นงนุช สิงหเดชะ | (ถ้า)เพื่อไทย-อนค.จับมือตั้ง รบ. ยังมองไม่เห็น ‘ความสงบ-อนาคต’

คงต้องรอกันยาวๆ ไป สำหรับการจัดตั้งรัฐบาล ภายหลังการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม เพราะ 2 ขั้ว คือพรรคเพื่อไทยและพลังประชารัฐ ต่างชิงกันจัดตั้งรัฐบาล โดยพรรคเพื่อไทยอ้างว่าได้จำนวน ส.ส.มากที่สุดเป็นอันดับ 1 คือ 137 ที่นั่ง

ส่วนพรรคพลังประชารัฐซึ่งได้จำนวน ส.ส.รองลงมาคือประมาณ 120 ที่นั่ง (บวกลบ) อ้างความชอบธรรมเรื่องที่ได้คะแนนรวมจากประชาชน หรือป๊อปปูลาร์โหวตมากที่สุด คือ 7.93 ล้านคะแนน มากกว่าเพื่อไทยซึ่งได้เพียง 7.42 ล้านคะแนน ห่างกันราว 5 แสนคะแนน

แต่คะแนนดังกล่าวยังไม่เป็นทางการ อาจเปลี่ยนแปลงผันแปรได้ เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้ใช้ระบบใหม่ที่เรียกว่า “จัดสรรปันส่วนผสม” เพื่อให้ทุกคะแนนมีความหมาย ไม่สูญเปล่า ซึ่งจำนวน ส.ส.เขตและ ส.ส.บัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) มีความผูกโยงกัน จำนวน ส.ส.เขตจะมีผลกระทบต่อจำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ (ยกเว้นเพื่อไทยที่ไม่ได้ปาร์ตี้ลิสต์เพราะได้ ส.ส.เขตเกินจำนวนพึงมี) ดังนั้น ต้องรอให้ กกต.เคลียร์เรื่องร้องเรียนทุจริตเลือกตั้งให้เสร็จก่อน จึงจะสามารถทราบจำนวน ส.ส.รวมที่ถูกต้องแน่นอนของแต่ละพรรคได้

การจัดตั้งรัฐบาล ก็ขึ้นกับว่าขั้วไหนจะรวมเสียงข้างมากได้ ซึ่งก็คงมีโอกาสทั้งสองขั้ว

อย่างไรก็ตาม ขั้วของเพื่อไทย มีพรรคเพื่อไทยและอนาคตใหม่ (อนค.) ยืนพื้นอยู่แล้ว เนื่องจากแสดงจุดยืนเดียวกันมาแต่ต้น

ถึงแม้พรรคอนาคตใหม่จะไม่ถึงกับเป็น “อวตาร” ของพรรคในเครือข่ายคุณทักษิณ แต่ก็กล่าวได้ว่าเป็นประหนึ่งสาขาของพรรคเครือข่ายทักษิณ เพราะอย่างน้อยสุดมีจุดร่วมกันอยู่อย่างเด่นชัด นั่นคือการเป็นพวกเดียวกับกลุ่มคน “เสื้อแดง” อันมีประจักษ์พยานชัดว่าหัวหน้าพรรคนี้เคยร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดงหลายครั้ง

รวมทั้งครั้งร้ายแรงเผาบ้านเผาเมืองเมื่อปี 2553

 

ต้องยอมรับว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคอนาคตใหม่มาแรง เพราะแม้จะลงเลือกตั้งครั้งแรก แต่ได้คะแนนเกินคาดหมาย คือได้ ส.ส.เขต 30 และปาร์ตี้ลิสต์อีก 50 กว่า รวมแล้ว 80 กว่าเก้าอี้ หรือเป็นอันดับ 3 แซงประชาธิปัตย์ซึ่งตกไปอยู่อันดับ 4

ปัจจัยที่ทำให้ อนค.ได้คะแนนมาก น่าจะมา

  1. จากความสดใหม่ มีจุดขายที่เด่นชัดถูกใจคนรุ่นใหม่ (ครั้งนี้มีคนรุ่นใหม่ที่มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกหรือพวก first voters 7.1 ล้านคน)
  2. เป็นเพราะพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ซึ่งเป็นพรรค “แบงก์ร้อย” ของเพื่อไทยถูกยุบ ทำให้มีการโอนคะแนนมาให้ อนค.
  3. ระบบการเลือกตั้งใหม่ แบบ “จัดสรรปันส่วนผสม” (ซึ่งคิดค้นโดยกลุ่มคนที่ถูกหาว่าอยู่ฝ่ายเผด็จการ) ส่งผลสำคัญทำให้ อนค.ได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์เป็นกอบเป็นกำมากที่สุด

