วิเคราะห์ : ปฏิบัติการ ‘ประยุทธ์’ คนดีรีเทิร์น สัญญาณดีๆ ของ ‘บิ๊กตู่’ จับบทบาท ‘บิ๊กแดง’ ผู้ช่วยพระเอก และท่าที ‘บิ๊กป้อม’ มิสเตอร์ดีล

ปฏิบัติการ ‘ประยุทธ์’ คนดีรีเทิร์นจาก 8 ก.พ. ถึง 23 มี.ค.สัญญาณดีๆ ของ ‘บิ๊กตู่’จับบทบาท ‘บิ๊กแดง’ ผู้ช่วยพระเอกและท่าที ‘บิ๊กป้อม’ มิสเตอร์ดีล

ปรากฏการณ์เมื่อคืนวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 จนถึงปรากฏการณ์คืน 23 มีนาคม 2562 ทำให้ฝ่าย คสช.และกองทัพมั่นใจว่าบิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ และพรรคพลังประชารัฐจะได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล

แม้ว่าพรรคเพื่อไทย ที่แคนดิเดตนายกฯ ของพรรค ไม่ได้เป็น ส.ส.เลย เพราะไม่ได้ปาร์ตี้ลิสต์สักคนเดียว แต่อ้างการได้จำนวน ส.ส.เขตมากกว่าพรรคพลังประชารัฐ ในการชิงจัดตั้งรัฐบาล และถึงขั้นยอมยกเก้าอี้นายกรัฐมนตรีให้เสี่ยหนู อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยก็ตาม

แต่ท้ายที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ คือคนดีที่ควรได้รับการสนับสนุนให้ปกครองบ้านเมือง

เพราะฝ่ายทหารเชื่อว่า นายอนุทินจะไม่ไปร่วมกับพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะเมื่อมีนายเนวิน ชิดชอบ เป็นหุ้นส่วนสำคัญ ที่มีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับบิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ใหญ่ คสช.มายาวนานและแนบแน่น

โดยที่นายเนวินได้พูดคุยกับ พล.อ.ประวิตร มาก่อนหน้านี้แล้ว เรียกได้ว่ามีดีลและสัญญาใจกันไว้แล้ว

แม้ว่าในใจลึกๆ แล้ว นายอนุทินอยากที่จะปลดแอกตัวเองออกจาก คสช.และกองทัพ ที่เขาเกรงใจมานานก็ตาม แต่ด้วยเหตุผลและความจำเป็นหลายประการ รวมทั้ง “สัญญาณพิเศษ”

ที่จะทำให้มีว่าที่ ส.ส.ของพรรคฝ่ายตรงข้าม คสช. อาจจะกลายเป็น “งูเห่า” ยอมย้ายข้างมาร่วมรัฐบาล เพื่อเพิ่มเสถียรภาพของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ด้วย

อีกทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคอนาคตใหม่ ยังต้องผ่านด่านการร้องเรียน การตรวจสอบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่อาจมีการให้ใบเหลือง ใบแดง เกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้

ทำให้ฝ่ายกองเชียร์ พล.อ.ประยุทธ์และ คสช.อุ่นใจ

แม้ พล.อ.ประวิตรปฏิเสธข่าวการเป็นผู้จัดการรัฐบาล ยืนยันว่าไม่ได้มีการโทร.คุยหรือพบปะหารือกับนักการเมืองคนใดก็ตาม แต่วงในรู้กันดีว่า “พี่ป้อม” คือมิสเตอร์ดีล ตั้งแต่พลังดูดของพรรคพลังประชารัฐ จนมาถึงก่อนและหลังเลือกตั้ง ถึงขั้นที่นักการเมืองบางคนเอ่ยปากว่า บิ๊กป้อม “ใจถึงพึ่งได้” ตัวจริง

เป็นที่รู้กันดีว่า บ้านพัก ร.1 รอ. หรือมูลนิธิป่ารอยต่อ 5 จังหวัดฯ เป็นเสมือนทำเนียบน้อย ที่ทำงานอีกแห่งของ พล.อ.ประวิตร ที่ต้องเข้ามาที่นี่ก่อนทุกวันตั้งแต่ตี 5 ครึ่ง หรือ 6 โมงเช้า

โดย พล.อ.ประวิตรไปนอนบ้านย่านมีนบุรี แต่จะมาที่มูลนิธิป่ารอยต่อฯ นี้ทุกวัน และมีการประชุมหน่วยข่าวทุกวันจันทร์ และประชุมเตรียมการ ครม. ทุกเช้ามืดวันอังคาร ที่กองทัพและเหล่าทัพใดที่มีเรื่องเข้า ครม. ก็จะต้องมาชี้แจงกับ พล.อ.ประวิตรก่อน

ส่วนวันพุธ เป็นวันที่บรรดาเพื่อนฝูงเตรียมทหาร 6 และทีมงานมาทานข้าวกับ พล.อ.ประวิตร ก่อนที่วันพฤหัสฯ จะเป็นวันของการเมือง ที่จะมีนักการเมืองมาพบปะทานข้าวด้วย โดยเฉพาะในระยะหลายเดือนหลังๆ จะมีแกนนำกลุ่มต่างๆ ที่ต่อมาย้ายมาอยู่พรรคพลังประชารัฐ

