11ปี! ลุ้นล้างอาถรรพ์ ‘เมล์เอ็นจีวี’ ปมเลี่ยงภาษีดึงติดหล่ม ฉุดแผนเดินรถใหม่ ขสมก.สะดุด

หากบอกว่าโครงการจัดหารถโดยสารที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง (รถเมล์เอ็นจีวี) ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เป็นรถเมล์อาถรรพ์ คงไม่ผิด

เพราะนอกจากจะดำเนินการมายาวนาน ตั้งแต่ปี 2548 สมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ที่มี นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โดยตอนนั้นเป็นการจัดหารถเมล์ใหม่ 6,000 คัน วงเงินกว่าแสนล้านบาท เพื่อทดแทนรถเก่า และแก้ไขภาระหนี้สินของ ขสมก. ที่ขาดทุนสะสมมายาวนาน

แต่ถูกโจมตีเรื่องของราคาที่สูงมากเกินไป จนไม่สามารถจัดซื้อได้

จากนั้นในสมัย นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ปรับลดจำนวนรถเมล์ลงเหลือ 4,000 คัน แต่วงเงินยังสูงระดับแสนล้านบาท

กระทั่งสมัย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี และ นายโสภณ ซารัมย์ ส.ส.พรรคภูมิใจไทย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้กำหนดให้เป็นการเช่า จำนวน 4,000 คัน วงเงินลดลงมาเหลือ 6 หมื่นล้านบาท

แต่ก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้ ต่อมาถึงสมัย นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ปรับเปลี่ยนใหม่ จากเดิมที่เคยเป็นการเช่าให้เป็นการซื้อ จำนวน 3,183 คัน วงเงิน 13,162 ล้านบาท ก็ยังจัดซื้อได้ไม่สำเร็จ

จวบจนถึงรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ปรับลดการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวีเหลือ 489 คัน ซื้อรถเมล์ไฟฟ้า 200 คัน และปรับปรุงรถเมล์เก่า 672 คันแทน และสามารถประกวดราคาซื้อรถเมล์เอ็นจีวีได้สำเร็จเป็นครั้งแรก

แต่ก็มีปัญหาที่ทำให้โครงการต้องสะดุดอีกครั้ง เมื่อบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูลจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 489 คัน มูลค่า 3,389 ล้านบาท ได้ขนรถเมล์ล็อตแรก รวม 100 คัน มาถึงไทยผ่านทางท่าเรือแหลมฉบัง เมื่อวันที่ 2 ธันวาคมที่ผ่านมา แต่ไม่สามารถนำรถเมล์ทั้งหมดออกจากท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อส่งมอบให้กับ ขสมก. ได้

เนื่องจากกรมศุลกากรไม่แน่ใจว่าเอกสารหนังสือรับรองที่ยื่นขอใช้สิทธิลดหย่อนภาษีศุลกากรฟอร์ม ดี (From D) หรือถิ่นกำเนิดสินค้า ที่กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมระหว่างประเทศของประเทศมาเลเซียออกให้กับบริษัทเพื่อยื่นให้กรมศุลกากรพิจารณาลดภาษีศุลกากรเหลือ 0% จากที่จะต้องจ่ายในอัตรา 40% ต่อคัน ตามข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (เอเอฟทีเอ) นั้น เป็นของจริงหรือไม่

พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า รถเมล์ที่บริษัทนำเข้ามาในไทย ไม่ได้ประกอบที่โรงงานประเทศมาเลเซีย และไม่ได้ใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศมาเลเซียอย่างน้อย 40% ตามข้อตกลงเอเอฟทีเอ

แต่เป็นการนำรถประกอบเสร็จเรียบร้อยจากประเทศจีนไปพักไว้ที่ประเทศมาเลเซีย

จากนั้นก็ขนเข้ามาในไทยเพื่อหลบเลี่ยงภาษีมากกว่า และเพื่อให้เกิดความชัดเจน กรมศุลกากรได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปดูเส้นทางการนำเข้ารถยนต์ล็อตแรกที่แจ้งนำเข้า 100 คันที่มาเลเซีย

กระทั่งเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร ชี้แจงว่า จากการตรวจสอบพบว่า เป็นรถยนต์จากประเทศจีน โดยบรรทุกรถมาทางเรือไปมาเลเซีย เมื่อเทียบท่าเรือที่มาเลเซียแล้วได้ขับรถยนต์เอ็นจีวีดังกล่าวไปพักยังเขตปลอดอากรเป็นเวลา 7 วัน แล้วจึงขับรถลงเรืออีกครั้งเพื่อส่งเข้ามาประเทศไทย

ส่วนล็อตที่ 2 จะนำเข้ามาอีก 389 คันนั้น ยังไม่ผ่านพิธีการศุลกากร ดังนั้น บริษัทต้องเสียภาษีในส่วนของการนำเข้าทั้ง 489 คัน จำนวน 718 ล้านบาท และเสียค่าปรับล็อตแรก 100 คัน ประมาณ 230 ล้านบาท

รวมแล้วต้องเสียภาษีรวมค่าปรับประมาณ 948 ล้านบาท

 

เบื้องต้นกรมศุลกากรได้หารือกับบริษัท ซุปเปอร์ซาร่า จำกัด บริษัทในเครือบริษัท เบสท์ริน ซึ่งเป็นผู้นำเข้ารถเมล์ดังกล่าวให้กับบริษัท เบสท์ริน แล้ว โดยบริษัทยอมรับว่าเข้าใจผิดพลาดในข้อมูลการนำเข้าจากบริษัทผู้จำหน่ายในมาเลเซีย

