วรศักดิ์ มหัทธโนบล : จีนศึกษาในยุคสมัย จากซ้ายจีนสู่งานค้นคว้าวิชาการ

วรศักดิ์ มหัทธโนบล
A

ความคิดความอ่าน (ต่อ)

จนทุกวันนี้เมื่อมองย้อนกลับไปตอนที่ยังหนุ่มแล้วก็อดสะท้อนใจไม่ได้ ตอนนั้นกำลังเป็นคนรุ่นใหม่ จิตใจร่าเริงมีชีวิตชีวา มีความใฝ่ฝันแสนงาม และเชื่อมั่นในตนเอง

ครั้นมาศึกษาหลักคิดลัทธิมาร์กซ์ก็เชื่อว่าหลักคิดนี้เป็นสัจธรรมสมบูรณ์เพียงหนึ่งเดียว โดยหารู้ไม่ว่าที่เชื่ออยู่นั้นที่แท้คือลัทธิสตาลิน (Stalinism) และลัทธิเหมา (Maoism) ที่เป็นแขนงหนึ่งของลัทธิมาร์กซ์ จุดที่ทั้งสองลัทธินี้มีร่วมกันและชูขึ้นอย่างโดดเด่นคือ การต่อสู้ทางชนชั้น

แล้วรูปธรรมหนึ่งของการต่อสู้นี้ก็คือ การปฏิวัติวัฒนธรรม (Cultural Revolution)

แน่นอนว่า โจเซฟ สตาลิน (ค.ศ.1878-1953) อดีตผู้นำของอดีตสหภาพโซเวียตผู้เป็นเจ้าหลักคิดลัทธิสตาลินย่อมเป็นผู้เริ่มก่อน แล้วจากนั้น เหมาเจ๋อตง (ค.ศ.1893-1976) อดีตผู้นำจีนคอมมิวนิสต์ผู้เป็นเจ้าหลักคิดลัทธิเหมาเป็นผู้นำมาสานต่อในระหว่าง ค.ศ.1966-1976

วิธีการโดยรวมคือ จะทำการลงโทษผู้มีการกระทำอันไม่เป็นคอมมิวนิสต์ด้วยวิธีต่างๆ ที่เบาสุดคือ ส่งไปใช้แรงงานในที่ต่างๆ หนักสุดคือ ทำให้ตายด้วยวิธีการต่างๆ การลงโทษทั้งหมดนี้มิได้ผ่านกระบวนการยุติธรรม

แต่ผ่านกลุ่มมวลชนที่ส่วนใหญ่เป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่เรียกขานตัวเองว่ายามพิทักษ์แดง (Red Guard)

 

ด้วยเหตุที่ฝ่ายซ้ายไทยได้รับอิทธิพลมาจากจีน หลักคิดลัทธิมาร์กซ์ของฝ่ายซ้ายไทยจึงเป็นสายจีน ซึ่งก็คือกระแสซ้ายจัดที่เน้นเรื่องการต่อสู้ทางชนชั้นดังกล่าวข้างต้น ดังนั้น ลัทธิมาร์กซ์ที่ศึกษาในเวลานั้นแท้จริงแล้วก็คือลัทธิเหมา (ที่เหมาได้รับอิทธิพลจากลัทธิสตาลินอีกชั้นหนึ่ง)

ครั้นเชื่อเช่นนั้นแล้วผลที่ตามมาทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัวก็คือ อหังการ

จากเหตุนี้ เวลาที่สนทนาเรื่องการเมืองก็จะแสดงจุดยืนตามหลักคิดนั้นโดยไม่กลัวเกรงคู่สนทนา ทั้งที่บางคนคือผู้ใหญ่ที่ตนเคารพนับถือ แต่โชคดีที่คู่สนทนามีเมตตาจึงไม่ถือสาหาความ ต่อเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ที่ผ่านประสบการณ์ต่างๆ มาพอควรแล้ว จึงได้แต่บอกกับตนเองว่า การเป็นคนรุ่นใหม่ของตัวเองในเวลานั้นช่างไร้มนุษยธรรมเอาเสียจริงๆ

และโชคดีที่หลักคิดที่ยึดถือในขณะไม่ชนะ ขืนชนะจริงสังคมไทยคงปั่นป่วนวุ่นวายจนอาจถึงกาลล่มสลายก็เป็นได้

 

จากนั้นจึงได้ข้อสรุปว่า อหังการที่ว่านั้นมาจากความไร้เดียงสาโดยแท้ จากเรื่องนี้ทำให้คิดถึงนิยายเรื่อง กาเหว่าที่บางเพลง ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช1 ที่ทำให้รู้สึกว่าตัวเราที่เป็นคนรุ่นใหม่ในเวลานั้นช่างไม่ต่างกับนกกาเหว่า ที่ผู้แต่งนิยายนำมาเปรียบเปรยผ่านชื่อนิยายของตนเอาไว้ ดีที่เวลานี้ได้ผ่านช่วงเวลานั้นมาไกลแล้ว