จะเห็นว่า อนค.เป็นพรรคเดียวใน 5 พรรคหลัก ที่ได้ปาร์ตี้ลิสต์มากกว่า ส.ส.เขต ถ้าไม่มีระบบนี้ ไม่มีทางที่ อนค.จะได้เก้าอี้มากขนาดนี้ อาจได้แค่ครึ่งเดียว

แบบนี้ อนค.น่าจะขอบคุณระบบการเลือกตั้งแบบใหม่จึงจะถูก แต่กลับกลายเป็นว่าหลังเลือกตั้งเพียงวันเดียว อนค.ออกมาแถลงว่า วาระสำคัญที่จะทำคือแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ล้างมรดก คสช.

ก็เลยเกิดความย้อนแย้งและน่าขำ เพราะแท้จริงแล้ว อนค.แจ้งเกิดได้ ส่วนหนึ่งก็เพราะระบบการเลือกตั้งที่ออกแบบโดยเผด็จการ เท่ากับว่า “แหล่งกำเนิด” ของ อนค.ครั้งนี้ ไม่ได้มาจากประชาธิปไตย เพราะเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญเผด็จการ

แต่พอเลือกตั้งเสร็จ กลับเรียกตัวเองว่าฝ่ายประชาธิปไตย (ฮา)

เป็นอาการแบบเดียวกับการเลือกตั้งปี 2550 หลังการรัฐประหาร 2549 ที่มีการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ พวกนักการเมือง โดยเฉพาะบางพรรคโวยวายว่ารัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย การเลือกตั้งจะไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม แต่ปรากฏว่าทุกคนทุกพรรคยังลงสมัครรับเลือกตั้ง

แม้จะมีคนท้าทายว่าถ้าอุดมการณ์แรงนัก ก็อย่าลงเลือกตั้งหนนี้ ให้รอจนกว่ารัฐธรรมนูญจะเป็นประชาธิปไตย แต่ก็ไม่มีใครมีอุดมการณ์แรงพอ

จริงอยู่อาจมีคนเถียงว่า ถ้าไม่ลงเลือกตั้งก็จะเสียโอกาสที่จะแก้ไขสิ่งที่ไม่เป็นประชาธิปไตย แต่ก็อย่าลืมเป็นอันขาดว่า “แหล่งกำเนิด” ของตัวเอง ก็มาจากสิ่งที่ตัวเองด่าว่าเผด็จการ เข้าตำราเกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง

 

หากครั้งนี้เพื่อไทยกับ อนค.ได้เป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาล แนวโน้มบรรยากาศการเมืองอาจจะไม่สงบ เพราะ อนค.เป็นพรรคสายบู๊ ซึ่งจะทำให้มีบรรยากาศคล้ายๆ กับรัฐบาลทักษิณ สมัย 2 ที่ชนะเลือกตั้งถล่มทลายแล้วกร่าง ใช้คำพูดโอหัง ท้าทายทะเลาะกับฝ่ายตรงข้าม ทั้งฝ่ายค้าน นักวิชาการ สื่อมวลชนไปทั่ว จนจบด้วยการรัฐประหาร 2549 โดยในรายของ อนค. เชื่อได้แน่ๆ ว่าจะทะเลาะกับทหารเป็นหลัก

ดูจากคำแถลงของ อนค. หลังเลือกตั้งที่ประกาศว่าวาระสำคัญคือจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ รวมทั้งการเน้นไปที่การเล่นงานกองทัพทั้งการลดนายพล ตัดงบฯ บอกได้เลยว่า “น่าห่วง” เพราะตลอดมาสิ่งที่ อนค.แสดงออกสะท้อนให้เห็นถึง “แรงอาฆาต” ที่มีต่อกองทัพ เกรงว่าสิ่งที่จะพูดจะทำต่อไปนี้จะนำหน้าด้วยความแค้น ความเกลียด มากกว่าจะหาทางเจรจากันด้วยเหตุผล

ยุคนี้เรามักพูดกันเสมอว่า มีเพียงการสานเสวนา และสันติวิธีเท่านั้นที่จะแก้ปัญหาได้ เราด่าทหารว่าชอบใช้กำลังยึดอำนาจ แต่การที่เราใช้ท่าทีแข็งกร้าว อาฆาต ข่มขู่ทหาร ก็จะไม่ได้ผลเช่นกัน เพราะคนที่ถูกขู่จะกลัว เมื่อกลัวจะป้องกันตัวเอง ซึ่งคงไม่ต้องอธิบายว่าจะป้องกันอย่างไร

