่มที่ไม่เป็นไปตาม RFP (Request For Proposal หรือเอกสารขอให้เสนอโครงการ)
  3. กลุ่มที่ส่งผลทางลบต่อรัฐและ รฟท.

และ 4. กลุ่มที่เจรจาง่าย

โดยข้อเสนอที่เป็นปัญหามากที่สุดในช่วงที่ผ่านมา คือ กลุ่มที่ไม่เป็นไปตาม RFP ซึ่งมีทั้งหมด 12 ข้อเสนอ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ

  1. ข้อเสนอที่เกี่ยวข้องกับเงื่อนไขเวลามีจำนวน 1 ข้อ
  2. ข้อเสนอที่เกี่ยวข้องกับการเงิน จำนวน 3-4 ข้อ

และ 3. ข้อเสนออื่นที่มีข้อความเจาะจงเกินไป จำนวน 7-8 ข้อ

ทางคณะกรรมการคัดเลือกฯ จึงไม่สามารถยอมรับข้อเสนอดังกล่าวได้ และได้หารือกับกลุ่มซีพีเพื่อขอให้ยอมรับการปฏิเสธข้อเสนอของคณะกรรมการคัดเลือกฯ เพื่อให้สามารถเดินหน้าเจรจาต่อไปได้

 

เบื้องต้นกลุ่มซีพีได้ชี้แจงถึงข้อเสนอที่เกี่ยวกับเงื่อนไขเวลา คือ การขอขยายระยะเวลาโครงการเกิน 50 ปี หรือตามที่มีข่าวว่าเป็น 99 ปี จากเดิมตามสัญญาระบุไว้ 50 ปี ถือเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะซีพีไม่ได้บังคับว่าจะต้องขยายเวลาให้ ไม่ใช่ข้อเสนอผูกมัด เพียงแต่กำหนดเป็นข้อเสนอ หากภาครัฐต้องการจะทำต่อก็สามารถเจรจาได้

ส่วนข้อเสนอในกลุ่มการเงิน ทางกลุ่มซีพียังไม่ได้ข้อสรุปเพราะอยู่ระหว่างหารือกับพันธมิตรทางการเงิน เนื่องจากการเข้าร่วมประกวดราคาในครั้งนี้ได้ร่วมมือกับภาครัฐ 3 ประเทศ ประกอบด้วย ไทย จีน และญี่ปุน โดยในส่วนของญี่ปุ่นคือ ธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (เจบิค)

กระทั่งล่าสุด เมื่อวันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา คณะกรรมการคัดเลือกฯ ที่มีนายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน และรักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ รฟท. ได้เจรจากับกลุ่มซีพี จนได้ข้อสรุปว่า กลุ่มซีพียอมถอนข้อเสนอเงื่อนไขพิเศษที่อยู่นอกกรอบทีโออาร์ออกทั้งหมด 12 ข้อ ตามมติของคณะกรรมการคัดเลือกฯ แล้ว

ดังนั้น ในการเจรจาร่วมกันครั้งต่อไป จะเหลือเพียงประเด็นปลีกย่อยเพิ่มเติมเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าปรับกรณีผิดสัญญา และการขัดเกลาถ้อยคำบางส่วน โดยฝ่ายกฎหมายของกลุ่มซีพี และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จะไปเจรจาข้อปลีกย่อย และขัดเกลาถ้อยคำในสัญญาต่อไป คาดว่าภายในเดือนเมษายนนี้จะได้ข้อสรุปร่วมกัน พร้อมตั้งเป้าหมายลงนามในสัญญาเพื่อลงมือก่อสร้างในเดือนพฤษภาคม 2562

