เจาะแนวรบประชามติ ผ่านร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ผ่านความขัดแย้ง

ในประเทศ
มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 8 ก.ค. 59

สถานการณ์ออกเสียงลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 7 สิงหาคม

แรกเริ่มเดิมทีคู่คี่สูสีระหว่าง”ผ่าน”กับ”ไม่ผ่าน”

เริ่มมีสัญญาณบ่งชี้ถึงสถานการณ์แปรเปลี่ยน ในห้วงเวลานับถอยหลังอีกไม่ถึง 30 วัน

จากคู่คี่สูสี เป็นขยับทิ้งห่าง

ภายใต้กระบวนการประชาสัมพันธ์รณรงค์ของแม่น้ำ 5 สาย ที่มี คสช. เป็นแกนนำร่วมกับ กกต. และกองทัพ

จะเห็นแต่ความคึกคักและราบรื่น

ตรงข้ามกับกระบวนการฝ่ายเห็นต่าง ถึงความคึกคักเข้มแข็งยังเต็มเปี่ยม แต่การรณรงค์เปิดกว้างทางความคิดและการแสดงออก กลับต้องเผชิญกับความขรุขระอย่างยิ่ง

ไม่ว่าในส่วนพรรคเพื่อไทย นปช.คนเสื้อแดง หรือกระทั่งนักศึกษาและนักวิชาการ ก็ล้วนแต่อ่วมอรทัยไปตามๆ กัน

ใครโชคดีก็โดนแค่”ไม้นวม” ถูกเชิญตัวไปพูดคุยทำความเข้าใจ แล้วปล่อยตัวโดยไม่แจ้งข้อหา

หากใครหัวดื้อก็โดนไม้แข็ง เจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจควบคุมตัวไปโรงพัก ตั้งข้อหาส่งฟ้องต่อศาลทหาร เข้าไปนอนในเรือนจำ ใส่โซ่ตรวนไม่ต่างจากผู้ต้องหาคดีอุกฉกรรจ์

ไม่ว่ากฎหมายพิเศษอย่างประกาศคำสั่ง คสช. และมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557

ไม่ว่ากฎหมายเฉพาะกิจ เช่น พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 และประกาศกฎระเบียบ กตต.

ไม่ว่ากฎหมายปกติ แต่นำมาบังคับใช้อย่างเข้มงวดในห้วงสถานการณ์พิเศษ ทั้ง พ.ร.บ.ประมวลกฎหมายอาญา พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ เป็นต้น

กฎหมายในมือของฝ่ายรัฐ ถูกนำมาเป็นอาวุธใช้รบรากับฝ่ายเห็นต่างอย่างมีประสิทธิภาพ

ประสิทธิภาพอาวุธฝ่ายรัฐ สะท้อนจากกรณีแกนนำและสมาชิกพรรคเพื่อไทย ที่พากันเรียงหน้าโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ประกาศจุดยืน”ไม่รับ”ร่างรัฐธรรมนูญ

แค่ข้ามวันก็มีคำขู่”ยุบพรรค”ออกมา

เนื่องจากหากตรวจพบว่า ความคิดเห็นส่วนตัวเชื่อมโยงไปถึงพรรค จะเข้าข่ายความผิดตามประกาศคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 57/2557 ห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมือง

สะท้อนจากความเป็นไปของ”ศูนย์ปราบโกงประชามติ” ที่ถูกปิดตั้งแต่ยังไม่ทันได้เปิด

นายจตุพร พรหมพันธุ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และแกนนำ นปช. รวม 19 คน ถูกหมายเรียกรับข้อหาฝ่าฝืนประกาศ คสช.ฉบับที่ 3/2558 เรื่องห้ามชุมนุมมั่วสุมทางการเมืองเกิน 5 คน

ตามมาด้วยกระแสยุยงให้ถอนประกันตัวคดีก่อการร้าย

ล่าสุด ยังมีความพยายามในการปิดสถานีโทรทัศน์”พีซทีวี”

อย่างน้อยก็ต้องการให้”จอมืด”ชั่วคราว 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม ถึงวันที่ 10 สิงหาคม ซึ่งเป็นเวลาล่วงเลยการลงประชามติไปแล้ว

มีการตั้งสังเกตความพยายาม”ดับจอ”พีซทีวี เกิดขึ้นไม่กี่วันหลัง นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ประกาศจัดรายการ “ร่างรัฐธรรมนูญมีชัย ประเทศไทยเดินหน้าหรือถอยยาว”

ประชันหักล้างกับรายการ “7 สิงหา ประชามติร่วมใจ” จัดโดย กกต. ร่วมกับ กรธ. และ สนช.

