กรองกระแส | อาการ การเมือง จากเลือกตั้ง ถึง รัฐธรรมนูญ ถึง รัฐประหาร 2557

กรองกระแส

อาการ การเมืองจากเลือกตั้ง ถึง รัฐธรรมนูญถึง รัฐประหาร 2557

สถานการณ์อันเป็นผลสะเทือนเนื่องแต่การจัดการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม กำลังเป็นสถานการณ์อันนำไปสู่การตรวจสอบทางการเมืองในทุกองคาพยพด้วยความเข้มข้น จริงจังมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ

มิได้จำกัดกรอบแต่เพียง “กกต.” ซึ่งรับผิดชอบโดยตรง

ตรงกันข้าม ไม่ว่า คสช. ไม่ว่ารัฐบาล ไม่ว่าแม่น้ำแต่ละสายอันเป็นเครือข่ายของ กกต. ล้วนแต่ถูกลากดึงเข้าสู่การตรวจสอบ

ตรงกันข้าม นักการเมืองและพรรคการเมืองล้วนถูกลากดึงเข้าสู่การตรวจสอบ

ยิ่งกว่านั้น ในภาคประชาชนก็มิได้แสดงบทบาทเพียงแค่เป็นคนที่ออกจากบ้านเพื่อไปลงคะแนนเลือกผู้สมัครคนใดคนหนึ่ง ตรงกันข้าม การตัดสินใจครั้งนี้และผลลัพธ์อันได้รับมาในแต่ละราย แต่ละกรณี โดยกระบวนการเลือกตั้งที่ กกต.รับผิดชอบยังก่อให้เกิดความรู้สึกทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยตามมาอย่างคึกคัก

ความตื่นตัวในทางการเมืองอันเนื่องแต่การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคมจึงมีผลสะเทือนลึกซึ้งกว้างไกลเป็นอย่างสูงนับแต่ภายหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา

นี่คืออาการของ “โรค” นี่คืออาการของโรคที่สัมพันธ์กับ “การเมือง”

วิธีคิด วิธีจัดการ

กับปัญหาเลือกตั้ง

 

พลันที่ปฏิกิริยาต่อการเลือกตั้งปรากฏขึ้นเพียงไม่กี่ชั่วโมงภายหลังการเลือกตั้ง กระทั่งนำไปสู่การล่ารายชื่อเพื่อถอดถอน กกต. โดยตัวเลขทะยานจากหลักร้อยเป็นหลักพัน หลักหมื่น และเข้าสู่จำนวน 800,000 กว่ารายชื่อด้วยเวลาอันรวดเร็ว

ก่อให้เกิดมุมมอง 2 มุมมองต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตามมา

ด้านหนึ่ง เราได้รับรู้ถึงการออกมาปกป้องการทำงานของ กกต. แสดงออกถึงขนาดที่ประกันในประสิทธิภาพอย่างเต็มที่ ขอให้เชื่อมั่นและอยู่เฉยๆ ทุกอย่างจะดีเอง

ด้านหนึ่ง ไม่พอใจและถึงกับไม่ไว้วางใจ

น่าสังเกตว่า 2 มุมมองที่แตกต่างกันเช่นนี้ก็มีวิธีวิทยาในการมองแตกต่างกัน ฝ่ายที่ค้ำประกันให้กับประสิทธิภาพของ กกต.เห็นว่า สภาพการณ์ที่เกิดขึ้นตลอด 2 สัปดาห์ภายหลังการเลือกตั้งเป็นการพยายามสร้างขึ้นโดยพรรคและกลุ่มทางการเมือง มิได้เป็นความบกพร่องของ กกต.

ขณะเดียวกัน อีกฝ่ายหนึ่งก็มองว่าจุดเริ่มแห่งปัญหาน่าจะมาจากประสิทธิภาพในการบริหารจัดการของ กกต.ตั้งแต่ก่อนและภายหลังการเลือกตั้ง บางคนถึงกับสรุปว่าเป็นเพราะ กกต.มีวาระซ่อนเร้นสมคบคิดกับบางพวกบางฝ่ายจึงกลายเป็นปัญหา

ฝ่ายหนึ่งมองเห็นปัญหามาจากปัจจัยภายนอก ฝ่ายหนึ่งมองเห็นปัญหามาจากปัจจัยภายใน

 

รากฐาน กกต.

กับประสิทธิภาพ

ฝ่ายที่เห็นอกเห็นใจ กกต.มองว่ากระบวนการเลือกตั้งที่ กกต.เข้ารับผิดชอบเป็นกฎกติกาใหม่ ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ และรวมถึงตัวของ 7 กกต.ที่เพิ่งเข้ามารับผิดชอบในปี 2561 จุดอ่อนและความบกพร่องย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา

คำถามที่เสนอเข้ามาก็คือ ใครรับผิดชอบในการวางกฎ กติกา

คำถามที่เสนอเข้ามาก็คือ แม้ 7 กกต.จะเป็นคนใหม่ที่เพิ่งเข้ามารับผิดชอบในปี 2561 แต่ กกต.ก็สะสมความจัดเจนมาอย่างยาวนานภายใต้เงื่อนไขของรัฐธรรมนูญคือ พ.ศ.2540 และปฏิบัติการที่เป็นจริงในการเลือกตั้งเมื่อเดือนมกราคม 2544

รวมแล้วต่อเนื่องและยาวนานมากว่า 20 ปี

เรื่องเหลือเชื่อก็คือ ทั้งๆ ที่การเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 มิได้เป็นครั้งแรก แต่กระบวนการทำงานของ กกต.ชวนให้เข้าใจว่าเป็นคนหน้าใหม่ แทบไม่ได้สะสมความจัดเจนอันเกี่ยวกับการเลือกตั้งมาก่อนเลย

ตรงนี้แหละที่ละเอียดอ่อน ตรงนี้แหละที่ก่อให้เกิดความแคลงคลางและกังขาต่อกระบวนการทำงานของ กกต.ว่าอาจมีวาระซ่อนเร้น

เป็นวาระซ่อนเร้นตามเจตนาและความต้องการบางอย่างในทางการเมือง

 

กกต.เป็นหน้าด่าน

ศูนย์รวมคือ คสช.

ไม่ว่าจะมองผ่านรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะมองผ่านกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะมองผ่าน กกต. ทุกอย่างล้วนมีความสัมพันธ์กัน

โดยจุดเริ่มต้นมาจากรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

จุดเริ่มต้นนี้เองทำให้เกิด “แม่น้ำ 5 สาย” ไม่ว่าจะเป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ

นั่นคือที่มาของรัฐธรรมนูญ นั่นคือที่มาของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ

ยิ่งกว่านั้น พลันที่ คสช.ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ปลดกรรมการ กกต.บางคนออกจากตำแหน่งและนำไปสู่การสิ้นสภาพของคณะกรรมการ กตต.ก็นำไปสู่การคัดสรรและแต่งตั้งคณะกรรมการ กกต.ชุดใหม่โดย สนช. จึงเท่ากับ กกต.มีรากฐานมาจากคำสั่งมาตรา 44 มีรากฐานมาจาก คสช.

เมื่อการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม ก่อให้เกิดปัญหาตามมา และก่อให้เกิดความแคลงคลางและกังขาต่อกระบวนการบริหารจัดการของ กกต. ในที่สุดทุกอย่างก็โยงสายยาวไปยัง คสช. ไปยังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

  กลายเป็นว่ารัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 คือจุดเริ่มของปัญหา