โดยเงื่อนไขพิเศษที่อยู่นอกเหนือทีโออาร์ที่กลุ่มซีพียอมถอนออกไป ประกอบด้วย

  1. การขอขยายโครงการจากเดิม 50 ปี เป็น 99 ปี
  2. ขอให้รัฐอุดหนุนโครงการตั้งแต่ปีแรกที่ดำเนินการ รวมไปถึงการการันตีผลตอบแทน IRR 6.75% ต่อปี
  3. ขอลดสัดส่วนผู้ถือหุ้นใหญ่ในโครงการลงมาเหลือ 5% ได้
  4. ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผ่อนปรนเพดานกู้เงินเครือซีพี เนื่องจากปัจจุบันซีพีติดเรื่องเพดานเงินกู้ของ ธปท.
  5. ขอให้รัฐบาลค้ำประกัน รฟท.ถ้าหากมีปัญหาในภายหลัง
  6. ขอผ่อนชำระโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ 11 ปี ด้วยดอกเบี้ย 3% จากเดิมต้องจ่ายเงินทันที หากรัฐบาลโอนโครงการให้
  7. ขอให้รัฐบาลสนับสนุนจัดหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำที่ระดับ 4% ให้กับโครงการ
  8. ขอชำระเงินที่ดินมักกะสัน และศรีราชา เมื่อถึงจุดที่มีผลตอบแทน
  9. หากโครงการสนามบินอู่ตะเภาล่าช้า รัฐต้องจ่ายค่าชดเชยความเสียหาย

และ 10. ห้าม รฟท.ทำธุรกิจเดินรถแข่งกับเอกชน เป็นต้น

 

ในเรื่องนี้ นายวรวุฒิระบุว่า การเจรจากับกลุ่มซีพีที่ยืดเยื้อมาตลอด เนื่องจากทางกลุ่มซีพีไม่ยอมลดข้อเสนอเงื่อนไขพิเศษ แต่เมื่อกลุ่มซีพียอมถอนข้อเสนอเงื่อนไขพิเศษที่อยู่นอกกรอบทีโออาร์ออกทั้ง 12 ข้อ ตามมติคณะกรรมการคัดเลือกฯ และไม่มีประเด็นเพิ่มเติมที่จะนำเสนออีก ในการเจรจาร่วมกันต่อไปจะเหลือเพียงประเด็นปลีกย่อยที่ต้องเจรจาเพิ่มเติมเล็กน้อย

จึงมั่นใจว่าช่วงหลังสงกรานต์นี้คณะกรรมการคัดเลือกฯ จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาผลสรุปการเจรจาอีกครั้ง ก่อนสรุปร่างสัญญาเสนอให้สำนักอัยการสูงสุดพิจารณา และเสนอให้คณะกรรมการอีอีซีภายในเดือนเมษายนนี้ หลังจากนี้ก็ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการอีอีซีว่าจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติได้เมื่อไหร่ แต่คาดว่าจะลงนามในสัญญากับกลุ่มซีพีได้เดือนพฤษภาคม 2562 นี้

“เมื่อได้ข้อสรุปในเรื่องข้อเสนอพิเศษแล้ว ก็ถือว่าการเจรจาระหว่างกลุ่มซีพีกับคณะกรรมการคัดเลือกฯ คืบหน้าไปกว่า 70-90% ที่เหลือเป็นเพียงข้อปลีกย่อย หากไม่มีปัญหาอะไร ก็คงจะได้ข้อสรุปร่วมกัน และลงนามตามเป้าหมายที่วางไว้” นายวรวุฒิระบุ

อย่างไรก็ตาม แม้ค่อนข้างชัดเจนว่ากลุ่มซีพี คือผู้ชนะการประมูลรถไฟเชื่อมสามสนามบินแล้ว แต่จะเดินหน้าได้ตามกรอบเวลาที่ตั้งไว้จริงๆ หรือ ยังไม่มีใครกล้ารับประกัน เพราะที่ผ่านมาเคยขีดเส้นไว้ชัดเจน จะเสนอ ครม.อนุมัติให้ทันเดือนมกราคม และลงนามในสัญญาภายในวันที่ 31 มกราคม ก็เลื่อนไปเดือนมีนาคม ก่อนจะเลื่อนเป็นเดือนเมษายน

และเดือนพฤษภาคม จึงไม่แน่ว่าจะเป็นเป้าหมายสุดท้าย ชัวร์หรือไม่!!