เมื่อรับทราบข้อเท็จจริงแล้ว บริษัทยินดีปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบปฏิบัติของกรมศุลกากรทุกประการ

โดยขอเวลาเตรียมเงินมาจ่ายภาษีและค่าปรับ ซึ่งหากบริษัทเสียภาษีและค่าปรับ หรือมาวางเงินประกันแล้ว กรมศุลกากรก็พร้อมปล่อยรถออกไปทันทีภายใน 1-2 วัน และจะทันเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชนอย่างแน่นอน

สำหรับรถเมล์ที่นำเข้ามาดังกล่าว เป็นรถโดยสารปรับอากาศยี่ห้อ SUNLONG รุ่น SLK6129CNG YEAR 2016 จำนวน 489 คัน ซึ่งได้ทยอยส่งออกจากประเทศมาเลเซีย มายังประเทศไทย จำนวน 5 เที่ยวเรือ เที่ยวแรกจำนวน 1 คัน เที่ยวสอง 99 คัน เที่ยวสาม 145 คัน เที่ยวสี่ 146 คัน และเที่ยวห้าอีก 98 คัน โดยเที่ยว 5 อยู่ระหว่างการเดินทางจากมาเลเซียมายังประเทศไทย รวมแล้วก็จะครบ 489 คัน

ในจำนวนดังกล่าวได้แบ่งการดำเนินงานเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 (เที่ยวที่ 1-2 รวมจำนวน 100 คัน) โดยเป็นกลุ่มที่ผ่านพิธีการศุลกากรและชำระภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว และกลุ่มที่ 2 (เที่ยวที่ 3-5 จำนวน 389 คัน) ยังไม่ผ่านพิธีการศุลกากร

ส่วนเอกสารฟอร์มดี ใช้เพื่อประกอบการยกเว้นภาษีนำเข้า 40% นั้น กรมศุลกากรได้ปฏิเสธเอกสารดังกล่าวไปแล้ว และต้องไปตรวจรายละเอียดต่อไป เพื่อให้เกิดความชัดเจน จะได้ไม่กระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ซึ่งการนำเข้ากลุ่มที่ 2 นั้นทางบริษัทระบุว่าจะไม่ใช้เอกสารฟอร์มดี ขอเสียภาษีตามปกติ โดยรถยนต์ดังกล่าวมีราคานำเข้า 2.95 ล้านบาท ต้องเสียภาษีนำเข้า 40% ภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) 7% หรือเสียภาษีรวม 47% คิดเป็นภาษีประมาณ 1.47 ล้านบาทต่อคัน

ขณะที่ล็อตแรกที่นำเข้าไม่ถูกต้องนั้นต้องเสียภาษีรวมค่าปรับเพิ่มประมาณรวม 370 ล้านบาท เพราะการนำเข้าล็อตแรกจ่ายแค่แวตมาเพียง 20 ล้านบาท

ในวันเดียวกันนี้บริษัท ซุปเปอร์ซาร่า ยังได้ทำหนังสือด่วนไปถึงอธิบดีกรมศุลกากร เพื่อขอวางเงินประกันภาษีรถยนต์เอ็นจีวี และขอนำรถเมล์เอ็นจีวีออกจากท่าเรือแหลมฉบัง โดยให้เหตุผลนำรถไปติดตั้งจีพีเอสและระบบต่างๆ เพื่อส่งมอบให้กับ ขสมก. ให้ทันกำหนดวันที่ 29 ธันวาคม ตามเงื่อนไขสัญญา

ด้าน นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า หากกรมศุลกากรปล่อยรถและบริษัท เบสท์ริน ส่งมอบรถให้ ขสมก. ได้ตามสัญญา ก็คงไม่มีปัญหาอะไร ก็หวังว่าจะให้บริการได้ทันภายในช่วงปีใหม่นี้

ทั้งนี้ ในเงื่อนไขสัญญาที่บริษัททำไว้กับ ขสมก. จะเอาผิดกับบริษัทได้ก็ต่อเมื่อครบกำหนดแล้วบริษัทไม่สามารถส่งมอบรถได้ ก็จะเสียค่าปรับและค่าเสียโอกาสให้ ขสมก. 1.7 หมื่นบาทต่อคันต่อวัน แต่หากส่งมอบรถได้ตามกำหนดก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

นายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยการ ขสมก. ระบุว่า คงต้องให้เวลาบริษัทไปจัดหาเงินวางประกันเพื่อนำรถออกมาก่อน เพราะเป็นเงินจำนวนไม่น้อย โดย ขสมก. ยืนยันว่าบริษัทจะต้องส่งมอบรถครบทั้งหมดในวันที่ 29 ธันวาคม และเชื่อว่าบริษัทจะส่งมอบได้ แต่อาจล่าช้ากว่าแผนเดิมประมาณ 1 สัปดาห์ หลังจากนั้นจะเร่งรัดให้นำรถเมล์มาให้บริการในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้

“หากบริษัทยอมจ่ายค่าปรับ และกรมศุลกากรให้นำรถออกมา ก็ไม่น่าจะมีปัญหาคดีอะไรตามมา เพราะถือว่าเสียภาษีและเสียค่าปรับถูกต้อง” นายสุระชัย กล่าวทิ้งท้าย

สรุปประชาชนจะได้ใช้รถเมล์ใหม่ตามเป้าหมายหรือไม่ ยังต้องลุ้น!!