ที่สำคัญ ถึงแม้จะเป็นเรื่องที่ไม่ดีไม่งามก็จริง แต่กล่าวในแง่ประสบการณ์แล้วกลับส่งผลดีในด้านกลับตรงที่ว่า หากไม่มีประสบการณ์ในเวลานั้นก็คงไม่มีตัวเราในเวลานี้เป็นแน่

พ้นไปจากเรื่องอันเกี่ยวกับหลักคิดแล้วก็คือ การอ่าน ซึ่งในที่นี้หมายถึงการอ่านหนังสือที่ไม่เกี่ยวกับหลักคิดต่างๆ ถ้าเป็นเรื่องนี้แล้วก็นับว่าตนเองเป็นคนรักการอ่านมาตั้งแต่เด็ก และอ่านหนังสือที่หลากหลายตั้งแต่การ์ตูน นิยาย สารคดี ฯลฯ

กล่าวเฉพาะการ์ตูนแล้วก็ยังคงอ่านมาจนทุกวันนี้เมื่อมีโอกาส

หนังสือเหล่านี้มีทั้งที่ซื้อเองและอ่านตามสถานที่ต่างๆ ที่มีหนังสือให้อ่าน ยิ่งเป็นการอ่านเพื่อฆ่าเวลาด้วยแล้วก็ยังอ่านแม้แต่หนังสือแฟชั่นหรือสตรี

นอกจากนี้ การดูหนังก็เป็นการ “อ่าน” สำหรับตนเองเช่นกัน นิสัยชอบดูหนังนี้เป็นมาตั้งแต่เด็ก จนบัดนี้นิสัยนี้ก็ยังไม่เปลี่ยน

การอ่านที่กล่าวมานี้ได้เปิดโลกกว้างให้แก่ตัวเองและทำให้เข้าใจผู้อื่นมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ และไม่ว่าคนรุ่นเก่าหรือคนรุ่นใหม่ และแน่นอนเช่นกันว่าการอ่านนี้ย่อมมีประโยชน์ต่องานที่ทำทั้งโดยตรงและโดยอ้อม

 

แรกเมื่อศึกษาจีน

ก่อนที่จะเข้ามาทำงานที่สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ นั้น ได้เคยทำงานที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้อยู่ก่อนแล้ว เริ่มจากเป็นลูกจ้างในโครงการทางเลือกเพื่อการพัฒนา ทำได้ไม่กี่เดือนก็ออก พอเรียนจบปริญญาตรีก็ไปทำงานที่โรงพิมพ์แห่งหนึ่ง หน้าที่ที่ทำคือออกแบบปกและจัดรูปเล่มสิ่งพิมพ์

ทำได้ไม่กี่เดือนก็ถูกชวนให้มาทำที่กลุ่มเศรษฐศาสตร์การเมืองในตำแหน่งผู้จัดการ

ทั้งโครงการทางเลือกเพื่อการพัฒนาและกลุ่มเศรษฐศาสตร์การเมืองนี้ ต่างสังกัดสถาบันวิจัยสังคมของจุฬาฯ ช่วงเวลาที่ผลัดเปลี่ยนงานจากที่กล่าวมานี้อยู่ในห้วงทศวรรษ 1980 ทั้งสิ้น ครั้นพอถึงปี 1987 นั้นเองจึงได้เข้ามาทำงานที่สถาบันเอเชียศึกษา

ที่เล่ามาข้างต้นนี้ต้องการจะบอกว่า ช่วงที่อยู่ที่กลุ่มเศรษฐศาสตร์การเมืองนั้น ถือเป็นช่วงที่ได้รู้จักนักวิชาการใหญ่น้อยจำนวนมาก และเรียนรู้หลักคิดต่างๆ อย่างมากมายหลายหลากจนเกินคาด นับเป็นประสบการณ์ที่ดีไม่น้อย

ที่สำคัญ พอมาอยู่ที่สถาบันเอเชียฯ ก็เป็นช่วงเวลาที่กำลังโตเต็มวัยขึ้นเลขสามไปแล้วนั้น ก็ได้เข้าไปเป็นสมาชิกของกลุ่มวิชาการที่มีชื่อว่า สถาบันจักรวาลวิทยา อันเป็นองค์กรวิชาการที่รวมตัวกันอย่างไม่เป็นทางการ และเป็นที่รวมนักวิชาการที่มาจากหลากหลายสถาบันการศึกษา

สถาบันแห่งนี้ได้ให้การอบรมบ่มเพาะทางปัญญาให้แก่ตนเองไม่น้อยเช่นกัน

 

อย่างไรก็ตาม ตอนที่เข้ามาทำงานที่สถาบันเอเชียฯ ใหม่ๆ นั้นได้ทำหลายหน้าที่ แต่หนึ่งในนั้นคือการศึกษาเรื่องจีน และที่เลือกจับเรื่องจีนก็เพราะพอรู้ภาษาจีนอยู่บ้าง ที่แม้จะคืนครูไปเกือบจะหมดแล้วก็ตาม แต่ในใจก็ยังคิดว่าเท่าที่พอรู้ก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่องานแม้สักเล็กน้อยก็ยังดี