อย่างไรก็ตาม พีซทีวีรอดตัวไปได้ เมื่อศาลปกครองสูงสุดรับพิจารณาคำร้อง และมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวยืนตามคำสั่งเดิมที่ยังมีผลอยู่ ทำให้ให้พีซทีวีออกอากาศต่อไปได้

ในสถานการณ์เข้าสู่โค้งอันตราย ต้องจับตาพีซทีวีจะประคองตัวไปได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่

ขณะเดียวกัน การเคลื่อนไหวแจกเอกสารรณรงค์ประชามติของนักศึกษากลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่และประชาชน ที่ตลาดเคหะบางพลี จ.สมุทรปราการ

ก็ถูกเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง จับกุมดำเนินคดีฐานขัดคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 3/2558 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ส่งฟ้องฝากขังต่อศาลทหาร

ท่ามกลางกระแสกดดันจากกลุ่มนักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัย รวมถึงสำนักงานข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาชาติภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (โอเอชซีเอชอาร์) และสำนักงานคณะผู้แทนสหภาพยุโรป (อียู) ประจำประเทศไทย

ประสานเรียกร้องให้ปล่อยตัวและยุติการดำเนินคดีกับกลุ่มนักศึกษา

ส่งผลให้กรณี 13 นักศึกษา-ประชาชนอยู่ในสถานะของร้อนทางการเมือง

เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ในการยื่นคำร้องขอฝากขัง 13 ผู้ต้องหาผัดสอง มีนักวิชาการและคณะตัวแทนสถานเอกอัครราชทูตต่างๆ ประจำประเทศไทย รวมประมาณ 25 คน เข้าร่วมสังเกตการณ์

ตุลาการศาลทหารได้มีคำสั่งยกคำร้องฝากขัง และให้ปล่อยตัวทั้งหมดโดยไม่มีเงื่อนไข

หลังได้รับการปล่อยตัวพ้นเรือนจำ แกนนำขบวนการประชาธิปไตยใหม่ประกาศยืนยัน เดินหน้าจัดกิจกรรมรณรงค์ประชามติต่อไป เบื้องต้นกำหนดวันที่ 24 กรกฎาคม

ที่ผ่านมาแกนนำรัฐบาล และ คสช. ยืนยันไม่ว่าผลการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญจะออกมาอย่างไร ผ่านหรือไม่ผ่าน ก็ไม่มีผลผูกพันต่อโรดแม็ปเลือกตั้งภายในปี 2560

หรือหากไม่ผ่าน กล่าวคือร่างรัฐธรรมนูญไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชนเสียงส่วนใหญ่ ก็ไม่ถือเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล คสช. เนื่องจากไม่ได้เป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญ

แต่แล้วความเคลื่อนไหวที่สะท้อนให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า รัฐบาล และ คสช. มีความต้องการผลักดันร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ ให้ออกมามีผลบังคับใช้ มากขนาดไหน

ก็คือการที่รัฐบาลได้จัดตั้งศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อย เพื่อสนับสนุนการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งในระดับจังหวัดและอำเภอ

ทำหน้าที่ 3 ภารกิจหลัก ประกอบด้วย ภารกิจด้านบริหารจัดการ จัดทำแผนเผชิญเหตุ ติดตามสถานการณ์ ประเมินพื้นที่เสี่ยง บูรณาการการรักษาความสงบเรียบร้อย

ภารกิจด้านการข่าว เสาะหาข่าวสารที่มีการบิดเบือนเนื้อหาสาระร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง ข่าวสารที่มีการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติฯ ที่จะนำไปสู่ความไม่สงบเรียบร้อย

ภารกิจเตรียมความพร้อมในการแก้ไขปัญหาการชุมนุมสาธารณะ

ขณะที่ฝ่ายหนึ่งเปิดเกมรุกไม่หยุดหย่อน อีกฝ่ายตั้งรับต่อเนื่อง จนแทบไม่เหลือพื้นที่ให้แสดงออกไม่ว่าโดยการเคลื่อนไหว หรือในทางความคิดเห็น

สถานการณ์เช่นนี้จึงนำไปสู่บทสรุปที่รวบรัด “ไม่ผ่าน ไม่ได้แล้ว”

แต่ผ่านแล้วอย่างไรต่อ ความขัดแย้งทั้งหลายทั้งปวงจะผ่านไปด้วยหรือไม่

เป็นเรื่องที่คาดเดากันได้ไม่ยาก