ส่วนวันศุกร์ จะเป็นวันที่ปลัดกลาโหม ผบ.ทหารสูงสุด ผบ.เหล่าทัพ ผบ.ตร. จะมาทานข้าวกับ พล.อ.ประวิตร และเป็นการประชุมนอกรอบกันไปด้วยในตัว

มูลนิธิป่ารอยต่อฯ หรือที่ถูกเรียกว่า บ้านป่ารอยต่อฯ สีขาวหลังนี้ มีการต่อเติมและสร้างสำนักงานมูลนิธิ ห้องประชุม และห้องทำงาน ห้องพักผ่อนของ พล.อ.ประวิตรและทีมงาน เป็นเสมือนเซฟเฮาส์ แต่เป็นเซฟเฮาส์ที่เปิดเผย เพราะถ้าใครจะมาพบ พล.อ.ประวิตร ก็ต้องมาที่นี่

ด้วยเพราะอยู่ในค่ายทหาร คนภายนอกจะเข้าออกได้ยาก โดยเฉพาะการเข้ามาที่มูลนิธิป่ารอยต่อฯ จะต้องมีบัตรติดหน้าอก ที่ถือว่าเป็นบัตรบอกฝ่าย และเป็นบัตรที่สะท้อนว่าเป็นสายวงษ์สุวรรณ

ครั้งหนึ่ง เคยถูกบันทึกในประวัติศาสตร์ว่า เป็นสถานที่ตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร ที่ทำให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นกำลังหลัก

รวมถึงเคยเป็นสถานที่ที่นายสุเทพนำกุหลาบแดงช่อโตมาทาบทาม พล.อ.ประวิตรไปเป็น รมว.กลาโหม ในรัฐบาลประชาธิปัตย์ด้วย

มาเลือกตั้งคราวนี้ ก็ถูกจับตามอง และตกเป็นข่าวอีกครั้ง ว่าเป็นที่จัดตั้งรัฐบาล

อีกทั้งเป็นศูนย์กลางของทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ และบิ๊กป๊อก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เพราะต่างมีบ้านพักอยู่ใน ร.1 รอ.เช่นกัน แถมอยู่ใกล้ๆ เดินมาไม่กี่ก้าวก็ถึงแล้ว

แต่ พล.อ.ประวิตรก็ยืนยันว่า ไม่มีการจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหารเช่นในอดีต “ผมไม่ยุ่งการเมือง ไม่มีใครมาพบมาคุย หรือโทร.มา”

ทว่า มีข่าวการพบปะกันที่สนามกอล์ฟอีกด้วย ทั้งก่อนหน้านี้ และถูกจับตามองอย่างมากในวันที่ 23 มีนาคมที่ผ่านมา ที่ พล.อ.ประยุทธ์ไปเล่นกอล์ฟที่สนามกอล์ฟย่านถนนวิภาวดีฯ สนามกอล์ฟประจำ

ครั้งหนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ พร้อมด้วยบิ๊กฉัตร พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ เพื่อนรัก ตท.12 และบิ๊กแดง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ก่อนที่จะเป็น ผบ.ทบ. เคยไปคุยกับนักการเมืองตระกูลสะสมทรัพย์ ที่นครปฐมมาแล้ว

เพราะโดยปกติแล้ว ทหารมักจะเจรจาความบ้านความเมืองกันในสนามกอล์ฟ

ไม่แค่นั้น ท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร ที่ดูไม่เครียด ไม่วิตกกังวลใดๆ แต่จะตั้งใจทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ต่อไปอย่างเต็มที่ งดการพูดเรื่องการเมือง การจัดตั้งรัฐบาล

แม้แต่การยอมยุติการจัดรายการคืนวันศุกร์ ที่จัดมากว่า 5 ปี เพื่อให้เวลากับงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ทั้งๆ ที่เคยถูกเรียกร้องให้ยุติการจัดรายการ ตั้งแต่ช่วงก่อนการเลือกตั้ง แต่ก็ยังจัดรายการมาตลอด

เรียกได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์วางตัวนิ่ง สุขุม ท่ามกลางการเมืองที่ร้อนแรง ในการชิงอำนาจ ชิงจัดตั้งรัฐบาลและชิงเก้าอี้นายกฯ

แต่ที่สำคัญคือ พล.อ.ประวิตรเริ่มพูดถึงอนาคตทางการเมืองของตนเองแล้วว่า  ยังไม่รู้ว่าจะกลับมาเป็น รมว.กลาโหมในรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ หลังการเลือกตั้งหรือไม่ ที่อาจเป็นสัญญาณว่า มีความมั่นใจที่ พล.อ.ประยุทธ์จะได้รีเทิร์น

“ไม่รู้ ต้องให้เขามาทาบทามก่อน ถ้าไม่มาทาบทาม จะรู้ได้ยังไงว่าเขาจะให้เราทำงาน” คำพูดของ พล.อ.ประวิตรที่ถูกมองว่าแบะท่าพร้อมคัมแบ๊ก