ในที่นี้จะไม่กล่าวถึงงานอื่นๆ แต่จะกล่าวเฉพาะงานด้านจีนศึกษาเท่านั้น ซึ่งตั้งแต่เริ่มงานเรื่อยมานั้น มีสิ่งที่ต้องทำหลักๆ อยู่สองเรื่องด้วยกัน หนึ่งคือ อ่านเรื่องเกี่ยวกับจีนแทบทุกวันไม่มีหยุด อ่านในแบบชนิดที่เรียกว่าลุยป่าอ่าน

เอกสารที่อ่านมีตั้งแต่หนังสือพิมพ์รายวันและรายอื่นๆ วารสารวิชาการ หนังสือเล่มทั้งที่เป็นงานวิชาการและมิใช่วิชาการ เมื่ออ่านแล้วพบว่าข้อมูลใดสำคัญก็จะถ่ายสำเนาเก็บไว้

แต่ที่ดูน่าเบื่อหน่ายก็คือการทำกฤตภาค (clipping) อันเป็นการตัดข่าวสารข้อมูลหรือบทความจากหนังสือพิมพ์เป็นชิ้นๆ แล้วนำไปปิดไว้บนกระดาษขนาดเอสี่เพื่อเก็บไว้เป็นข้อมูลที่จะนำมาใช้กับงานต่อไป

ที่ว่าน่าเบื่อก็เพราะเป็นงานที่ต้องใช้เวลาและความระมัดระวังมาก ซ้ำเวลาทำก็ต้องคอยดูว่าข้อมูลที่เราจะตัดจากหนังสือพิมพ์นั้นไปทับกับของนักวิจัยท่านอื่นหรือไม่ เพราะสถาบันเอเชียฯ ยังมีนักวิจัยด้านอาณาบริเวณศึกษาประเทศหรือภูมิภาคอื่นอยู่ด้วย

นักวิจัยเหล่านี้ต่างก็ทำกฤตภาคจากเอกสารเดียวกันทุกคน ทุกวันนี้กฤตภาคแทบไม่ได้ทำแล้ว เพราะความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทำให้เราเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายขึ้น ที่ดีกว่าแต่ก่อนคือเป็นข้อมูลที่มีแหล่งที่มาที่หลากหลาย

ถึงกระนั้น กฤตภาคที่ทำเอาไว้ตั้งแต่แรกที่เข้ามาอยู่ที่สถาบันเอเชียฯ ก็ยังเก็บไว้จนถึงทุกวันนี้ ทั้งนี้ มิใช่เพราะความเสียดายหากจะทิ้งไป แต่เพราะยังหวังไว้ว่าสักวันหนึ่งคงจะได้ใช้ประโยชน์จากกฤตภาคเหล่านี้ หากตนเองไม่หมดสภาพความเป็นบุคคลไปก่อน

ส่วนอีกงานหนึ่งคืองานเขียน งานในส่วนนี้หมายถึง การเขียนบทความวิชาการหรือวิจัยและการเขียนรายงานวิจัย งานเหล่านี้ใช้เวลาค่อนข้างมาก เพราะต้องพิถีพิถันและต้องคอยระมัดระวังเป็นพิเศษในเรื่องของการอ้างอิงแหล่งข้อมูล

โดยเฉพาะการตรวจสอบหรือวิพากษ์ข้อมูลว่าน่าเชื่อถือเพียงใด ซึ่งถือเป็นงานที่ยากมาก และเป็นงานที่ต้องใช้ประสบการณ์เคี่ยวกรำเป็นเวลายาวนานจึงจะทำได้ดี

ดังนั้น งานโดยส่วนใหญ่เมื่อแรกเข้ามาทำงานที่สถาบันเอเชียฯ จึงเป็นบทความวิชาการ ส่วนงานวิจัยจะเกิดขึ้นหลังจากที่อยู่ในหน่วยงานนี้แล้วหลายปี โดยที่ควรกล่าวด้วยว่า นอกจากงานเขียนในลักษณะทั้งสองแล้ว งานเขียนบทความเพื่อตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์รายวันก็นับว่าสำคัญไม่น้อย

แต่จะขอกล่าวถึงต่อไปข้างหน้า

 

—————————————————————————————————————-

1 เนื้อหาของนิยายเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านบางเพลง เมื่อมีมนุษย์ต่างดาวมาปล่อยเชื้อครรภ์เข้าไปในท้องของหญิงในหมู่บ้าน และเมื่อคลอดออกมา เด็กเหล่านี้ก็สร้างความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ขึ้นในหมู่บ้านจนวุ่นวาย เด็กเหล่านี้ทำด้วยอาการที่เย็นชาไร้ความรู้สึกและความรัก จนวันหนึ่งยานจากนอกโลกก็มารับเด็กเหล่านี้กลับไป ที่เปรียบเป็นนกกาเหว่าก็เพราะเด็กเหล่านี้เป็นลูกที่มนุษย์นอกโลกนำมาฝากไว้ในครรภ์ของหญิง หญิงที่ตั้งครรภ์จึงมิใช่แม่แท้ๆ เป็นแต่เหมือนมีใครมาฝากเอาไว้ และนกกาเหว่าก็มีพฤติกรรมเช่นนั้น