บทวิเคราะห์ : การเมืองไทยหลังเลือกตั้ง 62 นักวิชาการ “อิสระ” ต่างชาติ จับตา “ธนาธร” ติดคุก-ยุบ “อนาคตใหม่”?

แม้การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม จะผ่านมาแล้วกว่า 3 สัปดาห์ แต่คนไทยส่วนใหญ่กลับกังวลมากกว่าเดิมว่า การเลือกตั้งไม่ได้ทำให้การเมืองไทยไปสู่ประชาธิปไตย หรือโดยพื้นฐาน ปากท้อง รายได้และความมั่นคงในชีวิตยังคงไม่แน่นอน

ในขณะที่ผลการเลือกตั้งกำลังเป็นปมคาใจสังคมที่สงสัยกันว่าจะโปร่งใสและทำให้เสียงของพวกเขามีค่ามากแค่ไหนนั้น พรรคการเมืองที่แบ่งเป็น 2 ขั้วใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทย และพรรคพลังประชารัฐที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้ารัฐบาลทหาร คสช. ก็เริ่มหาพรรคพวกที่รีบชิงเกมตั้งรัฐบาลว่าใครจะได้ก่อน และทำสงครามน้ำลาย สร้างความชอบธรรมให้ตัวเองพร้อมกับโจมตีฝ่ายตรงข้าม

นอกจากการเมืองระดับพรรคการเมืองที่แบ่งฝ่ายกันชัดเจนระหว่างประชาธิปไตยและสนับสนุนการสืบทอดอำนาจของเผด็จการทหารแล้ว ในระดับสังคม ก็แบ่งออกเป็นกลุ่มด้วย

คนเริ่มแสดงตัวว่าอยู่ฝ่ายจารีตนิยมขวาจัดหรือฝ่ายเสรีประชาธิปไตย และโจมตีอีกฝ่ายด้วยวาทกรรม ข่าวปลอมหรือสร้างภาพเป็นปีศาจที่ต้องถูกทำลาย

สัญญาณแบบนี้ ถือเป็นสิ่งดีหรือแย่สำหรับประเทศไทย?

 

ภาวะแบ่งขั้ว
หลังการเลือกตั้ง 24 มีนาคม

รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์จากจุฬาฯ ได้กล่าวต่อสื่อต่างชาติในเวทีสัมมนาที่กรุงเทพฯ หลังเลือกตั้งทั่วไปไม่นานว่า ภาพรวมที่เกิดขึ้นอย่างแรก แม้การเลือกตั้งจะผ่านพ้นไปแล้ว แต่ภาวการณ์แบ่งขั้วทางการเมืองไทยยังคงมีอยู่

แต่ย้ายจากการเมืองแบบเหลือง-แดง, เอา-ไม่เอาทักษิณ มาสู่เอา-ไม่เอา คสช.

อย่างที่สอง ภูมิทัศน์การเลือกตั้งที่เปลี่ยนไป จากการเลือกตั้งก่อนหน้านี้ในปี 2554 เพื่อไทยได้คะแนนเสียง 14 ล้านเสียง แต่ครั้งนี้เพื่อไทยได้เพียง 7.9 ล้านเสียง และคะแนนกระจายไปยังพรรคต่างๆ ในจำนวนนี้พรรคอนาคตใหม่ได้ไป 6.8 ล้านเสียง หากนำคะแนนโหวตของทั้งเพื่อไทยและอนาคตใหม่รวมกันก็ได้ 14 ล้านพอดี

ขณะที่อีกฟากหนึ่ง พรรคประชาธิปัตย์สูญเสียที่นั่งและคะแนนเสียงหลายล้านซึ่งโยกไปยังพรรคพลังประชารัฐที่ได้ 8.4 ล้านเสียง

สิ่งนี้อธิบายได้ว่า เดิมนั้นฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์มาจากฝ่ายอนุรักษนิยมอย่างกลุ่มเสื้อเหลืองซึ่งต่อต้านฝ่ายทักษิณ

แต่ครั้งนี้พรรคประชาธิปัตย์แสดงจุดยืนไม่ชัด ทำให้คะแนนเสียงเทไปให้พรรคพลังประชารัฐ

“ในมุมมองของดิฉันคิดว่า พรรคพลังประชารัฐมีความคล้ายคลึงกับพรรครีพับลิกันของสหรัฐตรงที่กลุ่มผู้สนับสนุนจากข้างบนอย่างชนชั้นนำและจากระดับล่างคือประชาชนที่ได้ประโยชน์จากโครงการสวัสดิการประชารัฐของ คสช. และเป็นข้อได้เปรียบมาตลอดจนถึงการเลือกตั้งครั้งนี้”

นอกจากนี้ รศ.ดร.สิริพรรณกล่าวอีกว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ส่งผลความเปลี่ยนแปลงในภูมิศาสตร์ทางการเมือง อย่างพรรคประชาธิปัตย์จะครองฐานเสียงในภาคใต้และกรุงเทพฯ แต่ครั้งนี้พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้แม้แต่ที่นั่งเดียวในเขตกรุงเทพฯ และหากนับคะแนนโหวตในพื้นที่กรุงเทพฯ พรรคอนาคตใหม่ได้มากกว่าพรรคอื่น ส่วนภาคใต้ พรรคประชาธิปัตย์ได้เพียง 22 ที่นั่ง ขณะที่ภาคอีสาน พรรคเพื่อไทยเสียไป 26 ที่นั่ง