ทั้งๆ ที่ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง มีการโหมกระแสว่า พล.อ.ประวิตรจะวางมือทางการเมือง แล้วไปช่วยงานอยู่เบื้องหลัง พล.อ.ประยุทธ์ โดยวางตัวบิ๊กช้าง พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม ไว้ แต่เมื่อเลือกตั้งผ่านไปแล้ว พล.อ.ประวิตรก็ดูเหมือนจะไม่อยากถอย

แต่กระนั้น ก็มีข่าวสะพัดว่า จะมีอดีตบิ๊กทหารที่อยู่ในตำแหน่งสำคัญ ที่ไม่เกี่ยวกับการเมือง อาจจะลาออกมาเป็น รมว.กลาโหม หรือรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อเป็น “บุคคลในเชิงสัญลักษณ์”

อีกทั้ง พล.อ.ประยุทธ์มีภาพลักษณ์ชัดเจนในการเป็นนายทหารที่รักชาติบ้านเมือง และมีความจงรักภักดี ถึงขั้นที่ประกาศบนเวทีปราศรัยหาเสียงของพรรคพลังประชารัฐ ครั้งแรก “ที่จะยอมตายเพื่อแผ่นดินนี้” และปกป้องสถาบัน

กล่าวกันว่า นอกจากเหตุการณ์งานแต่งงานที่ฮ่องกง เมื่อ 22 มีนาคมที่ผ่านมา ที่ส่งผลให้พรรคพลังประชารัฐได้รับคะแนนมากขึ้นแล้ว พระราชโองการที่ประกาศในคืนนั้น ก็ส่งผลดีด้วยเช่นกัน

“การที่ทรงมีพระราชโองการออกมาอีกครั้ง เรียกว่าเป็นสิ่งที่ดีๆ ที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเตือนจิตใจให้กับคนไทยทุกคนอีกครั้งหนึ่ง ทำให้เช้านี้รู้สึกสดชื่นดี” พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ.และเลขาธิการ คสช. กล่าวในวันเลือกตั้ง

พล.อ.อภิรัชต์มีอีกสถานภาพหนึ่งคือ การเป็นนายทหารพิเศษประจำกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ (ทม.รอ.) และ ผบ.หน่วยเฉพาะกิจ ทม.รอ.904

จนเชื่อกันว่า พล.อ.อภิรัชต์ก็มีบทบาทสำคัญต่อประวัติศาสตร์ในคืนวันที่ 23 มีนาคม 2562 ที่เป็นวันเกิด อายุย่าง 59 ปีของเขาพอดี เช่นเดียวกับเมื่อคืน 8 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมา ที่ทำให้สถานการณ์ยุ่งยากของ พล.อ.ประยุทธ์คลี่คลายมาแล้ว

มีการตั้งข้อสังเกตถึงการที่ พล.อ.ประยุทธ์โพสต์ในสื่อโซเชียลของตนเอง ก่อนที่จะหมดเวลาหาเสียงในเย็นวันที่ 23 มีนาคม 2562 ด้วยภาพนั่งชิลๆ อ่านหนังสือ ที่มีหน้าปกเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9

“ปฏิบัติตามพระบรมราโชวาท และพระราโชบาย ที่ออกมา บ้านเมืองเรียบร้อย” พล.อ.อภิรัชต์บอกกับประชาชน ผ่านสื่อในวันเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562

โดยไม่ตอบคำถามถึงกระแสปฏิวัติรัฐประหารหลังการเลือกตั้ง หากพรรคเพื่อไทยได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล หลังจากที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย และอดีตแกนนำ กปปส. ประกาศจะเป่านกหวีดชุมนุมใหญ่ รวมทั้งลูกพรรคปูดจะจบด้วยการปฏิวัติอีก

แม้ พล.อ.อภิรัชต์จะยืนยันในความเป็นกลาง แต่ด้วยความสนิทสนมใกล้ชิดกับ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ทำให้ถูกจับตามอง

ยิ่งตราบใดที่ยังจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ หรือหากมีอะไรที่ผิดแผนของ คสช. ความหวาดหวั่นว่าทหารจะขยับ หรือเกิดการปฏิวัติรัฐประหารแบบพิเศษเกิดขึ้น ก็ยังคงเข้มข้น

อีกทั้ง พล.อ.อภิรัชต์เป็น ผบ.ทบ.ที่ไม่เคยพูดผูกมัดตัวเองในเรื่องการปฏิวัติรัฐประหารหรือไม่

เพราะหากยังไม่สามารถตกลงกันได้ หรือมีการทำให้เกิดความวุ่นวาย ไม่สงบ จากการประท้วงผลการเลือกตั้ง การนับคะแนนต่างๆ

ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่แน่นอน และอาจเกิดสิ่งไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้เสมอ

หากในที่สุดแล้ว “คนดี” อาจไม่ได้มีแค่ พล.อ.ประยุทธ์เพียงคนเดียว