หากอยากได้ความร่วมมือจากทหารในการปฏิรูปกองทัพ ทั้งลดกำลังพล ลดงบประมาณ ควรผ่านการเจรจาและให้เกียรติ ไม่ใช่ผ่านการพูดข่มขู่ทางสื่อมวลชนหรือโซเชียลมีเดีย โชว์เพาเวอร์ของตัวเองเพื่ออวดว่าขี่คอทหารได้

เมื่อ อนค.เริ่มต้นด้วยเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็เสี่ยงที่จะเรียกม็อบออกมาบนท้องถนน เกิดความไม่สงบอีกรอบ บรรยากาศการลงทุน การท่องเที่ยวก็จะเสียหายไป

ลงท้ายประชาชนก็อาจไม่ได้ “อนาคตใหม่” ตามชื่อของพรรคนี้

ในแง่นโยบายเศรษฐกิจ หากอ่านจากประเด็นหลักๆ และจากที่หัวหน้าพรรคนี้ไปพูดตามที่ต่างๆ ชวนให้ตีความว่า 1.ไม่สนับสนุนทุนขนาดใหญ่ (ที่อาจรวมถึงโครงการขนาดใหญ่) 2.ไม่ต้อนรับทุนและเทคโนโลยีต่างชาติ 3.ไม่ให้ความสำคัญกับกรุงเทพฯ มากนักโดยหาว่าทรัพยากรประเทศถูกนำมาให้คน กทม.มากไป

หากเป็นเช่นนั้น ถ้า อนค.มาร่วมรัฐบาล มีแนวโน้มจะยกเลิกหรือชะลอโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่จะเอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจหรือไม่ เช่น รถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้าหลายสายในกรุงเทพฯ โครงการที่จะดึงการลงทุนจากต่างชาติเช่นอีอีซี

กลัวว่าจะทำแบบประธานาธิบดีทรัมป์ คือเข้ามายกเลิกโครงการทุกอย่างที่รัฐบาลโอบามาทำไว้ เพียงเพราะอยากสะใจ

ได้ยินฝ่ายที่สนับสนุนพรรคที่อ้างว่าเป็นประชาธิปไตยพูดแล้วท้อใจ โดยเฉพาะเรื่องกรุงเทพฯ กับต่างจังหวัด มีการพยายามเน้นย้ำว่างบประมาณของประเทศเอามาสร้างรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ เพื่อให้คนกรุงเทพฯ สบายหมด ซึ่งเป็นมุมคิดที่คับแคบมากเพราะการสร้างโครงข่ายคมนาคม ต้องมีขึ้นตามความจำเป็นของพื้นที่นั้น

กรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวง มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่สุด เสียภาษีมากสุด มีประชากรมากที่สุด ความหนาแน่นประชากรต่อพื้นที่มากสุด ก็มีความจำเป็นที่จะต้องสร้างโครงข่ายคมนาคมมาก และการสร้างก็มีการขยายเชื่อมต่อไปยังชานเมืองและปริมณฑลด้วยเพื่อลดปัญหาจราจร

การอ้างความเท่าเทียม โดยจะให้สร้างรถไฟฟ้าในพื้นที่ตัวเอง เช่น อุดรธานี เชียงใหม่ ให้เท่ากับกรุงเทพฯ มันเป็นเรื่องสมเหตุสมผลหรือ เอาสมองส่วนไหนมาคิด อยากได้แค่ความเท่าเทียม แต่สร้างไปแล้วจะมีคนใช้บริการหรือไม่ ไม่สนใจอย่างนั้นหรือ

เมื่อพิจารณาจากหลายปัจจัย การรวมพลังของเพื่อไทยและ อนค. ไม่มีหลักประกันอะไรที่จะทำให้มีความหวังว่าจะพาประเทศเดินหน้าไปได้ เพราะคล้ายกับนำเอาแรงแค้น 2 แรงมารวมกัน คือเพื่อไทย ซึ่งเป็นปฏิปักษ์รุนแรงกับทหารเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อมาบวกกับแรงเกลียดชังทหารจากซีก อนค. ดูแล้วหวั่นใจว่าจะกลายเป็นพลัง “ซูเปอร์แค้น” ที่จะทำให้เกิดการขัดแย้ง “ซูเปอร์รุนแรง” พากันไป “สุดซอย (ตัน)” อีก

กระทั่งทำให้เสียบรรยากาศเศรษฐกิจและการลงทุนที่เคยมีความสงบต่อเนื่องมาเกือบ 5 ปี ก็เป็นได้