สิ่งนี้สะท้อนได้ว่ามีปัจจัยที่ส่งผลต่อประชาชนกลุ่มชนชั้นกลางระดับล่างในต่างจังหวัด

นายเดวิด สเตร็กฟัส นักวิชาการอิสระด้านการเมืองไทย เปิดเผยว่า จากการคุยกับสื่อในพื้นที่อีสาน ก็ต่างพูดว่าพรรคฝ่ายสนับสนุน คสช.ชนะแน่ นั้นอาจจะจริง แต่พรรคฝ่ายประชาธิปไตยยังคงกุมพื้นที่อีสานไว้ มีมากถึง 89% ที่ไม่เอาเผด็จการทหาร

ล่าสุดได้คุยกับคนอีสานที่ทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ คนอีสานบางคนรู้สึกว่าเป็นแผนการระยะยาว นับตั้งแต่ 2014 ที่มีการชุมนุมและเกิดการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม นั้นเป็นหมุดแรกของแผนระยะยาว ทั้งการรัฐประหาร รัฐธรรมนูญ และการเลือกตั้ง ทั้งหมดถูกกำหนดเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมให้กับ คสช.

ที่สุดแล้วคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่อาจเข้าคุกหรือพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบพรรค

อย่างไรก็ตาม คสช.จะไม่มีทางอยู่ในอำนาจต่อได้ง่ายๆ ถึงต่อให้ชนะ ก็จะมีการประท้วงของประชาชน และอาจเห็นเหตุการณ์แบบปี 2553 อีกครั้ง

 

การเมืองไทยว่าด้วยการเลือกตั้ง

ดร.นันทนา นันทวโรภาส คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก ได้วิเคราะห์การเลือกตั้งครั้งนี้พรรคการเมืองใดชนะหรือแพ้ โดยสรุปแต่ละพรรคได้ดังนี้

พรรคประชาธิปัตย์ – จุดยืนไม่ชัด พรรคปริแตกทั้งสุเทพแยกตัวและเลือกหัวหน้าพรรค

พรรคเพื่อไทย – ยุทธการแตกแบงก์พัง เหตุการณ์ 8 กุมภาพันธ์ ปลุกฝ่ายขวาจัด ควรชูชัชชาติแทนสุดารัตน์ เรียกว่าแคมเปญกร่อยสุด แต่รอดจากฝีมือ ส.ส.

พรรคอนาคตใหม่ – เรียกว่าเป็นปาฏิหาริย์ พรรคเกิดใหม่ได้ ส.ส.ใหม่เกือบทั้งหมด มีจุดยืนพรรคชัดตั้งแต่ต้น นโยบายใหม่และกล้า ลบคำสบประมาทคนรุ่นเก่าเรียกคนรุ่นใหม่เป็นนักเลงคีย์บอร์ดให้ได้ 80 ส.ส. โซเชียลมีเดียสร้างจุดเปลี่ยนสำคัญต่อการเมืองไทย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นส้มหล่นหลังไทยรักษาชาติถูกยุบพรรค

พรรคพลังประชารัฐ – เหตุการณ์ 8 กุมภาพันธ์ ช่วยไว้ ทรัพยากรมหาศาล บัตรสวัสดิการทำฐานเสียงเพื่อไทยในอีสานแตก

แคมเปญ “เลือกความสงบ จบที่ลุงตู่” เป็นไม้เด็ดปิดท้าย

 

ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักวิชาการประวัติศาสตร์ กล่าวว่า การเมืองไทยหลังการเลือกตั้ง ไม่ว่าออกมารูปแบบไหน ประยุทธ์อยู่ต่อ แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ หากเราติดตามประวัติศาสตร์การเมืองไทยมาตลอด ทหารเมื่อยึดอำนาจได้ ก็ได้อยู่ในอำนาจ ก็มักเสพติดอำนาจและพยายามใช้กระบวนการเลือกตั้งเพื่อบอกว่าตัวเองมีความชอบธรรม เหมือนมีเสื้อมาคลุมบารมี

กรณีจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ได้อำนาจในปี 2490 และพยายามมีความชอบธรรมผ่านการเลือกตั้งในปี 2500 ซึ่งพรรคเสรีมนังคศิลาชนะขาดลอย แต่อยู่ต่อได้เพียง 7 เดือน ก็ถูกจอมพลสฤษดิ์เข้ายึดอำนาจ

หรือใกล้อีกหน่อย จอมพลถนอม กิตติขจร ขึ้นเป็นนายกฯ หลังจอมพลสฤษดิ์เสียชีวิต อยู่จนถึง 2511 และมีรัฐธรรมนูญตามด้วยการเลือกตั้ง และจอมพลถนอมตั้งพรรคชื่อสหประชาไทย ก็ชนะเลือกตั้งกลับมาเป็นรัฐบาลอยู่ต่อถึง 2514 คุมสภาไม่ได้ จอมพลถนอมยึดอำนาจตัวเอง จนนำไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

และเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ก็มีจุดเริ่มต้นและผลลัพธ์เช่นเดียวกัน

สิ่งที่กำลังจะบอกคือ มีคนจำนวนมากไม่เรียนรู้ประวัติศาสตร์ จึงมักเกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอย

 

ขณะที่ รศ.ดร.เวียงรัฐ เนติโพธิ์ นักวิชาการรัฐศาสตร์จากจุฬาฯ ก็มีความเห็นว่า จากกรณีบัตรเลือกตั้งที่เพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติจนคนวิพากษ์วิจารณ์ สะท้อนให้เห็นว่า สถาบันทางการเมืองที่น่าจะเป็นกลางที่สุดในแง่หลักการได้พังทลาย รัฐสภาก็ถูกทำให้อ่อนแอ ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้อ้างอิงตามกฎหมายรัฐธรรมนูญนั้นทำให้สถาบันที่เข้มแข็งอย่างกองทัพเข้ามาแทรกแซงได้ง่าย สังเกตได้จากบรรดาผู้นำกองทัพออกมาเรียกร้องให้เชื่อมั่น กกต. จึงเหลือเพียงพรรคการเมืองที่ยังคงมีพลังต่อรอง มีความเป็นสถาบันทางการเมือง

“การเมืองไทยหลังปี 2549 ถูกทำให้เป็นละครหลังข่าว มีการตบตีกัน และสื่อมวลชนใช้มาเป็นประเด็นข่าวนั้นหมายความว่า การเมืองถูกโยกจากสถาบันทางการเมืองมาลงบนท้องถนน ถูกโยกจากหลักการเสียงข้างมาก การใช้สิทธิใช้เสียงมาสู่การใช้วาทกรรมโจมตีกัน แต่คนรุ่นใหม่เวลานี้ไม่ได้อยู่ในวังวนวาทกรรมเดิม แต่ผลกระทบจากเหตุการณ์ 8 กุมภาพันธ์ และ 24 มีนาคม ก็ทำให้มีคนไปเลือกพลังประชารัฐ สะท้อนให้เห็นว่า การเมืองว่าด้วยวาทกรรมและการเคลื่อนไหวทางสังคมยังคงมีอิทธิพลสูง ดังนั้น คำพูดประเภท “เผาบ้านเผาเมือง”, “คนล้มเจ้า” จึงมีผล ทำคนไม่กล้าเลือกธนาธรแม้มีนโยบายตอบโจทย์ชนชั้นกลางก็ตาม” รศ.ดร.เวียงรัฐกล่าว

การใช้สื่อโซเชียลก็มีการแบ่งกลุ่มคนแต่ละช่วงด้วย โดย รศ.ดร.เวียงรัฐแบ่งเป็นคลื่นลูกแรกคือคนที่ใช้อีเมลและไลน์กลุ่ม ซึ่งมีความเชื่อข่าวสารจากสื่อเหล่านั้น และส่วนมากเลือกพรรคพลังประชารัฐเพราะหวั่นไหวกับภาพบาดใจของทักษิณ แต่คลื่นลูกที่สองตามมาคือ คนใช้ทวิตเตอร์ ออกมาจากสื่อดั้งเดิมเข้าสู่โลกสื่อออนไลน์ เห็นได้จากคำพูดประเภท “ได้ดูดีเบตเดอะสแตนดาร์ดรึยัง” หรือแฮชแท็กก็สามารถสร้างเป็นเทรนด์ของโลกได้ และผู้ใช้ทวิตเตอร์เหล่านี้ตื่นตัวทางการเมืองมาก

ทั้งนี้ รศ.ดร.เวียงรัฐกล่าวถึงการเมืองระหว่างคนรุ่นเก่ากับรุ่นใหม่ว่า การเลือกตั้งครั้งนี้หลังห่างหายหลายปี ได้เกิดภูมิทัศน์ทางการเมืองใหม่ขึ้น เสียงในชนบทไม่ได้เป็นเสียงชนบทที่มองการเมืองแบบเดิมแล้ว ถ้ามองแค่นโยบายหรือผลประโยชน์ที่ได้ ได้เกิดปรากฏการณ์คนรุ่นใหม่ที่ไม่เคยเลือกตั้งหรือไม่เกิน 30 ตามหัวเมืองต่างจังหวัด เลือกนายธนาธร เพราะเป็นคนกลุ่มใหม่ที่ได้รับการศึกษาปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยภูมิภาค จึงเลือกอะไรไม่เหมือนคนรุ่นเก่า คนรุ่นใหม่ต้องการเกษตรด้วยเทคโนโลยี ไม่ได้สนใจการปลดหนี้หรือพักหนี้ หรือถ้าจบบัญชีทำไมต้องหางานในกรุงเทพฯ ทำไมไม่มีบริษัทขนาดเล็กทั่วประเทศ

ดังนั้น ความฝันที่ธนาธรหยิบยื่นให้ จึงเป็นสิ่งที่คนเหล่านี้ต้องการ